“ Viettel ”โทรคมนาคมสัญชาติเวียดนามลุยเปิดตลาด 4G รายแรกในพม่า

กระแสของการเปิด AEC จากที่ฮือฮาในช่วงเปิดตัวใหม่ๆ แต่พอถึงตรงนี้หลายคนตั้งคำถามว่าตกลงแล้วเรื่องนี้มีใครได้ประโยชน์อะไรแบบไหนบ้าง ถึงแม้ว่าเราอาจจะมองไม่ออกแต่โดยรวมแล้วการเปิด AEC ก็ไม่ได้แย่และไม่มีดีเหมือนที่พูดไปซะทั้งหมด

อย่างน้อยหลายประเทศในกลุ่ม CLMV ก็มีการหลั่งไหลเข้ามาของนักลงทุนต่างชาติและดูท่าว่าหลายประเทศเองก็มีการพัฒนาขึ้นมาได้มาก เรียกว่าทุกวันนี้กลุ่ม CLMV นั้นเริ่มแตกต่างจากอดีตที่เราเคยรู้จักอย่างมากดีไม่ดีถ้าเราไม่รีบพัฒนาตัวเองประเทศเหล่านี้จะแซงหน้าเราไปไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ

www.ThaiSMEsCenter.com ที่ให้ความสนในเรื่องนี้และติดตามข่าวสารตลอดมองเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนในหลายประเทศโดยเฉพาะในประเทศพม่ากับธุรกิจโทรคมนาคมในบ้านเขาที่มีสัญญาณว่าจะเริ่มเปิด 4G ในต้นปี 2561 ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจและควรติดตามมาก

การโทรคมนาคมแบบเดิมๆในพม่า

45

ภาพจาก goo.gl/TUS9jF

พม่าเคยอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารมานานกว่า 49 ปีทำให้การพัฒนาด้านต่างๆโดยเฉพาะการสื่อสารนั้นมีน้อยมาก ในปี 2555 รายงานระบุว่ามีชาวพม่าเพียง 1 ล้านคนเท่านั้นที่เข้าถึงการใช้โทรศัพท์มือถือ ซึ่งแต่ก่อนการดูแลเรื่องการสื่อสารนี้อยู่ภายใต้การดูแลของ รัฐวิสาหกิจไปรษณีย์และโทรคมนาคมพม่า (MPT) ซึ่งก็แน่นอนว่าไม่ค่อยมีเสถียรภาพสักเท่าไหร่นัก

แต่หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นหลังรัฐบาลกึ่งพลเรือนเข้ามาบริหารประเทศในปี 2554 ก็เริ่มมีการปฏิรูประเทศใหม่ในหลายด้านรวมถึงมีการมอบใบอนุญาติให้แก่ผู้ประกอบการ โทรคมนาคม ต่างชาติได้เข้ามาลงทุนในพม่ามากขึ้น

เริ่มจากบริษัทอูรีดู จากกาตาร์ที่เข้ามาเปิดให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เมื่อเดือน ส.ค.2557 ตามมาด้วย บริษัทเทเลนอร์ ในอีกหนึ่งเดือนต่อมา รวมไปถึง บริษัท MPT เป็นหุ้นส่วนกับบริษัท KDDI ในญี่ปุ่น แน่นอนว่าตามสัญญาของบริษัทต่างชาติเหล่านี้ที่มีใบอนุญาต 15 ปีที่ทางรัฐบาลกำหนดให้พัฒนาระบบโทรคมนาคมของประเทศให้ครอบคลุมพื้นที่ 3 ใน 4 ของประเทศ
การเข้ามาของ Viettel และตั้งเป้าเปิด 4G ในพม่าเป็นรายแรกของโลก

ต้องยอมรับว่าโทรคมนาคมของพม่าอาจจะพัฒนาขึ้นมาแต่ระดับคุณภาพก็ยังอยู่สูงสุดแค่ 3G จนเมื่อพม่าได้มอบใบอนุญาตดำเนินกิจการโทรคมนาคมให้กับบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัทเวียดเทล (Viettel) ของเวียดนาม และบริษัทท้องถิ่น 2 รายบริษัทเมียนมาร์ เนชันแนล เทเลคอม โฮลดิ้ง และบริษัทสตาร์ ไฮ พับลิก ก็เริ่มทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางบวกที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

46

ภาพจาก goo.gl/tRDnQA

บริษัท เวียดเทล ที่ดำเนินกิจการโดยทหาร จะถือครองหุ้นร้อยละ 49 ในบริษัทร่วมทุนใหม่ ชื่อว่า “เมียนมาร์เนชันแนล เทเล แอนด์ คอมมูนิเคชั่น” (Myanmar National Tele & Communications Co. Ltd) ขณะที่หุ้นส่วนท้องถิ่น 2 รายคือ บริษัทเมียนมาร์ เนชันแนล เทเลคอม โฮลดิ้ง และบริษัทสตาร์ ไฮ พับลิก จะถือหุ้นที่ร้อยละ 23 และร้อยละ 28 ตามลำดับ

โดยทางเวียดเทลที่ให้บริการในหลายประเทศทั่วภูมิภาคเอเชีย แอฟริกา และอเมริกา ระบุว่าบริษัทวางแผนที่จะลงทุน 1,500 ล้านดอลลาร์ ในภาคโทรคมนาคมของพม่า ใบอนุญาตสัมปทานมีอายุ 15 ปี และสามารถต่ออายุได้ บริษัทร่วมทุนนี้จะกลายเป็นผู้ประกอบการ โทรคมนาคม ที่พม่าถือหุ้นส่วนใหญ่เป็นรายที่ 2 ต่อจากบริษัทไปรษณีย์และโทรคมนาคมพม่า (MPT) ผู้ให้บริการที่รัฐเป็นเจ้าของ

รวมถึงในช่วงต้นปี 2561 นี้ทางเวียดเทล ก็จะเสนอการเปิดเครือข่าย 4G ในพม่าอันจะเป็นการยกระดับมาตรฐานของเศรษฐกิจพม่าให้ดีขึ้นตามไปด้วยโดยในช่วงที่ผ่านมาเวียดเทลก็ถือว่ามีบทบาทสำคัญมากกับการผลักดันให้พม่าขยับจากอันดับที่ 10 ขึ้นมาอยู่อันดับที่ 7 กับประเทศที่น่าลงทุนสำหรับภูมิภาคอาเซียน

47

ภาพจาก goo.gl/SWDW8w

โดยปัจจุบันตัวเลขของผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือของพม่านั้นมีอัตราการเข้าถึงที่สูงกว่า 50% จากจำนวนประชากรทั้งหมด และมีการตั้งเป้าว่าจะทำให้เกิดการใช้งานอย่างครอบคลุมได้ทั้งประเทศภายในปี 2564 โดยตัวเลขการขายซิมการ์ดของค่าย โทรคมนาคม ในพม่าก็ดีขึ้นเป็นลำดับอย่าง บริษัทไปรษณีย์และโทรคมนาคมแห่งประเทศเมียนมา (MPT) สามารถขาย

ซิมโทรศัพท์มือถือได้มากกว่า 8.67 ล้านซิม และเทเลเนอร์ที่ขายได้มากกว่า 7.45 ล้านซิม รวมถึง อูรีดูที่ขายได้มากกว่า 3.33 ล้านซิม เช่นกัน

เมื่อเห็นตัวเลขการเติบโตของพม่าที่เป็นในทิศทางบวกเช่นนี้ก็คงต้องเป็นหน้าที่ของเราเองที่ต้องพัฒนาตัวเองเพื่อให้ก้าวหน้าไปได้เรื่อยๆ หรือในแง่ของนักลงทุนเองเมื่อเห็นตัวเลขเหล่านี้ก็อาจจะมองเห็นช่องทางการลงทุนที่ยังเปิดกว้างและน่าสนใจอย่างยิ่งในพม่า

สำหรับท่านใดที่ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจเรามีรวบรวมบทความมากมายไว้ให้ทุกท่านพิจารณากันตามความเหมาะสม ดูรายละเอียด goo.gl/Io5k2S

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก goo.gl/GtXJwu 

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด