7 ข้อควรรู้! เปิดร้านขายของในโรงเรียนดีจริงหรือ!
อยากขายของ ! แต่จะไม่รู้จะขายที่ไหนดี ทำเลทองที่มักได้ยินเสมอคือตลาดนัด หน้าโรงเรียน หน้าโรงงาน โดยเฉพาะแถวหน้าโรงเรียนพ่อค้าแม่ค้าหมายมั่นปั้นมือว่ายังไงเด็กก็ต้องซื้อกิน
แต่บางทีการขายของหน้าโรงเรียนก็ติดข้อบังคับที่บางโรงเรียนห้ามพ่อค้าแม่ค้ามาตั้งของขาย ทั้งกลัวเรื่องความไม่สะอาดและการกีดขวางทางจราจร
อย่างไรก็ดีเมื่อหน้าโรงเรียนอาจจะถูกห้าม www.ThaiSMEsCenter.com คิดว่าพ่อค้าแม่ค้าหลายคนก็คงคิดเหมือนกันว่าหน้าโรงเรียนไม่ได้ก็เข้าไปขายในโรงเรียนเลยละกัน
ซึ่งในความเป็นจริงก็อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายอีกเช่นกันลองมาดู 7 ข้อควรรู้ก่อนตัดสินใจเลือกเปิดร้านขายของในโรงเรียนว่าดีจริงหรือไม่ มีกำไรอย่างที่คิดจริงหรือเปล่า?
1.โรงเรียนส่วนใหญ่มักใช้วิธีการเปิดประมูลร้านค้า
ภาพจาก goo.gl/4DR7xv
ก่อนคิดว่าจะขายอะไรดี ต้องคิดก่อนว่าจะเข้าไปขายของในโรงเรียนได้ยังไง โรงเรียนส่วนใหญ่มักใช้วิธีการเปิดประมูลร้านค้า โดยทางโรงเรียนอาจกำหนดชนิดของร้านค้าที่ต้องการ เช่น ร้านอาหารประเภทข้าวราดแกง ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านขนมทานเล่น เป็นต้น
พ่อค้าแม่ค้าจะเข้าไปยื่นซองประมูลราคาได้ก็ต้องขายสินค้าที่โรงเรียนกำหนด และพ่อค้าแม่ค้าต้องศึกษาคุณสมบัติของผู้ยื่นซองให้เข้าใจอย่างถี่ถ้วน
เกิดคำถามอีกว่าแล้วเราจะรู้ได้ไงว่าโรงเรียนเขากำลังจะเปิดให้พ่อค้าแม่ค้ายื่นซองประมูลร้านค้า คำตอบคือเราต้องมีคนรู้จักในโรงเรียนซึ่งหากโรงเรียนมีนโยบายให้ร้านค้ามาเปิดซองประมูลพ่อค้าแม่ค้าจะได้เข้ามาที่กองธุรการโรงเรียนเพื่อขอเอกสารประกอบการยื่นประมูลต่อไป
2.การกำหนดราคามาตรฐาน
ภาพจาก goo.gl/DnvMxn
เนื่องจากเป็นสินค้าที่ขายในโรงเรียนราคาส่วนใหญ่จึงมักจะถูกควบคุมเพื่อให้นักเรียนได้รับประทานอาหารในราคาที่ไม่แพงจนเกินไป ซึ่งการกำหนดราคามาตรฐานนี้พ่อค้าแม่ค้าก็ต้องมาคำนวณต้นทุนกำไรเอง
ว่าควรใช้วัตถุดิบแบบไหนที่จะคุ้มค่ากับราคาขายในขณะที่มาตรฐานสินค้าไม่ได้ด้อยลง จำเป็นอย่างยิ่งที่พ่อค้าแม่ค้าต้องมีประสบการณ์ซึ่งจุดคืนทุนของร้านค้าในโรงเรียนอาจต้องขายในเชิงปริมาณให้นักเรียนจำนวนมากเพื่อให้มีกำไรในธุรกิจ
3.มีการเซ็นสัญญา ปีต่อปี
ภาพจาก goo.gl/ZGcCE5
การประมูลเปิดร้านค้าในโรงเรียนต้องมีการเซ็นสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรยอมรับในกฎระเบียบตามที่ตกลง โดยส่วนใหญ่มักเป็นการเซ็นสัญญาแบบปีต่อปี
ค่าเช่าพื้นที่ส่วนใหญ่แต่ละโรงเรียนมีอัตราไม่เท่ากันโดยเฉลี่ยน่าจะเริ่มต้นที่หลัก 10,000 บาท/ปี และมักจะใช้ระบบจ่ายค่าเช่าแบบรวดเดียวไม่มีการจ่ายรายเดือน แต่ก็อาจจะขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละโรงเรียนด้วยเช่นกัน
4.ยอมรับเวลาในการขายได้
ภาพจาก goo.gl/9B3B5t
เวลาในการขายคือพ้อยท์สำคัญของการเปิดร้านค้าในโรงเรียน ส่วนใหญ่จะเปิดให้ขายวันจันทร์-ศุกร์ และมีเวลาขายสำคัญแค่ 2 รอบคือ ช่วงเช้าตั้งแต่ 06.00-08.00 น. และช่วงพักกลางวันตั้งแต่ 10.50 – 13.20 ส่วนในตอนเย็นมักไม่ให้ร้านค้าขายอาหารเพื่อป้องกันความวุ่นวายที่จะเกิดขึ้น
ไหนจะต้องหักลบเสาร์-อาทิตย์ และวันปิดภาคเรียน พ่อค้าแม่ค้าจึงต้องคิดคำนวณให้ดี เอาจำนวนเงินที่จ่ายค่าเช่า + เงินลงทุนค่าวัตถุดิบและอุปกรณ์ หารด้วยเวลาที่ได้ขายตลอดระยะเวลาสัญญาจะทำให้เห็นภาพว่าเราต้องขายต่อวันจำนวนเท่าไหร่และต้องใช้เวลาขนาดไหนจึงจะคืนทุน
5.พื้นที่ภายในร้านต้องเป็นไปตามข้อปฏิบัติ
ภาพจาก goo.gl/28Uio4
เนื่องจากเป็นร้านอาหารในโรงเรียน มาตรฐานความสะอาดจึงต้องมาเป็นอันดับแรก กฎระเบียบก่อนเซ็นสัญญาส่วนใหญ่จะระบุชัดเจนว่าพ่อค้าแม่ค้าต้องแต่งกายแบบไหนอย่างไร
ภาชนะใส่อาหารต้องเป็นแบบไหน รวมถึงการจัดการพื้นที่ภายในร้านต้องให้ดูสะอาดเพื่อให้นักเรียนและผู้ปกครองสบายใจเมื่อซื้ออาหารมารับประทาน พ่อค้าแม่ค้าที่อยากขายอาหารในโรงเรียนจำเป็นต้องรับในข้อปฏิบัติเหล่านี้ให้ได้
6.ยอมรับค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแรงงานในการล้างจาน
ภาพจาก goo.gl/4DR7xv
บางโรงเรียนมีการกำหนดว่าคนล้างจานต้องเป็นคนที่ทางโรงเรียนจัดหามาอาจจะเพื่อมั่นใจในความสะอาดหรือเพื่ออะไรก็ตามแต่ นอกจากนี้ยังต้องมีต้นทุนที่รับผิดชอบคือ ค่าน้ำ ค่าไฟ ที่ต้องจ่ายให้กับทางโรงเรียน
ไม่รวมกับค่าแก๊สหุงต้มซึ่งเป็นต้นทุนที่ผู้ประกอบการต้องจ่ายเอง ก่อนที่จะเปิดร้านอาหารกับทางโรงเรียนพ่อค้าแม่ค้าต้องทำความเข้าใจกับทางโรงเรียนในเรื่องการจ่ายต้นทุนเหล่านี้เพื่อจะได้ไม่มีปัญหาภายหลัง
7.ตัวแปรสำคัญคือ “ปริมาณนักเรียน”
ภาพจาก goo.gl/NY3Yrf
คำถามคือตัวแปรมากมายแล้วการเปิดร้านอาหารขายในโรงเรียนจะมีกำไรได้อย่างไร คำตอบคือถ้าทำเอง คุมเอง ก็จะมีกำไรง่ายขึ้น แต่ในทางกลับกันทำเองไม่ได้ ไม่ได้มาคุมเอง จ้างลูกจ้างทั้งหมด
โอกาสขาดทุนมีสูงมาก อีกหนึ่งตัวแปรคือปริมาณนักเรียนและคู่แข่ง พ่อค้าแม่ค้าต้องรู้ว่าในโรงเรียนนี้มีปริมาณนักเรียนทั้งหมดเท่าไหร่ มีร้านอาหารเท่าไหร่ ถ้านักเรียนมาก (ผู้ปกครองก็มากด้วย) ร้านอาหารมีน้อย โอกาสได้กำไรก็มากกว่า
อีกหนึ่งเรื่องสำคัญคือ “การผลิต” ซึ่งเราต้องเข้าใจว่านักเรียนมีเวลาจำกัดในการรับประทานอาหาร ส่วนใหญ่จึงมาพร้อมกันไม่ได้ทยอยมาเหมือนการขายของในตลาด เราต้องแน่ใจว่าสามารถทำอาหารได้ทัน
สังเกตว่าร้านไหนนักเรียนยืนแน่นร้าน นักเรียนที่มาทีหลังจะไม่เข้ามาต่อแถวด้วยแต่จะไปเลือกซื้ออาหารที่ร้านอื่น เท่ากับปิดโอกาสในการขาย ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญของการขายอาหารในโรงเรียนที่ต้องศึกษาให้ดี
การคิดกำไรส่วนใหญ่มักใช้การนับจำนวนจานเช่นถ้าขายได้ 200 จาน ราคาจานละ 30 บาทคือวันนั้นมีรายได้ 6,000 บาท นำไปหักลบกับวัตถุดิบ ค่าบริหารจัดการ และเฉลี่ยกับค่าเช่ารายปีว่าตกต่อวันเป็นเงินเท่าไหร่ก็จะทำให้รู้ว่าวันนั้นเรามีกำไรหรือขาดทุน
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจแฟรนไชส์และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise
ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ goo.gl/Io5k2S