Step by Step เปิดร้าน “สารพัดยำ” กำไรดีแค่ไหน ต้องเริ่มอย่างไร!
อาชีพค้าขายคือทางเลือกที่ง่ายที่สุด แต่คำถามคือ “จะขายอะไรดี?” ไก่ย่าง ไก่ทอด ลูกชิ้น อาหารตามสั่ง เมนูเหล่านี้คู่แข่งเยอะมาก เดินไปทางไหนก็เจอ ลองเปลี่ยนไปขายสินค้าแบบพรีเมี่ยมก็ใช้ต้นทุนเยอะ บางคนเพิ่งลาออกจากงาน หรือมีเงินเก็บแค่เล็กน้อย จะลงทุนมากก็คงไม่ไหว
อีกหนึ่งอาชีพค้าขายที่ www.ThaiSMEsCenter.com มองว่าน่าสนใจคือการ เปิดร้านสารพัดยำ อาหารแบบง่ายๆ ที่ไม่ต้องมีวิธีการทำที่ยุ่งยาก
มีหลายคนที่ลาออกจากงานประจำมาทำธุรกิจนี้ยกตัวอย่างสาวโรงงานลาออกมาเปิดร้าน “ยำแซ่บแสบปาก” จากเงินเดือนประมาณ 20,000 บาท มาขายยำกำไรวันละประมาณ 2,000 บาท
หรืออดีตพนักงานแบงค์ที่ลาออกมาเปิดร้าน “ไอ้หำยำใหญ่” ก็มีรายได้ต่อวันกว่า 8,000 บาท (ยังไม่หักค่าใช้จ่าย) ทั้งนี้ลองมาดูเทคนิคการเปิดร้านสารพัดยำ หากเป็นมือใหม่ควรเริ่มต้นอย่างไรเพื่อให้ธุรกิจนี้เกิดและเติบโตได้
1.ทดลองทำยำชนิดต่างๆ ให้อร่อย
ภาพจาก goo.gl/images/DtYs6P
ถ้าเราเป็นคนทำอาหารเก่งเรื่องการทำยำชนิดต่างๆ ก็ไม่น่าห่วง แต่บางคนไม่เคยเข้าครัวทำอาหารมาก่อนเลย แต่อยากเปิดร้านยำ สิ่งแรกที่ต้องทำคือ “ฝึกทำยำชนิดต่างๆ ให้อร่อย” ความอร่อยของยำ ไม่ใช่แค่เปรี้ยวนำ เผ็ดตาม สังเกตว่ายำที่อร่อยต้องมีความกลมกลืนของวัตถุดิบทั้งหมด ให้ลูกค้ารู้สึกว่ากินแล้วติดใจอร่อยแบบฉุดไม่อยู่
เบื้องต้นก็ศึกษาวิธีการทำยำจากอินเทอร์เนตที่มีข้อมูลมากมาย และลองทำให้พ่อแม่ญาติพี่น้อง เพื่อนๆ ชิมก่อน เมื่อมั่นใจในรสชาติแล้วว่าต้องใส่พริกแค่ไหน ใส่มะนาวแค่ไหน เปรี้ยวระดับไหน เผ็ดระดับไหน มีสูตรการยำที่น่าพอใจค่อยมาวางแผนหาอุปกรณ์และทำเล
2.ต้นทุนไม่ต้องมากแต่ต้องหาทำเลดีๆ
ภาพจาก https://goo.gl/CKZG2C
การลงทุนเปิดร้านสารพัดยำ หากไม่มีเมนูให้เลือกมากต้นทุนในการเริ่มต้นน่าจะไม่เกิน 5,000 บาท สำหรับการทำเมนูยำสัก 2-3 อย่างเช่น ยำตับหวาน ยำรวมมิตรทะเล ลาบหมู น้ำตก ยำขาไก่ ยำแหนม ยำหมูยอ เป็นต้น
อุปกรณ์การยำส่วนใหญ่ก็ใช้เครื่องครัวที่มี หาแค่วัตถุดิบ เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา เนื้อหมู แหนม หมูยอ ปูอัด ผักสำหรับใส่ยำต่างๆ สำคัญคือทำเลโดยเฉพาะตลาดนัดตอนเย็นจะเป็นพื้นที่ขายที่น่าสนใจเพราะคนต้องการซื้อกลับบ้าน ดีกว่าการขายตลาดเช้าที่คนจะออกไปทำงาน หรือใครที่มีทำเลอยู่ในที่ชุมชน อยู่ใกล้อพาร์ทเม้น ก็จะยิ่งได้เปรียบมาก
3.ต้องมีความแตกต่างจากคู่แข่ง
ภาพจาก goo.gl/images/xCMtwm
ถ้าเปิดร้านแบบธรรมดาเราก็จะเป็นร้านยำแบบธรรมดาที่ลูกค้าไม่จดจำ ยกตัวอย่างกรณีศึกษาของร้าน “ไอ้หำยำใหญ่” ที่คนขายหาความต่างให้ตัวเองด้วยการแต่งชุดหมอลำ ซึ่งต้องลงทุนไปซื้อมา 3 ชุด
เพื่อนำมาใส่เปิดร้านสารพัดยำ ซึ่งก็ได้ผลดีทำให้เป็นที่สังเกตและจดจำ ร้านไอ้หำยำใหญ่จึงมีลูกค้าจำนวนมากและสร้างรายได้เกือบหมื่นต่อวัน หักลบเป็นกำไรก็เหลือกินเหลือเก็บดีกว่าทำงานประจำมาก
4.หาแหล่งวัตถุดิบที่มีคุณภาพราคาไม่แพง
ภาพจาก goo.gl/images/Ue66up
สิ่งที่จะทำให้ได้กำไรหรือขาดทุนอยู่ที่การบริหารจัดการต้นทุนวัตถุดิบ เนื่องด้วยร้านสารพัดยำต้องใช้วัตถุดิบหลายอย่าง จำเป็นที่ต้องหาแหล่งวัตถุดิบที่มีคุณภาพในราคาย่อมเยา
อาจไม่ต้องใช้วัตถุดิบเกรดพรีเมี่ยม เช่น ปลาหมึก กุ้ง ปลา หอยแครง ควรเลือกในเกรดระดับ B ที่ไม่แพงเกินไป การกำหนดราคาขายก็ขึ้นอยู่กับชนิดของยำ ราคาขายส่วนใหญ่เริ่มต้งแต่ 35 บาท หรือถ้าเป็นยำสั่งพิเศษเช่นยำซีฟู้ด ก็อาจขยับราคาสูงได้อีก
5.ค่อยๆขยายร้านจากเล็กไปใหญ่
ภาพจาก goo.gl/images/ZzCG5j
สำหรับการเริ่มต้นควรมีเมนูประมาณ 3-4 อย่างและค่อยๆพัฒนาเมนูให้มากขึ้น การจัดรูปแบบร้านก็เน้นแบบใส่ถุงกลับบ้านไม่ต้องแบบมีโต๊ะนั่งทาน เน้นขายตามตลาดนัดทั่วไป และเมื่อมีทุนเพิ่มมากขึ้นค่อยขยายร้านให้ใหญ่มีบริการมากขึ้น เมนูมากขึ้น ถือเป็นการฝึกสะสมประสบการณ์ในเบื้องต้นไปพลางๆก่อนด้วย
6.ต่อยอดด้วยการทำน้ำยำขาย
ภาพจาก goo.gl/images/yNasNN
การต่อยอดธุรกิจหลังจากที่ร้านอาจจะเป็นที่รู้จักของลูกค้า เราสามารถทำ “น้ำยำ” ออกจำหน่าย ซึ่งควรมีแบรนด์ของตัวเอง และควรมีการจด อย. ให้ถูกต้อง การทำ น้ำยำขาย เป็นการหารายได้ที่ดีกว่าการทำยำ
และใช้ต้นทุนน้อยกว่า ขายง่ายกว่า แต่ต้องเป็นน้ำยำที่รสชาติอร่อยถูกใจ คนซื้อเอาไปทำยำได้ด้วยตัวเอง หรือถ้ามีโอกาสจะลองจัดคอร์สสอนการทำยำสูตรต่างๆ ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างรายได้ที่ต่อยอดมาจากการเปิดร้าน
7.เพิ่มบริการเดลิเวอรี่หรือจัดส่งออนไลน์
ภาพจาก goo.gl/images/YvrdvP
นอกจากการต่อยอดธุรกิจด้วยสินค้าใหม่ การเพิ่มรูปแบบการบริการให้เหมาะสมกับยุคสมัย เช่นบริการเดลิเวอรี่ หรือรับออร์เดอร์แบบออนไลน์ โดยเราอาจเปิดเพจเฟสบุ๊คเกี่ยวกับร้านยำ มีเมนูน่าสนใจมาอัพเดท มีการให้ความรู้ในการทำยำชนิดต่างๆ มีภาพบรรยากาศร้าน ลูกค้า ถือเป็นการสร้างรากฐานให้ธุรกิจเราค่อยๆเติบโตมากขึ้น
ต้นทุนและกำไรจาก “ร้านสารพัดยำ”
ภาพจาก goo.gl/images/t2P2tA
กำไรจากการขายยำขึ้นอยู่กับชนิดของยำ ซึ่งหมายถึงต้นทุนด้วย ร้านทั่วไปที่เราเห็นจะมีเมนู เช่น ยำหมูยอ ยำแหนม ยำขาไก่ ยำหนังหมู ลาบหมู หรืออาจจะพัฒนาให้ดูน่าสนใจก็มี ยำมะม่วง ยำปูม้า ยำมะม่วงข้าวโพด ยำไข่เค็ม ต้นทุนโดยประมาณรวมค่าวัสดุ อุปกรณ์และวัตถุดิบเบื้องต้นประมาณ 5,000 บาท (ไม่รวมค่าเช่าสถานที่)
ภาพจาก goo.gl/images/6c76ZP
อุปกรณ์ส่วนใหญ่หาได้จากในครัว สำคัญคือ “รสชาติ” กำไรเฉลี่ยสำหรับร้านที่มีลูกค้าประจำประมาณ 1,000-2,000 บาท โดยขึ้นอยู่กับทำเลในการขายด้วย ซึ่งหากในแต่ละสัปดาห์หากเราเปิดร้าน 5 วัน มีกำไรประมาณ 4,000-5,000 ต่อสัปดาห์
กำไรต่อเดือนประมาณ 15,000 บาท แต่การเปิดร้านยำ ก็ต้องแลกกับการไปจ่ายตลาดเพื่อให้ได้ของสดใหม่ การกลับมาเตรียมทำเครื่องยำ และต้องจัดร้านออกไปขายของ แม้จะดูว่าเป็นงานอิสระที่ไม่ต้องเป็นลูกน้องใคร แต่การจะได้มาซึ่งกำไรก็ต้องลงแรงไม่น้อยเช่นกัน
ไม่มีธุรกิจไหนที่จะสร้างรายได้โดยที่เราไม่ต้องเหนื่อย แต่การเหนื่อยในการทำงานก็ควรมีขอบเขตและเป้าหมาย ไม่ใช่ทำไปวันๆ การวางแผนบริหารที่ดีจะทำให้เราค่อยๆ เหนื่อยน้อยลงได้ และการวางแผนที่ดียังทำให้เรามีโอกาสสร้างธุรกิจที่ดียิ่งๆขึ้นไปได้อีกด้วย
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจ แฟรนไชส์ และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise
ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/3corFV2
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter
อ้างอิงจาก https://bit.ly/32Prq2c