Swensen’s VS Baskin-Robbins
สเวนเซ่นส์ และ บาสกิ้น ร็อบบิ้นส์ ต่างเป็นแบรนด์ไอศกรีมระดับพรีเมี่ยมเหมือนกัน มีจุดเริ่มต้นในสหรัฐอเมริกาโดยผู้ที่เคยเป็นทหารเช่นเดียวกัน
ซึ่งปัจจุบันตลาดไอศกรีมระดับพรีเมี่ยมในเมืองไทย ไม่ได้มีอยู่เพียงแค่ 2 แบรนด์นี้เท่านั้น แต่เรื่องราวของทั้ง 2 แบรนด์นี้มีความน่าสนใจอย่างไร วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com จะนำเสนอให้ทราบ
จุดเริ่มต้น Swensen’s อยู่ที่ คุณ Earle Swensen ได้เรียนรู้วิธีการทำไอศกรีมตอนเป็นทหารเรือในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อมาหลังสงคราม ในปี 1948 คุณ Swensen จึงเปิดร้านไอศกรีมร้านแรกที่เมืองซานฟรานซิสโก ซึ่งมีชื่อร้านที่ตั้งตามชื่อของเขาว่า Swensen’s ถ้าแปลตรงตัวก็คือร้านของคุณ Swensen นั่นเอง
ภาพจาก bit.ly/2EpdlQQ
คุณ Swensen ชอบทานทานไอศกรีมรสวนิลาที่สุด แต่ถึงอย่างไร Swensen ก็ยังคิดค้นรสชาติใหม่ขึ้นมาถึง 150 รสชาติ และทำการตลาดด้วยคำโฆษณาว่า “Good as Father Used to Make” แปลว่า “อร่อยเหมือนคุณพ่อทำเอง”
ตอนแรกร้าน Swensen’s ขายแต่ไอศกรีม เช่น ซันเดย์ บานาน่าสปลิท โดยเป็นร้านที่ลูกค้าต้องซื้อไปทานนอกร้าน แต่ต่อมา Swensen’s เริ่มมีแฟรนไชส์ และเป็นร้านที่ลูกค้าเข้าไปนั่งกินในร้านได้ และยังมีเมนูอาหารอื่น เช่น แซนด์วิช และ แฮมเบอร์เกอร์ อีกด้วย
ในปี 1970 คุณ Swensen ขายโรงงานไอศกรีม และ ร้านอาหารทั้งหมด ให้นักลงทุนอื่น คงเหลือไว้แต่ร้านดั้งเดิมของเขาที่ซานฟรานซิสโก (ซึ่งตอนนี้ร้านนี้ก็ยังตั้งอยู่ที่เดิม ใครไปเที่ยวเมืองนี้ลองแวะไปเยี่ยมชมได้)
กระทั่งในปี 1995 คุณ Swensen ก็ได้จากโลกนี้ไปด้วยวัย 83 ปี และในช่วงที่คุณ Swensen เสียชีวิต เป็นช่วงเวลาเดียวกับ การเริ่มต้นเดินทางครั้งใหม่ของแบรนด์ Swensen’s ที่ดูเหมือนว่าจะยิ่งใหญ่กว่าเดิมเสียอีก โดยเฉพาะในประเทศไทย
ภาพจาก 1112delivery.com/restaurant/swensens
ส่วนสเวนเซ่นส์ในไทยมีจุดเริ่มต้น ในปี ค.ศ.1986 คุณวิลเลียม อี.ไฮเนคกี้ ผู้ก่อตั้งบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้เริ่มซื้อแฟรนไชส์ ไอศกรีมสเวนเซ่นส์เข้ามาในประเทศไทย เปิดสาขาแรกที่เซ็นทรัลพลาซ่าลาดพร้าว มีพื้นที่เพียง 30 ตารางเมตร และมีพนักงานเพียง 14 คน
คุณไฮเนคกี้ เป็นชาวอเมริกันเข้ามาอยู่เมืองไทยตามครอบครัว ตั้งแต่อายุ 14 ปี เขาทำงานเป็นนักเขียน เปิดธุรกิจให้บริการทำความสะอาด ต่อมาทำธุรกิจร้านอาหาร และ การท่องเที่ยว จึงได้ก่อตั้งบริษัท ไมเนอร์ ขึ้นมา ในปี 1970 นอกจากเมืองไทยกลุ่ม Minor ยังเป็นเจ้าของสิทธิ์แบรนด์ Swensen’s ในประเทศเวียดนาม ลาว กัมพูชา เมียนมา และปากีสถานด้วยเช่นกัน
ภาพจาก bit.ly/2ZX8MEG
ปัจจุบัน Swensen’s มีสาขาประมาณ 300 สาขาทั่วประเทศไทย โดยสาขายอดฮิตที่ขายดี คือ เซ็นทรัลปิ่นเกล้า เมกาบางนา แฟชั่น ไอซ์แลนด์ ฟิวเจอร์ปาร์ค รังสิต และพารากอน
สำหรับในประเทศไทยนั้น ใน 1 เดือน ร้าน Swensen’s จะมีลูกค้าใช้บริการทั้งหมด ประมาณ 2 ล้านคน บางห้างถึงมี Swensen’s มากกว่า 1 ร้าน สาเหตุที่เป็นอย่างนี้ เพราะแม้อยู่ในห้างเดียวกัน แต่กลุ่มลูกค้าของห้างแต่ละชั้นก็แตกต่างกันออกไป
อย่างเดอะมอลล์บางกะปิที่มี Swensen’s มากถึง 3 สาขา เช่น ชั้น G เอาไว้รองรับกลุ่มแม่บ้าน, ชั้น 2 เอาไว้รองรับกลุ่มคนออฟฟิศที่มักจะมาธนาคาร และชั้น 4 ซึ่งเป็นชั้นโรงหนัง ก็เอาไว้รองรับลูกค้ากลุ่มวัยรุ่น
ภาพจาก bit.ly/2ZV4KwR
ส่วน บาสกิ้น-ร็อบบิ้นส์ (Baskin-Robbins) เป็นไอศกรีมชื่อดังจากประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อกำเนิดโดยอดีตนายทหารเชื้อสายยิวสองนาย คือนายเออร์ไวน์ ร็อบบิ้นส์ (Irv Robbins) กับนายเบิร์ท บาสกิ้น (Burt Baskin) ผู้เป็นพี่เขย และนายเบิร์ทเองยังเป็นสมาชิกของสถาบันภราดรภาพชาวยิว ซีต้า เบต้า ทาว ( Zeta Beta Tau Fraternity) ซึ่งก่อตั้งโดยยิวไซออนิสต์ โดยองค์กรนี้มีภารกิจในการอุปถัมภ์และพัฒนาศัพยภาพชาวยิวในด้านการเป็นผู้นำและการบริการสังคม
แต่ก่อนที่จะมาเป็นชื่อร้าน Baskin Robbins ทั้งสองก็มีร้านไอศกรีมเป็นของตนเองอยู่แล้ว โดย Burt Baskin เปิดร้านของตนก่อนในชื่อว่า “Burton’s ice cream shop” ในปี 1945 และ Irv Robbins เปิดร้านของตนเองบ้างในปี 1946 ในชื่อ “Snowbird” และร้านของ Irv มีจุดเด่นอยู่ที่การมีไอศกรีมให้เลือกกว่า 21 รสชาติ ซึ่งจัดว่าเยอะมากในสมัยนั้น
ภาพจาก bit.ly/33S1B22
แม้ว่าจะมีร้านของตนเองคนละร้าน แต่ทั้งสองก็ทำงานร่วมกันมาโดยตลอด โดยในปี 1948 Burt และ Irv เปิดสโตร์ถึง 6 แห่ง และสามารถเปิดแฟรนไชส์แรกได้ในวันที่ 20 พฤษภาคม 1948 ในเมืองเกล็นเดล ภายหลังในปี 1953 ทั้งสองจึงตัดสินใจรวมร้านเข้าด้วยกันในชื่อ Baskin Robbins และใช้ชื่อนี้มาจวบจนปัจจุบัน
นับตั้งแต่ปี 1945 เป็นต้นมา Baskin Robbins ผลิตรสชาติไอศกรีมไปแล้วมากกว่า 1,000 รสชาติ และสลับหมุนเวียนไปเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน ซึ่งกลยุทธ์หนึ่งที่ Baskin Robbins ใช้เพื่อเพิ่มการเติบโตคือการร่วมกันกับพันธมิตรเป็นคู่ค้าร่วมกัน
โดยในปี 1949-1962 ร่วมมือกับบริษัท Huntington ice cream company ในชื่อ Baskin Robbins Partnership ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็น Baskin Robbins, Inc. ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 1962 ภายหลังในปี 2006 Baskin Robbins ได้รวมกิจการเข้ากับ Dunkin’ Donuts และอยู่ภายใต้ชื่อ Dunkin’ Brands Group, Inc. จนถึงปัจจุบัน
ภาพจาก bloom.bg/3cgPgrP
Baskin Robbins เป็นร้านไอศกรีมแฟรนไชส์ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งมีจำนวนสาขาที่กระจายมากกว่า 7,500 สาขา ใน 50 ประเทศ ขณะที่ Baskin Robbins ในประเทศไทย อยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท โกลเด้น สกู๊ป จำกัด ในเครือกลุ่ม บริษัท มัดแมน มีทั้งหมด 34 สาขา สาขาส่วนใหญ่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ตามเมืองท่องเที่ยวสำคัญ เช่น พัทยา ภูเก็ต หัวหิน ระยอง
อย่างไรก็ตาม สเวนเซ่นส์ และ บาสกิ้น ร็อบบิ้นส์ อาจไม่ใช้คู่แข่งกันโดยตรงในตลาดไอศกรีมเมืองไทย เพราะทั้ง 2 แบรน์ต่างมีฐานกลุ่มลูกค้าของตัวเองชัดเจน บาสกิ้น ร็อบบิ้นส์จับกลุ่มลูกค้าตลาดบน ราคาแพง วางตำแหน่งของตัวเองค่อนไปทางพรีเมี่ยมมากกว่าโดยเน้นในเรื่องของรสชาติไอศกรีมเป็นหลัก ส่วนสเวนเซ่นส์จับกลุ่มลูกค้าทั่วไป
จับกลุ่มลูกค้าที่มาทานไอศกรีมแบบหลายคน หรือทานกันเป็นครอบครัว ตอบโจทย์สโลแกนที่ว่า ความสุขที่ไม่มีวันละลาย โดยงัดจุดขายในเรื่องของราคาถูก และช่องทางที่ลูกค้าสามารถเข้าถึงได้ง่าย
ในเรื่องของสินค้าและบริการนั้น บาสกิ้น ร็อบบินส์ ใช้วัตถุดิบนำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด ทำให้ราคาแพง ส่วนสเวนเซ่นส์ ใช้วัตถุดิบผลิตในไทย ใช้ส่วนผสมดัดแปลง จับตลาดล่าง จึงทำให้ราคาขายถูกลง
สำหรับผลกระกอบการ บริษัท โกลเด้น สกู๊ป จำกัด ผู้บริหารแบรนด์ไอศรีมบาสกิ้น ร็อบบิ้นส์ ในปี 2562 มีรายได้ 103,348,579 บาท ขาดทุน 10,227,018 บาท ขาดทุนเพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่ขาดทุนอยู่ที่ 9,804,905 บาท
ภาพจาก bit.ly/3mDMpOi
ส่วนผลประกอบการ บริษัท สเวนเซ่นส์ (ไทย) จำกัด ในปี 2562 มีรายได้ 1,953,988,276 บาท กำไร 97,610,197 บาท ลดลงจากปี 2561 ที่มีรายได้ 2,143,104,887 บาท กำไร 146,547,844 บาท
สรุปก็คือ ไอศกรีม สเวนเซ่นส์ และ บาสกิ้น ร็อบบิ้นส์ ไม่ได้เป็นคู่แข่งขันกันโดยตรง แต่คู่แข่งที่น่าสมน้ำสมเนื้อของบาสกิ้น ร็อบบิ้นส์ ก็คือ แดรี่ควีนส์ แบรนด์ไอศกรีมในเครือเดียวกันกับสเวนเซ่นส์ ภายใต้การบริหารของกลุ่มไมเนอร์
โดยในช่วงเดือนมิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา บาสกิ้น ร็อบบิ้นส์ เปิดศึก “ไอศกรีมคว่ำถ้วย” กับแดรี่ควีนส์ กลายเป็นไวรัลบนโลกออนไลน์อย่างรวดเร็ว แม้ทั้ง 2 แบรนด์จะเป็นคู่แข่งกัน แต่บลัฟกันแบบน่ารัก
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจ แฟรนไชส์ และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise
ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/3corFV2
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter
แหล่งข้อมูลจาก
- https://bit.ly/3cjsTC7
- https://bit.ly/3cjsUWH
- https://bit.ly/3ciob7z
- https://bit.ly/3clbGIC
- https://bit.ly/3hOwvgG
- https://bit.ly/3iR7wdF
อ้างอิงจาก https://bit.ly/2FRNdi9