9 ปัญหา ที่คนสืบทอดกิจการต้องเจอ พร้อมแนะนำทางรอด!
พ่อแม่มีกิจการให้เราสืบทอดต่อ มองอีกด้านก็คือเรื่องดีที่เราไม่จำเป็นต้องไปเป็นลูกจ้างใคร และมีธุรกิจเป็นของตัวเองโอกาสจะรวย รวย และรวย ก็มีมากขึ้น แต่บางครั้งมีตัวอย่างให้เห็นว่าธุรกิจยุคพ่อแม่นั้นรุ่งเรืองสดใส แต่พอมาอยู่ในมือทายาทหรือผู้สืบทอด แทนที่จะรุ่งบางทีดันร่วงซะอย่างนั้น
www.ThaiSMEsCenter.com มองว่าการสืบทอดกิจการต่อจากรุ่นแรกหรือผู้ก่อตั้งอาจจะดูเหมือนง่ายแต่ที่จริงอาจมีอะไรมากกว่าที่คิด จากข้อมูล Brand Power of SME Study ปี 2561 พบว่า กว่า 50% ธุรกิจเอสเอ็มอีของไทยมีทายาทธุรกิจตั้งแต่รุ่นที่ 2 เป็นต้นไปรับหน้าที่บริหาร และผู้ประกอบการกลุ่มนี้เป็นผู้สร้าง 55% ของจีดีพีของวิสาหกิจขนาดย่อมในประเทศไทย คิดเป็นมูลค่า 2.7 ล้านล้านบาท
ซึ่งปัญหาใหญ่ๆ ของการมารับช่วงต่อที่เกิดอาการสะดุดนั้นมี 9 สาเหตุด้วยกันคือ
1.ไม่เคยทำมาก่อน
จากการสำรวจพบว่า 36% ของทายาทธุรกิจ เข้ามารับช่วงธุรกิจต่อจากครอบครัว โดยที่ไม่เคยฝึกงานและไม่เคยลองทำงานที่ไหนมาก่อน เมื่อจบการศึกษาก็เข้ามารับตำแหน่งผู้บริหารของบริษัททันที เมื่อรากฐานไม่แน่น ขาด ‘ประสบการณ์งาน’ และ ขาด ‘ประสบการณ์การบริหารคน’ ทำให้บริหารธุรกิจไม่ได้ หรือไม่ราบรื่น
2.ไม่เข้าใจธุรกิจดีพอ
ทายาทธุรกิจมากถึง 34% ไม่เคยได้รับการสอนงาน หรือการเตรียมความพร้อมทางธุรกิจจากรุ่นพ่อแม่ เมื่อไม่มีความรู้ ความเข้าใจ จึงไม่เห็นภาพของอุตสาหกรรมและไม่สามารถบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ
3.ใจไม่รักแต่จำเป็นต้องทำ
43% ของทายาทธุรกิจ อยากมีธุรกิจตามความชื่นชอบและแนวคิดของตัวเอง แต่จำใจต้องมาสานต่อธุรกิจของครอบครัว เมื่อไม่มีใจรัก ก็บริหารธุรกิจอย่างไม่เต็มความสามารถ เมื่อประสบปัญหาการแข่งขันหรือการเปลี่ยนแปลง ก็มีแนวโน้มที่จะไม่สามารถสานต่อหรือต่อยอดธุรกิจให้เจริญเติบโตไปกว่าเดิมได้
4.เป็นเจ้าของแต่ไม่มีอำนาจตัดสินใจ
ในระบบขององค์กรที่ขนาดใหญ่บางทีผู้นำอาจมีตำแหน่งแค่หัวโขนแต่ไม่อำนาจในการตัดสินใจ โดยพบว่า 70% ของทายาทธุรกิจ เมื่อได้เข้ามาบริหารงานแล้ว กลับไม่มีอำนาจในการตัดสินใจอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะทำอะไร ต้องขอคำชี้แนะหรือการอนุมัติจากผู้บริหารรุ่น 1 ก่อนเสมอ
5.ความคิดถูกปฏิเสธจากรุ่นที่ 1
แนวคิดยุคใหม่กับแนวคิดยุคเก่าบางทีก็สวนทางกันสิ้นเชิง รุ่นบุกเบิกที่บริหารธุรกิจจนประสบความสำเร็จ มักจะเชื่อมั่นในตนเองสูง และจะปฏิเสธทุกครั้งที่ทายาทธุรกิจนำเสนอสิ่งใหม่ เพราะมองภาพการเติบโตในอนาคตไม่ชัดเจน การปิดกั้นของผู้บริหารรุ่น 1 ทำให้ทายาทธุรกิจไม่สามารถบริหารการเปลี่ยนแปลงได้ ถือเป็นความเสี่ยงต่อการปรับตัวขององค์กรอย่างมาก
6.คู่ค้าและพันธมิตรการค้ายังไม่เชื่อมั่น
ความเชื่อมั่นของลูกค้าและคู่ค้า คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนรุ่นใหม่ดำเนินธุรกิจครอบครัวไปได้อย่างต่อเนื่อง แต่ 38% พบว่าลูกค้าและคู่ค้ายังคงเลือกติดต่อเจรจากับผู้บริหารรุ่น 1 อยู่ และมองข้ามทายาทธุรกิจเสมอๆ จึงทำให้การบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้าและคู่ค้าของทายาทธุรกิจ เกิดช่องว่างขึ้น
7.ถูกมองจากรอบข้างว่าเป็นเด็กไม่มีประสบการณ์
โดยเฉพาะในองค์กรที่มีระบบ ระเบียบชัดเจน การจะก้าวขึ้นมาสานต่อกิจการ มักจะถูกมองจากพวกอาวุโสในบริษัทว่าเป็นผู้นำที่ ปากยังไม่สิ้นกลิ่นน้ำนม โดยทายาทธุรกิจ 31% ถูกมองว่าเป็นเด็ก ทำอะไรก็ไม่น่าเชื่อถือ ก็จะถูกประเมินว่าไม่มีความสามารถในการบริหารธุรกิจ
8.รอยต่อของการเปลี่ยนแปลง
แน่นอนว่าทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนตัวผู้นำ ย่อมหมายถึงความเชื่อมั่นต่างๆ ของคู่ค้าที่บางคนอาจจะชะลอการตัดสินใจร่วมลงทุน หรือบางรายอาจหนักถึงขั้นถอนตัวจากการเป็นคู่ค้าและหันไปหาคู่แข่ง สิ่งที่เป็นปัญหาคือนโยบายที่จะดำเนินกิจการ ถ้าไม่สร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นได้ ปัญหานี้จะลุกลามมากขึ้น
9.คลื่นใต้น้ำจากบรรดาผู้อาวุโส
ใกล้เคียงกับการถูกมองว่าหน้าใหม่ไร้ประสบการณ์ ทำงานไม่เป็น โดยพบว่า 85% ไม่ได้รับความไว้วางใจ และถูกท้าทายจากลูกจ้างหรือหุ้นส่วนที่อาวุโสกว่า อีกทั้ง 35% ของพนักงานแสดงความไม่เห็นด้วยทันที ไม่ว่าจะเสนอหรือตัดสินใจอะไร คนที่อยู่มาเก่าก่อนมักจะตั้งแง่ไม่เห็นด้วย แต่ที่หนักกว่าคือ การโดนถามตรงๆ ว่าได้รับการอนุมัติเห็นชอบจากผู้บริหารรุ่น 1 แล้วหรือไม่
ซึ่งปัญหาเหล่านี้แม้จะมีหลายข้อก็จริงแต่ถ้ามองรวมๆ แล้วมันก็คือเรื่องของความเชื่อมั่นที่ทุกคนมีสิทธิ์จะไม่เชื่อเพราะยังไม่รู้จักฝีมือในการทำงานเราดีพอ วิธีแก้ไขปัญหาเพื่อไม่ให้เกิดรอยต่อที่เป็นปัญหามีดังนี้
1.ปรับพื้นฐานในการเป็นผู้นำให้ชัดเจน
ถ้าทายาทธุรกิจขาดประสบการณ์ ก็ควรเริ่มพัฒนาตนเอง เช่น ทักษะการบริหารจัดการ การบริหารบุคลากร การสร้างทักษะเฉพาะในแต่ละอุตสาหกรรม ฯลฯ ซึ่งเป็นหลักบริหารขั้นพื้นฐานที่ควรรู้ แล้วเสริมด้วยองค์ความรู้ที่ยกระดับความเข้มข้นขึ้น เช่น LEAN Supply Chain by TMB หรือคอร์สเรียนรู้การเป็นผู้นำต่างๆ
2.เร่งสร้างความเชื่อมั่นให้มากขึ้น
อาจจะเริ่มด้วยการหาลูกค้าและคู่ค้าใหม่ด้วย สำหรับปัญหาผู้ร่วมงานในองค์กรนั้น แนะนำให้กลับมาสำรวจอัตราค่าจ้างและสวัสดิการของบริษัทดูว่าตอบโจทย์และเพียงพอต่อคนทำงานยุคนี้หรือไม่ หากตั้งใจแก้ไขปัญหานี้ด้วยความจริงใจ เชื่อว่าจะได้ใจจากผู้ร่วมงานมากขึ้น
3.ค่อยๆ ขยายอำนาจที่ตัวเองมีอย่างช้าๆ
แม้จะได้ชื่อว่าเป็นเจ้าของกิจการที่สานต่อจากรุ่นพ่อแม่ แต่ก็ใช่ว่าจะเอาอำนาจนั้นมาให้เต็มที่ในทันที ทางที่ดีคือเริ่มใช้อำนาจจากเรื่องเล็กๆ พูดคุยปรึกษากับคนที่มีประสบการณ์ ขอความเห็น แนวคิด แลกเปลี่ยนประสบการณ์ นอกจากจะไม่เป็นการบ้าอำนาจและเปลี่ยนแปลงทุกอย่างแบบทันทีทันใด ยังจะทำให้คนในองค์กรมองเห็นวิสัยทัศน์ ความสามารถ ความตั้งใจ และค่อยๆ ยอมรับตัวตนของเราในฐานะผู้บริหารมากขึ้น
และในยุคนี้ที่การแข่งขันมีสูงผู้บริหารรุ่นใหม่นอกจากต้องเร่งปรับปรุงธุรกิจตัวเองให้สอดคล้องกับสังคมได้อย่างเหมาะสม ต้องเป็นผู้นำที่มีไอเดีย และวิสัยทัศน์ในการพาธุรกิจก้าวไปข้างหน้า ยิ่งนำหน้าคู่แข่งหรือเป็นเจ้าแรกได้ก่อนยิ่งดี อย่าให้ใครมาดูถูกได้ว่าความสำเร็จวันนี้ก็เพราะรุ่นพ่อรุ่นแม่สร้างไว้ ในฐานะผู้บริหารก็ควรมีแนวทางต่อยอดให้ดียิ่งๆขึ้นไปด้วย
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจแฟรนไชส์และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise
ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ goo.gl/Io5k2S