“Green Common” รุกตลาดจีน..ชูสินค้ายุคใหม่ “เนื้อเทียมจากพืช”
กระแสนิยมบริโภคเนื้อเทียมที่ผลิตจากพืช เริ่มเป็นที่นิยมจนกลายเป็นกระแสหลักของผู้บริโภคหลังจากฟาสต์ฟู้ดหลายราย เช่น เบอร์เกอร์คิง , เคเอฟซี นำเนื้อชนิดนี้มาใช้ทำเมนูใหม่ ๆ ได้เริ่มแพร่กระจายออกไปยังประเทศอื่น ๆ แล้ว
โดยหนึ่งในนั้นคือ ประเทศจีน ที่ความต้องการกำลังพุ่งอย่างรวดเร็ว โดยร้านอาหารเจหลายแห่งหันมาเพิ่มเมนูที่ใช้เนื้อจากพืช จนมีสตาร์ตอัพจำนวนมากผุดขึ้นมาพัฒนาเนื้อเทียมในแบบที่เหมาะสำหรับทำเมนูอาหารจีนโดยเฉพาะ
www.ThaiSMEsCenter.com มองว่านี่คือเทรนด์อาหารแบบใหม่ที่พร้อมจะตีตลาดโลกได้มากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการที่ตื่นตัวเรื่องนี้ก็เริ่มมีการรุกตลาดเพิ่มพื้นที่การขายของตัวเองมากขึ้นด้วย
ภาพจาก bit.ly/2Qv5kgz
หนึ่งในแบรนด์ที่ผลิตเนื้อเทียมจากพืชก็คือ “Green Common” ของ เดวิด ยัง (David Yeung) ที่เริ่มธุรกิจนี้จากการก่อตั้งองค์กรเพื่อสังคมในชื่อ Green Monday ที่ฮ่องกง โดยมุ่งให้สังคมเห็นถึงปัญหาอย่างเรื่องความไม่มั่นคงทางอาหาร
พร้อมกับมุ่งความสำคัญไปที่การชวนให้ทุกคนหันมาบริโภคอาหารที่ทำจากพืชเป็นหลัก (plant-based food) และ Green Common ก็คือหนึ่งแนวทางการทำธุรกิจของ เดวิด ยัง ที่ได้เดินหน้าธุรกิจสายรักษ์โลก รักสุขภาพอย่างเต็มรูปแบบ
โดย Green Common ได้ขยายตลาดไปยังประเทศจีนเริ่มเปิดขายครั้งแรกในแบบออนไลน์ร่วมกับ Tmall โดยมีผลิตภัณฑ์อาหารที่ทำจากพืชมากกว่า 40 ชนิด โดยเมนูยอดนิยมที่คนให้ความสนใจมากคือ ราเมนฮากาตะพร้อมท็อปปิ้งเนื้อหมูเทียมจากแบรนด์ออมนิพอร์ก (Omnipork)
ภาพจาก bit.ly/2Qv5kgz
ซึ่งเป็นการผสมผสานโปรตีนพืชจากถั่วเหลือและเห็ดชิตาเกะรวมกับข้าวเพื่อเลียนแบบรสชาติของหมูในธรรมชาติ และภายหลังการเปิดตัวสินค้านี้ได้รับความนิยมสูงมากโดยมีพันธมิตรเป็นร้านอาหารและโรงแรมรวมกว่า 1,000 แห่งในฮ่องกงและมาเก๊า
รวมถึงแผ่ขยายสินค้านี้มายังไต้หวัน สิงคโปร์ ส่วนในปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ก็มีร้านค้าและโรงแรมอีกว่า 180 แห่งที่เป็นลูกค้าซึ่งแนวคิดนี้ดูเหมือนว่าจะยังต่อขยายไปได้อีกมาก
ภาพจาก bit.ly/32VEkcL
ถ้าสำรวจตลาด “เนื้อเทียมจากพืช” แค่ในประเทศจีนจะพบอีกหลายแบรนด์ที่น่าสนใจเช่น Right Treat จากฮ่องกงที่เข้ามาเปิดตลาดในจีนเช่นกันและตั้งเป้าจะสร้างลูกค้า 15,000 รายภายในปี 2563 หรือจะเป็น Planet Green ในเสิ่นเจิ้นที่ทำยอดขายจากเมนูเบอร์เกอร์เนื้อเทียมได้ถึง 10,000 ชิ้น
เหตุผลสำคัญที่ทำให้ “เนื้อเทียม” กลายเป็นธุรกิจใหม่สุดฮิตในจีน และมีผู้เล่นหลายแบรนด์เข้ามาลุยตลาดเกิดจากภาวะขาดแคลนเนื้อหมูหลังการแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดหมูแอฟริกัน ที่ทำให้รัฐบาลต้องสั่งทำลายหมูจำนวนมากจนราคาขยับแพงขึ้นเท่าตัว และปัจจุบันอยู่ระหว่างเพิ่มการนำเข้าเนื้อทุกชนิดมาชดเชยกับการบริโภคของชาวจีนซึ่งกินเนื้อหมู ไก่หรือวัวเฉลี่ย 74 กิโลกรัมต่อคนต่อปี เพิ่มขึ้นถึง 30% จากเมื่อ 15 ปีก่อน
ภาพจาก bit.ly/32VEkcL
ถึงแม้เนื้อเทียมจากพืชจะราคาแพงกว่าเนื้อปกติอยู่ประมาณ 50% แต่ความต้องการสินค้านี้กลับเพิ่มสูงขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อและนักวิเคราะห์อุตสาหกรรมอาหารยังให้ความเห็นว่า ตลาดเนื้อเทียมในจีนนี้มีโอกาสจะเติบโตได้อีกถึง 80% เป็น 2.1 แสนล้านเหรียญสหรัฐในปี 2568
แม้ว่า Green Common และอีกหลายแบรนด์จะเริ่มเปิดตลาดในจีนอย่างเป็นทางการและเริ่มมีแนวโน้มของการเติบโตที่ชัดเจนแต่ตลาดนี้ก็เพิ่งเริ่มต้นและในอนาคตจะต้องมีการแข่งขันที่สูงและรุนแรง สำหรับผู้ประกอบการเมืองไทยเองก็ควรศึกษาแนวทางของ “เนื้อเทียม” นี้ไว้เพื่อเอามาปรับใช้เป็นแนวคิดสินค้าใหม่ในยุคปัจจุบัน
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจแฟรนไชส์และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise
ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/32Zbp7H
ขอบคุณข้อมูล https://bit.ly/2Qv5kgz