SMEs มีสิทธิ์พัง! หากน้ำมันยังขึ้นราคาต่อเนื่อง

เมื่อน้ำมันขึ้นราคาโดยเฉพาะการขึ้นราคาของน้ำมันดีเซลในช่วง 2 เดือนนี้เป็นที่วิตกของธุรกิจจำนวนมาก รวมทั้งผู้บริโภคทั่วไปที่ได้รับผลกระทบกับค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น ธุรกิจจะปรับตัวเช่นไรในสถานการณ์เช่นนี้ บ้างก็คิดแบบง่ายๆว่าเมื่อต้นทุนเพิ่มขึ้นก็ขึ้นราคาขายซิ

แน่นอนว่าเมื่อน้ำมันดีเซลปรับขึ้นราคาผู้ประกอบการขนส่งก็ได้ประกาศแล้วว่าจะขึ้นค่าขนส่งประมาณ 15 – 20 % ตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม ทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น แม้ว่าน้ำมันที่มีราคาเพิ่มขึ้นจะมีผลกับทุกธุรกิจแต่ก็ไม่ง่ายเลยที่ธุรกิจจะปรับราคาขายให้เพิ่มขึ้นเท่ากับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

นี่ยังไม่รวมถึงค่าแรงขั้นต่ำที่ยังอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาของคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งประกอบด้วย คณะกรรมการไตรภาคี ได้แก่ ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายลูกจ้าง พิจารณาร่วมกัน ขณะนี้มีคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดจะพิจารณาอัตราค่าจ้างที่เหมาะสมในจังหวัดของตนและนำเสนอต่อไป อีกประการหนึ่งเมื่อน้ำมันขึ้นราคาก็ย่อมกระทบกับค่าไฟฟ้าที่ต้องปรับขึ้นตาม ซึ่งก็ได้มีการปรับไปแล้วในช่วงนี้ แต่ก็มีข่าวมาแล้วว่าต้องมีการปรับราคาขึ้นอีกหน่วยละ 40 สตางค์ในช่วงปลายปีนี้

สถานการณ์ที่เลวร้ายนี้เกิดขึ้นทั่วโลก แม้กระทั่งอีลอน มัสก์ยังกล่าวว่า “เขารู้สึกแย่อย่างที่สุด (super bad feeling) เกี่ยวกับเศรษฐกิจ” เช่นนี้แล้วเราควรคิดและปรับตัวเช่นไร เราคงไม่อาจขึ้นราคาได้ง่ายๆ เพราะเราต้องสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับลูกค้าซึ่งเราต้องให้ลูกค้าอยู่กับเรานานๆ ราคาก็เป็นปัจจัยหนึ่งในการตัดสินใจของผู้บริโภค

แม้ว่าเขาจะเข้าใจความจำเป็นของธุรกิจ แต่เขาเองก็ได้รับแรงบีบคั้นในการครองชีพอีกทั้งหลายครอบครัวยังต้องมีภาระด้านค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของบุตรหลานที่เพิ่งผ่านมาเมื่อเร็วๆ นี้ เขาจึงเลือกที่จะงดการใช้จ่ายหรือใช้จ่ายเท่าที่จำเป็นหรือหากจำเป็นก็อาจพิจารณาเปรียบเทียบราคาเป็นสำคัญ

การประมาณความต้องการ

SMEs มีสิทธิ์พัง

การลดต้นทุนจึงเป็นหนทางที่จะช่วยเราได้แต่ประการสำคัญต้องไม่ลดคุณภาพนะครับ ปัจจุบันลูกค้ามีความรู้เท่าทันหรืออาจจะมากกว่าผู้ประกอบการบางรายเสียอีก ลูกค้าเขาจะเทียบเรื่องของราคาและคุณภาพไปคู่กันเสมอ ผมจึงขอเสนอให้พิจารณาต้นทุนด้านโลจิสติกส์ (Logistics) นักวิชาการญี่ปุ่นถึงกับกล่าวว่า โลจิสติกส์คือกำไรตัวที่ 3 คือถ้าเราลดต้นทุนของโลจิสติกส์ลงได้เราก็จะได้กำไรที่เพิ่มขึ้น ซึ่งในสถานการณ์ทุกวันนี้การลดต้นทุนโลจิสติกส์ลงได้ก็จะไปชดเชยกับต้นทุนอื่นที่เพิ่มขึ้นได้

ขอให้เข้าเบื้องต้นก่อนว่าโลจิสติกส์มีเรื่องที่เกี่ยวข้องมากกว่าแค่การขนส่ง เพราะโลจิสติกส์ต้องเริ่มต้นที่ความต้องการของลูกค้าและผู้บริโภค ดังนั้นเราต้องประมาณการความต้องการนั้นออกมาในรูปของการประมาณการยอดขาย ในทางวิชาการมีทฤษฎีการวิธีประมาณการยอดขายหลายอย่าง ซึ่งในที่นี้ผมขอเสนอวิธีอย่างง่ายๆ เพราะเราไม่ใช่ธุรกิจที่เพิ่งเริ่มก่อตั้ง แต่เราดำเนินธุรกิจมาระยะหนึ่งแล้วย่อมต้องมีตัวเลขของยอดขายที่เราจะเห็น และจะนำมาใช้อ้างอิงในการประมาณการได้ ด้วยภาวการณ์ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ผ่านมาอาจทำให้ตัวเลขผิดเพี้ยนอยู่บ้าง

แต่ความเป็นผู้ประกอบการของท่านเมื่อพิจารณาด้วยปัจจัยต่างๆ เช่น ตัวเลขยามปกติ การพิจารณา Season (ในที่นี้ไม่ใช่เพียงแค่ฤดูกาลทางธรรมชาติ แต่เราจะรวมถึงเทศกาลต่างๆ เช่นปีใหม่ สงกรานต์ การเปิดภาคการศึกษา กฐิน ฯ) ภาวะโรคระบาด คำสั่งต่างๆ ของรัฐที่กระทบกับเรา ผมเชื่อว่าท่านจะได้ตัวเลขมาชุดหนึ่ง อาจไม่ใกล้เคียงเลยก็ได้ แต่เราก็ต้องได้และนำมันใช้พร้อมปรับปรุงไปตลอดเวลาจากการพิจารณาผลกระทบต่างๆ ระหว่างดำเนินการ ถ้าจะให้ดีและทำได้ให้ลงรายละเอียดลงไปให้ถึงรายสัปดาห์ได้ยิ่งดี อย่างน้อยก็เป็นรายปักษ์ หรือรายเดือน

หลายท่านอาจคิดว่าจำเป็นด้วยหรือ และจะกำหนดได้จริงหรือ ปัจจุบันท่านต้องบริหารธุรกิจด้วยข้อมูลเพื่อกำหนดค่าประมาณการที่จะนำมาใช้ในการวางแผน หมดเวลาของการบริหารธุรกิจแบบรายวันเช่นที่เคยทำมาถ้าต้องการฟันฝ่าวิกฤตต่างๆ ในช่วงนี้

หลักคิดที่สำคัญของธุรกิจประการแรกคือต้องรอด ตัวเลขที่ได้เราต้องการมาวัดประสิทธิภาพของการดำเนินงาน เราอาจแบ่งตัวเลขประมาณการเป็น 3 ชุด คือกรณีมียอดขายที่ดี ปานกลาง และเลวร้าย แม้ว่าระหว่างดำเนินงานจะได้ยอดขายที่ดีก็อย่างเพิ่งหลงไป เพราะเราอาจตั้งตัวต่ำเกินจริงหรือเปล่า ต้องทบทวนว่าตัวเลขที่ดีนั้นเกิดจากอะไรและจะเพิ่มได้ด้วยวิธีใด เช่นเดียวกับยอดขายปานกลางหรือเลวร้ายก็ต้องคิดมากเช่นเดียวกัน

การประมาณการยอดขายเป็นการคิดว่าเราต้องใช้ทรัพยากรต่างๆ ในธุรกิจของเราอย่างไรบ้าง โลจิสติกส์เป็นกระบวนการเพื่อการส่งมอบคุณค่าให้ลูกค้าได้รับอรรถประโยชน์ (Utility) ในด้านต่างๆ ในระบบโลจิสติกส์ เราจะนำประมาณการยอดขายมาคิดเรื่องของสต๊อก (Stock) และการจัดหา (Supply) เพื่อให้การส่งมอบสมบูรณ์เราก็ต้องเช็คสต๊อกให้พอพียงต่อการส่งมอบ ถ้าสต๊อกไม่พอเราก็ต้องจัดหา

การจัดหา

9

การจัดหานั้นรวมทั้งการจัดหาวัตถุดิบ ของใช้สิ้นเปลือง (Supply use) เครื่องมือ อุปกรณ์ ฯ เพื่อใช้ในการผลิต และการจัดหาสินค้าที่เราจะนำไปขายต่อ การจัดหา (Sourcing & Procurement) มักจะมีความสับสนระหว่างคำ จัดหา และจัดซื้อ (Purchasing) หลายท่านนำมาใช้แทนกัน การจัดหา

นั้นหมายถึง กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาผลิตภัณฑ์หรือบริการ ครอบคลุมงานที่เกิดขึ้นก่อน ระหว่าง และหลังการซื้อสินค้าและบริการ ที่เริ่มต้นจากการระบุความต้องการและสิ้นสุดลงต่อเมื่อความต้องการเป็นจริงหรือไม่มีอยู่อีกต่อไป ส่วน การจัดซื้อ เป็นส่วนหนึ่งของการจัดหา มีกิจกรรม เช่น การสั่งซื้อ เร่งรัดสินค้า รับสินค้าเข้าคลัง และชำระเงินให้ซัพพลายเออร์ การจัดซื้อจึงเป็นเพียงงานธุรการของการจัดหา

เมื่อกล่าวถึงเรื่องการจัดหานี้ จากการเข้าให้คำปรึกษากับธุรกิจ พบว่ามีธุรกิจจำนวนมากเคยชินกับ ซัพพลายเออร์ (Supplier) หรือเวนเดอร์ (Vendor) รายเดิม ๆ (โดยทั่วไป Supplier คือผู้ผลิตที่ส่งของให้เรา ส่วน (Vendor) คือผู้ที่ซื้อของมาส่งต่อให้เรา) วิธีการสั่งซื้อก็เป็นแบบเดิมๆ เมื่อผมได้อธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ เช่น การไม่ผูกติดอยู่กับผู้จัดหารายเดียว

หรือการเข้าสู่ตลาดของสิ่งของที่เราต้องการเพื่อเช็คสภาพตลาด หรือที่พบบ่อยคือเมื่อมียอดขายที่เพิ่มขึ้นกลับไม่เคยมีการต่อรองเพื่อให้เราได้เงื่อนไขที่ดีขึ้น โดยที่มีข้อคำนึงว่าไม่ใช่ให้ได้ราคาต่ำสุดเท่านั้น (เพราะอาจมีผู้จัดหาหลายรายยอมรับราคาที่เรากดลงก็ได้ แต่เขาจะอย่างไรก็ต้องมีกำไรพอที่เขาจะพอใจได้

ดังนั้นเขาย่อมมีวิธีการต่างๆ ที่จะทำให้เราต้องเสียทรัพยากรเกินจำเป็นในการตรวจสอบของที่เขาส่งมอบ) เราจึงควรต้องมีกฎเกณฑ์ที่เหมาะสมเพื่อใช้ในการประเมินผู้จัดหา และควรใช้หลักการของการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้จัดหา (Supplier Relationship Management SRM) เพื่อให้เราได้รับการ Supply สิ่งของแม้ในยามวิกฤตของสิ่งของนั้น เมื่อผู้ประกอบการที่ผมได้เข้าให้คำปรึกษาเข้าใจในเรื่องนี้ ทำให้เขาได้เงื่อนไขที่ดีขึ้น ต้นทุนลดลง บางรายลดต้นทุนลงได้ถึง 20%

ข้อตกลงของการส่งมอบเป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องพูดคุยและตกลงร่วมกันกับผู้จัดหาเพื่อประโยชน์ของทั้ง 2 ฝ่าย รวมทั้งเกณฑ์การประเมินการทำงานของผู้จัดหาเพื่อพิจารณาว่าเราควรเปลี่ยนผู้จัดหาหรือไม่อย่างไร หรือให้ผู้จัดหาแข่งกันในการให้บริการแก่เรา การเริ่มต้นที่จุดนี้จะทำให้เราลดต้นทุนลงได้อย่างแน่นอน

การผลิต

8

สำหรับธุรกิจที่มีเรื่องของผลิตเพื่อการสร้างสินค้า หรือมีเรื่องกระบวนการทำงานสำหรับธุรกิจบริการ เราต้องเข้าใจว่ามีทั้งการผลิตหรือการทำงานเพื่อเข้าสู่สต๊อก (Make to Stock) (เช่นร้านอาหารเป็นเรื่องของการจัดที่นั่ง การเตรียมเครื่องปรุง เครื่องเคียง ฯ) และการผลิตหรือการทำงานตามสั่ง (Make to Order) (เช่นการปรุงอาหารตามสั่ง การเสิร์ฟอาหาร ฯ)

เมื่อเราได้ประมาณการความต้องการของลูกค้าจนเป็นการประมาณยอดขายจะทำให้เรารู้ว่าต้องใช้ทรัพยากรอะไรบ้างในแต่ละกิจกรรมไม่ว่าเราจะผลิตหรือในการสร้างงานบริการ เราก็สามารถแยกงานออกมาเป็นกิจกรรมต่างๆ สิ่งที่เราต้องทำคือการทบทวนกระบวนการทำงานทั้งฝั่งสินค้าและการบริการว่ามีประสิทธิภาพแล้วหรือยัง มีต้นทุนที่เหมาะสมหรือไม่ มีอะไรที่ต้องปรับปรุงบ้างหรือไม่

เราต้องเข้าใจว่าในกระบวนการทำงานนั้นมีกิจกรรม 3 ประเภท คือ กิจกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added VA) กิจกรรมที่จำเป็นแต่ไม่เพิ่มมูลค่า (Necessity Non-Value Added NNVA) และกิจกรรมที่ไม่เพิ่มมูลค่า (Non Value Added NVA) ในการวิเคราะห์เช่นนี้ทำให้เราลดการใช้ทรัพยากรกับกิจกรรมที่ไม่เพิ่มมูลค่า NVA ทำให้เรารู้ว่าควรจะใช้ทรัพยากรอะไรกับกิจกรรมใดด้วยปริมาณเท่าใดจึงจะเหมาะสม ต้นทุนเราก็จะลดลงได้ เพื่อการบริหารวัตถุดิบทั้งในโรงงานและในร้านได้

อีกประการหนึ่งคือการเลือกวัตถุดิบที่มีคุณภาพเกินความจำเป็น ผมขอยกตัวอย่างที่ผมเข้าโรงงานผลิตป้ายเพื่อการโฆษณา ผมถามเขาว่าเคยรู้ไหมว่าป้ายโฆษณาที่ลูกค้าสั่งนั้นใช้ติดกลางแจ้ง หรือในร่ม และมีระยะเวลาในการติดตั้งนานเท่าไรบ้าง เขาบอกว่าเขาไม่เคยถามหรือรู้มาเลย

ผมจึงอธิบายเขาว่า สิ่งที่ลูกค้าต้องการ (คุณค่า) คือป้ายนั้นต้องภาพคมชัด สีสดตามต้นแบบ โดยทั้งคุณลักษณะเหล่านี้ต้องมีอายุใช้งานยืนยาวตามที่ต้องการ แล้วถามเขาว่าคุณภาพของสีที่ทำป้ายซึ่งใช้ในร่มจำเป็นต้องมีคุณภาพอย่างกลางแจ้งหรือไม่ เขาก็บอกว่าไม่จำเป็น ป้ายที่ติดตั้งเป็นปีย่อมต้องการคุณภาพของสีมากกว่าป้ายที่ติดตั้งเพียง 2-3 เดือน

นี่ก็ทำให้ต้นทุนของงานก็ลดลง เขาสามารถเข้าประมูลงานได้เพิ่มขึ้น เพราะต้นทุนลดลง โดยกำไรก็เพิ่มขึ้น รวมทั้งการวางกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนให้กับผู้รับเหมาช่วงในการติดตั้งป้าย เป็นที่ถูกใจของทั้งโรงงานและซัพพลายเออร์ เพราะผู้รับเหมาช่วงมีต้นทุนที่ลดลงด้วย ราคารับเหมาก็ถูกลง

การวางแผนความต้องการเพื่อกระจายสินค้า (Distribution Requirement Planning DRP)

7

การบริหารสต๊อกสินค้า การบริหารคลังสินค้า เป็นต้นทุนที่สำคัญตัวหนึ่งในเรื่องของโลจิสติกส์ การรวบรวมข้อมูลคำสั่งซื้อเพื่อประเมินความต้องการของลูกค้าจะทำให้เราพยากรณ์ปริมาณของสินค้าในสต๊อก เพื่อการบริหารคลังสินค้า เราจึงต้องใช้ทั้งข้อมูลคำสั่งซื้อ ทำเล สถานที่จัดเก็บ การกระจายสินค้า ต้นทุนในการถือครองและการเก็บรักษาสินค้า รวมทั้งเครื่องมือ อุปกรณ์ และยานพาหนะในคลังสินค้าเพื่อการเคลื่อนย้ายภายในคลังสินค้าทั้งเมื่อรับเข้าและส่งออก ดังกล่าวมาแล้วว่าเราต้องบริหารธุรกิจด้วยการใช้ข้อมูล ซึ่งเราได้พูดถึงการประมาณการความต้องการของลูกค้ามาแต่ต้นแล้ว

การบริหารคลังสินค้าให้เราแบ่งแยกสินค้าด้วยรหัสสินค้า แยกตามความเร็วในการขายต้องให้อยู่ในตำแหน่งที่มีระยะทางสั้นที่สุด เพื่อประหยัดทั้งแรงงานและเวลาในการ Loading แบ่งแยกตามมูลค่า ควรมีชั้นวางสินค้า (Rack) ที่มีป้ายกำกับ จัดทำเลขที่อ้างอิง การบริหารสต๊อกแบบเข้าก่อนออกก่อน (FIFO) กำหนดปริมาณของสินค้าแต่ละชนิด โดยพิจารณาจากปริมาณคำสั่งซื้อ และ lead time ในการส่งมอบประกอบกัน ต้องมีการตรวจนับเป็นประจำ อาจกำหนดเป็นสัปดาห์ เดือน ราย 3 เดือน เพื่อป้องกันการทุจริต

ในการบริหารคลังสินค้าและสินค้าคงคลังเราต้องเข้าใจว่ามีเรื่องของต้นทุนที่จมอยู่ในสต๊อก มีเรื่องของความเสี่ยงทั้งด้านเสียหายหรือสูญหาย จึงเป็นเรื่องที่เราต้องมอบหมายให้ผู้หนึ่งผู้ใดที่มีความรู้ความสามารถและไว้ใจได้ในการบริหาร เคยมีตัวอย่างหนึ่งกับธุรกิจที่เข้าให้คำปรึกษา ร้านสาขาส่งใบเบิกสินค้ามาที่คลังของสำนักงานใหญ่

ปรากฎว่าคลังสินค้ากลางไม่มีสต๊อก ฝ่ายคลังสินค้าจึงทำเรื่องขอจัดซื้อด้วยมูลค่าหลายล้านบาท (กรณีนี้สินค้ามีราคาสูง และซัพพลายเออร์มีขั้นต่ำ (Minimum Order) ของการสั่งซื้อ อีกทั้งมี lead time ระยะเวลาหนึ่ง) ผู้บริหารขอคำปรึกษาจากผม ผมจึงให้เช็คสต๊อกจากร้านสาขาทั้งหมด

พบว่า มีปริมาณสินค้านั้นอยู่ตามสาขาต่างๆ รวมกันมากกว่าขั้นต่ำของการสั่งซื้อเสียอีก นี่ก็เป็นอีกตัวอย่างที่ทำให้ธุรกิจต้องมีต้นทุนของสินค้าที่จมลงไปในสต๊อก ถ้าเป็นธุรกิจที่ต้องกู้เงินมาดำเนินงานก็จะเกิดดอกเบี้ยที่ไม่ควรจะต้องจ่ายทำให้กำไรลดลง เพราะไม่เคยบริหารข้อมูลทั้งๆที่ตนเองก็มีอยู่แล้ว

หลักคิดหนึ่งคือคำสั่งซื้อสมบูรณ์ (Perfect Order Fulfillment) หมายความว่าในการกระจายสินค้านั้นต้องตอบสนองต่อคำสั่งซื้อที่สมบูรณ์ ซึ่งประกอบไปด้วย ถูกต้อง ครบถ้วน ไม่แก้ไข ถูกต้องคือสินค้านั้นๆ ต้องเป็นไปตามประเภท ชนิด ที่มีคำสั่งซื้อ และส่งถูกสถานที่ที่กำหนดให้ ครบถ้วน

คือ ส่งตามปริมาณในใบสั่งซื้อ โดยมีคุณภาพตามที่กำหนด ไม่แก้ไข คือเอกสารที่กำกับไปกับสินค้า (Invoice) ต้องถูกต้องและเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไม่ทำให้ต้องแก้ไขจากการลงรายการนั้นผิดพลาด ดังนั้นเราต้องกำหนดสินค้าคงคลังขั้นต่ำ Safety Stock คือการกำหนดจำนวนสินค้าขั้นต่ำที่ควรมีสำรองไว้เพื่อไม่ให้เสียโอกาส

การขนส่ง

6

หลักคิดที่สำคัญในการขนส่ง คือ 3 S ประกอบไปด้วย Safety ปลอดภัย Saving ประหยัด Service Level ระดับของการบริการ ทุกการขนส่งมีความเสี่ยง เราจะบริหารยานพาหนะอย่างไร และควบคุมผู้ควบคุม (ขับ) ยานพาหนะอย่างไรให้ปลอดภัย ไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ เพราะอุบัติเหตุทำให้เกิดความเสียหายในทรัพย์สิน คือทั้งตัวรถ และสินค้าที่บรรทุกไป อีกทั้งทำให้ระดับการบริการของเราลดลง เพราะเราไม่สามารถทำให้คำสั่งซื้อสมบูรณ์ได้ก็จะก่อให้เกิดค่าปรับ

สิ่งที่ต้องทำคือการบำรุงรักษารถบรรทุกตามที่กำหนดไว้ การตรวจสุขภาพของพนักงานขับรถบรรทุก และไม่ใช้งานพนักงานขับรถบรรทุกเกินขีดความสามารถ ในยุโรปเขาจะมี GPS เพื่อตรวจดูว่าพนักงานขับรถบรรทุกที่ขับรถมาแล้ว 4 ชั่วโมงโดยประมาณต้องพักตัวเองอย่างน้อย 45 นาที ตามที่กฎหมายกำหนด การทำประกันเป็นเพียงการเยียวยาให้เราเสียหายน้อยลงกว่าที่ควรเท่านั้น ทั้งหมดที่กล่าวมาหลายท่านอาจจะบอกว่าไม่เห็นจะประหยัดต้นทุนเลย เป็นการเพิ่มรายจ่ายเสียอีกต่างหาก นี่แหละครับคือการประหยัดเพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ และการเยียวยาความเสียหายครับ

ในการขนส่งมีกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง เรา และเราให้พนักงานของเราตระหนักถึงรายจ่ายจะที่เกิดขึ้นเมื่อทำผิดกฎหมายหรือไม่ การวางแผนเส้นทางการขนส่งและการปฏิบัติตามแผนงานจะทำให้พนักงานขับรถไม่ต้องเร่งเวลาตนเองจนทำผิดกฎจราจรและไม่ปลอดภัย เกิดรายจ่ายที่ไม่สมควรจะเกิด

การทุจริตของพนักงานขับรถ ที่เคยพบจากการเข้าให้คำปรึกษาคือพนักงานขับรถแอบขโมยน้ำมันออกไปขาย โรงงานมีการจดตัวเลขทั้งน้ำมันที่เติมและระยะทางแต่ไม่เคยนำตัวเลขมาคำนวณ เมื่อผมให้คำนวณและบอกว่านาย ก.ทุจริตเพราะตัวเลขความสิ้นเปลืองน้ำมันมีมากกว่าคนขับรถคนอื่นๆ หรือกิจการรับขนส่งให้ติด GPS พบว่ามีการจอดรถในที่ที่ไม่สมควรจะจอด ให้พนักงานฝ่ายบุคคลแอบสะกดรอยตามไปดูก็เห็นว่ามีการดูดน้ำมันออกจากถังน้ำมันของบริษัทเพื่อเอาไปขาย ณ จุดที่ไม่สมควรจอดนั้น

การใช้รถเกินสมรรถนะที่ผู้ผลิตได้กำหนดไว้ จากธุรกิจที่เข้าให้คำปรึกษานายจ้างต้องการประหยัดให้รถขนาดบรรทุก 1 ตัน บรรทุกสินค้า 2 ตัน และยังให้สูบลมยางเกินกว่าที่ผู้ผลิตยางกำหนดมากๆ อย่างนี้อันตรายที่อาจเกิดกับคนขับรถได้ ต้องบอกให้รีบแก้ไข และรถยนต์คันนั้นจะมีอายุการใช้งานสั้นลงด้วย

ความสูญเปล่าจากการไม่บรรทุกให้เต็มปริมาตรที่เหมาะสมในแต่ละเที่ยวทำให้มีค่าใช้จ่ายด้านขนส่งที่เฉลี่ยต่อชิ้นสินค้าเพิ่มขึ้น และการตีรถเปล่าในเที่ยวขากลับก็ฝากให้คิดดูเพราะแต่ละกิจการจะไม่เหมือนกันครับ

ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นหัวข้อของโลจิสติกส์อย่างภาพรวม ทั้งเรื่องการจัดหา การผลิตและกระบวนการทำงาน คลังสินค้าและสินค้าคงคลัง และการกระจายสินค้าตามความต้องการ รวมทั้งการขนส่ง วัตถุประสงค์ของบทความนี้เพื่อกระตุ้นให้ท่านลดต้นทุนด้วยการพิจารณาด้วยโลจิสติกอย่างภาพรวม ซึ่งผมคงไม่สามารถอธิบายให้ละเอียดในทุกหัวข้อเพียงยกขึ้นมาให้ไปคิดและทำให้เกิดผลครับ ขอให้ทุกท่านผ่านพ้นวิกฤตในขณะนี้ และที่ผมเชื่อว่าจะมีเพิ่มขึ้นอีกในไม่ช้านี้ครับ


ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจ แฟรนไชส์ และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise

0

ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/335phDi
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter

สำหรับท่านที่มีธุรกิจและอยากสร้างระบบแฟรนไชส์ หรือต้องการปรึกษาเรื่องการพัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์ให้เติบโตมากยิ่งขึ้น

คลิกรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://bit.ly/33k6nZE
สนใจรับคำปรึกษาโทร.02-1019187, Line : @thaifranchise

วิทยากร : อ.สุชาติ กิติเฉลิมเกียรติ

 

อ้างอิงจาก https://bit.ly/3c3ltXx

กองบรรณาธิการเว็บไซต์

ยินดีสนับสนุน SMEs ไทยทุกแบรนด์ ที่ต้องการสร้างความเข้มแข็ง อยากเรียนรู้ พัฒนาธุรกิจ ส่งเสริมความเข้าใจในการตลาด มีความคิดสร้างสรรค์ แบ่งปันเพื่อสังคม ต่อยอดธุรกิจ ให้ประสบความสำเร็จในอนาคต