7 ข้อดี 6 ข้อเสียของอาชีพฟรีแลนซ์ (Freelance)
ต้องยอมรับกันว่า ในปัจจุบันผู้คนจำนวนไม่น้อยมีความสามารถกันมากขึ้น คนหนึ่งคนสามารถทำงานได้มากกว่า 1 อย่าง ประกอบกับโลกของเรา ได้มี การพัฒนาขึ้น และก้าวสู่ความเป็นทุนนิยมแล้วอย่างเต็มตัว ผู้คนในวัยทำงานส่วนใหญ่ จึงมีความต้องการที่จะ Make Money หาเงิน หารายได้ให้ได้มากที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้
บางคนต้องการทำงานฟรีแลนซ์ เพื่อเติมเต็มความรู้สึกบางอย่างที่ขาดหายไปจากงานประจำ หรือต้องการฝึกฝนทักษะที่มี แต่ไม่ได้ใช้ในงานประจำ ตรงนี้ก็เห็นบ่อยครั้ง แต่อาชีพฟรีแลนซ์นั้น ย่อมมีทั้งข้อดี และข้อเสียอยู่ในตัวของมันเอง
วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com จะขอนำสนอข้อดี-ข้อเสีย ของการทำงานเป็นฟรีแลนซ์ เพื่อต้องการให้ผู้ที่กำลังมองหาโอกาสสร้างรายได้จากอาชีพฟรีแลนซ์ รวมถึงผู้ที่กำลังทำฟรีแลนซ์ นำข้อมูลไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ มาดูกันเลย
ข้อดีของอาชีพฟรีแลนซ์
ภาพจาก goo.gl/gIknFg
1. มีเวลาที่ยืดหยุ่น เลือกได้เองว่าจะทำงานเวลาใด เปิด-ปิดร้านของตัวเองเวลาใด ไม่มีใครบังคับ ถ้ารู้สึกไม่สบายก็พักก่อนได้ ต่างจากการเป็นมนุษย์เงินเดือน ที่ค่อนข้างเคร่งครัดเวลาเข้างาน-เลิกงาน อีกทั้งยังต้องมีเหตุผลที่เพียงพอต่อการขอลาหยุดด้วย
2. เปลี่ยนบรรยากาศการทำงานได้ตามใจชอบ จะตกแต่งร้านสไตล์ไหนก็ได้ตามใจเรา จะไปทำงานร้านกาแฟที่ไหนก็ได้ จะถ่ายรูปโลเคชั่นใดก็ได้ ฯลฯ อาชีพฟรีแลนซ์มีสิทธิกำหนดสถานที่เอง เพื่อเนื้องานที่เหมาะสมและความพึงพอใจในการทำงาน ต่างจากมนุษย์เงินเดือนที่ส่วนใหญ่ถูกตีกรอบอยู่แค่คอกกั้นแคบๆ ในห้องแอร์เดิมๆ
3. มีสิทธิใช้ไอเดียได้เต็มที่งานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ เช่น การทำขนม, ออกแบบโลโก้, รับจ้างวาดภาพ ฯลฯ ลูกค้ามีส่วนแค่คิด Concept กว้างๆ เงื่อนไขไม่กี่ข้อ ในขณะที่ผู้สร้างสรรค์ผลงาน เป็นคนลงรายละเอียด สามารถปรับแต่งให้เต็มที่เพื่อเอาใจลูกค้า ต่างจากมนุษย์เงินเดือน ที่ส่วนใหญ่รับฟังคำสั่งของผู้บังคับบัญชาเป็นหลัก มีสิทธิแสดงความคิดเห็นได้น้อยมาก
ภาพจาก goo.gl/14H5qB
4. แต่งตัวได้ฟรีสไตล์ ใส่ชุดไหนก็ได้ขอให้ทำงานได้สบายอารมณ์ก็พอ ต่างจากมนุษย์เงินเดือนส่วนใหญ่ มักจะมีแบบฟอร์มบังคับตายตัว ซึ่งบางแห่งยังบังคับไปถึงการแต่งหน้าด้วย
5. ไม่ต้องหงุดหงิดจากการที่ของใช้หาย ข้าวของเครื่องใช้วางตรงไหน เก็บตรงไหนไม่มีวันจะคลาดสายตาได้ ต่างจากมนุษย์เงินเดือน (มนุษย์ออฟฟิศ) ที่บางทีของหายในที่ทำงานอย่างลึกลับ บางครั้งก็เจอแจ็คพ็อตเป็นของบริษัท ที่อยู่ในความรับผิดชอบเราก็หาย เพราะคนอื่นสร้างเรื่องให้
6. ไม่ต้องสุขภาพจิตเสียจากเจ้านายและเพื่อนร่วมงานที่ไม่ดี ไม่ต้องกังวลว่าจะถูกนินทาว่าร้าย หรือถูกกล่าวหาอย่างไม่มีเหตุผลจากเจ้านายหรือเพื่อนร่วมงาน ความสัมพันธ์ระหว่างคนทำอาชีพฟรีแลนซ์กับลูกค้า ก็เป็นเพียงแค่งานที่พบกันชั่วคราว มันคือการพบกันระยะสั้น และมองกันที่เนื้องานเป็นหลัก เมื่องานเสร็จ ความสัมพันธ์ก็จบ แค่นั้นเอง
7. ไม่ต้องถูกบีบบังคับโดยประเพณีในองค์กร การทำบุญทอดผ้าป่า, การจัดงานกีฬาภายใน, งานเลี้ยงตามโอกาสต่าง ๆ สำหรับสังคมการทำงานแบบมนุษย์เงินเดือน ถ้าคุณเป็นคนที่เก็บตัว ไม่ชอบสมาคม คุณจะถูกลดเกรดให้เป็นคนไม่น่าสนใจไปทันที แต่ถ้าคุณเป็นนายของตัวเอง ทำอาชีพฟรีแลนซ์ คุณจะไปหรือไม่ไปไหนก็ไม่มีใครมาจับผิดคุณ
ข้อเสียของอาชีพฟรีแลนซ์
ภาพจาก goo.gl/e8fQ77
1. เวลาที่ยืดหยุ่นเกินไปอาจก่อความขี้เกียจ สำหรับคนที่รักสบาย คุณต้องฝึกวินัยอีกหน่อย เพราะความขี้เกียจเป็นศัตรูร้ายของงานประเภทนี้ สมมติว่าคุณมีกำหนดสำหรับการทำงานชิ้นหนึ่งภายใน 4 วัน แต่คุณนอนขี้เกียจไปซะ 2 วัน อย่าทำเด็ดขาด
เพราะแม้แต่มืออาชีพยังไม่กล้าทำแบบนี้เลย หากงานเกิดความเสียหายหรือเกิดเหตุฉุกเฉินอะไรขึ้นมา คุณจะเหลือเวลาในการกู้งานที่น้อยและด้อยคุณภาพเอามากๆ มันอาจส่งผลต่อโปรไฟล์ของคุณด้วย
2. ไม่มีความมั่นคงแน่นอน งานบางอย่างในประเภทของอาชีพอิสระก็ขึ้นอยู่กับฤดูกาล, เทศกาล บางช่วงอาจรับงานแทบไม่ทัน บางช่วงอาจงานน้อย ถ้าจะยึดงานอิสระเป็นอาชีพหลัก ควรมีปฏิทินวางแผนงานไว้เป็นคู่มือการทำงานส่วนตัว
3. ต้องขยันและมีความละเอียดมากๆ จนบางทีหาเวลาพักผ่อนไม่ได้เลย อาชีพอิสระเป็นอาชีพที่ใช้แรงกายและสมองค่อนข้างมาก ลูกค้าจะจ้างเราหรือไม่ก็ขึ้นกับว่าเรามีโปรไฟล์งานที่หลากหลายเพียงใด มีประสบการณ์โชกโชนแค่ไหน เมื่อถึงเวลาว่าง ก็ยังต้องเรียนรู้การตลาดจากคู่แข่ง และฝึกฝนอยู่เสมอ เพื่ออัพเดทตัวเอง ลับคมอาวุธทำมาหากินไม่ให้เสื่อม
ภาพจาก goo.gl/MqPKTe
4. เพื่อรักษาเครดิตต้องใช้ Service mind สูง มนุษย์เงินเดือนอย่างมากก็แค่ทำตามคำสั่งไปวันๆ นานทีถึงจะเผชิญหน้ากับผู้บังคับบัญชาให้รู้สึกร้อนหนาวเล่นๆ แต่งานอิสระต้องรับมือกับลูกค้าด้วยตนเองอยู่เสมอ
และทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้ลูกค้าประทับใจที่สุด สามารถบอกต่อถึงคุณภาพงานของเราได้แพร่กระจายมากที่สุด ต่อให้ลูกค้าคนนั้นงี่เง่าจริง ก็ต้องหาวิธีการทำอย่างไรก็ได้ เพื่อที่จะให้ไม่เกิดปัญหาลงเอยด้วยดี โดยที่ยังรักษางานตัวเองไว้ได้
5. เพื่อรักษาเครดิต ต้องยอมรับภาวะ “เข้าเนื้อ” ในบางครั้ง สำหรับมนุษย์เงินเดือนยังพอเบิกอุปกรณ์ หรืออะไรก็ตาม เพื่อการทำงานได้โดยไม่ต้องเสียสักบาท แต่สำหรับอาชีพฟรีแลนซ์ นอกจากรายรับที่ไม่แน่นอนที่ชวนใจหวิว รายจ่ายจากการลงทุนเพื่อการสร้างสรรค์งาน ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เล่นเอาคนทำอาชีพฟรีแลนซ์หลายคนลำบากใจเสมอ
เพราะบางครั้ง ลูกค้าก็ตั้งมาตรฐานสูงไป กำหนดเงื่อนไขที่ไม่สอดคล้องกับงานสักเท่าไหร่ คนที่สร้างสรรค์ผลงานจึงไม่สามารถทำอะไรได้ นอกจากลงทุนให้งานนั้นออกมาดีที่สุด เช่น การซื้อวัสดุที่ราคาสูง เพื่อคุณภาพที่ลูกค้าต้องการ ทั้งที่ค่าจ้างก็น้อยกว่าการลงทุน
6. ต้องพยายามอย่าป่วยหนัก เพราะประกันไม่ครอบคลุม แม้จะมีประกันของบางบริษัทรับทำให้กับกลุ่มคนทำงานฟรีแลนซ์ แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมทุกอาชีพ และทุกกลุ่มรายได้ นอกจากจะต้องรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเสมอ จึงต้องเก็บเงินเพื่อสุขภาพให้มากๆ ด้วยเพื่อใช้ในยามฉุกเฉิน เช่น ป่วยจากโรคร้ายแรง หรือประสบอุบัติเหตุ เพราะต้องควักจ่ายเอง
ทั้งหมดเป็น 7 ข้อดี 6 ข้อเสียของการทำงานฟรีแลนซ์ ผู้ที่อยากมีรายได้เสริม หรืออยากออกจากงานประจำ เพื่อไปทำฟรีแลนซ์ ต้องใช้ข้อมูลข้างบนในการพิจารณาและตัดสินใจให้ดีก่อน วิเคราะห์ถึงความคุ่มค่ากับตัวเองให้มากที่สุดครับ
ภาพจาก goo.gl/WPtFHX
SMEs Tips
ข้อดี
- มีเวลาที่ยืดหยุ่น
- เปลี่ยนบรรยากาศการทำงานได้
- ใช้ไอเดียได้อย่างเต็มที่
- แต่งตัวได้ตามสบาย
- เครื่องมือของใช้หยิบจับใช้ง่าย
- ไม่เสียสุขภาพจิตกับเพื่อร่วมงาน
- ไม่ต้องทำตามระเบียบองค์กร
ข้อเสีย
- มีเวลามาก จนอาจขาดวินัยตนเอง
- ไม่มีความมั่นคงทางการเงิน
- ต้องขยันมากเป็นพิเศษ
- ต้องเอาใจ และบริการลูกค้าอย่างเต็มที่
- ต้องใช้เงินตัวเองในการลงทุน
- ระบบประกันสังคมอาจไม่ครอบคลุมการรักษาพยาบาล