CJ ร้านสะดวกซื้อที่ควรโตเหมือน Alpha mart

ร้านสะดวกซื้อ เป็นอีกหนึ่งการลงทุนที่คนสนใจมาก เริ่มตั้งแต่ 7-11 ที่เป็นรายใหญ่ของประเทศมีสาขาทั่วประเทศมากกว่า 10,000 แห่ง นอกจากนี้ก็มีอีกหลายแบรนด์ในตลาดเดียวกันทั้ง Lawson , Familymart , CJ Express ไม่นับรวมBig C กับ Tessco Lotus

ที่หันมาเจาะตลาดแนวนี้กับเขาด้วยเช่นกัน ซึ่งคนไทยเองก็ดูจะผูกผันและรู้สึกว่าร้านสะดวกซื้อเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันชนิดที่แต่ละวันบางคนเดินเข้าเดินออกใช้บริการกันมากกว่าวันละ 2-3 ครั้ง

ร้านสะดวกซื้อ

ไม่น่าแปลกใจที่ยอดขายของร้านสะดวกซื้อเบอร์หนึ่งของประเทศอย่าง7-11 จะมีรายได้เฉลี่ยต่อสาขาไม่น้อยกว่า 80,000 บาท/วัน คำถามคือทำไม 7-11 ถึงได้เติบโตราวกับติดสปริง

และทำไมร้านสะดวกซื้อที่เป็นแบรนด์แบบไทยแลนด์โอนลี่อย่าง CJ ถึงไม่เป็นที่กล่าวถึงมากนัก ทั้งที่ความจริงแล้ว 7-11 แม้จะเป็นหนึ่งในเมืองไทยแต่ก็มีบทเรียนที่เคยพ่ายแพ้ราบคาบให้กับร้านสะดวกซื้อเจ้าถิ่นในอินโดนีเซีย สิ่งเหล่านี้จะดีพอให้ CJ นำมาปรับใช้ในการทำตลาดได้บ้างหรือไม่

www.ThaiSMEsCenter.com จะพาไล่เรียงและวิเคราะห์แนวทางในเรื่องนี้กันทีละประเด็นๆให้เห็นภาพชัดเจนสำหรับคนสนใจในธุรกิจแนวนี้

k2

หลังจาก CP ได้ซื้อ License 7-11 จากบริษัท เซาท์แลนด์ คอร์ปอเรชั่น เมื่อปี 2531 และเปิดสาขาแรกในเมืองไทยเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2532 กลยุทธ์ช่วงแรกที่ 7-11 นำมาใช้ในการขยายตลาดคือ

  1. กลยุทธ์ซื้ออาคารเพื่อเปิดร้าน แต่ก็ยังเติบโตไม่ดีนัก ช่วงแรกขาดทุนรวมกว่า 100 ล้านบาท
  2. เปลี่ยนกลยุทธ์จากซื้อเป็นเช่า วิธีนี้ 7-11 เริ่มเติบโตเร็วขึ้น เพียง 10 ปีก็มีครบ 1,000 สาขาและเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ
  3. กลยุทธ์ป่าล้อมเมือง กระจายสาขาไปทุกจุดโดยเฉพาะย่านชุมชน ย่านธุรกิจ ฝังแบรนด์ให้อยู่ในใจลูกค้าได้มากที่สุด

เมื่อ 7-11 เริ่มเป็นที่ติดตลาดมีรายได้มากขึ้นก็จำเป็นต้องพัฒนารูปแบบธุรกิจให้ครบวงจรด้วยการนำสินค้าใหม่ๆ บริการใหม่ ร่วมกับการใช้โปรโมชั่นต่าง ๆ ดึงดูดลูกค้าอย่างได้ผล

k7

ภาพจาก goo.gl/NUJe24

รวมถึงการควบคุมต้นทุนของธุรกิจที่ผู้สนใจนำสินค้ามาวางขายใน 7-11 ต้องให้เครดิตทางการค้า 72 วัน พูดง่ายๆคือขายฟรีก่อน 72 วัน จากนั้นถึงจะชำระค่าสินค้าที่ขาย ทำให้ธุรกิจมีเงินสดมากองที่บริษัทเฉลี่ยปีละหลายหมื่นล้านบาท

และด้วยรูปแบบการลงทุนแฟรนไชส์ 7-11 ที่ผู้ลงทุนต้องมีการวางเงินค่าลิขสิทธิ์ ค่าตกแต่งร้าน เพื่อให้ทางบริษัทเซตระบบภายในร้านให้มีคอมพิวเตอร์เชื่อมโยง เงินสดขายได้ทั้งหมดในแต่ละวันนั้นจะต้องส่งเงินกลับสำนักงานใหญ่โดยไม่มีการหักค่าใดๆ ทั้งสิ้น

จากนั้นทาง บ.แม่ ถึงจะส่งเงินที่หักต้นทุนสินค้าและส่วนแบ่งกำไรมาให้เจ้าของ โดยเจ้าของสาขาจะได้ส่วนแบ่งประมาณ 40% ของกำไรที่ทำได้ ซึ่งไม่น่าแปลกใจถ้าในปี 2017 ที่ผ่านมา 7-11 มีรายได้รวม 434,712 ล้านบาท และเป็นกำไรกว่า 16,677 ล้านบาท และหากนับเอาตัวเลขจากทุกธุรกิจที่ CP มีอยู่กำไรในปี 2017 อยู่ประมาณ 4.2 แสนล้านบาทถึงซื้อว่าสูงไม่น้อยทีเดียว

k8

ภาพจาก goo.gl/4fyVdT

จะเห็นว่ารายได้เฉลี่ยของ 7-11 นั้นสูงกว่าคู่แข่งเบอร์ 2 เบอร์ 3 ชนิดไม่เห็นฝุ่น แล้วทีนี้จะมีวิธีการอย่างไรที่แบรนด์ร้านสะดวกซื้อท้องถิ่นคนไทยแท้ๆ จะหาญสู้กับ 7-11 ได้บ้าง เรื่องนี้คงต้องไปดูวิธีการที่ Alpha mart และ Indo mart ร้านสะดวกซื้อท้องถิ่นในอินโดนีเซียเอาชนะ 7-11 ได้แบบไม่เห็นฝุ่นเช่นเดียวกัน

ซึ่งเป็นข่าวใหญ่เมื่อประมาณเดือนพฤษภาคมในปี 2017 ที่ เครือ CP ทุ่มเงินกว่า 75 ล้านเหรียญสหรัฐ ซื้อกิจการของ โมเดิร์น ซีเวล อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นมาสเตอร์แฟรนไชส์เซเว่นอีเลฟเว่นในอินโดนีเซีย ที่ตอนนั้นมีคู่แข่งเป็นร้านสะดวกซื้ออย่าง Alfamart และ Indomaret

ซึ่งมีสาขากว่า 1,400 แห่งมากกว่า เซเว่นหลายสิบเท่า การเข้าซื้อกิจการครั้งนี้กลับล้มเหลวไม่เป็นท่า เพียงแค่ 2 เดือนต่อมา โมเดิร์น ซีเวล อินโดนีเซีย ของ CP ประกาศปิดสาขากว่า 136 แห่ง ด้วยเหตุผลสำคัญคือสู้กับคู่แข่งท้องถิ่นไม่ได้ งานนี้นักวิเคราะห์มองว่าจุดแข็งที่แบรนด์สะดวกซื้อท้องถิ่นเอาชนะ 7-11 ได้คือ

  1. การกำหนดกลยุทธ์ที่ผิดพลาดของ 7-11 ที่ขายอาหารพร้อมนั่งทาน ซึ่งดึงดูดคนเข้าร้านได้จริงแต่รายได้ไม่มากตาม
  2. การประกาศนโยบายห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านสะดวกซื้อของรัฐบาลอินโดนีเซีย ส่งผลกระทบหนักมาก
  3. ร้านท้องถิ่นเน้นโมเดลที่ต่างจาก 7-11 คือเน้นของสด และของชำ ตรงตามไลฟ์สไตล์คนอินโดมากกว่า
  4. ร้านสะดวกซื้ออย่าง Alpha mart และ Indo mart เข้าใจความต้องการของคนและตอบสนองด้วยบริการที่โดนใจกว่า

k3

หันมาดูในประเทศไทยร้านสะดวกซื้ออย่าง CJ Express ภายใต้การบริหารงานของ บริษัท พี.เอส.ดี รักษ์ไทย จำกัด ปัจจุบันมีสาขาเปิดให้บริการกว่า 250 แห่งใน 18 จังหวัด ซึ่งหากจะมุ่งหวังเติบโตแข่งขันกับ 7-11

ควรใช้หลักการเดียวกันกับ Alpha mart และ Indo mart คือใช้จุดแข็งเรียนรู้ความต้องการของผู้บริโภคและสร้างแบรนด์ให้คนจดจำอยู่ในใจผู้บริโภคให้ได้ ทั้งนี้ก็ต้องเริ่มจากการปรับเปลี่ยนและพัฒนาธุรกิจให้เติบโตยิ่งขึ้น

k5

สำหรับแผนการลงทุนของ CJ Express มีแผนลงทุนในช่วง 3 ปีต่อจากนี้ ประมาณ 4,000 ล้านบาท เพื่อขยายและปรับปรุงสาขาที่ปัจจุบันมีอยู่กว่า 250 สาขาโดยตั้งเป้าจะมีสาขาให้ครบ 600 สาขาภายในปี 2563 และในอนาคต CJ Express มีแผนที่จะขยายสาขาโดยใช้โมเดลแฟรนไชส์

เพื่อเร่งสปีดจำนวนสาขาให้เร็วขึ้น รวมทั้งมีแผนจะขยายสาขาไปในประเทศกลุ่ม AEC รวมถึงการปรับแผนรุกตลาดโดยใช้จุดแข็งพื้นที่ภูธร ไม่แข่งขัน 100% กับใคร ค่อยๆ รุกเข้าใจกลางเมือง

โดยปัจจุบันผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายใน CJ Express จะเป็นสินค้ากลุ่มครัวเรือนเป็นหลัก เจาะกลุ่มแม่บ้าน ซึ่งแตกต่างจาก7-11 ที่เน้นจำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จ พร้อมรับประทานและสินค้าไซน์เล็กต่างๆ

และจากการปรับโครงสร้างในด้านการบริหารของ CJ Express ที่ชัดเจนเริ่มส่งสัญญาณที่ดีมีรายได้จากสินค้าบางกลุ่มมากขึ้นและแชร์ส่วนแบ่งการตลาดในสินค้าบางประเภทได้ดีขึ้นอย่างกลุ่มเครื่องดื่มชูกำลังยอดการขายใน CJ Express เริ่มดีขึ้นต่อเนื่องปัจจุบันมีสัดส่วนกว่า 30% ของมูลค่ารวมตลาดเครื่องดื่มชูกำลังทั้งหมด

k6

ในส่วนของคนไทยเองก็ควรสนใจและหันมาสนับสนุนร้านสะดวกซื้อที่ได้ชื่อว่าเป็นของคนไทย 100% มากขึ้นเหมือนที่คนอินโดนีเซียสนับสนุน Alpha mart และ Indo mart จนร้านสะดวกซื้อแบรนด์ต่างชาติไม่ว่าจากไทยหรือญี่ปุ่นยังเข้าไปแทรกตลาดไม่ได้

ซึ่งธุรกิจเองโดยเฉพาะ CJ Express ก็ต้องปรับปรุงรูปแบบธุรกิจให้น่าสนใจและดึงดูดยิ่งขึ้น เชื่อว่าคนไทยพร้อมจะเปิดใจเพียงแต่ธุรกิจเองก็ต้องพร้อมจะเปลี่ยนแปลงตัวเองให้มากขึ้นด้วยเช่นกัน

สำหรับท่านใดที่ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจเรามีรวบรวมบทความมากมาย ติดตามได้ที่ goo.gl/Io5k2S
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก  goo.gl/QWdLSJ , goo.gl/pLOzTS

ภาพ CJ จาก : facebook.com/CJsupermarket

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด