Never Die! “เสาวนีย์ ชำหว้า” โชห่วย แต่ไม่ “ห่วย” พลิกแนวคิดใส่ “เทคโนโลยี”
การเข้ามาของร้านค้าปลีกสมัยใหม่อย่าง 7-Eleven รวมถึงร้านสะดวกซื้ออื่นๆ ตามหมู่บ้าน ตามชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ ได้ส่งกระทบต่อร้านขายของชำ หรือ “โชห่วย” ที่เราเรียกกัน ผู้ประกอบการร้านโชห่วยไหนที่ไม่สามารถปรับตัวให้ทันยุคทันสมัย
มักจะล้มหายตายจากไปเรื่อยๆ เนื่องจากสินค้าและบริการไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภค การบริหารจัดการร้านค้าไม่เป็น จึงทำให้ร้านโชห่วยส่วนใหญ่ไม่สามารถต่อกรกับร้านสะดวกซื้อต่างๆ ได้
แต่รู้หรือไม่ว่า ยังมีร้านโชห่วยที่สามารถต่อกรกับร้านสะดวกซื้อได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ นั่นคือ “ เสาวนีย์ ชำหว้า ” ซึ่งหลายคนบอกว่าเมื่อร้านสะดวกซื้อเข้ามาถึง ร้านโชห่วยก็อยู่ลำบาก หลายร้านสู้ไม่ไหวต้องยอมปิดกิจการ แต่ไม่ใช่ร้านนี้แน่นอน
วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com มีโอกาสสัมภาษณ์ “คุณกชณถกล เชาวน์เจริญ” ผู้บริหารร้านโชห่วย “เสาวนีย์ ชำหว้า” ซึ่งตั้งอยู่ในตำบลโคกปีบ อำเภอศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี โดยเปิดดำเนินธุรกิจมาตั้งแต่ปี 2501 โดยเธอเป็นผู้สานต่อและพัฒนาร้านค้าต่อจากคุณแม่ของเธอ (เสาวนีย์ เชาว์เจริญ) ซึ่งเป็นที่มาของชื่อร้านจนปัจจุบัน
จุดเริ่มต้นของ “เสาวนีย์ ชำหว้า”
คุณกชณถกล เล่าว่า ย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2501 คุณแม่ของเธอ (เสาวนีย์ เชาว์เจริญ) ได้ออกจากโรงเรียนตั้งแต่อายุ 12 ปี มาช่วยพ่อขายน้ำแข็งไสแก้วละบาท ขายขนมครก มีชั้นขายของชั้นเดียวขายแค่นมข้น กับโต๊ะเล็กๆ ขายผัก ขายปลาทู ขายหมู หลังจากนั้นคุณพ่อ (สุรศักดิ์ เชาว์เจริญ) ได้ซื้อที่ดินจากบ้านที่อยู่ติดกัน โดยกู้เงินมาซื้อ แล้วค่อยขยับขยายมาเรื่อยๆ จนกระทั่งมีหน้าร้านแบบร้านขายของชำทั่วไป ที่มีเชือกห้อยถุงขนมต่างๆ ตามหน้าร้าน
โดยก่อนที่เธอจะมาบริหารร้าน “เสาวนีย์ ชำหว้า” สมัยเด็กอยากเป็นเภสัชกร จนถึงขั้นเขียนคำว่าเภสัชติดเต็มฝาห้อง เธอเป็นคนเรียนไม่เก่งแต่ขยัน มีความตั้งใจและมีครูดีช่วยแนะนำ ช่วยฝึกจนสอบติดมหาวิทยาลัยบูรพาเอกสาธารณสุข คณะสุขศึกษาและพฤติกรรมสุขภาพ ตอนแรกเธอตั้งใจฝึกพยาบาลพอเจอผู้ป่วยเรียกเราเข้าไปช่วย หัวใจหล่นไปอยู่ที่ตาตุ่ม แบบว่ากลัวมากเธอก็เลยคิดว่าตัวเองไม่เหมาะกับการเป็นพยาบาล จึงหันมาเรียนสาธารณสุขพื้นฐานทั่วไป และสอบได้เกียรตินิยม
หลังจากนั้นเธอได้งานโรงพยาบาลเอกชนในพัทยา เป็นเลขาวอร์ด เธอคิดว่าจะได้เงินเดือนแพงๆ เพราะมีความตั้งใจที่จะหาเงินไปช่วยพ่อกับแม่ แต่ได้แค่ 7 พันบาทเท่านั้น แถมอยู่ไกลถึงพัทยา เธอจึงกลับมาสมัครโรงงานในปราจีนบุรี ได้เงินเดือนสตาร์ทประมาณ 1 หมื่นบาท เพราะใช้วุฒิม.6 ส่วนวุฒิปริญญาตรีไม่มีโรงงานไหนรับ
ต่อมาได้งานที่อภัยภูเบศร เป็นพนักงานขายหน้าร้าน ก่อนถูกดึงตัวไปทำการตลาดต่างประเทศ เพราะเธอพอรู้ภาษาต่างประเทศอยู่บ้าง กระทั่งได้หัวหน้าให้เธอไปงานนิทรรศการที่สิงคโปร์ เมื่อไปแล้วติดใจอยากไปอีก เธอจึงไปซื้อหนังสือเกี่ยวกับทุนต่างประเทศมาอ่าน และสมัครได้ทุนอินโดนีเซีย เป็นทุนแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม 40 ประเทศ ได้ไปอยู่ 1 ปี
พอเธอกลับมา ก็บอกแม่ว่าอยากเป็นแอร์โฮสเตส จึงไปเรียนคอร์สอบรมที่สีลม สมัครเจแปนแอร์ไลน์ กับกาตาร์แอร์เวย์ สอบผ่านรอบแรก แต่ตกสัมภาษณ์ ในขณะนั้นก็สมัครไปอเมริกาด้วย ไปเลี้ยงเด็ก ความคิดตอนนั้นคืออยากหาเงินช่วยเหลือครอบครัว ซื้อรถให้พ่อไปซื้อของที่ตลาดมาขาย
บังเอิญโชคดีของเธอได้ไปอยู่กับโฮสต์แฟมิลีในครอบครัวที่ปาล์มบีช ฟลอริดา ได้เงินเดือน 150 เหรียญต่ออาทิตย์ กินอยู่กับเขา ช่วงมีเวลาว่างเขาก็อนุญาตให้ไปทำงานร้านอาหารไทยด้วย พออยู่ได้ 2 ปีเก็บเงินได้มากพอสมควร เธอก็กลับบ้านซื้อรถให้พ่อ และเริ่มบริหารร้าน “ เสาวนีย์ ชำหว้า ” นับจากนั้นเป็นต้นมา
ปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์หน้าร้าน “เสาวนีย์ ชำหว้า”
คุณกชณถกล เล่าว่า พอได้บริหารร้านต่อจากพ่อแม่ อันดับแรกเธอเปลี่ยนบรรยากาศร้านค้า ปรับเปลี่ยน Location เริ่มตั้งแต่ปลูกต้นไม้ โดยเฉพาะไม้มงคล เพื่อคลายความร้อนเพิ่มความเป็นสิริมงคล เพราะเธอตระหนักในเรื่องโลกร้อน โดยสิ่งที่ทำได้ในขณะนั้น ก็คือ การปลูกต้นไม้ระหว่างทางเดิน เพื่อสร้างร่มเงาและดึงดูดให้คนเข้าร้านค้า
ต่อจากนั้นเธอมาทำเรื่องชั้นขายของ หลายคนอาจมองว่าเรื่องชั้นเป็นเรื่องธรรมดา แต่เมื่อลงมือทำจึงรู้ว่าการทำชั้นมีปัญหามาก เพราะเมื่อซื้อชั้นมาแล้ว ใส่ของเข้าไปจำนวนมาก ชั้นรับน้ำหนักไม่ไหวก็พัง ต้องปรับใหม่หมด จากนั้นเริ่มหาของเข้ามาเพิ่ม ด้วยการไปเดินตลาด เลือกเฉพาะสินค้าใหม่ๆ มาขาย แต่พอ 7-11 เข้ามา ทำให้ยอดขายร้านของเธอลดลงไป
ใช้ร้านค้าปลีกสมัยใหม่เป็น “โมเดล” ดึงดูดลูกค้า
สำหรับวิธีการแก้ปัญหาของเธอนั้น เธอไม่ได้มองร้านสะดวกซื้อต่างๆ เป็นคู่แข่ง แต่มองว่าเป็นตัวอย่างในการปรับปรุงร้านค้าให้ถูกใจและดึงดูดลูกค้า เธอได้เดินเข้าไปสำรวจในร้านเหล่านั้นว่าขายอะไร ไม่ขายอะไร พอดูไปเรื่อยๆ ทำให้เธอได้เห็นช่องว่าง และโอกาสในการขายของ เช่น ร้านสะดวกซื้อไม่ได้ขายแก๊ส ไม่ขายเตาถ่าน ไม่ขายถ่าน
โดยร้านสะดวกซื้อเหล่านั้น จะขายเฉพาะสินค้าที่ขายดีเท่านั้น หรือสินค้าสมัยใหม่ สะดวกกิน สะดวกใช้ แต่ร้านโชห่วยของเธอสร้างมานาน นับว่าเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตชุมชน เธอจึงหาของที่เข้ากับชีวิตชุมชนมาเสริม เช่น ขนมใบไม้ ขนมผิง ขนมโก๋ ก็ติดต่อมาขาย ตอบโจทย์ลูกค้าเด็กๆ เป็นอย่างดี ราคาไม่แพง เรียกได้ว่าขายสินค้าที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคในชุมชนทุกอย่าง อาทิ ล็อตเตอรี่ รับจ่ายบิล เพิ่มอีกโซนเป็นร้านขายยา โดยมีน้องสาวซึ่งจบเภสัชกรเป็นผู้ดูแล
นอกจากนี้ เธอยังคิดว่าถ้าจะแข่งขันกับร้านสะดวกซื้อต้องมีจุดขายมากกว่านี้ จนกระทั่งเธอได้เห็นยูนิลีเวอร์มีโครงการร้านติดดาว ก็ทำเรื่องจนผ่านการอนมุติให้เป็นร้านติดดาว
ติดต่อหาโค้กเพิ่มตู้แช่ โต๊ะนั่ง รวมถึงการส่งร้านโชห่วยเธอเข้าสมัครโครงการแมคโคร รุ่นที่ 7 ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ และได้เงินทุนมาพัฒนากิจการของร้านให้ดีขึ้น
เธอยังนำร้านเข้าโครงการร้านธงฟ้าประชารัฐ ได้นำเครื่องรับบัตรมาติดตั้งตั้งในร้าน โดยเธอช่วยเขียนเอกสารสมัครโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้ชาวบ้านเกือบทุกคน ไม่ได้คิดเรื่องผลประโยชน์ คิดแค่ว่าจะช่วยชาวบ้าน
โดยเฉพาะคนเฒ่าคนแก่ พอรัฐบาลออกโครงการเครื่องรูดบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (EDC) จึงได้นำเครื่องมาตั้ง เพื่อให้ชาวบ้านได้ใช้บริการในร้านของเธอ ซึ่งต่อไปจะค่อยๆ พัฒนาร้านค้าให้ไปสู่ร้านค้าโดยไม่ใช้เงินสด รวมถึงการนำเทคโนโลยีต่างๆ มาปรับใช้
โชห่วยอยากสำเร็จ อย่ามองแต่ปัญหา ต้องลองทำ
สำหรับร้านโชห่วยที่อยากกประสบความสำเร็จ และแข่งขันกับร้านค้าปลีกสมัยใหม่ได้นั้น คุณกชณถกล บอกว่า ต้องเชื่อมั่นว่าตัวเองต้องทำได้ ถ้าเรามองเห็นแต่ปัญหาแล้วไม่พัฒนาก็จะไม่มีทางสำเร็จ
แต่ถ้าเห็นปัญหาและลองทำดูก่อน จะรู้ว่ามีทางเดินสำหรับเรา สำรวจสินค้าที่ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ไม่ได้ขายแล้วนำมาขาย สินค้าและบริการต้องตอบโจทย์ผู้บริโภคในชุมชน ที่สำคัญอย่าปิดกั้นตัวเองในการเข้าร่วมกับโครงการที่เป็นประโยชน์กับทางหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ในการพัฒนาร้านค้า
อ่านจดหมายข่าวบุคคลอื่นๆ www.thaifranchisecenter.com/newsletter
อ่านบทความอื่นๆ จากไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ www.thaifranchisecenter.com/document
เลือกซื้อแฟรนไชส์ไทยขายดี เปิดร้าน www.thaifranchisecenter.com/directory
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter
ติดตามความเคลื่อนไหวร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ “เสาวนีย์ ชำหว้า” ได้ที่ https://bit.ly/39IZXRt
อ้างอิงข้อมูลจาก https://bit.ly/37MO4IF