7 วิธีทำตลาดนัด แบบไม่ต้องกลัวคนเกลียด!
7 วิธีทำตลาดนัด แบบไม่ต้องกลัวคนเกลียด! เป็นประเด็นร้อนแรงเกินกว่าที่คาดคิดกับกรณี ป้าทุบรถ ถึงขนาดที่มีการติด #ทีมป้า และ #ทุบรถ ปลิวว่อนในโลกออนไลน์ ไม่นับรวมภาพตัดต่อล้อเลียน เสียดสีที่กลายเป็นกระแสเล่นเอาหวย 30 ล้านที่ดังมาก่อนหน้านี้แทบจะเงียบหายไปเลยทีเดียว
งานนี้ใครผิดใครถูกก็ว่ากันไปตามกฎหมาย แต่สิ่งที่น่าสนใจซึ่ง www.ThaiSMEsCenter.com มองว่าเป็นชนวนเหตุแห่งปัญหาก็คือการสร้างตลาดนัดของนายทุน ที่เราต้องยอมรับว่าทุกวันนี้ตลาดนัดหรือตลาดสดนั้นมีเปิดใหม่ราวกับดอกเห็ดแน่นอนว่าผลกระทบย่อมมีต่อคนที่อยู่ในพื้นที่ไม่มากก็น้อย ลองมาดู 7 วิธีทำตลาดนัดยุคใหม่ที่ใครทำตามได้ไม่มีใครตามมาด่าย้อนหลังแน่นอน
1.เลือกทำเลให้มีระยะห่างจากแหล่งที่พัก
ต้องแบ่งเป็น 2 ประเด็นหากเลือกทำตลาดในเมืองใหญ่การเลี่ยงแหล่งที่พักคงจะยาก แต่หากเลือกได้ลองดูพื้นที่ว่างเปล่าที่ไม่ได้อยู่ใกล้แห่งชุมชนขนาดที่ซ้ายก็หมู่บ้าน ขวาก็หมู่บ้าน อย่างตลาดนัดบางแห่งที่เราเห็นทำเลดีมาก ซ้ายขวาไม่ติดหมู่บ้านเลยแต่ในระยะ 2 กิโลเมตรรอบตลาดมีหมู่บ้านมากกว่า 4-5 แห่ง ไม่นับรวมโรงเรียน โรงงานอีกหลายแห่ง แต่ก็เข้าว่าพื้นที่แบบนี้หายาก แต่ถ้าหาได้ถือว่าดีทีเดียว
2.ต้องมีระบบการบริหารลานจอดรถที่มีคุณภาพ
ปัญหาสำคัญของทุกตลาดคือส่วนใหญ่มีตลาดแต่ไม่ทำที่จอดตลาดบางแห่งคนต้องมาจอดรถข้างถนน นอกจากจะไม่ปลอดภัยต่อตัวรถแล้วยังเป็นการกีดขวางการจราจรเพิ่มปัญหารถติดอีกด้วย ดังนั้นตลาดยุคใหม่ควรมีที่จอดรถเป็นของตัวเองและมีพนักงานคอยบริการในการเรียกรถเข้าจอด โบกรถเข้าออกด้วย
3.ระบบจัดการขยะมูลฝอย
นอกจากปัญหาที่จอดก็มีเรื่องกลิ่นขยะโดยเฉพาะพวกตลาดสดนี่จะกลิ่นแรงมาก หากใครดวงดีมีบ้านติดกับตลาดสดจะต้องทนกับกลิ่นเหล่านี้อย่างเลี่ยงไม่ได้ ทางที่ดีหากคิดลงทุนทำตลาดก็ต้องมีแหล่งทิ้งขยะที่มิดชิดเป็นที่เป็นทางที่สำคัญต้องมีคนคอยทำความสะอาดตลาดอย่าให้สกปรก แหล่งทิ้งขยะก็ต้องอยู่ห่างจากที่พักและตลาดพอสมควร ก็คงจะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาได้บ้าง
4.เจ้าของตลาดมาดูแลกิจการบ้าง
ส่วนใหญ่นายทุนมักไม่ค่อยจะมาเดินดูตลาดเอง ปล่อยให้ลูกน้องทำงานกันไป ทั้งการเก็บค่าเช่าแผง การบริหารจัดการต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่าการดูแลเอาใจใส่นั้นไม่เหมือนคนที่ลงทุน หากเป็นการดีควรสละเวลาลงมาเดินดูตลาดตัวเองบ้างว่าพ่อค้าแม่ค้านั้นเขาค้าขายอย่างไร เกินราคาไหม บ้านใกล้เรือนเคียงมีปัญหาอะไรกับตลาดหรือเปล่า หากพบปัญหาจะได้รีบจัดการได้ทันท่วงที
5.สร้างภาพลักษณ์ให้ตลาดเป็นมิตรกับทุกคน
ภาพลักษณ์ของตลาดส่วนใหญ่คนจะจำภาพที่ไม่ค่อยดียิ่งคนมีบ้านใกล้ตลาดเขายิ่งมองว่าตลาดเห็นแก่ตัว ไม่เคยมาดูแลกิจการบ้าง ทำแล้วก็ปล่อยทิ้งขว้างเพราะถือว่าตัวเองไม่ได้อยู่ที่นี่ เพื่อลบภาพความทรงจำไม่ดีเหล่านี้ เจ้าของตลาดควรมีการจัดกิจกรรมเพื่อสังคมในบางโอกาสเช่นการทำบุญตลาดที่อาจเชิญคนบ้านใกล้เรือนเคียงมาร่วมทำบุญ หรือกิจกรรมตามประเพณีเช่นสงกรานต์ที่อาจจะเชิญผู้สูงอายุที่อยู่ใกล้ตลาดมาร่วมรดน้ำดำหัวเป็นต้น
6.มีกฎระเบียบที่ชัดเจนไม่ให้คนในตลาดเหลื่อมล้ำ
ปัญหาที่น่าเบื่อของคนที่มีบ้านอยู่ใกล้ตลาดอาจต้องเจอคือบรรดาพ่อค้าแม่ค้าที่อาจจะทำอะไรแบบไม่คิดเช่นการเอาขยะไปวางไว้ในจุดที่ไม่ใช่ที่ทิ้งขยะ การไม่รักษาความสะอาดของแผงตัวเอง หรือการดื่มเหล้าหลังตลาดปิดสร้างเสียงเอะอะโวยวาย เจ้าของตลาดควรมีมาตรการที่ชัดเจนเพื่อควบคุมให้ทุกคนปฏิบัติตามกฎซึ่งต้องมีบทลงโทษที่เฉียบขาดด้วย
7.เดินหน้าสร้างสัมพันธ์กับบ้านที่อยู่โดยรอบตลาด
นอกเหนือจากการมาเดินดูตลาดด้วยตัวเอง หรือการออกกฎระเบียบสำหรับตลาดแล้วสิ่งหนึ่งที่ควรทำอย่างมากหากเป็นไปได้คือการสานสัมพันธ์กับบ้านต่างๆที่อยู่ใกล้ตลาดซึ่งเราต้องดูว่ามีบ้านไหนที่น่าจะได้ผลกระทบจากการสร้างตลาดของเราบ้าง เราควรติดต่อสานสัมพันธ์กับบ้านเหล่านี้เอาไว้ มีของขวัญให้บ้างตามเทศกาลต่างๆ การที่เจ้าของบ้านรู้สึกว่าเจ้าของตลาดใส่ใจดูแล ปัญหาที่ตามมาไม่ว่าเรื่องอะไรก็จะผ่อนหนักให้เป็นเบาได้
แต่ก็คงจะเป็นเรื่องยากเช่นกันหากจะให้เจ้าของตลาดทุกคนทำตามความคิดของคนอื่นได้ทั้งหมด ทางที่ดีที่สุดคือหาหนทางร่วมกันที่ทุกคนจะอยู่ได้แบบไม่มีปัญหาอาจถูกใจเราบ้าง ไม่ถูกใจบ้าง ก็ผ่อนปรนกันไปอันไหนอะลุ่มอะล่วยได้ก็ช่วยๆกันไป ยิ่งยุคนี้ที่ทุกคนมีโซเชี่ยลในมือตัวเอง อะไรไม่ถูกใจ ไม่พอใจก็อาจกลายเป็นประเด็นใหญ่ขึ้นมาได้ทันทีเช่นกัน
สำหรับท่านใดที่ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจเรามีรวบรวมบทความมากมาย ติดตามได้ที่ goo.gl/Io5k2S