Inside Franchise ตลาดแฟรนไชส์ในฮังการี 2022
Inside Franchise ตลาดแฟรนไชส์ ประเทศฮังการีตั้งอยู่ทางตอนกลางของทวีปยุโรป ไม่มีทางออกสู่ทะเล มีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน 7 ประเทศ คือ โรมาเนีย ออสเตรีย สโลวาเกีย ยูเครน เซอร์เบีย โครเอเชีย และสโลวีเนีย พื้นที่ 93,030 ตารางกิโลเมตร
ส่วนใหญ่เป็นที่ราบไปจนถึงที่ราบลูกฟูก มีภูเขาและเนินเขาเตี้ยๆ ทางเขตชายแดนด้านที่ติดกับประเทศสโลวาเกีย มีเมืองหลวง คือ บูดาเปสต์ (Budapest) เป็นศูนย์กลางทั้งทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศ มีจำนวนประชากร 9.8 ล้านคน (ข้อมูล 2561)
สภาพเศรษฐกิจ
ภาพจาก https://bit.ly/3AqtvBV
ในปี 2561 เศรษฐกิจของฮังการีขยายตัวที่ 4.8% ขณะที่ปี 2562 และ 2563 ความต้องการภายในประเทศคาดว่าจะถึงจุดอิ่มตัว การส่งออกไปยังยุโรปตะวันตกของฮังการีมีอัตราเติบโตลดลง ส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอยู่ที่ 3.4% และ 2.6% ตามลำดับ แต่การลดลงอย่างต่อเนื่องของอัตราส่วนหนี้ภาครัฐต่อ GDP และ ความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นในด้านนโยบายเศรษฐกิจและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ดีขึ้น จะสนับสนุนศักยภาพการเติบโตของ GDP ให้แข็งแกร่ง
การค้าฮังการี-เอเชีย
- คู่ค้าหลักในการส่งออกได้แก่ จีน (1,922 ล้านยูโร) ญี่ปุ่น (599 ล้านยูโร) เกาหลีใต้(368 ล้านยูโร) ฮ่องกง (282 ล้านยูโร) และอินเดีย (235 ล้านยูโร) ไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 10 (120 ล้านยูโร)
- คู่ค้าหลักในการนำเข้าได้แก่ จีน (9,727 ล้านยูโร) เกาหลีใต้ (2,747 ล้านยูโร) ญี่ปุ่น (1,961 ล้านยูโร) เวียดนาม (841 ล้านยูโร) และไทย (823 ล้านยูโร)
การค้าฮังการี-ไทย 2561
สินค้าส่งออกหลักของไทย ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ วงจรพิมพ์หม้อแปลงไฟฟ้า และก๊อก วาวล์และส่วนประกอบ สินค้านำเข้าหลักของไทย ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม และเครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ การแพทย์
ภาพรวมธุรกิจแฟรนไชส์ในฮังการี
ภาพจาก https://bit.ly/3tJwbsW
ธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศฮังการี มีจุดเริ่มต้นหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในช่วงปี 2532-2534 ตลาดเปิดเสรีมากขึ้น มีการขยายสาขาธุรกิจโรงแรมชั้นนำของโลกเข้ามาในประเทศฮังการี รวมถึงสาขาแบรนด์แฟรนไชส์ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดแมคโดนัลด์ เมื่อปี 2531 หลังจากนั้นธุรกิจแฟรนไชส์ในฮังการีขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีทั้งการเปิดสาขาในประเทศและขยายตลาดในต่างประเทศ โดยธุรกิจแฟรนไชส์สัญชาติฮังการีที่มีชื่อเสียงในตลาดยุโรปกลาง ตะวันออก และบอลข่าน ได้แก่ ร้านเสริมสวย ร้านค้าปลีกสินค้าแฟชั่น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ
จำนวนธุรกิจแฟรนไชส์ในฮังการีในช่วงแรกๆ ประมาณ 350 บริษัท โดยครึ่งหนึ่งมีบริษัทแม่เป็นของต่างชาติ มีจำนวนแฟรนไชส์ซีประมาณ 20,000 ราย และมีพนักงานกว่า 100,000 ราย สร้างรายได้หลักพันล้านเหรียญสหรัฐในทุกๆ ปี
แฟรนไชส์แมคโดนัลด์ ถือว่าเป็นผู้นำในตลาดธุรกิจแฟรนไชส์กลุ่มฟาสต์ฟู้ดในฮังการี และยุโรปกลาง เพราะเป็นแฟรนไชส์ที่มีกลยุทธ์ทางการตลาดที่ประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ ยังมีแฟรนไชส์จากต่างประเทศกว่า 100 แบรนด์ ที่ประสบความสำเร็จในฮังการี ได้แก่ KFC, เบอร์เกอร์คิง, ซับเวย์, สตาร์บัคส์, Cures, Avis, Budget และอื่นๆ
ภาพจาก https://bit.ly/3tM7eNt
ขณะที่ธุรกิจแฟรนไชส์สัญชาติฮังการีที่ประสบความสำเร็จนประเทศ ได้แก่ แฟรนไชส์ร้านค้าปลีก ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านทำผม เสริมสวย ไอศกรีม เบเกอรี่ ร้านขายยา ขายไวน์ อาหารเสริม และ อสังหาริมทรัพย์
กุญแจสู่ความสำเร็จในตลาดฮังการี
ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจ มองว่า การปั้นแบรนด์เพื่อขายแฟรนไชส์ การตั้งค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์ที่ไม่แพงเกินไป และการซื้อแฟรนไชส์ชื่อดังจากต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว ถือเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จในตลาดฮังการี เนื่องจากคู่แข่งขันในตลาดมีจำนวนไม่มาก อีกทั้งมีผู้บริโภคชนชั้นกลางที่มีกำลังจ่ายเพิ่มมากขึ้น โดยธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีโอกาสในตลาดฮังการี ได้แก่ ธุรกิจดูแลสุขภาพที่บ้าน ธุรกิจดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุ รวมถึงธุรกิจบริการยานยนต์ เป็นต้น
โอกาสแฟรนไชส์ไทย ขยายตลาดในฮังการี
1.ธุรกิจแฟรนไชส์อาหาร เครื่องดื่ม เช่น เมนูง่ายๆ สำหรับครอบครัว อาหารจานด่วน อาหารต่างชาติ และอาหารเพิ่มสุขภาพ ทั้งนี้ มีรายการจากกระทรวงพาณิชย์ ความนิยมการรับประทานอาหารในร้านอาหารไทย พบว่ามีเมนูยอดนิยมของลูกค้าในฮังการี เช่น ส้มตำ ต้มยำกุ้ง แกงเขียวหวาน สะเต๊ะไก่ ผัดกะเพรา ข้าวผัดสับปะรด และข้าวเหนียวมะม่วง
นอกจากนี้ ผู้บริโภคในฮังการียังชอบดื่มกาแฟที่นำเข้าจากประเทศไทย ล่าสุดได้รับรายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงบูดาเปสต์ ของไทย พบว่า ชาวฮังการีส่วนใหญ่นิยมบริโภคกาแฟ ทั้งกาแฟคั่วบด กาแฟพิเศษ และบริโภคทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน และตามร้านค้าทั่วไป ทำให้มีร้านกาแฟคุณภาพดีจำนวนมากในกรุงบูดาเปสต์ แต่ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ชาวฮังการีต้องกักตัวและทำงานที่บ้านมากขึ้น แต่ก็ยังมีความต้องการบริโภคกาแฟอยู่เหมือนเดิม
2.ธุรกิจแฟชั่น เช่น เสื้อผ้าและของเล่นเด็ก ซึ่งมีจำหน่ายน้อยมากในฮังการี ผู้สนใจขยายธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศฮังการี จะต้องศึกษาลักษณะของตลาดท้องถิ่นและความต้องการของผู้บริโภคในพื้นที่นั้นๆ ถ้าหากใครอยากเริ่มต้นทำธุรกิจอาหาร ควรศึกษาว่าผู้บริโภคท้องถิ่นชอบรสชาติแบบไหน รักษาเอกลักษณ์และคุณภาพของแบรนด์ เพราะผู้บริโภคฮังการีชอบสินค้าที่อิงกับประเพณีท้องถิ่น และนิยมซื้อสินค้าจากแบรนด์ที่ตัวเองจดจำได้ การวางแผนการตลาดเพื่อสร้างการรับรู้ในแบรนด์ จึงเป็นกุญแจสำคัญในการขยายธุรกิจไปยังตลาดฮังการี
ในส่วนของการตั้งงบการลงทุน รวมถึงค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์ และค่าสิทธิต่างๆ เป็นอีกปัจจัยสำคัญสำหรับการขยายธุรกิจไปยังตลาดฮังการี โดยธุรกิจแฟรนไชส์ที่เก็บค่าสิทธิต่ำประมาณ 1-1.5 แสนเหรียญสหรัฐ จะได้รับความสนใจจากนักลงทุนในฮังการีมากกว่าธุรกิจแฟรนไชส์ที่เก็บค่าสิทธิแพงกว่า 5 แสนเหรียญสหรัฐขึ้นไป
นั่นคือข้อมูลการลงทุนธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศฮังการีอย่างคร่าวๆ เจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์สามารถใช้เป็นแนวทางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ก่อนที่จะขยายธุรกิจแฟรนไชส์ไปยังตลาดประเทศฮังการีได้ไม่มากก็น้อยครับ
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจ แฟรนไชส์ และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise
ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/335phDi
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter
ข้อมูลจาก https://bit.ly/3GKj5Q4 , https://bit.ly/3GXyE6M
อ้างอิงจาก https://bit.ly/3KFOQfd