Growth Hacking การตลาดแบบต้นทุนต่ำแต่โอกาสสำเร็จสูง
กระแสของการตลาด ที่เปลี่ยนแปลงจากเดิมก่อให้เกิดแนวคิดใหม่ ตำราใหม่ในการสร้างกลยุทธ์การตลาด ปัจจุบันนี้กล้าพูดได้ว่าใครที่คิดจะทำธุรกิจแล้วไม่ศึกษาการตลาดให้ดีย่อมมีโอกาสไปไม่ถึงฝั่งฝันเป็นแน่ ทั้งนี้ในฐานะของผู้ประกอบการก็ควรรู้ว่าการตลาดแบบไหนที่ดีที่สุดเหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด
โดย www.ThaiSMEsCenter.com ก็เป็นอีกช่องทางที่จะมาคอยอัพเดทข่าวสารการตลาดอย่างต่อเนื่องเช่นในตอนนี้ที่ได้ยินว่าการตลาดแนวใหม่ที่น่าสนใจมากคือ Growth Hacking ที่ไม่จำเป็นต้องใช้ต้นทุนมากแต่มีโอกาสประสบความสำเร็จในการลงทุนสูง แต่หลายคนอาจยังไม่เข้าใจและมองไม่เห็นภาพเราลองมาดูการตลาดแบบ Growth Hacking ให้ละเอียดกันสักหน่อยดีกว่า
Traditional Marketing Vs Growth Hacking
ภาพจาก goo.gl/nRFCBt
กลยุทธ์การตลาดแบบเดิม(Traditional Marketing) ที่ผู้ประกอบการใช้ในการผลักดันธุรกิจให้เติบโตคือการทุ่มงบโฆษณาผ่านสื่อ เช่น สื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคจำนวนมหาศาล รวมถึงการหันมาเน้นสื่อออนไลน์มากขึ้นไม่ว่าจะผ่าน Facebook, Instagram, Twitter หรือสื่อดิจิตอลใดๆก็ตาม
ส่วน Growth Hacking คือศิลปะแห่งการผสานระหว่างคุณสมบัติของสินค้ากับข้อมูลที่เกี่ยวข้อง และการตลาดอันชาญฉลาดเพื่อนำไปสู่การเติบโตทางธุรกิจอย่างรวดเร็ว หรืออีกนัย Growth Hacking คือการตลาดต้นทุนต่ำที่เน้นใช้เทคโนโลยีมาช่วยเร่งธุรกิจให้เติบโตแบบก้าวกระโดดในระยะเวลาอันสั้นโดยทั่วไป
Growth Hacking เป็นเครื่องมือทางการตลาดที่แพร่หลายในกลุ่ม Tech Startups หรือบริษัทเกิดใหม่ด้านไอทีที่มีงบจำกัดในการทำการตลาดแบบเดิมที่ใช้เม็ดเงินจำนวนมากในการประชาสัมพันธ์
จึงต้องอาศัยวิธีการอื่น เช่น โซเชียลมีเดีย ไวรัล มาร์เก็ตติ้ง การตลาดแบบผึ้งแตกรัง (Buzz Marketing) ที่มีการบอกกันปากต่อปากของผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ หรือเทคนิคบางอย่างที่ต้องอาศัยความรู้ด้านซอฟต์แวร์เข้ามาเกี่ยวข้อง เหล่านี้ถือเป็นวิธีการคิดแบบนอกกรอบทั้งสิ้น
3 ปัจจัยที่จะทำให้ Growth Hacking ประสบความสำเร็จ
ภาพจาก goo.gl/nAT2ot
1.สร้างสรรค์สินค้าหรือบริการที่เป็นของตลาด (Make things that people want)
การผลิตสินค้าต้องคำนึงด้วยว่าสินค้านั้นมีประโยชน์แค่ไหน ควรหาไอเดียที่ทำให้ลูกค้าเกิดความรู้สึก “Need” คือทำให้ชีวิตดีขึ้นและขาดไม่ได้ มากกว่าความรู้สึก “Want” ที่มีก็ดีไม่มีก็ไม่เป็นไร สิ่งนี้เป็นโจทย์แล้วก่อนที่จะก้าวไปสู่ข้ออื่นแต่ก็ถือเป็นเรื่องที่สำคัญและหลายคนก็ยังทำไม่ได้
2.รู้จักการประชาสัมพันธ์ที่มีประโยชน์ (Knowledge is power)
หากมีของดีอยู่ในมือแต่ไม่รู้วิธีประชาสัมพันธ์ก็ไม่มีประโยชน์อะไร การจะประสบความสำเร็จในธุรกิจ ผู้ประกอบการต้องมีความรู้ มีข้อมูลอยู่ในมือ ต้องมองภาพออกว่าหากปล่อยสินค้าออกไปแล้วจะเป็นอย่างไร อะไรที่มีอิทธิพลต่อตลาดที่กำลังจะลงไปเล่น
หากไม่มีข้อมูลตรงนี้ก็ควรต้องศึกษาและทำการบ้านว่าที่ผ่านมาคนอื่นเขาทำอย่างไร ใช้กลยุทธ์แบบไหน แม้ตัวเลขและข้อมูลจะมีความสำคัญในเชิงการตลาด แต่อย่าลืมในเรื่องความคิดสร้างสรรค์ หากผนวกความรู้เข้ากับความคิดสร้างสรรค์ได้ อย่างน้อยก็ถือว่ามาถูกทางแล้ว
ภาพจาก goo.gl/T1pFxK
3.สร้างความสนใจในเวลาอันสั้น(Go Viral)
การตลาดแบบ Growth Hacking มีเป้าหมายค่อนข้างชัดเจนคือสร้างกระแสความสนใจในสังคมให้เร็วในระยะเวลาอันสั้น และเข้าถึงผู้บริโภคให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ จึงต้องคิดหาวิธีหรือกระบวนการใหม่ๆ เช่น การทำแคมเปญผ่านโลกดิจิตอล โดยที่บางทีเจ้าของสินค้าก็ไม่ต้องทำอะไรมากจะมีคนทำหน้าที่ส่งต่อข้อมูล แชร์ไปให้เห็นอย่างทั่วถึงจนกลายเป็นกระแสก็มี
ตัวอย่างของธุรกิจที่ใช้ Growth Hacking อย่างได้ผล
1.Dollar Shave Club
ภาพจาก goo.gl/teH5p8
นี่คือธุรกิจผู้ผลิตใบมีดโกนหนวดรายเล็กในสหรัฐฯ ที่หาญต่อกรกับยักษ์ใหญ่ด้านสินค้าอุปโภคบริโภคอย่าง P&G ด้วย 3 เทคนิคในการทำการตลาดคือ
- สนองความต้องการลูกค้าด้วยมีดโกนหนวดคุณภาพดีราคาไม่แพง
- ใช้วิธีสมัครสมาชิกเหมาจ่ายรายเดือน ราคาเริ่มต้น 1-9 ดอลลาร์สหรัฐฯ บริษัทจะจัดส่งมีดโกนตรงถึงบ้านทุกเดือน โดยที่ลูกค้าไม่ต้องออกไปซื้อหา แถมยังสามารถเลือกชนิดของมีดโกนได้ตามต้องการ
- ไม่จำเป็นต้องซื้อสื่อ แต่ใช้วิธีถ่ายทำโฆษณาแล้วอัพลงYoutube เนื่องจากเนื้อหาโฆษณาออกแนวตลกโปกฮา คนดูชอบ จึงมีการแชร์ต่อจนทำยอดวิวทะลุหลักล้าน ส่งผลให้จำนวนสมาชิกที่ซื้อมีดโกนพุ่งพรวดเร็วทันใจ จากรายได้ไม่กี่ล้านเพิ่มเป็นหลักร้อยล้านดอลลาร์ฯ จนบริษัทยูนิลีเวอร์สนใจเข้ามาเจรจาของซื้อกิจการไปเรียบร้อย
2.ไอศกรีมกูลิโกะ
มีกระแสช่วงหนึ่งในบ้านเราที่ไอศกรีมกูลิโกะใช้ Growth Hacking อย่างได้ผล กลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ถูกแชร์บนสื่อสังคมออนไลน์อย่างคึกคักในแง่ของการไล่ล่าหาซื้อไอศกรีมกูลิโกะยากยิ่งกว่าการตามล่าหาสินค้าใดๆ
การที่สินค้าถูกวางตำแหน่งให้เป็น Rare Item หรือของหายาก เมื่อใครได้มาในครอบครองจึงอดไม่ได้ที่จะถ่ายรูปอวดบน Facebook และสื่ออื่นๆ และมีการชี้เบาะแสให้ด้วย นี่เป็นตัวอย่างของการทำการตลาดแบบไม่ต้องทุ่มงบมหาศาลในการโฆษณา เพียงสร้างกระแสแล้วปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้บริโภคที่จะบอกต่อกันเอง
3.บริษัทแซลมอน
ภาพจาก facebook.com/salmonbooks
บริษัทแซลมอน เป็นธุรกิจที่ทำทั้งสำนักพิมพ์และโพรดักชันเฮาส์ เป็นอีกบริษัทหนึ่งที่สร้างกระแสไวรัลได้ทรงประสิทธิภาพมากที่สุด เริ่มจากการโปรโมตหนังสือด้วยการทำคลิปเผยแพร่ทางยูทูบ เป็นคลิปเกี่ยวกับฝรั่งชื่อลุงเนลสันที่พูดถึงเมืองไทยด้วยแง่มุมต่างๆ
ส่วนใหญ่เป็นการประชดประเทียดแต่กระตุกต่อมฮา ถูกใจคนดูจนทำให้ยอดวิวทะลุล้าน จากนั้นแซลมอนก็ทำคลิปออกมาอีกหลายคลิป ล้วนออกแนวเกรียน เสียดสี ล้อเลียน แซลมอนประสบความสำเร็จในการทำให้คลิปเหล่านั้นถูกพูดถึงในสังคมและแชร์ผ่านFacebookจำนวนมาก ส่งผลให้ชื่อแซลมอนติดหูคนดูในเวลาไม่นาน
Growth Hacking จึงไม่ใช่การตลาดที่เจาะจงสำหรับ Tech Startups ฝ่ายเดียว แต่ยังเป็นกลยุทธ์สำหรับนักการตลาดผู้ชาญฉลาดสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับสินค้าแทบทุกชนิด อย่างไรก็ตาม
สำหรับธุรกิจขนาดเล็ก เช่น ร้านอาหาร ธุรกิจจำหน่ายขนมหรืออาหาร และสินค้าประเภทงานฝีมือที่ต้องใช้ความประณีต หากนำกลยุทธ์แบบ Growth Hacking มาใช้ ก็ต้องเตรียมรับผลที่ตามมาในกรณีที่สินค้าขายดีก็ต้องคงเรื่องของคุณภาพและมาตรฐานการบริการไว้เพราะต่อให้การตลาดจะดีสักแค่ไหนแต่คนก็ยังตัดสินใจกันที่ตัวสินค้าเป็นหลักเหมือนเดิม
สำหรับท่านใดที่ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจเรามีรวบรวมบทความมากมายไว้ให้ทุกท่านพิจารณากันตามความเหมาะสม ดูรายละเอียด goo.gl/Io5k2S