“ Co-Branding ” จับมือกันรุ่ง! มุ่งสู่กำไร
การทำธุรกิจ สมัยนี้อย่าคิดว่าอยู่เพียงลำพังได้โดยไม่ต้องสนใจใคร แม้ว่าแบรนด์ของเรานั้นจะแข็งแกร่งปานใดก็ตามแต่เชื่อหรือไม่ว่าเราก็ยังมีจุดอ่อนและอ่อนมากพอที่จะให้คู่แข่งเจาะทะลวงเราเข้ามา
ด้วยเหตุนี้การตลาดยุคใหม่จึงหันมาใช้เทคนิคความร่วมมือที่เรียกกันว่า Co-Branding ซึ่งก็คล้ายๆกับการฟิวก์ชั่นโดยเหตุผลสำคัญคือเพื่อปกปิดส่วนอ่อนของกันและกันและร่วมมือรวมพลังกันสร้างกำไรให้เกิดขึ้นกับแบรนด์ตัวเองได้มากที่สุด
แต่ทั้งนี้ใช่ว่าจู่ๆนึกอยากจะจับมือกับใครก็เดินเข้าไปได้เลยสิ่งสำคัญเราต้องรู้จักเลือกสินค้าให้มีความเหมาะสมหรือสามารถเกื้อกูลกับแบรนด์ของเราเองได้ดีที่สุด
แน่นอนว่ากลยุทธ์แบบ Co-Branding นี้มีพลังทางการตลาดมากแต่ก็มีข้อศึกษาที่น่าสนใจมากเช่นกันและเพื่อการนั้น www.ThaiSMEsCenter.com ขอไข้ข้อข้องใจที่ว่านี้ ดีไม่ดี กลยุทธ์นี้มีพลังแค่ไหน ลองมาศึกษาเทคนิคนี้กันดูละกันครับ
Co-Branding มีถึง 4 รูปแบบนะรู้ยัง!
รูปแบบของการ Co-Branding คือการดึงจุดแข็งของแบรนด์อื่นมาใช้ปกปิดจุดด้อยของแบรนด์ตัวเราเองอธิบายง่ายๆว่าถ้าเราไม่เก่งการตลาดแต่ว่ามีสินค้าดีก็อาจร่วมมือกับอีกแบรนด์ที่มีการตลาดแข็งแกร่ง
แต่แบรนด์ยังไม่เป็นที่รู้จักแน่นอนว่าเรื่องนี้ต้องสร้างประโยชน์ด้วยกันได้ทั้งสองฝ่ายความร่วมมือแบบ Co-Branding จึงจะเรียกว่าสำเร็จอย่างเต็มรูปแบบทั้งนี้ถ้าเราวิเคราะห์ให้ดีจะพบว่าการ Co-Branding ที่ว่านี้มีด้วยกันถึง 4 รูปแบบทีเดียว
1. Ingredient Co-branding
คือการใช้ส่วนประกอบของแบรนด์หนึ่ง ในการร่วมผลิตสินค้ากับอีกแบรนด์หนึ่ง และใช้ตราสินค้าร่วมกัน เช่น Dell computer กับ Intel processors โดยตัวคอมพิวเตอร์เป็นยี่ห้อ Dell แต่ชิพประมวลผลเป็นของ Intel เรียกง่ายๆ ว่าเป็นการนำส่วนประกอบของแบรนด์อื่นๆ มาผสมกับแบรนด์ตัวเอง เพื่อเสริมความแข็งแกร่งมากขึ้น
2. Joint Venture Co-branding
คือการร่วมมือกันระหว่างบริษัทตั้งแต่ 2 บริษัท หรือมากกว่านั้น โดยกำหนดกลยุทธ์ร่วมกัน และมีกลุ่มเป้าหมายเดียวกัน เช่น การวางแผนการตลาดร่วมกันของสายการบินไทย กับซิตี้แบงค์ เพื่อให้สิทธิพิเศษสำหรับผู้ใช้บัตรเครดิตสะสมคะแนนแลกไมล์ในการใช้บริการสายการบินไทย เป็นต้น
3. Same –company Co-branding
หมายถึงภายในบริษัทเดียวกัน ที่มีผลิตภัณฑ์หลายๆ ตัว ต้องการที่จะทำรายการส่งเสริมการขายร่วมกัน เช่น สินค้าในเครือ P&G จัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขายให้กับห้างสรรพสินค้า ทำรายการซื้อสินค้าในเครือ P&G ครบตามจำนวนจะได้รับของสมนาคุณ หรือ เห็นชัดๆอย่างมหกรรมลดราคาของ Unilever ไชโย SALE เป็นต้น
4. Multiple Sponsor Co-branding
คือ การใช้ความร่วมมือกันจากหลายๆ แบรนด์เพื่อสร้างเครือข่าย และผนึกกำลังช่วยส่งเสริมกันระหว่างแบรนด์ โดยอาศัยความชำนาญที่แตกต่างกันได้มาพัฒนา เช่น การจับมือกัน 3ฝ่าย ระหว่าง Jet Airway + VISA + ICICI Bank เป็นต้น
แต่ทั้งนี้การจะเลือกใช้การ Co-branding แบบไหนก็อยู่ที่ว่าเราต้องการเน้นทำการตลาดแบบใดซึ่งส่วนใหญ่ก็มี 4 ช่องทางใหญ่ๆที่น่าสนใจคือ
1. เน้นการเข้าถึงส่วนแบ่งทางการตลาด
โดยการเลือกหุ้นส่วนที่ช่วยเพิ่มศักยภาพต่อแก่นของแบรนด์ตัวเองให้ได้รับประโยชน์สูงสุดเหมือนที่เรายกตัวอย่างของการร่วมมือระหว่าง ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ Dell เลือกร่วมมือกับ Intel ถือเป็นการเพิ่มคุณค่าให้กันและกัน
หรืออย่างบริษัทขนมขบเคี้ยว Frito-Lay ได้จับมือกับน้ำอัดลมเปิดตัว ชีโตสรสเมาเทนดิว (Mountain Dew Cheetos) และชีโตสรถเป๊ปซี่ เป็นสแน็กที่น่าสนใจไม่น้อยและสามารถกอบโกยยอดขายได้อย่างง่ายดาย เป็นต้น
2. เน้นการเข้าถึงช่องทางการตลาดใหม่
สำหรับแบรนด์ที่คิดว่าแข็งแกร่งมากพอแต่ต้องการเพิ่มฐานลูกค้าใหม่ก็จะเกิดความร่วมมือกันในลักษณะนี้ ตัวอย่างเช่น McDonald’s McFlurry กับ Kitkat ที่รวมมือกันพัฒนาสินค้าในรสชาติใหม่ และยังสามารถปรับช่วงเวลาในการซื้อสินค้าของทั้งสองประเภทได้อย่างลงตัว หรือแม้แต่ Adidas จับมือกับยาง Good Year ออกรองเท้ารุ่นพิเศษที่ใช้ยางจากล้อรถ Good Year เป็นต้น
3. เน้นการส่งเสริมภาพลักษณ์ของแบรนด์ (Brand Image)
ในกรณียกตัวอย่างให้เห็นภาพและเข้าใจง่ายเช่นการให้บริการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ ผู้ค้าออนไลน์ในอินเทอร์เน็ตมักจะประสบปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือในการชำระเงินสินค้า
ดังนั้น การร่วมมือกับแบรนด์ชั้นนำอย่าง Paypal ในด้านการชำระสินค้าก็สามารถสร้างความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์ตัวเอง ซึ่งมีผลต่อลูกค้าได้เชื่อมั่นในสินค้าและบริการ และเพิ่มคุณค่าให้กับแบรนด์ตัวเองมากขึ้น
4. เน้นการพัฒนาต่อยอด
ถ้าต้องการเน้นในเรื่องนี้เราก็ต้องเลือกแบรนด์ที่มีความแข็งแกร่งด้านภาพลักษณ์ และมีศักยภาพในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ได้ด้วย ตัวอย่างเช่น Credit card ร่วมมือกับ MasterCard และ Visa สร้างเครือข่ายขยายตลาดสินค้าและการบริการไปยังสถาบันการศึกษา
หน่วยงานการกุศลต่างๆ ผู้ให้บริการด้านรถยนต์ ปั้มน้ำมัน สายการบิน ที่พัก และร้านค้าต่างๆ โดยผู้ใช้บริการบัตรเครดิตสามารถใช้ Reward card ในการรับสิทธิพิเศษต่างๆ ซึ่งกลยุทธ์นี้จะสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้เป็นจำนวนมากด้วย
อย่างไรก็ดีใช่ว่ากลยุทธ์ Co-Branding จะดีไปซะทั้งหมดปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของกลยุทธ์แบบนี้คือความเป็นตัวของตัวเองในแต่ละแบรนด์ที่เจ้าของแบรนด์ต้องพยายามรักษาภาพลักษณ์นั้นเอาไว้ให้ติดตลาดรวมถึงกรณีที่เกิดแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งได้รับผลกระทบ ก็จะส่งผลไปยังอีกแบรนด์เช่นกัน
ทั้งนี้ทั้งนั้นเจ้าของธุรกิจและผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องประเมินถึงข้อดีและข้อเสียของการรวมแบรนด์ว่าคุ้มค่ากว่าการสร้างแบรนด์เดียวหรือไม่ด้วย
ขอบคุณรูปภาพจาก : goo.gl/C9Ysif , goo.gl/1cF2dZ