8 เทคนิคตั้งชื่อธุรกิจ “ชนิดที่โลกต้องจำ”
ธรรมดาโลกไม่จำ ถ้าอยากให้ โลกจำต้อง “ไม่ธรรมดา” หลายครั้งที่เราเห็นบรรดา Youtuber กับภารกิจสุดห้าวที่บางทีไม่เรื่องที่น่าทำ แต่ก็ดันทำซะอย่างนั้น ถามเหตุผลว่าทำไปเพราะอะไร บางคนอาจตอบว่า “รู้เท่าไม่ถึงการณ์” แต่เนื้อแท้คืออยากให้คนรู้จัก และอยากให้คนจดจำตัวเองมากขึ้น
ในเรื่องของธุรกิจก็เช่นกันหากไม่เด่นไม่สะดุดตา โอกาสเติบโตมีน้อยมาก ไม่ต้องมองไปเรื่องอื่นไกลเอาแค่ “ชื่อ” ที่ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจที่สำคัญที่สุดและใช้งบต่ำที่สุดแต่การตั้งชื่อให้มีประสิทธิภาพนั้นก็กลับ “ยากที่สุด” เช่นกัน
และเพื่อให้คนที่อยากเริ่มธุรกิจมีแนวคิดในเรื่องนี้ www.ThaiSMEsCenter.com จัด 8 เทคนิคตั้งชื่อธุรกิจชนิดที่โลกต้องจดจำให้ลองศึกษากันดู
1.ใช้คำสั้นๆ ไม่ต้องบรรยายมาก
ภาพจาก bit.ly/2wDCZK3
มันหมดยุคที่ร้านค้าร้านอาหารจะมาอารัมภบท ตั้งชื่อเป็นกลอนแปด หรือกลอนสุภาพ สมัยก่อนอาจจะใช่กับชื่อร้านที่สละสลวยอ่านชื่อร้านทีก็เพลินหูเหมือนจะได้ดูหนังสักเรื่อง แต่เดี๋ยวนี้ขอสั้นๆ กระชับ ชัดเจน ไม่เวิ่นเว้อ อะไรที่คิดว่ากินใจ เตะหู มีโอกาสดึงดูดลูกค้าได้มากกว่า แม้บางทีชื่อเหล่านี้จะไม่ได้เป็นข้อเท็จจริงของธุรกิจเสมอไป
แต่เดี๋ยวก่อนพูดแบบนี้แล้วจะบอกว่าชื่อสั้นๆ ดีกว่าชื่อยาวๆ ก็ไม่ได้หมายความว่าอย่างนั้น แต่สมมุติว่าถ้าคิดจะตั้งชื่อยาวๆ แล้วมันกระแทกใจลูกค้าให้จำได้ก็ตั้งไปเถอะ ตัวอย่างของชื่อแบบสั้นที่ยกตัวอย่างมาให้ดู เช่น ร้านสลัดโอ้กระจู๋, ร้านกาแฟ ปัจจัตตัง, ร้านอาหารคุ้มกะตังค์ เป็นต้น
2.ตั้งชื่อที่ดูแล้วรู้เลยว่าขายอะไร
ภาพจาก bit.ly/31e6jF6
ก่อนเริ่มทำธุรกิจเราต้องมีคอนเซปต์ของร้าน ถ้าคิดอะไรไม่ออกไม่รู้จะใช้ชื่อไหนให้ถูกใจ โดนใจ เอาคาแรกเตอร์ของร้านมาสร้างเป็นชื่อร้านก็ได้ โดยส่วนใหญ่จะเป็นคำไม่กี่คำ แต่พออ่านแล้ว รู้เลยว่าที่นี่เขาขายอะไร
เช่น ร้านสหายหมื่นจอก รู้ทันทีว่าที่นี่ร้านเหล้าแน่นอน หรือ ร้านจะกินอย่าบ่น ที่รู้ว่าเป็นร้านอาหารง่ายๆ สบายๆ ไม่ใช่ร้านแบบพรีเมี่ยมแน่นอน หรือร้านที่ชื่อ Sit ที่เหมือนคำพ้องเสียงแต่ก็เป็นสไตล์เชิญชวนให้มานั่งกินดื่มที่ร้านนี้ เป็นต้น
3.คำยิ่งแปลกคนยิ่งจำ
ภาพจาก facebook.com/Notommilksupan
ยุคนี้คู่แข่งขันเยอะ จะมาตั้งชื่อร้านแบบพระเอก นางเอก ชื่อสละสลวย ฟังดูแล้วเคลิ้ม ก็กลัวว่าคนจะไม่จำ อะไรที่จิกกัด สั้นกระชับ แม้บางทีจะดูเป็นคำบ้านๆ หรือคำที่ใช้พูดกับเพื่อนสนิท บางทีก็เอามาตั้งชื่อร้านได้ เช่นคำว่า “ผัว” “เมีย” หรือคำผวนที่มีความหมาย 2 แง่ 2 ง่าม แต่ไม่ถึงกับลามก
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นคำเด็ด ๆ ที่คุณนำมาตั้งเป็นชื่อร้านต้องอยู่ในขอบข่ายที่พอดี ๆ ไม่ควรมีความหมายในเชิงลบ หยาบคาย หรือส่อไปในทางอนาจารเด็ดขาดเพราะจากที่คิดว่าจะรุ่งมันก็อาจจะร่วงเอาได้ง่าย ๆ ตัวอย่างของชื่อร้านประเภทนี้ เช่น ร้านตำแปลก แซ่บลืมผัว, ร้านปั่นลืมเมีย เดอ คันคลอง, ร้านโนตม นมสด พหลโยธิน 52 เป็นต้น
4.ชื่อที่สื่อถึงเมนูของร้านได้ดี
ภาพจาก bit.ly/2JZclnB
สำหรับบางร้านที่อาจมั่นใจในรสชาติของเมนู อาจจะไม่ต้องคิดอะไรมากเอาเรื่องนี้มาเป็นจุดขาย ซึ่งบางทีชื่อร้านลักษณะนี้ฟังดูเหมือนเรากำลังท้าทายให้คนมาลองชิมอาหารแต่ถ้ารสชาติไม่สมกับที่คุยไว้ ร้านของเราก็มีโอกาสจบได้ง่าย ๆเช่นกัน
โดยอาจจะใช้คำพูดที่ดูโอเวอร์นิด ๆ เช่น “แซ่บทะลุไส้” หรือ “อร่อยปราบเซียน” มาเป็นส่วนหนึ่งของชื่อร้านก็ได้ ตัวอย่างชื่อร้านแนวนี้ เช่น ร้านยำมะม่วงแซ่บแสบตูด สาขาแม่, ร้านหมูทำอะไรก็อร่อย, ร้านอร่อยแตกซิก เป็นต้น
5.ใช้ชื่อที่เป็นวลีเด็ดจากภาพยนตร์
ภาพจาก bit.ly/2JWEmvW
มีวลีโดนใจอยู่มากมายทั้งที่ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์ เพลง หรือหนังสือที่สามารถให้เราหยิบมาดัดแปลงเป็นชื่อร้านได้ และวลีโดน ๆ เหล่านี้สามารถดึงดูดและสร้างความน่าสนใจให้แก่ร้านของเราได้มาก ตัวอย่างชื่อร้านแนวนี้ เช่น ร้าน Lord of the Wings, ร้าน Fuckoffee, ร้าน Frying Nemo fish and chips เป็นต้น
6.เล่นคำสำบัดสำนวน
ภาพจาก bit.ly/2JXteiF
ถือเป็นพรสวรรค์ของคนไทยที่ต่างชาติไม่มีทางเข้าใจกับภาษาที่สละสลวยเหล่านี้ หากคิดจะให้คนจดจำอาจลองใช้เทคนิคคำสำบัดสำนวนนี้ดู
ซึ่งมีโอกาสทำให้คนจดจำและติดหูคนฟังได้ง่ายกว่าการใช้ชื่อร้านแบบธรรมดาๆ ตัวอย่างของชื่อร้านแนวนี้ เช่น ร้านพ่อครัวเถื่อน ยอดนักตุ๋น, ร้านเล่นไข่, ร้านหนึ่งคลอง สองทะเล เป็นต้น
7.เอาคำพื้นเมืองมาใช้ตั้งชื่อ
ภาพจาก bit.ly/2QViDW4
เสน่ห์ของแต่ละพื้นที่อาจจะมีคำที่แตกต่างกัน อย่างราชบุรีก็มีคำว่า “อีช่อ” เอ้ย! ไม่ใช่ อย่างภาคใต้ก็มีคำเรียกที่คนภาคกลางฟังแล้วก็งงว่าหมายถึงอะไร แม้แต่ภาคอีสานก็มีคำพื้นเมืองที่น่าสนใจหลายอย่าง การเลือกเอาคำเหล่านี้มาตั้งชื่อร้านก็ควรใหใสอดคล้องกับสินค้าภายในร้านด้วย
ตัวอย่างของชื่อร้านแนวนี้ เช่น ร้านนมบ่ะเล่น โดยคำว่า บ่ะเล่นเป็นภาษาเหนือที่แปลว่าใหญ่มาก, ร้านตูบน้อย ตูบนี่เป็นภาษาเหนือที่แปลว่ากระท่อมเล็ก ๆฟังดูอบอุ่นเป็นกันเอง, ร้านสภากาแฟ SR แต่เตี๊ยม คำว่าแต่เตี๊ยมเป็นภาษาพื้นเมืองภูเก็ตที่แปลว่า ติ่มซำ ร้านนี้จึงมีเมนูเด็ด ที่ติ่มซำ เป็นต้น
8.พ่วงด้วยสโลแกนเจ๋งๆ
ภาพจาก bit.ly/2IldMcT
บางทีชื่อร้านอย่างเดียวยังไม่ตอกย้ำมากพอ ลองใส่สโลแกน เจ๋งๆ ต่อท้ายเข้าไปอาจจะยิ่งทำให้คนฟังรู้สึกฮา และรู้สึกถูกใจร้านค้าเราได้มากขึ้น นี่คือเทคนิคที่ทำให้ลูกค้ารู้สึกเป็นกันเองกับร้านค้า หลายครั้งที่คำเหล่านี้กลายเป็นคำพูดปากต่อปาก
และกลายเป็นการโฆษณาร้านค้าให้เราได้เลยทีเดียว ตัวอย่างของชื่อร้านแนวนี้ เช่น ร้านกระหรี่หมี่เตี๋ยว “ปลุกความเป็นแกงกะหรี่ในตัวคุณ”, ร้านกระทะร้อน อะไรก็ไม่รู้ “แพง! ไม่ขาย ขาย 189 โอเคนะ”, ร้านหน้าสั่นโภชนา “ไม่อร่อย ตบหน้าสั่น” เป็นต้น
ได้ดูเทคนิคเหล่านี้แล้วก็คงจะเข้าใจว่าทำไมเดี๋ยวนี้เดินไปมักจะเจอชื่อร้านแปลกๆ แบบ “อร่อยเว้ยเฮ้ย” หรือ “ทำเองกินเอง” หรือบางทีก็ใส่ถ้อยคำหยาบๆ ลงไป ที่บางทีรู้สึกว่า นี่มันเป็นชื่อร้านได้ด้วยเหรอ
แต่ก็นั่นแหละ ยุคนี้อะไรๆก็เปลี่ยนไปจะมามัวโลกสวยตั้งชื่อร้านเหมือนตั้งอยู่กลางทุ่งลาเวนเดอร์ก็คงไม่ทันกินกับคู่แข่งสารพัด ทางไหนคือวิธีลัดที่ทำให้คนฮิต ติดใจ จำร้านเราได้ ทำไปเถอะ ยิ่งแปลกคนยิ่งจำ จริงๆ
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจแฟรนไชส์และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise
ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ bit.ly/2Jf8ph8