8 เคล็ดลับธุรกิจแฟรนไชส์ไทย ก้าวข้ามไวรัส “โควิด-19”
การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส “โควิด-19” ถือเป็นปัญหาและวิกฤติของโลก เพราะได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของโลกอย่างเห็นได้ชัด ธุรกิจต่างๆ ต้องหยุดชะงัก บางธุรกิจต้องปิดกิจการ โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม สายการบิน ห้างสรรพสินค้า ซึ่งร้านค้าต่างๆ ที่อยู่ตามแหล่งท่องเที่ยว และห้างสรรพสินค้า จะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ร้านค้าที่อยู่ในห้างสรรพสินค้ามียอดขายลดลงถึง 20-50% จำเป็นต้องขอให้ห้างสรรพสินค้าลดค่าเช่าลงในช่วงวิกฤติ
วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com อยากจะให้ผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัส “โควิด-19” ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ SMEs หรือแฟรนไชส์ ให้มองวิกฤติครั้งนี้แล้วก้าวผ่านวิกฤติไปให้ได้ พลิกวิกฤติเป็นโอกาส ซึ่งสามารถนำแนวทางข้างล่างไปปรับใช้กับธุรกิจให้ก้าวผ่านวิกฤติ “โควิด-19” ไปให้ได้ครับ
1.รักษายอดขาย
ในช่วงวิกฤติ “โควิด-19” หลายๆ ธุรกิจอาจได้รับผลกระทบจากยอดขายลดลง เนื่องจากร้านค้าอยู่บนห้างสรรพสินค้า ที่ลูกค้าไม่อยากไปเดินเพราะกลัวติดโรค เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ประกอบการควรจะหาวิธีที่จะรักษายอดขายให้ได้ อาจจะลดลงบ้าง แต่อย่าให้ลดลงมาก ควรหาช่องทางอื่นๆ ในการนำเสนอสินค้าให้กับลูกค้าให้ได้ หรือ อาจใช้วิธีขายผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น
2.รักษาตลาดให้แน่น
แม้ว่าจะขายของไม่ค่อยได้ในช่วงนี้ ผู้ประกอบการควรที่จะรักษาตลาดและฐานกลุ่มลูกค้าเอาไว้ให้แน่นที่สุด เพราะเป็นฐานรายได้ที่สำคัญของธุรกิจ ไม่ว่าอย่างไรก็แล้วแต่ คุณต้องพยายามรักษาลูกค้าเก่าให้อยู่กับคุณให้ได้ ลดราคาบ้าง แม้จะทำให้คุณขาดทุนกำไรไปมาก หรือ น้อย
แต่ก็ทำให้คุณพอมีทุนที่จะจุนเจอธุรกิจต่อไปได้ อย่าให้ลูกค้าเก่า ผละหนีไป เพราะเหตุผลทางด้านการเงิน หรือบริการ จงช่วยให้เขาอยู่ได้ จงช่วยให้เขาใช้สินค้าได้ในวันที่เขาก็รู้ว่าคุณก็ลำบาก และคุณก็รู้ว่าเขาก็ลำบากเช่นกัน
3.มุ่งหากลุ่มลูกค้าใหม่
แม้จะลำบากก็คงต้องทำตลาดต่างจังหวัด ตลาดต่างประเทศ ลองขยับขยาย วิ่งงานให้มากขึ้น ติดต่อให้มากขึ้น แม้ทุกคนจะต้องประหยัดเหมือนกัน แต่เชื่อว่ายังมีการจับจ่ายใช้สอย คนยังต้องกิน ต้องใช้ ยังมีความจำเป็นที่จะต้องเกิดการแลกเปลี่ยนสินค้า เงินตรา ลูกค้าใหม่ คือ รายได้ที่จะมาเป็นกำลังใจให้กับคุณได้พยายามกันต่อไป ตลาดใหม่ เช่น ตลาดออนไลน์ คุณลองส่งออกไปขายต่างประเทศผ่านเว็บไซต์ เช่น amazon ,ebay หรือ alibaba เป็นต้น
4.ขอลดค่าเช่าพื้นที่
เป็นวิธีที่จะช่วยให้ธุรกิจหรือร้านค้าของคุณอยู่ต่อไปได้ ต้องชี้แจงให้เจ้าของสรรพสินค้ารู้ว่า ลูกค้าไม่มีมาเดินห้างสรรพสินค้าเลย ทำให้ขายของไม่ได้ ก็ไม่มีเงินไปจ่ายค่าเช่า ซึ่งหลายๆ ห้างสรรพสินค้าต่างก็ให้ความช่วยเหลือร้านค้าที่เช่าพื้นที่ในห้างอยู่แล้ว เพราะร้านค้าเหล่านี้ถือเป็นลูกค้าของเขาเช่นกัน ดังนั้น ผู้ประกอบการควรไปพูดคุยนำเสนอปัญหาเพื่อขอลดค่าเช่าลง
5.Focus จุดแข็งของตัวเอง
ทำเฉพาะสิ่งที่บริษัทหรือร้านทำได้ดีที่สุด การทำธุรกิจหลายประเภทที่ไม่เอื้อประโยชน์ต่อกัน ก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายที่สูง ในสภาวะปัจจุบันหลายธุรกิจมียอดขายลดลง กำไรน้อยหรือขาดทุนอยู่ นักธุรกิจจึงจำเป็นต้องลดขนาดของธุรกิจ และเลือกทำเฉพาะธุรกิจที่บริษัททำได้ดีที่สุด โดยพิจารณาถึงความถนัด ความสามารถในการแข่งขันและแนวโน้มของธุรกิจในอนาคตเป็นหลัก
6.มองวิกฤติให้เป็นโอกาส
ในช่วงวิกฤติ “โควิด-19” แสดงให้เห็นถึงทฤษฎีวงจรธุรกิจว่ามีขึ้นมีลง การทำธุรกิจต้องระมัดระวัง สอนให้เข้าใจถึงคุณค่าของความประหยัดและที่สำคัญสอนให้เรารู้จักมองวิกฤติให้เป็นโอกาส การมองวิกฤติให้เป็นโอกาส คือ การมองหาข้อดีในปัญหาที่เกิดขึ้น และใช้ข้อดีนั้นมาช่วยสร้างโอกาสของธุรกิจอีกครั้ง
เช่น ยอดขายลดลง ลูกค้าหายไป จะทำให้ค้นพบช่องทางการตลาดใหม่ๆ ที่จะเข้าถึงลูกค้าได้ง่ายขึ้น ถ้าคุณเป็นร้านอาหารที่อร่อย ลูกค้าติด คุณต้องมองว่าลูกค้าหายไปเพราะอะไร คุณอาจจะจัดส่งอาหารถึงมือลูกค้าเลยก็ได้
7.ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น
การประหยัดและการลดค่าใช้จ่ายมีความสำคัญต่อการอยู่รอดของธุรกิจ ในยุคที่ยอดขายธุรกิจลดลงแต่ต้นทุนของธุรกิจ (ดอกเบี้ย) สูงขึ้น การประหยัดและลดค่าใช้จ่าย จึงเป็นสิ่งที่ผู้บริหารและพนักงานควรร่วมมือร่วมใจดำเนินการ แต่ต้องไม่กระทบต่อคุณภาพของสินค้าหรือบริการและความสามารถในการแข่งขันทางการตลาด
8.เดลิเวอรี่ จัดส่งถึงที่
สมมติว่าถ้าหากร้านของคุณเปิดในห้างสรรสินค้า ที่ไม่มีคนไปใช้บริการ วิธีที่จะอยู่รอดในช่วงวิกฤติ “โควิด-19” ก็คือ จับมือกับพันธมิตรจัดส่งสินค้าถึงที่ หรือเดลิเวอรี่ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่มากมายหลายแบรนด์ และกำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ทั้งผู้ขายและผู้ซื้อ จากแต่ก่อนร้านของคุณเปิดขายหน้าร้านอย่างเดียว ก็ลองปรับมาเป็นจัดส่งสินค้าให้ถึงมือลูกค้าดูครับ
ในช่วงวิกฤติ “โควิด-19” ธุรกิจต่างๆ มีเป้าหมายเพื่อความอยู่รอดเป็นหลัก ซึ่งเป็นเป้าหมายระยะสั้น แต่ผู้ประกอบการต้องศึกษาแนวโน้มของตลาดในอนาคต และสร้างเป้าหมายระยะยาวด้วย มองวิกฤติเป็นโอกาส แล้วก้าวข้ามไปให้ได้ และทำทันที
คุณผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจแฟรนไชส์และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise
ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ www.thaifranchisecenter.com/document
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter
Franchise Tips
- รักษายอดขาย
- รักษาตลาดให้แน่น
- มุ่งหากลุ่มลูกค้าใหม่
- ขอลดค่าเช่าพื้นที่
- Focus จุดแข็งของตัวเอง
- มองวิกฤติให้เป็นโอกาส
- ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น
- เดลิเวอรี่ จัดส่งถึงที่
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/2ILoH09