8 เทคนิค ตั้งชื่อร้านกาแฟ แม้เห็นก็จำได้ทันที
8 เทคนิค ตั้งชื่อร้านกาแฟ แม้เห็นก็จำได้ทันที ร้านกาแฟยังเป็นการลงทุนที่ฮิตทุกสมัย ปี 2561 มีร้านกาแฟประมาณ 8,025 ร้าน และเพิ่มจำนวนมากขึ้นในปี 2562 -2563 โดยมูลค่าตลาดกาแฟในปี 2563 อยู่ที่ 60,000 ล้านบาท
โดยคนไทยบริโภคกาแฟเฉลี่ย 300 แก้ว/คน/ปี แต่ใช่ว่าทุกคนที่เปิดร้านกาแฟจะประสบความสำเร็จและมีกำไรได้ง่ายๆ ทุกอย่างต้องมีเทคนิค โดยเฉพาะการบริหาร การจัดการต้นทุนร้าน
เหนือสิ่งอื่นใดที่ www.ThaiSMEsCenter.com มองว่าเป็นด่านแรกในการเรียกลูกค้าเข้าร้านคือ “ชื่อ” ซึ่ง ตั้งชื่อร้านกาแฟ ไม่ได้มีกฎตายตัว แต่ก็มีเคล็ดลับน่าสนใจที่คนอยากเปิดร้านกาแฟควรรู้ไว้เพื่อจะได้ตั้งชื่อให้คนเห็นจดจำได้ทันที
หลักการตั้งชื่อร้านกาแฟ
1. เน้นอ่านง่าย เข้าใจได้ทันที
ภาพจาก freepik
สิ่งแรกที่ควรคำนึงถึงก็คือชื่อนั้นๆควรเป็นชื่อที่คนทั่วไปอ่านเข้าใจได้ง่าย ไม่ใช่ชื่อภาษาต่างประเทศแบบแปลกจนเกินไปรวมถึงชื่อร้านกาแฟ ไม่ควรจะยาวมากนัก สัก 3-4 พยางค์ ก็ถือว่าเยอะแล้ว ให้ตั้งชื่อร้านกาแฟเก๋ๆแบบสั้นๆ กระชับ สะกดง่ายและจำได้ง่าย ดีกว่าชื่อที่อาจจะทำให้ลูกค้าสับสนจนบางทีก็หงุดหงิดเลือกไม่มาใช้บริการดีกว่า
2. ไม่ตั้งชื่อเลียนแบบ
ภาพจาก facebook.com/WaakCafeandBistro
ควรหลีกเลี่ยงการตั้งชื่อเหมือนหรือคล้ายกับร้านอื่น เพราะร้านกาแฟในประเทศไทยมีอยู่ทั่วทุกหัวมุม ดังนั้นชื่อร้านก็มักจะใช้คำเหมือนๆกันอยู่ไม่กี่คำ เช่น Coffee, Cup, Café, เป็นต้น ซึ่งสามารถนำมาผสมกับคำอื่นได้หากต้องการจะใช้จริงๆ
3. อย่าให้ชื่อเรียบง่ายเกินไป
ภาพจาก facebook.com/pordekdai
หากร้านกาแฟของเราไม่ได้เป็นร้านใหญ่ๆที่คนจะจดจำได้ง่ายอยู่แล้ว ก็ไม่ควรใช้ชื่อที่ดูเรียบไปนัก ขอยกตัวอย่างชื่อง่ายๆที่ไม่ควรใช้ เช่น “Latte” “Mocha” “The Coffee” “Cup” หรือแม้แต่คำง่ายๆเกี่ยวกับกาแฟที่นำมาผสมกัน เพราะแม้บางคำอาจจะฟังดูดี แต่เพราะเป็นคำที่ง่ายเกินไป ร้านไหนก็มีคำๆนั้นอยู่ในชื่อก็คงยากถ้าจะทำให้ลูกค้าจดจำร้านของคุณได้ ยิ่งในยุคที่มีคู่แข่งมากต้องคิดชื่อให้เด่นกว่าคู่แข่ง
4. ตั้งชื่อร้านตามอารมณ์และความรู้สึก
ภาพจาก facebook.com/PakronKohlarn
ซึ่งจะเป็นการสร้างคอนเซ็ปท์ให้ร้านที่จะนำเสนอออกมาในลักษณะไหน โดยผ่านคำที่สื่อถึงอารมณ์ ความรู้สึก ความทรงจำ เช่น Café of Love, Sweet Coffee, Coffee for you เป็นต้น และจะทำให้ลูกค้ารู้สึกถึงบรรยากาศผ่านชื่อร้าน ก็เป็นตัวดึงดูดลูกค้าที่ดีได้ทางหนึ่ง
5. ตั้งชื่อร้านเน้นที่คอนเซปต์
ภาพจาก facebook.com/ReviewChiangrai
แน่นอนว่าร้านกาแฟก็ต้องขายกาแฟ แต่เราสามารถนำแหล่งที่มาของวัตถุดิบ หรือ Story มาตั้งชื่อร้านให้ดูแปลกใหม่ได้ ถือเป็นการเชื่อมโยงเรื่องราวหรือประสบการณ์เข้ากับร้านกาแฟ เพื่อเล่าเรื่องและส่งต่อเรื่องราวให้ลูกค้าได้ทราบ หรืออาจใช้คำที่บ่งชี้ความพิเศษของร้านเช่นเน้นเรื่องสุขภาพ โดยอาจใช้คำว่า organic, good life, green เป็นส่วนหนึ่งในชื่อร้าน หรือหากต้องการให้ร้านเป็นเหมือนที่รวมของเพื่อน พบปะสังสรรค์อาจใช้คำว่า speak, friend, junction, cross, play เป็นส่วนหนึ่งในการตั้งชื่อร้านได้
6. ตั้งชื่อโดยใช้ Storytelling
ภาพจาก facebook.com/Reddiamondthailand
Storytelling คือการเล่าเรื่องยกจุดเด่นของร้านที่แตกต่างจากคู่แข่งมาเป็นจุดขาย เช่น ร้าน Red Diamond ที่ให้ความสำคัญกับเมล็ดกาแฟดิบที่ยังไม่ได้คั่ว และเปรียบมันเหมือนกับว่าเป็น “เพชรสีแดง” เพราะเมล็ดกาแฟสีแดงนี่แหละคือหัวใจสำคัญของการผลิตกาแฟ ซึ่งการตั้งชื่อแบบนี้จะให้ร้านดูจริงจังและน่าเชื่อถือในเรื่องคุณภาพกาแฟที่ดึงดูดลูกค้าให้อยากเข้ามาใช้บริการได้มากขึ้น
7. ชื่อร้านที่สามารถตั้งเป็นชื่อเว็บไซต์ เพจโซเชียลมีเดียได้ง่าย
ภาพจาก facebook.com/samateacafemedpark
ปัจจุบันนี้การขายของใน Social Media และอินเทอร์เน็ตนั้นมีสัดส่วนการตลาดที่สูงมาก ยิ่งในยุคบริการเดลิเวอรี่กำลังเป็นที่นิยม การนำร้านเข้าร่วมกับแอพบริการเหล่านี้คือหนทางเพิ่มยอดขายได้อย่างดี ซึ่งแน่นอนว่าชื่อร้านของเราก็สำคัญจึงควรให้เป็นชื่อที่คนทั่วไปค้นหาได้ง่าย ยิ่งทำให้ติดคำค้นหาได้จะยิ่งดี คนที่ต้องการสินค้าเดลิเวอรี่จะได้เห็นร้านเราในโซเชี่ยลได้ง่ายขึ้น
8. ตั้งชื่อแบบแหวกแนว แต่จำง่าย
ภาพจาก bit.ly/2RWOnPc
บางครั้งการตั้งชื่อร้านกาแฟก็ควรฉีกแนวออกไปจากกรอบเดิม จะตั้งชื่อที่คล้ายกันคนก็ไม่สนใจ จึงขึ้นอยู่กับไอเดียเจ้าของร้านว่าจะครีเอทชื่อร้านได้แหวกแนวแค่ไหน แต่ต้องเน้นให้จำง่าย ไม่ต้องมีหลายพยางค์มากเกินไป ควรแฝงความหมายให้ชวนสงสัยว่าใช่ร้านกาแฟหรือเปล่า หรือเห็นชื่อร้านแล้วอยากรู้ว่าในร้านจะเป็นยังไง การตั้งชื่อร้านในลักษณะนี้ เช่น ร้านห้องแห่งความลับ , ร้านแก้วกาแฟพิสดาร , ร้านแก้วโปรด , บ้านกาแฟในสวน , ริมทางกาแฟ เป็นต้น
นอกจากชื่อร้านการสร้างโลโก้ร้านกาแฟก็เป็นอีกสิ่งที่สำคัญ หลักการออกแบบโลโก้ที่ดีควรเชื่อมโยงกับชื่อร้าน โดยโลโก้ที่ดีจะต้องอ่านง่าย สบายตา รู้สึกได้ผ่อนคลาย และที่สำคัญตรงตามคอนเซ็ปท์ของร้าน ไม่จำเป็นต้องสร้างโลโก้ให้อลังการ เพียงแค่เน้นตัวหนังสือให้ดูสะอาดตา เด่นชัด อยู่ในตำแหน่งที่พอดี และควรใช้ตัวอักษรที่ผ่อนคลายไม่แข็งทื่อ และควรเลือกโทนสีเย็นตาเพื่อกระตุ้นอารมณ์ลูกค้าได้มากขึ้นด้วย
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจ แฟรนไชส์ และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise
ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/3corFV2
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter
ขอบคุณข้อมูล https://bit.ly/3enaLtz , https://bit.ly/3eUrSSJ , https://bit.ly/3h6oTZV , https://bit.ly/3twoLG1
อ้างอิงจาก https://bit.ly/3ynFsXQ