7 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ Tencent ยักษ์ใหญ่ไอทีเมืองจีนที่ใหญ่กว่า Alibaba

พูดถึง ธุรกิจไอที ของประเทศจีนมีความก้าวล้ำที่ไม่แพ้ชาติใดในโลกรวมถึงคาดหมายว่านี่คือประเทศน่าจับตามองที่อาจก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในธุรกิจออนไลน์และไอทีได้ในอนาคต โดย Tencent, Alibaba และ Baidu เป็น 3 ยักษ์ใหญ่ของวงการอินเทอร์เน็ตจีน

ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวกันมาตั้งแต่สมัยดอตคอมบูมในทศวรรษ 2000s ทั้งสามบริษัทต่างขยายไลน์ผลิตภัณฑ์ออกไปมากมาย และลงทุนในสตาร์ตอัพจีนรุ่นหลังเป็นจำนวนนับไม่ถ้วน จนถูกเรียกในชื่อย่อว่า B.A.T. (Baidu-Alibaba-Tencent)

โดยเฉพาะ Tencent กับ Alibaba ก็ผลักกันครองตำแหน่ง “บริษัทเทคโนโลยี” ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในเอเชียมาโดยตลอด ในบางจังหวะราคาหุ้นของ Tencent ก็ทำได้เหนือกว่า Alibaba จนกลายเป็นศึกยักษ์ชนยักษ์ที่สมศักดิ์ศรีในการแข่งขันซึ่ง www.ThaiSMEsCenter.com มีข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับ Tencent ที่ใครหลายคนอาจยังไม่รู้จักมากนัก

1.Tencent เริ่มต้นจาก QQ

ธุรกิจไอที

ภาพจาก goo.gl/TQOvld , goo.gl/if35qD

Tencent ก่อตั้งเมื่อปี 1998 หรือเกือบ 20 ปีมาแล้ว โดยทีมผู้ก่อตั้งเป็นคนจีนล้วน และมีฐานที่มั่นอยู่ในเสิ่นเจิ้น ในช่วงแรก Tencent เป็นเว็บสำหรับคนจีน ก่อนจะมีผลิตภัณฑ์ตัวแรกที่สร้างชื่อให้กับบริษัทคือโปรแกรมแชท QQ ซึ่งนำแนวคิดมาจาก ICQ ในยุคสมัยนั้น ช่วงแรก Tencent ประสบปัญหาไม่ทำกำไร และต้องขายหุ้น 46% ให้กับบริษัท Naspers จากแอฟริกาใต้

ซึ่งเป็นบริษัทเดียวกันกับที่มาซื้อกิจการ Sanook.com ของบ้านเราเมื่อหลายปีก่อน และปัจจุบัน Naspers ก็ยังถือหุ้นปริมาณมากพอสมควรใน Tencent ยุคแรกของ Tencent หารายได้จาก QQ โดยเปิดบริการ QQ ให้ใช้ฟรีแบบมีโฆษณา และมีบริการแบบพรีเมียมสำหรับสมาชิกที่จ่ายเงินรายเดือน จากนั้นบริษัทเข้าขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงมาตั้งแต่ปี 2004

2.เริ่มขยายธุรกิจมาเป็นเกมออนไลน์

y3

ภาพจาก goo.gl/wRGpYi

ภายหลัง Tencent ขยายธุรกิจจาก QQ มายังเกมออนไลน์ และมีโมเดลทำเงินจากการขายสินค้าภายในเกม ปัจจุบัน Tencent ถือเป็นผู้ให้บริการเกมออนไลน์รายใหญ่ของประเทศจีน ในอดีต Tencent ใช้วิธีซื้อไลเซนส์เกมจากบริษัทต่างๆ ทั้งในญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ มาให้บริการกับผู้เล่นคนจีน

แต่ภายหลังเมื่อธุรกิจเติบโต Tencent ก็หันมาสร้างเกมเอง และเข้าไปลงทุนในบริษัทเกมต่างประเทศหลายราย ได้แก่ Riot Games บริษัทเกมจากสหรัฐ เจ้าของเกม League of Legends , Epic Games ผู้ผลิตเกมพีซีชื่อดังของสหรัฐอเมริกา ,Supercell ผู้ผลิตเกมมือถือจากฟินแลนด์ เจ้าของเกม Clash of Clans และ Clash Royale , CJ Games บริษัทเกมแถวหน้าของประเทศเกาหลีใต้ที่Tencent ซื้อหุ้นมาประมาณ 28% ในปี 2014

3.นำธุรกิจเข้าสู่ยุคมือถือด้วย WeChat/Weixin

j3

ภาพจาก goo.gl/juscWG

ผลงานที่โดดเด่นมากของ Tencent ในยุคหลังคือแอพแชท Weixin หรือที่รู้จักในบ้านเราและนอกประเทศจีนว่า WeChat ตำนานการกำเนิดของ WeChat เป็นที่น่าจดจำ เพราะ Tencent มีแอพแชทที่มีคนใช้จำนวนมหาศาลอย่าง QQ บนพีซีอยู่แล้ว

แต่บริษัทกลับมองการณ์ไกลว่าโลกของสมาร์ทโฟนกำลังจะมา จึงให้ทีมงานกลุ่มหนึ่งภายในบริษัท พัฒนาแอพแชทตัวใหม่ขึ้นมาแข่งกันเอง ซึ่งผลก็ออกมาเป็น WeChat ปัจจุบัน WeChat มีผู้ใช้มากกว่า 800 ล้านคน และเริ่มขยายตลาดออกมานอกประเทศจีนแล้ว ถึงแม้ในไทยจะยังสู้ LINE ไม่ได้ แต่ในหลายประเทศก็ได้รับความนิยมมาก โดยเฉพาะในยุโรปและเอเชีย

ซึ่งแพลตฟอร์มของ Weixin ในจีน ไม่ได้มีแต่แอพแชทเพียงอย่างเดียว แต่ Weixin ยังเป็นต้นแบบของการผนวกเอาบริการต่างๆ มาอยู่บนแอพแชท ไม่ว่าจะเป็นบริการโอนเงินออนไลน์ เรียกรถแท็กซี่ สั่งอาหาร ซื้อสินค้าอีคอมเมิร์ซ ฯลฯ ปัจจุบันทั้ง Weixin และ QQ มีฐานผู้ใช้งานจำนวนมากส่งผลให้ Tencent ขยายตลาดมาทำ FinTech เกี่ยวกับการจ่ายเงินผ่านแอพมือถือ ถึงแม้ปัจจุบันยังเป็นเบอร์สองของจีน แต่ก็เป็นรองแค่ Alipay ของ Alibaba เพียงแค่รายเดียวเท่านั้น

4.ลงทุนในบริษัทจำนวนมากทั้งในประเทศและต่างประเทศ

y4

ภาพจาก goo.gl/KjWWkx

Tencent ใช้เงินทุนจำนวนมากที่เกิดจากรายได้หลักของตัวเอง ไล่ลงทุนในบริษัทจำนวนมากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ Tencent ไม่มีแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของตัวเอง จึงไปลงทุนในบริษัท JD.com ซึ่งเป็นเบอร์สองรองจาก Alibaba ปัจจุบันมีหุ้นประมาณ 15%

อีกตัวอย่างหนึ่งคือแอพเรียกแท็กซี่ Didi Dache ที่ Tencent ก็ไปลงหุ้นในช่วงแรกๆ ปัจจุบันควบรวมกับคู่แข่งเป็น Didi Chuxing และสามารถเอาชนะ Uber ในจีนได้ นอกจากนี้ยังมี Meituan.com สตาร์ตอัพขายดีลแบบเดียวกับ Groupon ที่เพิ่งระดมทุนเข้าตลาดหลักทรัพย์ และTencent ยังไปลงทุนในธุรกิจอื่นๆ ที่ไม่ใช่ไอที อย่างอสังหาริมทรัพย์ สุขภาพ ฯลฯ

รวมถึงเซ็นสัญญาเป็นพาร์ทเนอร์กับบริษัทสื่ออเมริกันอย่าง HBO, NBA, Warner Bros. เพื่อเป็นผู้จัดจำหน่ายแต่เพียงรายเดียวในประเทศจีนอีกด้วย เรียกว่านอกจากสื่อดิจิทัลที่เป็นเกมแล้ว Tencent ยังพยายามจะกินรวบตลาดจีนให้หมด ทั้งเนื้อหาวิดีโอ เพลง กีฬา อีบุ๊ก ฯลฯ

5.รายได้ของ Tencent สูงกว่า 7 แสนล้านบาทต่อปี

j4

ภาพจาก goo.gl/gtGlDs

รายได้ของ Tencent สูงถึงปีละหลักแสนล้านหยวน โดยในปี 2016 บริษัทมีรายได้รวม 138.5 พันล้านหยวน หรือประมาณ 7 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งรายได้ส่วนใหญ่ยังมาจากสองธุรกิจหลักคือโซเชียล และเกมพร้อมกันนี้สถานะทางธุรกิจของ Tencent ยังถือว่าร่ำรวยมหาศาล บริษัทมีกระแสเงินสดในมือ 5.4 หมื่นล้านหยวน และยังมีรายได้ต่อปีเติบโตด้วยอัตรา 52% ในไตรมาสล่าสุด ถือเป็นสถานะการเงินที่บริษัททั่วโลกต่างก็ใฝ่ฝันถึง

สิ่งที่เป็นจุดเด่นของ Tencent คือฐานลูกค้าคนจีนที่ใช้ QQ, WeChat และบริการอื่นๆ ของบริษัท ตั้งแต่ตื่นเช้าจนนอนหลับ ทุกอย่างอยู่บนแพลตฟอร์มของ Tencent หมด และบริษัทกำลังเริ่มมองหาวิธีสร้างรายได้จากทุกช่องทางเท่าที่เป็นไปได้ นั่นแปลว่า Tencent ยังมีโอกาสเติบโตในเรื่องรายได้ขึ้นอีกมาก และล่าสุด Tencent เพิ่งประกาศจับมือกับ Starbucks ในจีน เพื่อให้จ่ายเงินค่ากาแฟด้วย WeChat ได้ และการออกนอกสหรัฐอเมริกา ก็เพิ่งมีข่าวว่าคาสิโน Ceasars Palace ในลาสเวกัส ก็รองรับการจ่ายเงินด้วย WeChat เช่นกัน

6. Ma Huateng ผู้บริหารคนเก่งของ Tencent

j5

ภาพจาก goo.gl/zpiw9a

Ma Huateng หรือในชื่อภาษาอังกฤษ Pony Ma คือผู้ก่อตั้งอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ของโลกไอทีจีนปัจจุบัน Pony Ma มีอายุ 45 ปี เขาจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเสิ่นเจิ้น ในสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์

และทำงานเป็นวิศวกรซอฟต์แวร์ ก่อนจะเริ่มกิจการ Tencent ในปี 1998 ร่วมกับเพื่อนร่วมชั้นอีก 4 คน ซึ่งตอนนั้นเขามีอายุเพียง 27 ปี ปัจจุบัน Pony Ma เป็นมหาเศรษฐีอันดับ 46 ของโลกตามการจัดอันดับของ Forbes ในปี 2016

7. Tencent เข้ามาทำตลาดเต็มตัวเมืองไทยในปี 2017

j6

ภาพจาก goo.gl/5LjwXK

Tencent เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยนานพอสมควรแล้ว เริ่มจากการเข้ามาซื้อหุ้นบางส่วนของ Sanook.com ก่อนจะซื้อหุ้นทั้งหมดในเวลาต่อมาที่ผ่านมา Tencent เลือกทำตลาดในชื่อแบรนด์ Sanook นำหน้า และมีผลิตภัณฑ์ที่เข้าทำตลาดประเทศไทยอย่าง WeChat และ Joox ซึ่งตัวหลังก็ประสบความสำเร็จไม่น้อยในหมู่คนฟังเพลงออนไลน์รุ่นใหม่

ล่าสุด Tencent ตัดสินใจรุกตลาดไทยเต็มตัวด้วยการเปลี่ยนชื่อบริษัทจาก Sanook มาเป็น Tencent Thailand ซึ่งคาดว่าจะเป็นการรุกตลาดออนไลน์ในประเทศไทยให้คึกคักได้อีกมากทีเดียว

จะเห็นได้ว่าการแข่งขันของธุรกิจโลกยุคไอทีผลดีประการหนึ่งคือผู้บริโภคได้มีโอกาสใช้นวัตกรรมใหม่ๆที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อนรวมถึงมีโอกาสในการได้ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆที่ดูจะก้าวล้ำและมีความเป็นโลกอนาคตมากขึ้น

แต่อย่างไรก็ตามในแง่ของการทำธุรกิจแล้วหากเมินเฉยเรื่องเทคโนโลยีเหล่านี้และไม่บรรจุเอามาเป็นส่วนหนึ่งของการตลาดเชื่อว่าคงเป็นการเดินที่ไม่ถูกทางกับทิศทางของโลกที่กำลังก้าวไปด้านนี้มากขึ้น

สำหรับท่านใดที่ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจเรามีรวบรวมบทความมากมายไว้ให้ทุกท่านพิจารณากันตามความเหมาะสม ดูรายละเอียด goo.gl/Io5k2S

ขอบคุณข้อมูลจาก goo.gl/OJn82P

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด