8 เทคนิคควรรู้ให้สินค้า ขอ อย. ผ่านฉลุย
หลายคนคงเป็นกังวลไม่น้อยหากบอกว่าจะต้องเริ่มทำธุรกิจแล้วต้องเดินเอกสารให้ถูกต้องเพื่อ ขอรับใบอนุญาต ต่างๆไม่ว่าจะเป็นการขอใบอนุญาตจัดตั้งสถานที่ผลิต ใบอนุญาตรับรองคุณภาพสินค้าและอาหาร คนที่มีประสบการณ์ในด้านนี้ก็บอกว่าไม่ยากเท่าไหร่แต่คนที่เริ่มต้นทำธุรกิจใหม่ๆใจก็คงกล้าๆกลัวๆอยู่ไม่น้อยทั้งที่ความจริงปัจจุบันมีช่องทางมากมายในการดำเนินการเรื่องเหล่านี้ทั้งระบบออนไลน์ที่ทำให้เราจัดการขอใบอนุญาตต่างๆได้ง่ายขึ้น หรือถ้าไม่มีเวลาจริงๆ ก็มีหลายบริษัทที่รับจัดการในเรื่องเหล่านี้แต่ก็เท่ากับว่าเราจะต้องเสียต้นทุนเพิ่มในการจ้างบริษัทเหล่านั้นมาดำเนินการให้
ภาพจาก goo.gl/6E0IYY
ด้วยเหตุนี้ www.ThaiSMEsCenter.com จึงมีเทคนิค 8 ประการถ้าเราได้รู้ไว้รับรองว่าการขอใบอนุญาตที่เคยเป็นปัญหาจะดูง่ายลงทันทีขอแค่ทำตามกฏระเบียบที่เขากำหนดมาใช้เวลาไม่นานก็เริ่มเปิดกิจการเปิดไลน์การผลิตสินค้าเริ่มหากำไรในแบบที่ต้องการได้ทันที ลองมาดูเรื่องง่ายๆที่ว่ารู้ไว้แล้วจะทำให้เรื่องเอกสารของเราง่ายขึ้นหลายเท่าตัวทีเดียว
ภาพจาก goo.gl/UDLF6X
1.ผู้ยื่นขอใบอนุญาตต้องไปดำเนินการที่สำนักงานของ อย. ในแต่ละจังหวัดเท่านั้น
เหตุผลสำคัญที่ต้องไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเท่านั้นเนื่องจากต้องมีการชำระค่าธรรมเนียมรายปีในครั้งแรก ส่วนในปีถัดไป ทาง อย. จะมีหนังสือแจ้งไปทางผู้ประกอบการให้ชำระเงินค่าธรรมเนียมรายปี 1,000 บาท ซึ่งลูกค้าสามารถชำระผ่านธนาคารที่ อย. กำหนดไว้ได้
2.แผนผังแผนที่ภายในห้างร้าน โรงงาน หรือว่าบริษัทต้องตรงกับที่แจ้งไว้
หากเราได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบการแล้ว อาจจะถูกสุ่มตรวจสถานที่จริงในการผลิต ดังนั้นข้อมูลของการทำแผนที่และแผนผังภายในร้าน โรงงาน หรือว่าบริษัทต้องมีความชัดเจน และเป็นแบบแปลนเดียวกับที่ยื่นแสดงไว้จะได้ไม่มีปัญหาในการแก้แบบหรือปรับแต่งอีกครั้ง
ภาพจาก goo.gl/4gcgtw
3.สินค้าแบบซื้อมาแล้วแบ่งบรรจุเอง จดแจ้งในฐานะผู้แบ่งบรรจุอย่างเดียวได้
บางธุรกิจไม่ได้เป็นผู้ผลิตโดยตรงเพียงแต่รับสินค้าแล้วมาบรรจุจำหน่ายต่อในกรณีนี้ เพียงจดแจ้งว่าเป็นผู้แบ่งบรรจุ โดยสามารถระบุที่ข้างฉลากโดยผู้จำหน่ายจะระบุหรือไม่ระบุก็ได้ เพราะ อย. ไม่ได้บังคับ อย่างไรก็ตามเราสามารถระบุผู้ผลิตต้นทางคือโรงงานและสามารถลิ้งค์ข้อมูลถึงคนบรรจุผลิตภัณฑ์ เพื่อให้การตรวจสอบย้อนกลับนั้นมีประสิทธิภาพ
4.ต้องนำเลขที่ได้จากใบรับแจ้งระบุบนฉลากให้ชัดเจน
หลังจากที่ได้รับเลขที่ใบรับแจ้งเรียบร้อยแล้ว เราต้องนำเลขที่ใบรับแจ้งระบุบนฉลากพร้อมทั้งมีรายละเอียดฉลากครบถ้วนตามกฏเกณฑ์ของ อย. เพราะสินค้าเรานั้นได้เข้าระบบทะเบียนของ อย. เรียบร้อยแล้ว กรณีที่เราไม่ดำเนินการตามกฏเกณฑ์ ทาง อย. มีสิทธิ์เพิกถอนทะเบียนจดแจ้งสินค้าและผู้ประกอบการได้
ภาพจาก goo.gl/EIMXzi
5.การแบ่งสินค้าไปบรรจุเองต้องระมัดระวังให้ดีเพราะอาจโดนเพิกถอนใบอนุญาตได้
ต่อเนื่องจากข้อที่ 3 สักเล็กน้อยนั้นคือการที่มีลูกค้ามานำสินค้าที่ได้รับการจดทะเบียนไปแบ่งบรรจุเองนั้น ควรกำชับให้ลูกค้าของเราแบ่งบรรจุตามเกณฑ์ที่กำหนดรวมถึงต้องมีแหล่งบรรจุ และแพคเกจที่สะอาดรวมถึงปริมาณในการบรรจุต้องตามที่กำหนดไว้ เพราะถ้ามีการร้องเรียนจากผู้บริโภคเกิดขึ้น อาจถูกเพิกถอนทะเบียนจดแจ้งและผู้ประกอบการได้
6.ตรวจสอบข้อมูลความถูกต้องที่เว็บไซต์ของ อย.เท่านั้น
เพื่อป้องกันการถูกหลอกลวงจากผู้ไม่หวังดีซึ่งใช้ช่องทางหาเงินจากผู้ประกอบการที่ไม่มีความรู้ในเรื่องการขออนุญาตหลายครั้งที่สูญเสียเงินโดยไม่จำเป็น ดังนั้นหาเราต้องการตรวจสอบข้อมูลในส่วนของผู้ประกอบการ สามารถทำได้ผ่านทางเว็บไซต์ของ อย. คือ http://www.fda.moph.go.th
ภาพจาก fda.moph.go.th
7.ตรวจสอบข้อมูลเฉพาะด้านเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง
ทั้งนี้ในเว็บไซต์ของ อย. นั้นมีการแบ่งการใช้งานให้ผู้เข้ามาติดต่อสามารถเลือกรับข้อมูลได้ตามประเภทที่ตนเลือกจดแจ้งไว้ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอาหาร ยาและเวชภัณฑ์ เครื่องสำอาง ซึ่งเราสามารถเข้าไปดูรายละเอียดแบบเฉพาะส่วนที่เราขอไว้เช่นในกลุ่มอาหารก็เข้าไปที่ www.fda.moph.go.th/sites/food/Pages/Main.aspx ก็จะช่วยให้เราได้รับข้อมูลที่รวดเร็วมากยิ่งขึ้น
8.เลขมาตรฐานเป็นของสินค้าชนิดนั้นๆใช้รวมกับสินค้าอื่นไม่ได้
ทั้งนี้ข้อมูลแสดงความเป็นมาตรฐานของ อย. นั้นกำหนดเป็นเฉพาะตัวสินค้าแต่ละชนิดไม่ได้หมายรวมถึงสินค้าทุกชนิดที่ผู้ประกอบการผลิตขึ้นมานั้นหมายความว่าการจดแจ้งเป็นผู้ประกอบการ 1 ครั้งแต่ถ้าผลิตสินค้าออกมา 2 ชนิดก็ต้องแจ้งของเลข อย. ทั้งสองครั้งไม่ใช่ทำแค่ครั้งแรกกับสินค้าตัวแรกแล้วใช้ร่วมกับสินค้าตัวอื่นได้ทั้งหมด
ทั้งนี้หากฝ่าฝืนสินค้านั้นจะกลายเป็นสินค้าปลอมซึ่งถ้าถูกตรวจพบ ทาง อย. สามารถเพิกถอนเลขที่ใบรับแจ้งและยกเลิกใบทะเบียนผู้ประกอบการรวมถึงอาจได้รับโทษตามที่กฏหมายกำหนดไว้อีกด้วย
ข้อมูลเหล่านี้คงพอจะมีประโยชน์ให้กับผู้ที่จะเริ่มต้นการทำธุรกิจได้เป็นอย่างดี หลายเรื่องไม่ใช่ของแปลกใหม่และไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ยากเพียงแต่เราต้องเข้าใจและปฏิบัติตามกฏที่เขากำหนดมา
ซึ่งภาครัฐเองก็พยายามส่งเสริมให้ธุรกิจ SMEs ในประเทศไทยเติบโต ดังนั้นทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงพร้อมให้ความรู้และแนะนำในสิ่งที่เราไม่เข้าใจขอเพียงอย่ากลัวเดินหน้าเข้าหาปรึกษาภาครัฐในบางกรณีเท่านี้ธุรกิจของเราก็สามารถเริ่มต้นได้อย่างสดใสมากขึ้น