New Retail สงครามค้าปลีกรูปแบบใหม่ของโลก
ปัจจุบันเราจะได้ว่า กลยุทธ์การเชื่อมโยงธุรกิจแบบไร้รอยต่อ ของบริษัทยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซหลายราย ไม่ว่าจะเป็น Alibaba และ Amazon ด้วยการรุกเข้าสู่โลกร้านค้าปลีกออฟไลน์อย่างเต็มรูปแบบ
กำลังเป็นโมเดลธุรกิจที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง อย่างล่าสุดเมื่อช่วงต้นปี 2561 บริษัท JD.com อีคอมเมิร์ซอันดับ 2 คู่แข่งของ Alibaba ในจีน ได้ทำการเปิดตัวซูเปอร์มาร์เก็ตอัจฉริยะ สุดล้ำในชื่อ “7FRESH” ที่เมืองอี้จวง ในกรุงปักกิ่ง
ภาพจาก goo.gl/KxHLnR
โดยก่อนหน้านี้ Alibaba ก็ได้เปิดซูเปอร์มาร์เก็ต ชื่อ Hema (เหอหม่า) กว่า 30 สาขาในกรุงปักกิ่งมาก่อนแล้ว เพื่อเดินเกม Omni-Channel ผ่านการเชื่อมต่อหน้าร้าน Offline เข้ากับฐานลูกค้าที่แข็งแกร่งบน Online
โดย เหอหม่า ซูเปอร์มาร์เก็ต นั้นก่อตั้งขึ้นในปี 2558 ภายใต้จุดประสงค์เพื่อสร้างสรรค์ธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตรูปแบบใหม่ และถือเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ค้าปลีกยุคใหม่ (New Retail) ของ อาลีบาบา ที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและข้อมูลผู้บริโภคเชิงลึก (Consumer Insights) เพื่อผสานการค้าออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกันเป็นหนึ่งเดียว
ภาพจาก goo.gl/KxHLnR
ความสำเร็จของเหอหม่า ยังวัดได้จากยอดสั่งซื้อสินค้าซ้ำจากลูกค้าเดิม ด้วยมีค่าเฉลี่ยจำนวนครั้งการสั่งสินค้าต่อเดือนอยู่ที่ 4.5 ครั้งต่อคน และยอดขายต่อพื้นที่ร้านค้ามากกว่าซูเปอร์มาร์เก็ตแบบเดิมประมาณ 3-5 เท่าตัว
เนื่องจากกว่าครึ่งของคำสั่งซื้อสินค้าทั้งหมดเกิดขึ้นผ่านช่องทางออนไลน์อยากรู้หรือไม่ว่า “7FRESH” มีอัจฉริยะสุดล้ำ อย่างไร วันนี้ www.ThaiFSMEsCenter.com จะนำเสนอข้อมูลให้ทราบ
เทคโนโลยีที่น่าจับตามอง “7FRESH”
ภาพจาก goo.gl/KxHLnR
1.เคาน์เตอร์ชำระเงินที่นี่รองรับทั้งการจ่ายเงินสด บัตรเครดิต และจ่ายผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ 7FRESH กับ WeChat Pay ทั้งยังมีบริการชำระเงินเอง (Self-checkout) ด้วยระบบจดจำใบหน้า (Facial Recognition) ที่เชื่อมต่อกับแอปฯ 7FRESH เช่นกัน
2.รถเข็นอัจฉริยะ (Autonomous Shopping Cart) สามารถเคลื่อนที่ติดตามระหว่างที่เราเดินเลือกของได้โดยเชื่อมต่อสัญญาณผ่านนาฬิกาอัจฉริยะ ไม่ต้องเข็นเองหรือออกคำสั่งให้ยุ่งยาก ตอนนี้กำลังอยู่ในระหว่างการทดสอบ
ภาพจาก goo.gl/KxHLnR
3.ป้ายราคาดิจิทัล (E-price Tag) จะเปลี่ยนราคาสินค้าบนชั้นวางตามราคาสินค้าบนช่องทางออนไลน์แบบเรียลไทม์ โดยเฉพาะในช่วงแคมเปญลดราคาและโปรโมชัน
4.เซอร์ไพรส์สุดต้องยกให้กับ Magic Mirror กระจกอัจฉริยะแสดงข้อมูลรายละเอียดของสินค้าทันทีที่เราหยิบขึ้นมา เช่น ที่ตั้งของฟาร์ม แหล่งปลูก ผู้ผลิต วันที่ ข้อมูลทางโภชนาการ หรือแม้แต่ระดับความหวานของผลไม้
ภาพจาก goo.gl/KxHLnR
5.ลูกค้าสามารถสแกนดูข้อมูล และตรวจสอบที่มาของสินค้าบนป้าย QR Code ข้อมูลของสินค้าทุกชิ้นจะถูกบันทึกผ่าน Blockchain Food Safety Alliance ตลอดทั้งซัพพลายเชนตั้งแต่การผลิตจนถึงจัดส่ง เพื่อเพิ่มความมั่นใจเรื่องความปลอดภัยทางอาหาร ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง JD.com, Walmart, IBM และมหาวิทยาลัยชิงหวา ประเทศจีน
ภาพจาก goo.gl/KxHLnR
6.สำหรับลูกค้าที่ไม่สะดวกหิ้วของกลับเอง และลูกค้าที่สั่งซื้อออนไลน์ ก็สามารถใช้บริการเดลิเวอรี่ถึงบ้านภายใน 30 นาที ระยะทางจัดส่งไม่เกิน 3 กิโลเมตร ในซูเปอร์มาร์เก็ตจะมีระบบราง ที่พนักงานสามารถดร็อปและเคลื่อนย้ายตะกร้าสินค้าไปจัดส่งได้อย่างรวดเร็ว
ปัจจุบันลูกค้าของ JD.com บนออนไลน์มีกว่า 266.3 ล้านคน ดังนั้น JD จึงตั้งเป้าให้ 7FRESH เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตสำหรับลูกค้าที่ต้องการได้รับประสบการณ์การช้อปปิ้งระดับ premium เช่นเดียวกับเมื่อซื้อผ่านออนไลน์
ภาพจาก goo.gl/KxHLnR
โดยการออกแบบร้านให้สะอาดและกว้างขวาง ลบภาพตลาดสดแบบ Local ทิ้งไป 7FRESH เน้นไปที่การขายอาหารสด ทั้ง พืชผัก ผลไม้ เนื้อนำเข้า และ อาหารทะเลแบบสดๆ ที่สามารถเลือกและนำมาปรุงอาหารทานได้เลย
โดยภายในปี 2561 JD ตั้งเป้าขยายสาขา “7FRESH” ในปักกิ่ง เพิ่มขึ้นเป็น 10 สาขา และภายใน 5 ปี คาดว่าจะมี 1,000 สาขาทั่วประเทศจีน
อย่างไรก็ตาม การเปิดตัว 7FRESH ของ JD ถือเป็นการตอกย้ำ ทิศทางที่เปลี่ยนแปลงของบริษัท E-Commerce ที่ต่างลงมาเล่นตลาดออฟไลน์กันมากขึ้น พร้อมกับการให้บริการแบบ Omni-Channel ที่ออนไลน์และออฟไลน์เชื่อมโยงกัน โดยบริษัทเหล่านี้ ได้ใส่ข้อได้เปรียบทางด้านเทคโนโลยีลงไป เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคให้มากที่สุด
TENCENT ส่ง Super Species ช่วงชิงตลาดในจีน
ภาพจาก goo.gl/VKBHmR
มีรายงานอีกเหมือนกันว่า Tencent ยักษ์ใหญ่อินเทอร์เน็ตของจีน ได้ขยับเข้ามาสู่โลกธุรกิจค้าปลีกที่ Alibaba ยึดครองพื้นที่ไว้มากขึ้น โดยได้เข้าถือหุ้นใน Super Species ร้านซูเปอร์มาร์เก็ตที่นิยามว่าเป็น “ซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งอนาคต” ซึ่งถือเป็นการช่วงชิงพื้นที่กับ Alibaba โดยตรง
โดยหลังจากที่ก่อนหน้านี้ ยักษ์อีคอมเมิร์ซอย่าง Alibaba ได้เริ่มยุทธศาสตร์ใหม่ที่เรียกว่า New Retail โดยผสานออนไลน์กับร้านออฟไลน์ด้วยกัน และการซื้อซูเปอร์มาร์เก็ต Hema (เหอหม่า) ส่งผลให้ Tencent อยู่นิ่งเฉยไม่ได้ ตัดสินใจเข้าซื้อซูเปอร์มาร์เก็ตเพื่อช่วงชิงลาดออฟไลน์บ้างเช่นกัน
Super Species เป็นโปรเจ็กต์ซูเปอร์มาร์เก็ตแนวใหม่ของเครือ Yonghui ที่ดำเนินธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ในจีน ปัจจุบัน Super Species มีมากกว่า 20 สาขา ขณะที่ Hema มีอยู่ 30 สาขา แน่นอนว่า Tencent ต้องการนำบริการ WeChat Payment เข้าไปใส่ไว้ใน Super Species ซึ่งถือเป็นการปะทะกันกับ Alipay ของ Alibaba แน่นอน
Tencent แม้จะมีขนาดธุรกิจใหญ่กว่า Alibaba ตามราคาหุ้น และมีธุรกิจย่อยในเครือที่แข่งกันโดยตรงกับ Alibaba หลายอย่าง แต่ในส่วนของธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่ Tencent ยังไม่เทียบเคียงนัก ปัจจุบัน Tencent มีเพียงถือหุ้นใน JD.com เบอร์ 2ของจีนอยู่ 21.25% การช่วงชิงพื้นที่ซูเปอร์มาร์เก็ต จึงอาจเป็นหมากสำคัญของ Tencent ที่ต้องจับตาดูต่อไป
LAWSON ใช้ระบบ AI ช่วยขยายสาขา
ภาพจาก goo.gl/tnbsaJ
มีรายงานด้วยเช่นกันว่า Lawson ร้านสะดวกซื้อชั้นนำของญี่ปุ่น นำระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence – AI) เข้าช่วยใช้ในการคำนวณความคุ้มค่าถึงการเปิดสาขาใหม่
ปัจจุบัน Lawson มีร้านสาขาอยู่ถึง 13,000 แห่งในญี่ปุ่น นอกจากนั้นก็ยังมีอีกหลายแห่งทั่วโลก อย่างสหรัฐอเมริกา, จีน, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย เช่นเดียวกับประเทศไทย ภายใต้ชื่อ Lawson 108
Lawson ตั้งเป้าจะใช้งาน AI ไปกับการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์สถานที่ทำตลาด (Market Area) โดย AI จะรวบรวมองค์ประกอบต่างๆ เช่น ข้อมูลการจราจรในพื้นที่นั้นๆ
หรือรายละเอียดสัญญาจากเจ้าของพื้นที่ ไปจนถึงจำนวนร้านค้าคู่แข่งรายรอบ และวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้บริโภคในย่านนั้นๆ เพื่อคำนวณออกมาเป็นชุดข้อมูลสุดท้ายว่า จะทำกำไรจากสาขาใหม่ในสถานที่นั้นได้หรือไม่
Lawson นับว่าเป็นธุรกิจค้าปลีกรายแรกของญี่ปุ่นที่นำเอา AI เข้าช่วยกิจการ แถมพวกเขายังมีการทดลองใช้งานไปบ้างแล้วในช่วงปลายปีที่ผ่านมา กับการเปิดสาขาใหม่ของ Lawson Store 100 ที่ขายเฉพาะผลิตภัณฑ์อาหาร ส่วนหลังจากนี้จะใช้ AI เพื่อการขยายสาขาในลักษณะเต็มรูปแบบของร้าน Lawson และเอาท์เล็ตแบบไฮ-เอนด์ Natural Lawson ต่อไป
7-Eleven ไร้พนักงานในเกาหลีใต้
ภาพจาก goo.gl/35mLj9
มาทางฟากฝั่งร้านสะดวกซื้อยักษ์ใหญ่อย่าง 7-Eleven ในประเทศเกาหลีใต้ ได้พัฒนาโมเดลต้นแบบ “Smart Convenience Store” แห่งแรกของ 7-Eleven ทั่วโลก ที่อาคาร Lotte World Tower ภายใต้ชื่อ “7-Eleven Signature” ภายในใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) ทั้งร้าน
เช่น ตู้เย็นติดตั้งเซ็นเซอร์ สามารถเปิด-ปิดประตูอัตโนมัติ เมื่อลูกค้ายืนอยู่หน้าตู้ ประตูจะเปิดอัตโนมัติ และเมื่อหยิบสินค้าเสร็จ ประตูจะปิดเอง, การนำเทคโนโลยีสแกนหลอดเลือดมาใช้กับเครื่องจำหน่ายบุหรี่อัตโนมัติ เพื่อป้องกันผู้เยาว์ซื้อบุหรี่, ป้ายราคาอิเลคทรอนิคส์, ระบบกล้องวงจรปิดอัจฉริยะ
ประการสำคัญ “เคาน์เตอร์ชำระเงิน” และ “ระบบจ่ายเงิน” ยังใช้เทคโนโลยีสุดล้ำ โดยเคาน์เตอร์ชำระเงิน ไม่มีพนักงานให้บริการ แต่ใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะทั้งหมด เมื่อลูกค้าวางสินค้าที่เคาน์เตอร์
สินค้าต่างๆ จะถูกสแกน 360 องศา เพื่อค้นหาบาร์โค้ดบนสินค้า จากนั้นราคาจะปรากฏบนหน้าจอ ทั้งยังพัฒนาให้สามารถสแกนสินค้าและระบุราคาได้ แม้สินค้านั้นไม่มีแถบบาร์โค้ดก็ตาม
7-Eleven ไต้หวันตรวจจับลูกค้าจากบัตร
ภาพจาก goo.gl/6koBRn
เรียกว่าล้ำหน้าไปกว่าใครสำหรับ 7-Eleven ในประเทศไต้หวัน ภายใต้การดำเนินการของ President Chain Store Corp. ได้เปิดร้าน X-Store หรือร้าน 7-11 ที่ไม่มีพนักงานเป็นแห่งที่ 2 ในไต้หวัน โดยสาขาแห่งนี้ตั้งอยู่ที่เขตซิ้นยี้ ไทเป หลักการทำงานของร้านค้า X-Store ก็คือ จะตรวจจับลูกค้าจากบัตรที่มีการเก็บข้อมูลใบหน้า หรือ บัตร iCash 2.0
อีกทั้งยังมีตู้ ATM อัจฉริยะที่ใช้เทคโนโลยีแสกนลายนิ้วมือ และตรวจจับใบหน้า ที่สามารถทำให้ลูกค้าสามารถฝากเงินจำนวนไม่มาก และสามารถถอนเงินสกุลต่างชาติได้ โดยสาขาแห่งนี้นับเป็น 7-Eleven สาขาที่ 3 ของโลก ที่ไม่มีพนักงาน ส่วนสาขาแรก ตั้งอยู่ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เปิดตั้งแต่พฤษภาคมปี 2560
ร้าน 7-11 X-Store สาขาแรกของไต้หวัน เปิดในพื้นที่ของชั้นหนึ่งของตึก HQ ของบริษัทเองในเดือนมกราคมที่ผ่านมา เพื่อรองรับกลุ่มเป้าหมายฝูงชนมนุษย์ออฟฟิศ และนักเรียนจำนวนมหาศาลในบริเวณนั้น
แต่เป็นการทดสอบเปิดให้ใช้บริการเฉพาะพนักงานบริษัทเท่านั้น และแทนที่จะเปิด 24 ชั่วโมง ตามความคุ้นเคยของผู้บริโภคทั่วไป หรือเปิดตั้งแต่ 7 โมงเช้า ถึง 5 ทุ่ม ตามของชื่อแบรนด์ แต่สาขาดังกล่าวกลับเปิดทำการตั้งแต่ 7 โมงเช้าจนถึงเวลา 1 ทุ่ม เท่านั้น
7-Eleven 4.0 Flagship Store แห่งแรกในเมืองไทย
ภาพจาก goo.gl/S2CmHA
ในเมืองไทยก็ไม่น้อยหน้าสำหรับ New Retail โดยเฉพาะร้านสะดวกซื้อชั้นนำของประเทศอย่าง 7-Eleven ที่มีสาขาแล้วกว่า 10,760 สาขา เป็นอันดับ 2 รองจากญี่ปุ่น ที่สาขามากที่สุด 20,392 สาขา
7-Eleven 4.0 Flagship Store แห่งแรกในเมืองไทย ถือเป็นต้นแบบร้านสะดวกซื้อในอนาคต อยู่ที่สาขาสาธิต PIM (สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์) ถนนเจ้งวัฒนะ โดยมีรหัสสาขาเลขสวย 10001 ที่มาจาก binary code หรือเลขฐานสองสื่อถึงความเป็นดิจิทัลนั่นเอง
ภาพจาก goo.gl/S2CmHA
7-Eleven สาขานี้ มีคอนเซ็ปต์การตกแต่งเป็นอวกาศ มีความล้ำยุค ดูไฮเทค เปิดบริการครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2560 หลายคนอาจจะเคยเห็นบางส่วนกันมาบ้างแล้วบนโลกออนไลน์
- ป้าย Digital ปรับเปลี่ยนการแสดงผลได้ตามโอกาส
- Sevy Bot หรือน้องแมงมุม ผู้ช่วยอัจฉริยะต้อนรับทักทายโบกมือให้ลูกค้า พร้อมแนะนำโปรโมชั่นตลอด 24 ชั่วโมง
- ตู้แช่สินค้า Open Showcase มีบานเปิด/ปิด ประหยัดพลังงาน 30%
- ตู้กดสเลอปี้แบบ Touch Screen สามารถมิกซ์รสชาติได้ตามต้องการ
- Self Check Out ลูกค้าสามารถชำระเงินได้ด้วยตนเอง
- Shopping Kiosk สั่งสินค้าจาก 24 Shopping แล้วรอรับได้ทันที
- Digital Touch screen บอร์ดข่าวสำหรับฝากข้อความโดยลูกค้าสามารถมาเพิ่มข่าวสารหรือตั้งประกาศได้ด้วยตนเอง เช่น ประชาสัมพันธ์กิจกรรมในชุมชน, ประกาศขายบ้าน, ตามหาสัตว์เลี้ยงหาย เป็นต้น
- Digital Energy Saving Monitor จอแสดงการใช้พลังงานแบบ Real time
- EV Parking สถานีชาร์จไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ระบบไฟฟ้า
- OFO Share Bike บริการเช่าจักรยานอัจฉริยะผ่านแอปพลิเคชั่น สำหรับนักศึกษาและคนพื้นที่ไม่ไกล
ภาพจาก goo.gl/S2CmHA
ดูเหมือนว่าธุรกิจร้านค้าปลีกจะเป็นธุรกิจหลักที่เปิดรับเอา AI เข้าช่วยกิจการอย่างเป็นร่ำเป็นสัน หลังจากที่เริ่มแรกมีทั้ง Amazon Go ของสหรัฐอเมริกา ที่ทำร้านสะดวกซื้อไร้แคชเชียร์ภายใต้เทคโนโลยีคอนเซ็ปต์ ‘Just Walk Out’ และต่อมา Baidu ของจีนก็มีการผลักดัน AI ให้เข้ารับบทผู้จัดการซูเปอร์มาร์เก็ต ดูแลระบบจัดสต็อกสินค้าวันต่อวัน
นอกจากนี้ ยังมี Hema (เหอหม่า) ของอาลีบาบา, Super Species ของ TENCENT, 7FRESH ของ JD.com และยังมีทางฝั่งญี่ปุ่นอย่าง Lawson ที่จะใช้ AI เป็นตัวเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ความเหมาะสมในการขยายสาขาใหม่
ภาพจาก goo.gl/S2CmHA
รวมถึงร้านสะดวกซื้อยักษ์ใหญ่อย่าง 7-Eleven ไร้พนักงานในเกาหลีใต้และไต้หวัน ขณะที่ในเมืองไทยก็มี 7-Eleven 4.0 Flagship Store แห่งแรก สาขาสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ถนนแจ้งวัฒนะ ซึ่งเป็นสาขาต้นแบบของซีพีออลล์นั่นเอง ซึ่งต่อไปเราก็คงต้องจับตามองว่า อนาคตของ “แรงงานมนุษย์” ในร้านค้าปลีกรูปแบบใหม่ จะเป็นอย่างไร
อ่านบทความอื่นๆ จากไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ www.thaifranchisecenter.com
เลือกซื้อแฟรนไชส์ไทยขายดี เริ่มต้นธุรกิจ goo.gl/wFvPjq
แหล่งข้อมูล