7 วิธีเปิดร้านขายข้าวสารให้รวย
ประเทศไทยมีปริมาณ การใช้ข้าว ภายในประเทศประมาณ 10 ล้านตัน/ปี โดยส่วนใหญ่ใช้เพื่อการบริโภคปีละประมาณ 7 ล้านตันเฉลี่ยแล้วคนไทยหนึ่งคนทานข้าวประมาณ 100-104 กิโลกรัม/ปี ซึ่งข้าวสารถือเป็นอาหารหลักและการปลูกข้าวก็ถือเป็นอาชีพสำคัญที่สร้างมูลค่าในการส่งออกได้ดีอีกด้วย
ไม่น่าแปลกใจที่เราจะเห็นร้านขายข้าวสารมีอยู่ทุกที่ในตลาดเคยคิดสงสัยกันบ้างหรือไม่ว่าการเปิดร้านขายข้าวสารนี้คู่แข่งก็มีมาก ข้าวสารแต่ละร้านก็ไม่ต่างกันเท่าไหร่ ทำไมบางคนเปิดร้านขายข้าวสารอย่างเดียวแต่ก็มีรายได้ที่ดี
วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com จะพาทุกท่านไปรู้จัก 7 วิธีเปิดร้าน ขายข้าวสารให้กลายเป็นเศรษฐีกัน
1.มีแหล่งข้าวสารคุณภาพดีราคาไม่แพง
ใครคิดจะเปิดร้านขายข้าวสารนี่คือเรื่องแรกที่ต้องหาให้เจอกับพาร์ทเนอร์ที่จะขายวัตถุดิบให้เราเอามาขายต่อ ส่วนใหญ่จะเป็นข้าวสารจากโรงสีต่างๆ ที่เดี๋ยวนี้โรงสีเองก็อยากให้มีตัวแทนจำหน่ายมารับข้าวสารไปขายเยอะ
ดังนั้นโรงสีเองก็ค่อนข้างเอาใจพ่อค้าด้วยการให้ราคาที่สมเหตุสมผล แต่ในฐานะคนขายเราก็ต้องเลือกโรงสีที่มีคุณภาพ บางที่เป็นลูกค้ากันนานๆก็มีเครดิตเอาข้าวไปก่อนค่อยจ่ายทีหลังได้ด้วย
2.เลือกรูปแบบการขายให้เหมาะกับตัวเอง
วิธีการขายข้าวสารมีทั้งแบบเปิดร้านประจำหรือวิ่งรถไปตามหมู่บ้าน ซึ่งแต่ละวิธีล้วนก็มีข้อดีในตัวเอง แต่โดยส่วนใหญ่จะเน้นการเปิดร้านขายเป็นหลักเป็นแหล่งมากกว่า บางร้านที่เปิดมานานจะมีลูกค้าประจำของตัวเอง รู้ปริมาณข้าวที่ต้องขายในแต่ละเดือนซึ่งถือว่าช่วยควบคุมต้นทุนได้ดีทีเดียว
3.มีแหล่งกระจายสินค้านอกจากลูกค้าหน้าร้าน
หากมีร้านข้าวสารของตัวเองและรอแค่ลูกค้ามาซื้อหน้าร้านก็คงมีรายได้ไม่เพียงพอ ทางที่ดีก่อนเปิดร้านขายข้าวสารก็ควรจะมีแหล่งระบายสินค้าของตัวเอง
เช่นร้านอาหาร ต่างๆ ที่เราควรเข้าไปติดต่อขอเป็นคนส่งข้าวสารให้ ราคาในการขายก็ตามแต่ตกลงกัน ยิ่งเรามีร้านอาหารที่เป็นพันธมิตรได้มากเท่าไหร่โอกาสในการขายเราก็มากขึ้นเท่านั้น
4.มีความรู้เรื่องข้าวแต่ละประเภทเป็นอย่างดี
สังเกตได้ว่าพ่อค้าบางคนไม่มีความรู้เรื่องข้าวสาร เวลาลูกค้ามาสอบถามว่าข้าวแบบไหนดีก็ไม่สามารถอธิบายได้ชัดเจน พ่อค้าที่จะขายข้าวสารได้ดีต้องรู้ว่าข้าวแต่ละชนิดแตกต่างกันอย่างไร วิธีการหุงให้ขึ้นหม้อต้องทำอย่างไร ข้าวนาปรัง ข้าวนาปีต่างกันอย่างไร หรือหากลูกค้าจะซื้อข้าวไปสำหรับทำร้านอาหารควรใช้ข้าวแบบไหนที่จะประหยัดต้นทุนของลูกค้าได้ด้วย
5.บริการประทับใจ
ข้าวสารนั้นค่อนข้างหนักโดยเฉพาะลูกค้าบางคนเลือกซื้อเยอะเช่นครึ่งถัง หรือ 1 ถัง (15 กก.) ร้านค้าที่ดีต้องมีบริการจัดส่งให้ถึงรถหรือบางทีลูกค้าไม่ได้มาซื้อเองที่ร้านแต่โทรมาสั่งให้เอาไปส่งเราก็ต้องมีบริการในส่วนนี้ด้วยจะช่วยสร้างความประทับใจให้ลูกค้าไม่หนีหายไปจากเรา
6.ราคาข้าวสารต้องไม่โดดเด่นและแพงเกินไป
สังเกตได้ว่าราคาข้าวสารในแต่ละตลาดจะไม่เท่ากันบางตลาดราคาข้าวอย่างเช่นหอมมะลิ บางที่ถังละ 450 บางที่ราคาถึง 500 ทั้งนี้การตั้งราคาพ่อค้าแม่ค้าก็ต้องการกำไรจากการขาย แต่ก็ควรให้สมเหตุสมผลกับความเป็นจริง การตั้งราคาขายก็เป็นเหตุผลหนึ่งทำให้คนเข้าร้าน ถ้าเราขายแพงกว่าที่อื่นลูกค้าก็หนีหายได้
7.มีข้าวสารหลากหลายชนิดให้เลือก
ในร้านข้าวสารการลงทุนหาข้าวหลากหลายชนิดมาขายเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ข้าวยอดนิยมในปัจจุบันอย่างเสาไห้ หอมปทุม หอมสุรินทร์ ลูกค้าแต่ละคนมีความนิยมในการเลือกซื้อข้าวต่างกันบางคนชอบข้าวแข็ง บางคนชอบข้าวนิ่ม ซึ่งข้าวแต่ละประเภทก็มีข้อดีข้อเสียต่างกัน ทางที่ดียิ่งมีตัวเลือกมากก็รับลูกค้าได้มากขึ้นด้วย
ปัจจุบันนอกจากการขายข้าวสารผ่านหน้าร้านธรรมดา ยังมีธุรกิจการขายข้าวสารแบบออนไลน์ ก็ถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่น่าสนใจ ซึ่งพ่อค้าออนไลน์ก็ต้องมีวิธีทำการตลาดให้ลูกค้าเชื่อมั่นว่าข้าวสารของเรานั้นคุณภาพดีไม่ต่างจากการซื้อหน้าร้านปกติ รวมถึงราคาไม่แพงกว่าทั่วไปด้วย
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจ แฟรนไชส์ และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise
ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/3corFV2
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter
ขอบคุณรูปภาพจาก goo.gl/gBxCq7
อ้างอิงจาก https://bit.ly/3bptLEA