Inside Franchise… Café Amazon
รู้หรือไม่ว่าธุรกิจแฟรนไชส์ร้านกาแฟ Cafe Amazon ถือเป็นธุรกิจร้านกาแฟที่มีคนสนใจลงทุนเปิดร้านมากที่สุดในเมืองไทย โดยผู้บริหาร Cafe Amazon เคยบอกว่ามีผู้สมัครแฟรนไชส์ซีเข้าไปกว่า 400 ใบสมัครต่อเดือน
จึงต้องใช้เวลาในการพิจารณาอย่างรอบคอบ ทำให้ผู้สมัครแฟรนไชส์ซีเข้าไปอาจต้องรอคิวนาน หรือบางรายก็ไม่ผ่านคุณสมบัติในการพิจารณา
ความน่าสนใจและเรื่องราวต่างๆ ของธุรกิจร้านกาแฟ Cafe Amazon เป็นอย่างไร วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com จะพาคุณผู้อ่านไปเจาะลึกแฟรนไชส์ร้านกาแฟ Cafe Amazon ว่ามีกลยุทธ์ดำเนินธุรกิจ และวางเป้าหมายในอนาคตอย่างไร
จุดเริ่มต้นของธุรกิจร้านกาแฟ Cafe Amazon
ภาพจาก www.facebook.com/cafeamazonofficial/
ร้านกาแฟ Cafe Amazon ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ.2545 จากวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่เล็งเห็นถึงโอกาสในการเพิ่มศักยภาพทางการตลาดของสถานีบริการน้ำมัน ปตท. จึงได้วางแนวคิดให้เป็นธุรกิจหนึ่งในสถานีบริการน้ำมัน ปตท. ที่สร้างรายได้ให้กับสถานีฯ และตอบสนองต่อไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคและคนเดินทางได้มากขึ้น
การสร้างแบรนด์ “Cafe Amazon” เริ่มต้นจากแนวความคิดที่ว่า ประเทศบราซิลซึ่งเป็นต้นตำรับกาแฟและดินแดนแห่งนี้มีป่า Amazon อันเป็นสุดยอดแห่งป่าดงดิบธรรมชาติของโลก ที่อุดมไปด้วยเสน่ห์ของธรรมชาติอันยิ่งใหญ่
ทั้งพืชพรรณแมกไม้ สายน้ำ สัตว์ป่านานาชนิด และยังเป็นแหล่งผลิตอากาศอันบริสุทธิ์ แนวความคิดนี้จึงถูกนำมาเพื่อสร้างสรรค์เป็นร้านกาแฟที่มีบรรยากาศร่มรื่นเย็นสบายด้วยร่มไม้และน้ำล้อมรอบ
โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ร้าน Cafe Amazon ถูกพัฒนาให้เป็นจุดนัดพบ แหล่งพักผ่อน สำหรับคนเดินทาง ตกแต่งด้วยโทนสีเขียว นำเสนอภาพลักษณ์แนวธรรมชาติ โดยใช้สวนหย่อมและน้ำพุเพื่อสร้างบรรยากาศ ร่มรื่น เย็นสบาย
ความรู้สึกผ่อนคลาย ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของร้าน Cafe Amazon เสมือนเป็นโอเอซิสของคนเดินทาง และด้วยเอกลักษณ์รสชาติเครื่องดื่มกาแฟที่เข้มข้น จึงกลายมาเป็นสโลแกนที่ว่า “Taste of Nature”
ส่วนใหญ่เป็นร้านแฟรนไชส์ ด้วยหลักการที่ว่า ให้เจ้าของปั๊ม หรือ ดีลเลอร์น้ำมันเป็นผู้บริหารร้านคาเฟ่ อเมซอนเอง หมายความว่า ร้านที่ ปตท.บริหารเองมีสัดส่วนน้อยมาก ที่เหลือเป็นเจ้าของแฟรนไชส์บริหารเอง ซึ่งจริงๆ แล้วตรงนี้ เหมือนกับเป็นการส่งเสริมธุรกิจเอสเอ็มอี
อีกหนึ่งข้อที่พบคือ ในธุรกิจคาเฟ่ อเมซอน ยังสามารถสร้างงานให้กับคนได้อีกมาก โดยการขายแฟรนไชส์จริงๆ มี 2 กรณีคือ ถ้าเป็นร้านแฟรนไชส์ในปั๊มนั้น เจ้าของปั๊มต้องเป็นผู้ดำเนินการเอง
ภาพจาก www.facebook.com/cafeamazonofficial/
แต่ถ้าเป็นนอกปั๊มบุคคลทั่วไปสนใจสามารถซื้อแฟรนไชส์ได้เข้าไปดูรายละเอียดได้ในเว็บไซต์คาเฟ่ อเมซอน www.cafe-amazon.com ซึ่งรายละเอียดครบ
โดยหลักการคือ ต้องมีความพร้อมเรื่องทำเล และสำคัญที่สุดมีความตั้งใจ มีเวลาดูแลธุรกิจ เพราะธุรกิจกาแฟจริงๆ แล้วเป็นเรื่องการให้บริการ สมมติว่า ถ้าไม่มีเวลาจะไม่ได้ประโยชน์และความสามารถสูงสุด
วัตถุดิบคุณภาพจากโครงการหลวง เป็นที่มาของวัตถุดิบ-กำลังโรงคั่วกาแฟนั้น คาเฟ่ อเมซอนเป็นธุรกิจครบวงจรต้นน้ำไปเริ่มตั้งแต่การส่งเสริมการปลูกกาแฟ โดยร่วมกับโครงการหลวงส่งเสริมเกษตรกร
รวมไปถึงมีคาเฟ่ อเมซอน มีโรงคั่วกาแฟอยู่ที่ อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา เน้นคุณภาพ และมาตรฐาน โดยใช้เทคโนโลยีจากเยอรมนีและกำลังเพิ่มเติมทำศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับธุรกิจกาแฟ Amazon Inspiring Campus: AICA
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ธุรกิจร้านกาแฟคาเฟ่ อเมซอน ถือเป็นธุรกิจเสริมของปตท. แต่วันนี้ธุรกิจร้านกาแฟคาเฟ่ อเมซอนกลายเป็นธุรกิจที่ส่งเสริมปั๊มน้ำมันให้มีบริการครบวงจร ลองสังเกตดูถ้าปั๊มไหนมีร้านกาแฟคาเฟ่ อเมซอน ปั๊มนั้นจะมีวิวสวย งามมาก ด้วยแนวคิดหลัก ก็คือ ให้ร้านกาแฟคาเฟ่ อเมซอน ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ภายในปั๊ม
ปตท.ยังพยายามให้เจ้าของร้านใส่ใจดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะสวน เพื่อต้องการให้เป็นจุดพักผ่อน ต้องดูแลพนักงานหน้าร้านให้สามารถส่งความสุขให้ลูกค้า โดยเจ้าของร้านต้องใส่ใจดูแล และใกล้ชิด เป็นส่วนหนึ่งช่วยส่งเสริมเกษตรกร
แตกไลน์ The Amazon’s Embrace เจาะคนเมือง
ภาพจาก www.facebook.com/cafeamazonofficial/
บริษัทปตท. จำกัด (มหาชน) ยังได้ทำการขยายสายของแบรนด์ (Brand Extension) ของ Café Amazon ออกไปอีกโดยหันไปเน้นที่กลุ่มลูกค้าที่มีรายได้สูงขึ้นและยอมจ่ายเพื่อซื้อสิ่งที่ดีกว่า
โดยตั้งชื่อแบรนด์ใหม่ว่า “The Amazon’s Embrace” โดยมีร้านสาขาอยู่ตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำของประเทศเช่น เซ็นทรัล พลาซ่าพระราม 9 สยามพารากอน พาราไดซ์ พาร์ค เป็นต้น
แต่ด้วยความคล้ายกันของแบรนด์ Café Amazon และ The Amazon’s Embrace จึงทำให้ลูกค้าแยกได้ลำบากระหว่างแบรนด์พี่น้องสองแบรนด์นี้ โดยแก่นของแบรนด์ Caffe Amazon คือ “จุดแวะพักสำหรับผู้ใช้รถและคนเดินทาง” ส่วนแก่นของแบรนด์ The Amazon’s Embrace คือ “จุดพักสำหรับชีวิตคนเมือง”
จะเห็นได้ว่า Cafe Amazon และ The Amazon’s Embrace: แก่นของแบรนด์ทั้งสองนั้นแตกต่างกันอย่างชัดเจนในเรื่องของการจับกลุ่มเป้าหมาย โดยที่ Cafe Amazon นั้นมุ่งเน้น การขายไปยังกลุ่มเป้าหมายผู้ใช้รถและคนเดินทาง ที่มาแวะใช้บริการสถานีน้ำมันปตท.
ในขณะที่ The Amazon’s Embrace เจาะไปยังกลุ่มผู้บริโภคกาแฟที่มีฐานรายได้สูงกว่า (Premium Customer) ที่อยู่ในแหล่งธุรกิจ และยังเป็นแนวคิดในการขยาย ฐานลูกค้าที่ดื่มกาแฟให้กว้างขึ้นจากเดิม
แต่ถึงกระนั้นแบรนด์The Amazon’s Embrace นั้นก็ไม่ได้วาง Positioning ไว้สูงขนาดเท่าคู่แข่งอย่าง Starbuck โดย The Amazon’s Embrace มีจุดเด่นในด้านราคา คือ “ของดี ราคาถูก”
รายได้ คาเฟ่ อเมซอน
ภาพจาก www.facebook.com/cafeamazonofficial/
- ปี 2557 มีรายได้รวม 3,500 ล้านบาท
- ปี 2558 รายได้เพิ่มเป็น 5,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54.28%
- ปี 2559 รายได้ 8,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 48.14%
- ปี 2560 รายได้ขึ้นมาเป็น 10,256 ล้านบาท หรือ คิดเป็น 28%
- ปี 2561 คาดว่ารายได้จะเติบโตขึ้นอีก 25% คิดเป็นรายได้ 12,820 ล้านบาท จากยอดขายกว่า 180 ล้านแก้ว และในปี 2565 ปตท.ตั้งเป้าหมายมีร้านกาแฟทั้งหมดกว่า 4,000 แห่ง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
….ปตท. ตั้งเป้ายอดขายกาแฟ คาเฟ่ อเมซอน ว่าจะเติบโตในอัตรา 25%
ปตท. ยังตั้งเป้าหมายด้วยว่าจะมีสาขาคาเฟ่ อเมซอนเพิ่มขึ้นเป็น 2,300 แห่ง ในปี 2561 และ 4,000 แห่ง ภายในปี 2565 ปตท. บอกว่า การเติบโตของคาเฟ่ อเมซอน จะช่วยสร้างรายได้ ให้กับเกษตรกรของไทยด้วย เพราะกาแฟที่นำมาขาย มาจากเกษตรกรของไทย นี่ยังไม่รวมสินค้า ขนมอื่นๆ ที่วางขายในร้านกาแฟ ที่มาจากผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี
แน่นอนว่า ณ วันนี้ คาเฟ่ อเมซอน คือ ร้านกาแฟที่มีขนาดใหญ่สุดในประเทศไทยไปแล้ว และมีส่วนแบ่งการตลาด แซงแบรนด์กาแฟระดับโลกอย่าง “สตาร์บัคส์” มาตั้งแต่ปี 2558 เลยมาจนถึงปี 2561 และน่าจะยังคงครองอันดับ 1 ไว้ได้ต่อไป
จากแบรนด์ไทยสู่แบรนด์โลก
ภาพจาก www.facebook.com/CafeAmazonCambodia/
ปัจจุบันร้านกาแฟ Café Amazon มีจำนวนมากกว่า 2,600 สาขา ทั้งที่ตั้งอยู่ทั้งในและนอกสถานีน้ำมัน ปตท. โดยมีร้านในประเทศ 2,405 สาขา และต่างประเทศมากกว่า 200 สาขา
ได้แก่ ประเทศกัมพูชา 150 สาขา ประเทศลาว 51 สาขา ประเทศพม่า 4 สาขา ประเทศฟิลิปปินส์ 8 สาขา ประเทศญี่ปุ่น 2 สาขา และประเทศโอมาน 1 สาขา
สาขา Café Amazon ที่ขายดีที่สุดยู่ที่ประเทศกัมพูชา สามารถขายได้วันละกว่า 1.3-1.4 พันแก้วต่อวัน ขายดีจนถึงขั้นโดนก็อปปี้ ซึ่งในช่วงปี 2560 ได้มีร้านกาแฟแห่งหนึ่งในประเทศกัมพูชา ได้ลอกเลียนแบบร้านกาแฟ Café Amazon ของกลุ่มปตท.
ภาพจาก www.facebook.com/CafeAmazonCambodia/
โดยลอกเลียนแบบเครื่องหมายการค้า Café Amazon ร้านกาแฟ เครื่องแต่งกาย และแม้แต่เมนู จึงขอให้ดำเนินการปรับเปลี่ยน ซึ่งร้านกาแฟดังกล่าวก็ยอมรับผิด
โดยปรับเปลี่ยนโลโก้จาก Café Amazing มาเป็น Amazing Café ซึ่งก็ยังคล้ายคลึงกับโลโก้ Café Amazon อยู่ดี ดังนั้นจึงให้ทางสำนักงานกฎหมายไปดำเนินการต่อไป ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนดำเนินการอยู่
ยอดขายกาแฟโดยเฉลี่ยแต่ละสาขา
ภาพจาก www.facebook.com/cafeamazonofficial/
งบลงทุนในการเปิดร้านกาแฟ Cafe Amazon แต่ละสาขาแฟรนไชส์ จะใช้งบประมาณในการลงทุนไม่ต่ำกว่า 3 ล้านบาท (เปิดร้านขายได้ทันที) โดยรวมแล้วแฟรนไชส์ร้านกาแฟ Cafe Amazon แต่ละสาขาเฉลี่ยแล้วจะขายได้ประมาณวันละ 300 แก้ว
หากคิดราคากาแฟเฉลี่ยแก้วละ 50 บาท ในแต่ละสาขาก็สามารถทำรายได้ประมาณ 450,000 บาทต่อเดือน ( ยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายอื่นๆ ) นอกจากนี้ แฟรนไชส์ร้านกาแฟ Cafe Amazon เป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่ง ถือเป็นแบรนด์กาแฟอันดับ 2 รองจากสตาร์บัคส์ ที่สำคัญเป็นแบรนด์ที่มีโอกาสเติบโต สร้างรายได้มั่นคง และเป็นธุรกิจที่จะสามารถดูแลครอบครัวได้
ค่าใช้จ่ายในการซื้อแฟรนไชส์ Cafe Amazon
ภาพจาก www.facebook.com/cafeamazonofficial/
ค่าใช้จ่ายร้านในอาคาร (Shop) ที่มีขนาด (ร้าน) 40 ตารางเมตรขึ้นไป มีการคำนวณค่าใช้จ่ายออกมา จะต้องใช้เงินระหว่าง 2,389,000 – 3,729,000 บาท ส่วนหากเป็นนอกอาคาร (Stand Alone) ค่าใช้จ่ายจะอยู่ระหว่าง 2,689,000 – 4,229,000 บาท
เงินที่ต้องจ่ายของสาขาทั้ง 2 รูปแบบ ประกอบด้วย ค่าก่อสร้าง งานตกแต่ง งานระบบ ค่าออกแบบ อุปกรณ์ภายในร้าน และยังมีค่าประกันแบรนด์ ค่า Franchise Fee หลังการเปิดร้าน ยังมีค่าใช้จ่ายทางด้าน ค่า Royalty Fee + ค่า Marketing Fee 3% + 3% ของยอดขายต่อเดือน ค่าเช่าเครื่อง Point of Sale (Pos) 24,000 บาทต่อปี มีอายุสัญญา 6 ปี Renovate ร้านทุก 3 ปี
ระยะเวลาในการเปิดร้าน
ภาพจาก www.facebook.com/cafeamazonofficial/
สำหรับขั้นตอนการพิจารณาในการตัดเลือกผู้ซื้อแฟรนไชส์ จะใช้เวลาประมาณ 45 วัน นับตั้งแต่ ปตท.ได้รับเอกสารครบถ้วน จากผู้สนใจลงทุนหลังจากนั้น ปตท. จะนัดสัมภาษณ์และหากผลการสัมภาษณ์ผ่าน ปตท.จะแจ้งรายละเอียดของเอกสาร / หลักฐาน ที่จะต้องจัดเตรียมเพื่อใช้ในการทำสัญญาแฟรนไชส์ให้กับผู้ที่ได้รับสิทธิฯทราบ
ผู้ที่ได้รับสิทธิแฟรนไชส์ต้องทำสัญญาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับอนุมัติสิทธิแฟรนไชส์หากไม่ดำเนินการให้แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนด ปตท.จะถือว่าสละสิทธิ ทั้งนี้ ปตท ขอแจ้งให้ทราบว่า สิทธิดังกล่าวเป็นสิทธิเฉพาะตัวไม่สามารถโอนให้กับผู้อื่นได้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจาก ปตท. เป็นลายลักษณ์อักษรก่อน
ผู้ได้รับสิทธิแฟรนไชส์จะต้องเป็นผู้ลงทุนก่อสร้าง ตกแต่งอาคาร และชำระเงินค่าวัตถุดิบและอุปกรณ์ที่ใช้ภายในร้านตามรายการที่ ปตท.กำหนด พร้อมทั้งชำระค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายตามที่ ปตท. เรียกเก็บ ให้ครบถ้วนก่อนดำเนินการเปิดร้าน
ภาพจาก bit.ly/2ZfGPZz
สำหรับนักลงทุนหรือผู้สนใจเปิดร้านกาแฟ Cafe Amazon สามารถ Download แบบฟอร์มใบแจ้งความจำนง ขอเปิดร้านกาแฟ Cafe Amazon ได้ที่ www.cafe-amazon.com และยื่นแบบฟอร์ม
พร้อมหลักฐานประกอบการพิจารณาตามที่ระบุ ส่งมาที่ e-mail : franchiseamazon@pttplc.com หรือติดต่อเจ้าหน้าที่ Cafe Amazon โทร. 0-2537-2391 หรือ e-mail: franchiseamazon@pttplc.com
ปัจจุบันคาเฟ่อเมซอนดำเนินกิจการภายใต้ ‘บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)’ หรือ PTTOR โดยมี ปตท. ถือหุ้นใหญ่อยู่ และ PTTOR มีแผนจะเข้าตลาดหลักทรัพย์เร็วๆ นี้ คาดว่าจะเป็นช่วงปลายปีนี้หรือต้นปี 2562
คุณผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจแฟรนไชส์และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise
อ่านบทความอื่นๆ จากไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ www.thaifranchisecenter.com/document
เลือกซื้อแฟรนไชส์ไทยขายดี เปิดร้าน www.thaifranchisecenter.com/directory/index.php
แหล่งข้อมูลจาก
อ้างอิงจาก https://bit.ly/3pq4YXb