7 เทคนิคเปิด ร้านข้าวต้มกุ๊ย คนฮิตติดตรึม!
ร้านอาหารเป็นอาชีพในฝันที่หลายคนมองว่ายังไงก็รายได้ดี เพราะไม่ว่าเศรษฐกิจจะแย่แค่ไหนคนเราก็ยังต้องกินทุกวัน แต่คำถามก็คือว่าร้านอาหารที่เราพูดถึงนั้นจะเลือกเปิดร้านแบบไหน บางครั้งเปิดร้านใหญ่ลงทุนเยอะแต่คู่แข่งก็มีเยอะ ลูกค้าสามารถเลือกเข้าร้านไหนก็ได้
การเปิดร้านอาหารที่ดีจึงต้องโฟกัสไปเลยว่าจะขายอาหารแบบไหน บางทีไม่ต้องเป็นร้านใหญ่แค่ ร้านข้าวต้มกุ๊ย ธรรมดาๆ ก็มีรายได้ไม่ธรรมดาได้เช่นกัน วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com จะพาทุกท่านไปรู้จักกับธุรกิจ ร้านข้าวต้มกุ๊ย ที่ชื่อฟังเหมือนเป็นนักเลงแต่รายได้นั้นดีเกินคาดนะขอบอก
ร้านข้าวต้มกุ๊ยกับร้านข้าวต้มทรงเครื่องเลือกเปิดอย่างใดอย่างหนึ่งไปเลย!
ในบรราดาร้านข้าวต้มหากแยกออกมาก็จะมีร้านข้าวต้มกุ๊ย ร้านข้าวต้มทรงเครื่อง ซึ่งทั้งสองร้านที่ว่านี้สามารถเปิดแบบโต้รุ่งได้ทั้งคู่แต่ที่แนะนำว่าหากจะเปิดร้านให้โฟกัสไปเลยว่าจะเลือกข้าวต้มกุ๊ยหรือทรงเครื่อง ข้อดีของการโฟกัสไปเลยคือจะทำให้ลูกค้าเลือกจดจำเราได้ง่ายว่าจุดเด่นคือขายอะไร ที่สำคัญต้นทุนเราก็น้อยลงเพราะเรื่องวัตถุดิบที่ใช้นั้นลดลงด้วย
7 วิธีเริ่มต้นเปิด ร้านข้าวต้มกุ๊ย
1.สำรวจทำเล
ทำเลทองของร้านข้าวต้มกุ๊ยนั้นย่อมหนีไม่พ้นบริเวณที่ผู้คนหนาแน่นเช่นย่านสถานศึกษา ย่านที่ท่องเที่ยว ย่านสถานที่ทำงานโดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องทำงานกลางคืน รวมถึงบริเวณใกล้โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ที่มีการทำโอทีกันยามดึก ทำเลที่ควรหลีกเลี่ยงคือที่ห่างไกลผู้คน หรือในจุดที่รถจอดได้ยาก
2.มีเงินสำหรับการลงทุน
ร้านข้าวต้มกุ๊ยหากเราไม่มีห้องเช่าเป็นทางการ บางครั้งก็อาศัยการขายบนรถเข็นได้แต่ความน่าเชื่อถือของลูกค้าควรหาห้องเช่าในพื้นที่น่าสนใจยิ่งถ้าได้ค่าเช่าไม่แพงก็จะยิ่งมีกำไรง่ายขึ้น อุปกรณ์เบื้องต้นสำหรับการเปิดร้านไม่มีอะไรมาก ถังแก๊ส หม้อข้าวขนาดใหญ่ โต๊ะ จาน ชาม ช้อน เบ็ดเสร็จการลงทุนอุปกรณ์ไม่รวมค่าเช่าในการเปิดร้านครั้งแรกน่าจะไม่เกิน 20,000 บาท
3.ฝึกฝีมือในการทำอาหาร
อย่าคิดว่าเป็นข้าวต้มกุ๊ยแล้วจะไม่ต้องใส่ใจเรื่องรสชาติ เราควรเรียนรู้เทคนิคการต้มข้าวให้น่ากิน บางร้านข้าวต้มมีกลิ่นหอมของใบเตย อีกทั้งเรื่องกับข้าวก็ยิ่งต้องใส่ใจเมนูหลักๆที่ควรมีในร้านคือยำปลาสลิด ยำไข่เค็ม ผัดผักบุ้ง กุ้งหวาน ไข่เจียว ฯลฯ ซึ่งลูกค้าที่มาทานแม้จะเข้ามาด้วยความหิวแต่ถ้ารสชาติไม่อร่อยไม่ดีเขาก็มาครั้งเดียวจบ
4.หาจุดเด่นให้กับร้านค้า
ในพื้นที่เดียวกันเชื่อได้ว่าเราจะไม่มีโอกาสเป็นร้านข้าวต้มเจ้าเดียวในละแวกนั้น หรือถ้าเป็นเจ้าเดียวในพื้นที่ได้ก็ถือว่าโชคดีสุดๆ แต่อย่างไรก็ดีควรหาจุดเด่นให้ร้านตัวเองเป็นที่จดจำ ที่เราเห็นได้บ่อยที่สุดคือการ โฆษณาให้ร้านดูโดดเด่นเช่น “ร้านข้าวต้มบาทเดียว” หรือร้านข้าวต้มฟรี เป็นต้น
5.บริการต้องทันใจแม้ลูกค้าจะเยอะแค่ไหนก็ตาม
ข้อบกพร่องของร้านค้าสไตล์นี้ส่วนใหญ่คือตกม้าตายในงานบริการ ลูกค้าบางคนเข้ามานั่งรอสั่งออร์เดอร์ไปนานแสนนานแต่ก็ไม่ได้กินสักที ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้ส่งผลเสียต่อร้านมาก ลูกค้าบางรายถึงกับลุกขึ้นไม่กินเลยก็มี ทางที่ดีร้านข้าวต้มควรมีพนักงานไว้คอยดูแลลูกค้า โต๊ะไหนที่ยังไม่ได้รับประทานก็ควรเข้าไปสอบถามพูดคุย รายงานความคืบหน้าให้ทราบ ก็จะช่วยให้ลูกค้าใจเย็นและเป็นผลดีกับร้านค้าด้วย
6.ทำเป็นธุรกิจครอบครัวจะดีที่สุด
ร้านข้าวต้มที่ดีควรมีพนักงานไว้คอยบริการลูกค้าอย่างทั่วถึงแต่ที่ร้านข้าวต้มส่วนใหญ่ไปไม่รอดก็เพราะค่าแรงในการจ้างงานที่ว่านี้ ดังนั้นหากคิดจะทำธุรกิจนี้ควรเป็นธุรกิจครอบครัวจะดีที่สุด พ่อทำกับข้าว แม่ ลูก หลานๆ ช่วยกันบริการลูกค้า รับออร์เดอร์ คิดเงิน ซึ่งการทำงานในระบบครอบครัวจะช่วยให้ประหยัดรายจ่ายในส่วนของค่าแรงได้มากและเป็นเทคนิคสำคัญในการอยู่รอดของร้าน
7.ขายข้าวต้มกุ๊ยเท่านั้นอย่าพ่วงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เด็ดขาด
บางร้านมีการเอาใจลูกค้าด้วยการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งมุมหนึ่งการที่ลูกค้านั่งนานขึ้นก็หมายถึงการสั่งอาหารที่มากขึ้น แต่ในอีกมุมหนึ่งเหมือนกันคือต้นทุนของเราที่ต้องเพิ่มขึ้นทั้งค่าเหล้า เบียร์ โซดา น้ำแข็ง และก็ไม่ได้การันตีว่าลูกค้าที่นั่งนานจะเช็คบิลทีละมากๆ ที่สำคัญบางครั้งลูกค้าเมาได้ทีเกิดอาละวาดก็จะส่งผลเสียต่อลูกค้าในร้านคนอื่นๆ เรียกว่าทางที่ดีขายแต่ข้าวต้มกุ๊ยอย่างเดียวจะรวยได้เร็วกว่า
นอกจากเรื่องสำคัญทั้ง 7 ประการที่ว่านี้ เรื่องของการพูดจา ยิ้มแย้มกับลูกค้า และการเลือกใช้วัตถุดิบที่ดีมีคุณภาพมาประกอบอาหารก็เป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้ ร้านข้าวต้มกุ๊ยนั้นเป็นการลงทุนที่เราต้องใจรักเพราะอาชีพนี้ต้องเปิดกลางคืนจึงจะขายดีคนทำต้องมีความอดทน อดนอน ที่สำคัญต้องใจเย็นไม่เหวี่ยงอารมณ์ใส่ลูกค้าเด็ดขาด
สำหรับท่านใดที่ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจเรามีรวบรวมบทความมากมาย ติดตามได้ที่ goo.gl/Io5k2S