7 เคล็ดลับออมเงินด้วยวิธีง่ายๆ ใช้เก่งยังไงก็เก็บเงินอยู่
หลายคนอาจจะงงว่า ในเมืองเราใช้เงินเก่ง แล้วจะสามารถ เก็บออมเงิน ให้อยู่ได้อย่างไร ยิ่งเราใช้เงินเก่งมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเก็บออมเงินได้ยากมากขึ้นเท่านั้น เชื่อว่าตอนนี้ใครหลายคนกำลังมองหาวิธีการที่จะเก็บออมเงิน แต่ก็ยังรู้สึกว่าการเก็บออมเงินทำได้ยากจัง ไม่รู้ว่าจะสามารถเก็บออมเงินให้อยู่ได้อย่างไร
วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com ขอนำเสนอ 7 เคล็ดลับการออมเงิน ด้วยวิธีง่ายๆ จากธนาคารออมสิน มาดูพร้อมๆ กันเลยว่า เราจะเก็บเงินให้อยู่ได้อย่างไร เมื่อเราใช้เงินเก่งขนาดนี้
1.เก็บก่อนใช้
สมมติถ้าเราได้เงินเดือน 15,000 ให้กันเงินไว้ 1,500 (คิดเป็น 10% จากเงินเดือน) จากนั้น เงินเหลือเท่าไหร่ ค่อยหักลบหนี้สิน และรายจ่ายคงที่ (Fixed Cost) ในแต่ละเดือน เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าโทรศัพท์
แล้วจึงเหลือเป็นค่าใช้จ่ายประจำวัน วิธีนี้อาจจะฟังดูโหดร้ายไปสักนิด แต่เชื่อเถอะว่า เราจะมีเงินเก็บที่แน่นอนในทุกๆ เดือน อย่างน้อยๆ ก็ได้เดือนละ 1,500 บาท ตกปีหนึ่งก็ได้มา 18,000 บาทแล้วนะ
2. เปิดบัญชีฝากประจำ
การฝากประจำ คือ ต้องฝากเงินในจำนวนเท่าๆ กันทุกเดือน ในระยะเวลาที่กำหนด และเงินจำนวนนี้จะไม่สามารถถอนออกก่อนกำหนดเวลาได้ ทั้งนี้ ระยะเวลาของการฝากประจำ
ก็มีทั้งแบบระยะสั้น 3 เดือน – 1 ปี และแบบระยะยาว 2-3 ปี ใครที่เป็นคนเก็บเงินไม่ค่อยอยู่ แนะนำให้ลองออมเงินด้วยวิธีนี้ดู ทั้งได้เงินออม ได้ผลตอบแทนจากดอกเบี้ย แถมยังได้ฝึกวินัยในตนเองเพิ่มอีกด้วย
3. หักบัญชีอัตโนมัติ
การตั้งหักบัญชีอัตโนมัติถือเป็นตัวช่วยด้านวินัย ให้เราสามารถชำระค่าบริการต่างๆ ได้อย่างถูกต้องและตรงต่อเวลา อย่าง ค่าผ่อนบ้าน ค่าโทรศัพท์ และค่างวดที่ฝากประจำต่างๆ
ซึ่งการที่เราสามารถชำระค่าบริการต่างๆ ได้ตรงเวลา นอกจากจะไม่โดนเรียกเก็บค่าธรรมเนียมชำระล่าช้าแล้ว ยังช่วยเสริมสร้างเครดิตและความน่าเชื่อถือให้กับตัวเราเองอีกด้วย
4. เศษเหรียญเก็บไว้หยอดกระปุก
ลองหากระปุกออมสินน่ารักๆ มาสร้างแรงบันดาลใจสักอัน คอยสำรวจกระเป๋าสตางค์ของเราว่า มีเศษเหรียญอยู่บ้างไหม ถ้ามีก็อย่ารีรอ รีบหยอดกระปุกกุ๊กกิ๊กของเราให้เต็มเร็วๆ กันดีกว่า
หรือถ้าวันไหนเกิดอยากจะให้โบนัสตัวเอง ก็ลองเพิ่มจากเศษเหรียญเป็นแบงก์ 20 บ้างก็ได้ พอกระปุกเต็มเมื่อไหร่ก็ลองแกะมานับดู เผลอๆ ได้มาอีกหลายร้อยโดยไม่รู้ตัว
5. ห้ามใช้แบงก์ 50 บาท
แบงก์ 50 ค่อนข้างจะเป็น Rare Item เพราะมันมีน้อยกว่าจำนวนแบงก์อื่นๆ ที่เราใช้กัน การที่เราจะเก็บมันไว้โดยไม่ใช้ ก็ไม่น่าจะกระทบกับชีวิตประจำวันของเรามากนัก
ดังนั้น ให้มองว่า เจ้าแบงก์สีฟ้านี้เป็นของต้องห้าม หมายถึง “ต้องห้ามนำออกมาใช้เด็ดขาด” นั่นแหละ สะสมเอาไว้หลายใบเข้า มารู้ตัวอีกที เก็บได้เกือบ 1,000 บาท ก็มี
6. ช็อปไปเท่าไหร่ ออมคืนเท่านั้น
เป็นการปรับนิสัยการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยของตัวเอง เหมือนกับการ “ยืมเงินตัวเองออกมาใช้ก่อน” แล้วคืนให้ทีหลัง หลักการเดียวกับการยืมเงินคนอื่น เพียงแต่นี่คือเงินตัวเอง ถ้าอยากซื้อสินค้ามาก ก็ซื้อได้เลย
แต่ซื้ออะไรไปเท่าไหร่ จดไว้ แล้วหามาจ่ายคืนทีหลัง แม้จะเป็นเงินตัวเองก็ห้ามอ่อนข้อ ทำให้เหมือนเราติดหนี้เพื่อน ต้องรีบใช้คืน อย่าผัดวันประกันพรุ่งเด็ดขาด
7. เงินเหลือเท่ากับออม
สมมติว่า สิ้นเดือน เรามียอดคงเหลือในบัญชีอยู่ 1,530 บาท ให้ย้ายเงินส่วนนี้ไปใส่บัญชีเงินออม อาจจะถอนออกเป็นเลขกลมๆ เช่น 1,500 บาท ไปเก็บออมไว้ พอขึ้นเดือนใหม่ เงินเดือนเข้ามาอีก 15,000 บาท + ของเก่าคงค้าง 30 บาท รวมเป็น 15,030 บาท
เพื่อใช้จ่ายในเดือนนั้นๆ แล้วเราก็กลับไปใช้เทคนิคตั้งแต่ข้อที่ 1 ไล่ลงมาใหม่ ถือเป็นการบังคับตัวเองให้ใช้จ่ายด้วยวงเงินที่จำกัดเท่าๆ กันในแต่ละเดือน และลดการใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายลงได้
ทั้งหมดเป็น 7 วิธีในการออมเงินง่ายๆ จากธนาคารออมสิน แม้ว่าเราจะใช้เก่งอยู่ แต่ก็สามารถเก็บออมเงินให้อยู่ได้ ใครที่อยากเก็บออมให้อยู่ ก็ลองนำเอาวิธีดังกล่าวข้างต้น ไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิตของตัวเองได้ รับรองมีเงินเก็บแน่นอนครับ
อ่านบทความ การเงิน SMEs อื่นๆ goo.gl/ocAuBp
Tips
- เก็บก่อนใช้
- เปิดบัญชีฝากประจำ
- หักบัญชีอัตโนมัติ
- เศษเหรียญเก็บไว้หยอดกระปุก
- ห้ามใช้แบงก์ 50 บาท
- ช็อปไปเท่าไหร่ ออมคืนเท่านั้น
- เงินเหลือเท่ากับออม