6 ปัญหาสำคัญทำให้ 7-11 ในอินโดนีเซียต้องยกเลิกกิจการ

ร้านสะดวกซื้อ อย่าง 7-11 เชื่อว่าในประเทศไทยคงรู้จักกันดี และแบรนด์นี้ก็ทำการตลาดไปทั่วโลกโดยมีบริษัทในแต่ละประเทศรับช่วงในการบริหารจัดการแฟรนไชส์ บางประเทศก็ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม

มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับหนึ่งบางประเทศก็สามารถประคองตัวอยู่ได้มีรายได้ที่น่าพอใจแต่ในมุมกลับกันความพยายามดำเนินกิจการในบางประเทศกลับมีปัญหามากมายถึงขนาดที่ต้องประกาศยุติกิจการกันเลยทีเดียว

นั้นคือกรณีของ 7-11 ในประเทศอินโดนีเซียตามข่าวที่เราทราบกันคือ มีการประกาศยุติกิจการภายในสิ้นเดือนมิถุนายนนนี้ทั้งหมด แต่ก่อนหน้านั้นเราจะเห็นข่าวว่าเครือ cp ของไทยพยายามที่จะซื้อกิจการนี้ในอินโดนีเซีย

แต่เรื่องก็ต้องพับเก็บไป www.ThaiSMEsCenter.com จึงนำมุมมองที่น่าสนใจว่าทำไม 7-11 ในอินโดนีเซียถึงไม่ประสบความสำเร็จทางการตลาดได้ตามที่ตั้งเป้าไว้

ธุรกิจ 7-11 ในอินโดนีเซีย

ร้านสะดวกซื้อ

ภาพจาก goo.gl/F9fpu9 , goo.gl/ZgKWZk

Modern Internasional เป็นบริษัทแม่ผู้ให้บริการร้านสะดวกซื้อในชื่อ 7-11 ในประเทศอินโดนีเซีย เปิดบริการครั้งแรกเมื่อปี 2009 ที่จาร์กาตา และขยายสาขาอย่างรวดเร็วมีสาขากว่า 161 แห่งทั่วอินโดนีเซียแม้สาขาส่วนใหญ่จะอยู่ในจาร์กาตาก็ตาม

อย่างไรก็ดีรายได้ของบริษัทเมื่อปี 2559 จำนวน 2,200 ล้านบาท ได้มีการปรับตัวลดลงจากปีก่อนหน้าถึง 27% หรือขาดทุนกว่า 1,623 ล้านบาท ด้วยเหตุนี้ Modern Internasionalจึงได้ออกประกาศปิดกิจการร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ทุกสาขา ภายในวันที่ 30 มิ.ย.2560 โดยให้เหตุผลว่า ไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อได้ เนื่องจากไม่มีเงินเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงาน อีกทั้งยังประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรที่ให้บริการในการดำเนินกิจการอีกด้วย

ทั้งนี้สาเหตุที่คาดการณ์กันนั้นน่าจะเป็นผลพวงมาจากการที่รัฐบาลออกกฎห้ามขายเบียร์ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดในร้าน 7-11 อันเป็นผลให้เกิดผลกระทบแบบลูกโซ่กระทบกระเทือนเรื่องการตลาดของ 7-11 ในอินโดนีเซียอย่างชัดเจนและถ้าจะแจกแจงเอาทุกเหตุผลมารวมกันน่าจะแยกเป็นประเด็นสำคัญได้ 6 เรื่องด้วยกันดังนี้

l2

ภาพจาก goo.gl/F9fpu9

1.มีกฎหมายห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์

แม้ว่าเหตุผลเรื่องนี้จะไม่ใช่ปัญหาทั้งหมดที่ทำให้ 7-11 ในอินโดนีเซียต้องปิดกิจการ แต่เรื่องนี้ก็เป็นเหมือนผลกระทบแบบลูกโซ่ที่ส่งผลต่อการคงอยู่ของบริษัทเป็นอย่างมาก เนื่องจากสินค้าประเภทเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอลล์ในเซเว่นสามารถทำยอดขายคิดเป็น 8-12% ของยอดขายทั้งหมด

นอกจากนั้นการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ยังกระตุ้นยอดขายสินค้าอาหารและขนมขบเคี้ยวให้เพิ่มขึ้นด้วย นอกจากแนวคิดทำร้านสะดวกซื้อให้เป็นร้านอาหารด้วยนั้น ทาง 7-11 อินโดนีเซีย บางสาขายังจูงใจลูกค้าด้วยการจัดกิจกรรม เช่น การแสดงดนตรีสดบริเวณลานหน้าร้าน หรือการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอล เป็นต้น ซึ่งทำให้ผู้คนไปรวมกันหน้าร้าน ทำให้ยอดขายสูงขึ้น

2.ฐานลูกค้าลดลงจากกฎหมายที่กำหนดขึ้น

ก่อนหน้านั้น วัยรุ่นและคนวัยหนุ่มสาวของอินโดนีเซียมักจับกลุ่มสังสรรค์กันตามร้านอาหารข้างทาง แต่หลังจากที่ 7-11 ใช้กลยุทธ์ปรับร้านสะดวกซื้อตามแนวคิด eat-in-store โดยจัดวางโต๊ะเก้าอี้ให้นั่ง มีไวไฟให้ใช้ฟรี

และที่สำคัญบริการตลอด 24 ชม. ร้าน 7-11 จึงกลายเป็นสถานที่ชุมนุมของลูกค้ากลุ่มนี้ เพราะที่ร้านมีบริการอาหารพร้อมทานราคาไม่แพง เช่น ข้าวผัด อาหารว่าง และขนมขบเคี้ยว รวมถึงเครื่องดื่ม น้ำหวาน สเลอปี้ที่ได้รับความนิยม พร้อมด้วยเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์แน่นอนว่าพอกฏหมายห้ามดังกล่าวมีผลออกมายอดผู้ใช้บริการในส่วนนี้ก็ลดลงอย่างรวดเร็ว

3.รายได้ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง

เป็นผลที่ต่อเนื่องกันมาเมื่อฐานลูกค้าลดลงรายได้ก็ต้องลดลงด้วยเช่นกันโดยในปีที่ผ่านมานั้น 7-11ยอดขายเหลือเพียง 891,000 ล้านรูเปียหรือราว 2,280 ล้านบาท จากยอด 1.2 ล้านล้านรูเปียที่เคยทำได้ก่อนหน้า

ส่งผลให้บริษัขาดทุน 636,000 ล้านรูเปีย (ประมาณ 1,627 ล้านบาท) ก่อนหน้านั้น บริษัทจึงเริ่มทะยอยปิดร้าน 7-11 ไปแล้วเกือบ 50 สาขา จนเหลือ 120 สาขาในปัจจุบัน และ 120 สาขาที่ว่านี้ก็กำลังจะปิดฉากลงภายในเดือนมิ.ย.นี้

l3

ภาพจาก goo.gl/F9fpu9

4.ปัญหาเรื่องใบอนุญาติ IUTM

แน่นอนว่าการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อยอดขายสินค้าอื่นในร้าน 7-11 แต่ปัญหาไม่ได้มีแค่นั้น แต่ยังเกี่ยวเนื่องกับตัวบทกฎหมายด้วย กล่าวคือภายใต้กฎหมายด้านธุรกิจของอินโดนีเซีย บรรดาร้านสะดวกซื้อ โมเดิร์นเทรด ร้านค้าส่ง

หรือแม้กระทั่งห้างสรรพสินค้าที่ต้องการดำเนินธุรกิจค้าปลีกจำเป็นต้องขอใบอนุญาตที่เรียกว่า IUTM เพื่อจำหน่ายสินค้าปลีก ผลการตรวจสอบกลับพบว่าร้าน 7-11 อินโดนีเซียราว 60 แห่งไม่มีใบอนุญาตนี้

5.ปัญหาการทำงานอันล่าช้าของราชการในการติดต่อประสานงาน

กฎระเบียบอันซับซ้อนของรัฐบาลอินโดนีเซียเองก็เป็นอุปสรรคเช่นกัน ข้อมูลจากบริษัทวิจัยสไปร์ระบุอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีธุรกิจแฟรนไชส์ใหญ่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการประเมินว่า ไม่ต่ำกว่า 60% ของธุรกิจแฟรนไชส์ในอินโดนีเซียเป็นแฟรนไชส์ที่มาจากต่างประเทศ

และกฎระเบียบอันหยุมหยิมบวกกับระบบราชการอันล่าช้าเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจของแฟรนไชส์ต่างชาติไม่น้อย อย่างเคส 7-11 ก็ถูกกระทรวงการค้าเรียกไปสอบถามว่าตกลงดำเนินธุรกิจอะไรกันแน่ระหว่างร้านสะดวกซื้อกับร้านอาหาร

ซึ่งความล่าช้าที่ว่านี้ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้การเจรจาขายกิจการให้กับCP Restu Indonesia บริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ของไทยต้องมีอันล้มเลิกไปเนื่องจากไม่ผ่านการอนุมัติของหลายหน่วยงานรวมถึงกระทรวงการค้า และหน่วยงานคลังของรัฐ

l5

ภาพจาก goo.gl/erWtJp

6.ปัญหาเรื่องแบรนด์ท้องถิ่น

ปัญหานี้ไม่ได้เจอแค่ 7-11 เท่านั้น แม้กระทั่ง IKEA ธุรกิจค้าปลีกเฟอร์นิเจอร์รายใหญ่จากสวีเดนเมื่อปีที่แล้วก็เจอกรณีขายแฟรนไชส์ในอินโดนีเซียแต่ต้องเจอปัญหาลิขสิทธิ์เนื่องจากมีบริษัทอินโดนีเซียชิงจดทะบียนการค้าภายใต้ชื่อ IKEA Surabaya ไว้แล้ว

ทำให้ IKEA จากสวีเดนต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้บริษัทท้องถิ่นอินโดฯเจ้านี้เพื่อให้สามารถใช้ชื่อ IKEA ในการดำเนินธุรกิจ ขณะเดียวกัน แบรนด์ปิแอร์ การ์แดงของฝรั่งเศสก็ไม่สามารถเปิดช้อปโดยใช้ชื่อนี้ในอินโดนีเซียเนื่องจากมีการจดลิขสิทธิ์ชื่อทางการค้าไปแล้วเมื่อปี 1977 ทั้งนี้ปิแอร์ การ์แดงเป็นแบรนด์ดังระดับโลก มีการต่อสู้ในศาล แต่ศาลอินโดนีเซียตัดสินให้บริษัทเครื่องแต่งกายจากฝรั่งเศสแพ้คดี

ในส่วนของตลาดร้านสะดวกซื้อหลังจากที่ 7-11 ประกาศปิดสาขาทั้งหมดภายในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ แต่ประชาชนอินโดนีเซียก็ยังสามารถพบเจอร้านสะดวกซื้อแบรนด์อื่นได้โดยผู้ให้บริการรายใหญ่สุดในอินโดนีเซียนั้นยังคงเป็น Alfamart ที่มีจำนวนสาขากว่า 10,086 สาขา ครองตลาดเป็นอันดับ 1 โดยมี Indomaret ที่มีสาขาทั้งประเทศกว่า 8,039 สาขา

ครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 2 ในส่วนของ 7-11 นั้นก็คงต้องตามดูกันต่อไปว่าหลังจากนี้จะมีการพลิกสถานการณ์อย่างไรหรือ7-11ในอินโดนีเซียจะปรับกลยุทธ์สู้แบบใหม่หรือไม่ก็เป็นเกมส์ทางการตลาดที่เราต้องศึกษาและติดตามดูเรื่องนี้กันอีกสักพัก

สำหรับท่านใดที่ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจเรามีรวบรวมบทความมากมายไว้ให้ทุกท่านพิจารณากันตามความเหมาะสม ดูรายละเอียด goo.gl/Io5k2S

 

อ้างอิงจาก https://bit.ly/2IsWXR9

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด