Inside Franchise ตลาดแฟรนไชส์ในญี่ปุ่น 2022

เชื่อว่าหากไม่มีการระบาดของโรคโควิด-19 มาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 ประเทศญี่ปุ่นน่าจะเป็นจุดหมายปลายทางของผู้ประกอบการธุรกิจในการขยายตลาดไปที่นั่น โดยเฉพาะตลาดธุรกิจแฟรนไชส์ในญี่ปุ่นที่มีขนาดใหญ่และเติบโตขึ้นทุกปี หากแบรนด์แฟรนไชส์ต่างประเทศมีคุณภาพมาตรฐาน ก็จะได้รับความสนใจจากนักลงทุนญี่ปุ่นเป็นอย่างยิ่ง

วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com จะนำเสนอ Inside Franchise ตลาดแฟรนไชส์ในญี่ปุ่น ตั้งแต่เริ่มสร้างระบบแฟรนไชส์ขึ้นมาเอง ก่อนที่จะมีการนำเข้าแฟรนไชส์จากต่างประเทศ ตลอดจนโอกาสของแฟรนไชส์ไทยในตลาดญี่ปุ่น มีความน่าสนใจอย่างไร

การเติบโตตลาดแฟรนไชส์ในญี่ปุ่น

Inside Franchise

ประเทศญี่ปุ่นมีระบบแฟรนไชส์ครั้งแรกตั้งแต่ปี 1960 ระบบแฟรนไชส์ส่วนใหญ่จะมีแนวคิดและวิธีการทำงาน ที่เข้ากับลักษณะนิสัยคนญี่ปุ่น จึงทำให้แฟรนไชส์เป็นที่ยอมรับเร็วขึ้น ร้านระบบแฟรนไชส์ต่างชาติที่เริ่มเข้ามาทำตลาดในญี่ปุ่นเต็มรูปแบบ คือ แมคโดนัลด์ เคเอฟซี ซึ่งขณะนั้นยังใช้ชื่อว่า เคนตั๊กกี้ ฟลาย ชิคเก้น และดันกิ้น โดนัท

วัฒนธรรมของสหรัฐอเมริกามีอิทธิพลต่อความคิดของคนญี่ปุ่น ทำให้อะไรที่ได้มาจากอเมริกาได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว ยิ่งในช่วงที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นบูมสุดขีดในช่วงปี 1980 แฟรนไชส์ทั้งที่มาจากต่างประเทศ รวมถึงแฟรนไชส์ที่พัฒนาขึ้นเองในญี่ปุ่น เริ่มมีมากตามความต้องการของนักลงทุนและผู้บริโภค เนื่องจากขยายสาขาได้เร็วกว่าธุรกิจทั่วๆ ไป

การขยายระบบแฟรนไชส์ของญี่ปุ่นที่น่าสนใจ คือ วิธีคิดของคนญี่ปุ่นที่ต้องการปกป้องตลาดของตนเอง จากการขยายระบบแฟรนไชส์ต่างประเทศ ในญี่ปุ่นเริ่มจากการใช้วิธีการรวมตัวแบบวัฒนธรรมตัวเอง เพื่อหาทางแข่งขันกับเชนร้านแฟรนไชส์ชื่อดังที่เป็นสาขา วิธีการแบบนี้ญี่ปุ่นเรียกว่า “แฟรนไชส์อาสาสมัคร” หรือที่เรียกว่า Voluntary Franchise

63

62

ลักษณะแฟรนไชส์ดังกล่าวเป็นการรวมตัวแบบหลวมๆ เช่น ร้านขายของชำในญี่ปุ่น เกิดจากการตั้งเป็นกลุ่มชมรมที่มีสมาชิกร้านค้าตกลงใช้ตรายี่ห้อเดียวกัน หรือมีการจัดการระบบสินค้าสั่งซื้อร่วมกัน มีการทำงานเป็นกลุ่มเชิงอาสา เพื่อให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขันการค้าจากการรวมตัวกัน วิธีนี้เป็นการสร้างระบบแฟรนไชส์อีกแบบที่ยังไม่มีที่อื่นทำกัน

กระแสการนิยมทำธุรกิจแฟรนไชส์ในญี่ปุ่นนั้นมีต่อเนื่อง และคนญี่ปุ่นมีรายได้ดีชอบการท่องเที่ยว ทำให้การรับรู้เรื่องราวตรายี่ห้อสินค้าในต่างประเทศดีไปด้วย เมื่อมีร้านแปลกจากทั่วโลกมาเปิดในญี่ปุ่น ทำธุรกิจนั้นสร้างกลุ่มลูกค้าหรือมีคนรู้จักได้ไม่ยาก เพียงแต่ต้องเป็นสินค้าที่มีมาตรฐานเพียงพอ ข้อกำหนดการทำธุรกิจในประเทศนั้นไม่ยากนัก แต่ต้องผ่านกฎเกณฑ์เรื่องของสุขลักษณะได้ด้วย การดำเนินธุรกิจจึงจะทำได้

โดยภาพรวมแล้วขยายตลาดแฟรนไชส์ในญี่ปุ่น สำหรับธุรกิจแฟรนไชส์ต่างประเทศมีโอกาสเติบโต เพียงแต่ต้องมีคุณภาพมาตรฐานจริงๆ ระบบแฟรนไชส์ในญี่ปุ่นเป็นแบบเดียวกับแนวคิดแฟรนไชส์จากอเมริกา นั่นคือ ความมั่นคงและทำธุรกิจระยะยาว ระยะเวลาสัญญาที่ใช้ในระบบแฟรนไชส์ประมาณ 20 ปี แต่สามารถต่อรองกันได้

61

คนญี่ปุ่นเข้าใจระบบแฟรนไชส์อย่างดี การรับสิทธิในระดับพื้นที่ Area Franchise หรือ การเป็นมาสเตอร์แฟรนไชส์ สามารถทำได้ ธุรกิจที่ต้องการขยายเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่นถึงแม้จะมีโอกาส แต่ต้องมั่นใจในการบริหารการจัดการ และระบบการถ่ายทอดระบบเป็นอย่างดี เพราะคนญี่ปุ่นสนใจในรายละเอียดการทำงานอย่างมาก และต้องคำนึงถึงเรื่องคุณภาพ

ธุรกิจแฟรนไชส์ที่ไม่พร้อม ก็ไม่สามารถเข้าตลาดญี่ปุ่นได้โดยง่าย และจุดที่ยากที่สุดในการเจาะตลาดญี่ปุ่น คือ ค่าใช้จ่ายที่มากกว่าถึง 3 เท่า โดยเฉพาะเรื่องค่าเช่าพื้นที่ การหาทำเลยากราคาค่าเช่าแพงมาก ถ้ามีโอกาสสร้างระบบแฟรนไชส์ที่ญี่ปุ่น ต้องถือว่าการเลือกผู้ร่วมลงทุนและมีความเข้าใจในธุรกิจเป็นเรื่องสำคัญ

ระบบแฟรนไชส์ในญี่ปุ่น

60

แฟรนไชส์ในญี่ปุ่นระยะหลังมีระบบการทำงานและการบริหารอย่างดี เรียยกว่าต้องคุณภาพมาตรฐานเท่านั้น แม้แต่ร้านบะหมี่เล็กๆ มีการอบรมการทำธุรกิจไม่น้อยกว่า 3 เดือน จึงจะอนุญาตการเปิดร้านแฟรนไชส์ได้ ที่สำคัญแฟรนไชส์ขนาดเล็กในญี่ปุ่นลงทุนสูง และมีการเรียกเก็บค่า Royalty Fee เหมือนกับระบบแฟรนไชส์มาตรฐานรายใหญ่ๆ ของอเมริกา

การพัฒนากระบวนการทำงานในธุรกิจอาหารที่เพิ่มจำนวนขึ้นในรูปแบบแฟรนไชส์ หรืออย่างร้านสะดวกซื้อของญี่ปุ่นเองก็มีมากกว่า 16 รายต่างขยายธุรกิจด้วยระบบแฟรนไชส์ รวมถึงธุรกิจด้านการให้บริการต่างๆ ในช่วงนั้นระบบแฟรนไชส์ของญี่ปุ่นมีการขยายตัวไม่น้อยกว่า 10% ทุกปี ตัวอย่างที่น่าสนใจในระบบ

59

ภาพจาก bit.ly/3oxUfe1

อย่างเช่นกรณี 7-11 ที่บริษัท อิโดโยกาโตะ ito-yokado ที่เป็นแฟรนไชส์ซีของ 7-11 ได้เข้าไปซื้อหุ้นในบริษัทแม่ในอเมริกากว่า 70% ทำให้บริษัทเจ้าของ 7-11 กลายเป็นของญี่ปุ่นในช่วงปี 1991 ด้วยความสามารถของการบริหารธุรกิจ ที่มีรายละเอียดอย่างมากของธุรกิจสะดวกซื้อ การบริหารวิธีการจัดการกับสินค้า การขนส่ง การบริหารหน้าร้านและการนำเอาเทคโนโลยีมาพัฒนาระบบการบริหาร กลายเป็นเครือข่ายร้านค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ

ความสำเร็จของธุรกิจ 7-11 คือ การประกาศตัวเป็นผู้นำระบบแฟรนไชส์ร้านสะดวกซื้อในญี่ปุ่นได้อย่างภาคภูมิ นอกจากนั้นการพัฒนาธุรกิจเข้าสู่แฟรนไชส์ของร้านสะดวกซื้ออื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นมินิสตอป แฟมิลี่มาร์ท ลอร์สัน เป็นต้น

ธุรกิจแฟรนไชส์ส่วนใหญ่ในญี่ปุ่นเป็นกลุ่มอาหาร คิดเป็นสัดส่วน 40% ทั้งร้านจานด่วน ซูชิ ร้านอาหารจัดกล่องที่เรียกว่า เบนโตะ ร้านบะหมี่ ร้านจานด่วนประเภทเนื้อ รวมถึงแฮมเบอร์เกอร์ และไอศกรีม ถือเป็นแฟรนไชส์ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีแฟรนไชส์ร้านอาหารเต็มรูปแบบ ร้านกาแฟ น้ำชา ผับ บาร์ ฯลฯ ขณะที่แฟรนไชส์ร้านสะดวกซื้อคิดเป็นสัดส่วน 32% ที่เหลืออีก 28% เป็นธุรกิจด้านบริการ เช่น ร้านเสริมความงาม โรงเรียนสอนพิเศษ และภาษาต่างๆ

กฎหมายแฟรนไชส์ญี่ปุ่น

58

ประเทศญี่ปุ่นไม่มีกฎหมายที่ว่าด้วยธุรกิจแฟรนไชส์โดยเฉพาะเหมือนประเทศไทย อย่างไรก็ดีเมื่อภาคธุรกิจหันมาสร้างระบบแฟรนไชส์มากขึ้น ปัญหาระหว่างแฟรนไชส์ซอร์และแฟรนไชส์ซีก็เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเกี่ยวกับการผูกขาดทางการค้า

โดยตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน ค.ศ. 1983 Fair Trade Commission-FTC ได้ออกประกาศ Guidelines Concerning the Franchise System under the Antimonopoly Act เพื่อเป็นแนวทางมิให้แฟรนไชส์ซอร์กระทำผิดกฎหมายป้องกันการผูกขาด แนวปฏิบัติฯ ดังกล่าวแยกได้เป็น 3 ส่วนใหญ่ คือ (1) ลักษณะทั่วไปของธุรกิจแฟรนไชส์ (2) การเปิดเผยข้อมูลที่จำเป็นในการเสนอขายแฟรนไซส์ และ (3) การจำกัดทางการค้าระหว่างแฟรนไชส์ซอร์และแฟรนไชส์ซี

แนวปฏิบัติฯ ก่อนทำสัญญาแฟรนไชส์นั้น จะเน้นการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจแฟรนไชส์ที่ครบถ้วนแก่ผู้สนใจเป็นแฟรนไชส์ซี เพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้ที่สนใจ รวมทั้งการส่งมอบเอกสารที่ระบุรายละเอียดต่างๆ ล่วงหน้า และให้เวลาอย่างเพียงพอ เพื่อให้แฟรนไชส์ซีพิจารณาเอกสารต่างๆ อย่างรอบคอบก่อนที่จะเซ็นสัญญาแฟรนไชส์

57

ในส่วนของการประมาณการยอดรายได้ หรือผลกำไร แฟรนไชส์ซอร์จะต้องใช้ข้อมูลจริง เช่น ข้อมูลจากร้านที่ดำเนินการภายใต้สภาพแวดล้อมที่ใกล้เคียงกัน รวมทั้งต้องเปิดเผยข้อมูลและวิธีการเก็บข้อมูล ดังกล่าวแก่แฟรนไชส์ซีด้วย

ส่วนแนวปฏิบัติหลังทำสัญญาแฟรนไชส์ จะเน้นที่อำนาจของแฟรนไชส์ซอร์ ในการควบคุมการดำเนินธุรกิจของแฟรนไชส์ซีให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน อาทิ การซื้อสินค้าหรือวัตถุดิบจากแฟรนไชส์ซอร์ หรือ บุคคลที่แฟรนไชส์ซอร์กำหนด การกำหนดวิธีการจำหน่ายและราคาสินค้า เป็นต้น แนวทางปฏิบัติดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษามาตรฐาน หรือชื่อเสียงของธุรกิจแฟรนไชส์ ตรงนี้จะไม่ถือว่าขัดต่อกฎหมายป้องกันการผูกขาด

56

แต่ถ้าแฟรนไชส์ซอร์ใช้สถานะที่เหนือกว่ากำหนดเงื่อนไขที่ทำให้แฟรนไชส์ซีเสียเปรียบเกินสมควร เมื่อพิจารณาจากแนวปฏิบัติทางธุรกิจตามปกติจะถือเป็นความผิด (Item I4 Abuse of dominant bargaining position) เช่น การจำกัดแฟรนไชส์ซีซื้อสินค้าหรือวัตถุดิบจากผู้ประกอบธุรกิจอื่น ที่จำหน่ายสินค้าหรือวัตถุดิบในราคาที่ถูกกว่าหรือมีคุณภาพดีกว่า

และให้ซื้อจากแฟรนไชส์ซอร์หรือบุคคลที่แฟรนไชส์ซอร์กำหนดเท่านั้น (Restriction on suppliers) การบังคับให้ซื้อสินค้าในปริมาณที่กำหนด (Forced purchase quota) การคิดค่าสิทธิอย่างไม่เป็นธรรม เช่น คิดค่าสิทธิจากสินค้าที่ชำรุดบกพร่อง (Restriction on bargain sales) การแก้ไขสัญญาภายหลังทำสัญญา(Revisions to the franchise agreement after it has been signed)

เช่น การให้แฟรนไชส์ซีต้องรับ ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากที่ระบุในสัญญา การห้ามทำการค้าภายหลังจากสัญญาสิ้นสุด (Restrictions on trade after termination of on agreement) โดยห้ามแฟรนไชส์ซีประกอบธุรกิจแข่งขันกับ ธุรกิจเดิมที่มีระยะเวลา หรือเขตพื้นที่ที่เกินกว่าการปกป้องสิทธิของแฟรนไชส์ซอร์

ตลาดแฟรนไชส์ญี่ปุ่นใหญ่อันดับ 2 รองสหรัฐฯ

55

มูลค่าตลาดแฟรนไชส์ในญี่ปุ่นใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา คิดเป็นมูลค่าตลาดประมาณ 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ โดยปัจจุบันมีกิจการธุรกิจที่เป็นแฟรนไชส์ของญี่ปุ่น ประมาณ 1,330 แบรนด์ แต่ก็พบว่าจำนวนธุรกิจแฟรนไชส์ใหม่ๆ ไม่ค่อยเพิ่มขึ้นมากนัก อัตราการเติบโตของแบรนด์ใหม่ๆ คิดเป็นการเติบโตเฉลี่ยเพียงแค่ 0.6% ในปีที่ผ่านมา

สาเหตุที่ทำให้ตลาดธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศญี่ปุ่นเติบโตน้อย เพราะว่าตลาดธุรกิจแฟรนไชส์ในญี่ปุ่นค่อนข้างอิ่มตัวแล้ว จำนวนธุรกิจแฟรนไชส์ใหม่ๆ ไม่ค่อยเพิ่มมากนัก ขณะที่ธุรกิจแฟรนไชส์ที่ได้รับความนิยม ก็สามารถขยายสาขาเพิ่มได้อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันจำนวนสาขาแฟรนไชส์มีมากกว่า 2 แสนสาขาในญี่ปุ่น เป็นรองสหรัฐฯ เท่านั้นเอง เป้าหมายของแฟรนไชส์ญี่ปุ่นคือ ต้องการขยายสาขาไปในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น เช่นประเทศในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ญี่ปุ่นนิยมลงทุนแฟรนไชส์แบรนด์ต่างประเทศ

54

ภาพจาก bit.ly/3tRGesC

จากข้อมูลจากสมาคมแฟรนไชส์ญี่ปุ่น พบว่าผู้ประกอบการญี่ปุ่นที่สนใจลงทุนธุรกิจแฟรนไชส์ ส่วนมากจะนิยมชมชอบในแบรนด์แฟรนไชส์ที่เป็นแบรนด์ต่างประเทศ โดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกา ขณะที่แบรนด์ธุรกิจแฟรนไชส์ไทย หากต้องการขยายตลาดในประเทศญี่ปุ่น ถือว่าเป็นเรื่องท้าทายอย่างมาก เพราะคนญี่ปุ่นไม่ค่อยรู้จักแบรนด์แฟรนไชส์ไทยมากนัก

ซื้อแฟรนไชส์ญี่ปุ่น ต้องพกล่ามท้องถิ่นไปด้วย

53

การติดต่อและทำธุรกิจกับนักธุรกิจญี่ปุ่น การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีจะมาก่อนการคุยในเชิงธุรกิจ เมื่อทำความรู้จักกันและไว้ใจกันแล้ว การเจรจาข้อตกลงต่างๆ จะเปิดใจคุยกันง่ายขึ้น ผู้ซื้อแฟรนไชส์หากสื่อสารเป็นภาษาญี่ปุ่นได้ จะได้ประโยชน์อย่างมาก แต่ถ้าสื่อสารญี่ปุ่นไม่ได้ก็ควรใช้บริการล่ามท้องถิ่นแทน เพราะส่วนใหญ่ผู้ประกอบการแฟรนไชส์จะพูญี่ปุ่น และจะเตรียมเอกสารเฉพาะภาษาญี่ปุ่น เห็นได้จากงานแสดงแฟรนไชส์ญี่ปุ่นส่วนใหญ่ใช้ภาษาญี่ปุ่น

#สนใจลงทุนแฟรนไชส์จากญี่ปุ่น คลิก https://bit.ly/3bVdE3t

ปัจจัยสู่ความสำเร็จของแฟรนไชส์ไทยในญี่ปุ่น

52

คาเฟ่อเมซอน แบรนด์กาแฟไทยในญี่ปุ่น
ภาพจาก bit.ly/33M9V3F

การขยายตลาดแฟรนไชส์ไทยในญี่ปุ่นยังมีโอกาส เพียงแต่ต้องพัฒนาธุรกิจให้มีคุณภาพ ทั้งในระบบการบริหาร การจัดการ และระบบการถ่ายทอดความรู้ในการทำงาน เพราะคนญี่ปุ่นสนใจในรายละเอียดการทำงานเป็นอย่างมาก ต้องพร้อมยอมรับการปรับเปลี่ยน ยืดหยุ่นได้ ตามความต้องการของลูกค้าในพื้นที่ด้วย

แม้แต่ธุรกิจแฟรนไชส์ชื่อดังจากอเมริกาที่ขยายตลาดในญี่ปุ่น ยังต้องยอมรับและปรับเปลี่ยนในหลายด้าน การออกแบบสัญญาแฟรนไชส์ต้องทำเป็นระยะยาว เช่น 15-20 ปี เพราะคนญี่ปุ่นเน้นเรื่องความมั่นคงในการทำธุรกิจระยะยาว

ปัจจุบันคนญี่ปุ่นมีความเข้าใจในระบบแฟรนไชส์เป็นอย่างดี ผู้ที่ต้องการขยายตลาดสู่ญี่ปุ่นควรเน้นการเลือกสรรผู้ที่จะให้สิทธิในระดับพื้นที่เป็น Area Franchise หรือ Master Franchise ต้องให้ความสำคัญกับการหาผู้ร่วมลงทุนที่มีความเข้าใจในธุรกิจเป็นอย่างดี ธุรกิจประเภทอาหารไทยและสปาไทย เป็นธุรกิจที่มีศักยภาพ มีโอกาสสูงในการขยายตลาดสู่ญี่ปุ่นได้

เพราะสินค้าไทยและการบริการของไทยมีคุณภาพที่ดี ตลาดญี่ปุ่นเป็นตลาดที่มีความเข้มแข็ง แข่งขันสูง และมีความยากในด้านพฤติกรรมของธุรกิจแฟรนไชส์ไทยต้องศึกษาข้อมูลตลาด วิถีชีวิต และวัฒนธรรมการกินอยู่ของชาวญี่ปุ่นอย่างดี

การออกแบบคิดค้นและบริการต้องให้ตรงใจคนญี่ปุ่น เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคชาวญี่ปุ่น ซึ่งเน้นคุณภาพสินค้าเป็นเรื่องสำคัญ ด้านแบรนด์มีชื่อเสียงยังไม่สำคัญเท่ากับการสร้างความพึงพอใจให้เกิดขึ้นกับลูกค้า ผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นให้ความสนใจกับสินค้าที่แปลกใหม่ มีความโดดเด่น ราคาสมเหตุสมผล แต่เรื่องของค่าเช่าในญี่ปุ่นสูงมาก

จับลูกค้าญี่ปุ่นให้อยู่หมัด ก่อนขยายแฟรนไชส์ในญี่ปุ่น

51

หากไม่เกิดการระบาดโควิด-19 เชื่อว่าตลาดแฟรนไชส์ญี่ปุ่นเป็นตลาดที่น่าสนใจและท้าทายมาก มีโอกาสเติบโตอีกมาก อีกทั้งคนญี่ปุ่นเดิมก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 ส่วนใหญ่นิยมมาเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้นด้วย ซึ่งหากย้อยสถิติข้อมูลนักท่องเที่ยวคนญี่ปุ่นในช่วงปี 2559 ของกรมการท่องเที่ยว มีจำนวน 1.44 ล้านคน มากกว่าปี 2558 มีจำนวน 1.38 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.19 ที่สำคัญคนญี่ปุ่นจะมีโอกาสรู้จักสินค้าบริการแบรนด์ธุรกิจของคนไทยมากขึ้น

ดังนั้น หลังโควิด-19 คลี่คลาย หากผู้ประกอบการแฟรนไชส์ไทยต้องการเจาะตลาดญี่ปุ่น นอกจากจะต้องศึกษาตลาดและความต้องการของผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นให้มากๆ ต้องสร้างแบรนด์ให้มีความเป็นสากล มีคาแรกเตอร์ที่โดดเด่นจดจำง่าย นอกเหนือจากคุณภาพของสินค้าและบริการต้องเป็นที่ยอมรับแล้ว กลยุทธ์การตลาดจะต้องทำอย่างต่อเนื่อง

50

ภาพจาก bit.ly/3v0NELb

ทั้งนี้การขยายตลาดไปญี่ปุ่น ผู้ประกอบการแฟรนไชส์ไทยต้องจับตลาดคนญี่ปุ่นในเมืองไทยให้ได้เสียก่อน ถ้าคนญี่ปุ่นในไทยชอบ เขาก็อยากจะให้มีแฟรนไชส์นั้นไปเปิดในประเทศเขาด้วย ถ้าจะลุยไปขายเอง อาจจะขายไม่ได้เลย


ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจ แฟรนไชส์ และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise

0

ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/3corFV2
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter

ขอบคุณรูปภาพจาก https://bit.ly/2Q92xeZ

 

อ้างอิงจาก https://bit.ly/3bFEKvj

คุณมนตรี ศรีวงษ์ (อ๊อฟ)

นักเขียน ผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงข่าวสาร การค้า การลงทุน มีความสนใจเรื่องของธุรกิจเอสเอ็มอี และแฟรนไช