6 ขั้นตอนนำเสนอและปิดการขายแฟรนไชส์
หลังจากที่เจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์ หรือ แฟรนไชส์ซอร์ ได้ทำการวางระบบบริหารแฟรนไชส์ มีการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักของลูกค้าและผู้บริโภค มีการดำเนินกลยุทธ์ทางการตลาด โฆษณาประชาสัมพันธ์ธุรกิจผ่านช่องทางต่างๆ ไปยังกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ต้องการซื้อธุรกิจแฟรนไชส์
กระทั่งเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกนักลงทุนที่จะมาเป็นแฟรนไชส์ซี จากนั้นก็จะเข้าสู่การเจรจาต่อรองขายแฟรนไชส์ ซึ่งจะมีกฎระเบียบ สัญญาต่างๆ ที่เจ้าของแฟรนไชส์และผู้ซื้อแฟรนไชส์ต้องทำความเข้าใจ
วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com จะนำพาเจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์แต่ละแบรนด์ ไปดูและทำความรู้จักกับอีกหนึ่งขั้นตอน อีกหนึ่งกระบวนการขายแฟรนไชส์ นั่นคือ กลยุทธ์การปิดการขายธุรกิจแฟรนไชส์ ถือว่ามีความสำคัญต่อการทำธุรกิจแฟรนไชส์มากด้วยเช่นกัน เพราะเป็นกระบวนการ หรือขั้นตอนสุดท้าย ก่อนที่จะตัดสินใจขายแฟรนไชส์ให้กับคนอื่น
1. การนำเสนอขายธุรกิจแฟรนไชส์
เจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์ ต้องอย่าลืมว่าผู้ซื้อแฟรนไชส์จะตัดสินใจซื้อแฟรนไชส์ของคุณไป อยู่ที่การนำเสนอขายแฟรนไชส์ของคุณว่ามีความน่าสนใจมากน้อยแค่ไหน
คุณอาจนำเสนอขายด้วยการนำพาไปชมบริษัท โรงงานผลิตสินค้า เยี่ยมชมสาขาแฟรนไชส์ซีต่างๆ เพื่อให้ผู้ที่ต้องการซื้อแฟรนไชส์ ได้เห็นภาพของระบบแฟรนไชส์ของธุรกิจคุณจริงๆ จะทำให้สามารถตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่า จะซื้อธุรกิจแฟรนไชส์ของคุณไปหรือไม่
แต่ก็อย่าลืมสังเกตผู้ซื้อแฟรนไชส์ ว่ามีความสนใจ มีความมุ่งมั่น มีความตั้งใจจะทำธุรกิจแฟรนไชส์นั้นๆ จริงๆ หรือไม่ ถ้าเขามีความสนใจในทุกรายละเอียด
ก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ของผู้ที่จะมาเป็นแฟรนไชส์ซี หลังจากนั้นเจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์ ก็สามารถตรวจสอบคุณสมบัติผู้ซื้อแฟรนไชส์จากใบสมัคร ดูสถานะทางการเงินของผู้ซื้อแฟรนไชส์
รวมถึงการให้ผู้ซื้อแฟรนไชส์เขียนแผนธุรกิจให้กับคุณดูด้วย เพื่อดูว่าเขามีความพยายามที่จะบริหารธุรกิจให้เติบโตมากน้อยแค่ไหน หลังจากนั้นก็สามารถนัดประชุมทีมงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด เกี่ยวกับการคัดเลือกและขายแฟรนไชส์
2. การติดต่อผู้ซื้อแฟรนไชส์ครั้งแรก
เมื่อเจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์ รู้แล้วว่ากลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่อยากซื้อธุรกิจแฟรนไชส์เป็นใคร อาจเริ่มต้นด้วยการคัดเลือกผู้ซื้อแฟรนไชส์แต่ละราย ใครน่าสนใจลงทุนจริงๆ แล้วส่งราละเอียดข้อมูลและตัวอย่างธุรกิจแฟรนไชส์ ให้กลุ่มลูกค้าเหล่านั้นได้ตัดสินใจอีกครั้ง หลังจากนั้นดูว่าพวกเขาเหล่านั้น มีคุณสมบัติที่เหมาะสมหรือไม่
ภาพของผู้ที่จะซื้อแฟรนไชส์ต้องชัดเจน เหมาะสมที่จะเป็นผู้ประกอบการ มีความมุ่งมั่นที่จะบริหารธุรกิจแฟรนไชส์ให้ประสบความสำเร็จ ตามกฎระเบียบของระบบแฟรนไชส์ทุกอย่าง เมื่อจินตนาการภาพเหล่านี้ เจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์ก็สามารถนัดประชุมตัวต่อตัว เพื่อเจอกันครั้งแรก
พูดคุยกันว่าจะไปด้วยกันได้หรือไม่ เขาเหมาะกับบริหารสาขาแฟรนไชส์ของคุณหรือเปล่า ตรงนี้จะทำให้เจ้าของแฟรนไชส์ได้รู้จัก และวิเคราะห์ความเหมาะสมของผู้ที่จะซื้อแฟรนไชส์ได้ดี
เมื่อเสร็จสิ้นจากตรงนี้ เจ้าของแฟรนไชส์สามารถดูได้ว่า ลูกค้ารายไหนอยู่ในเกณฑ์ที่ขายแฟรนไชส์ให้ แล้วติดตามลูกค้ากลุ่มนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อขายแฟรนไชส์
3. การนัดถกประเด็นรายละเอียดแฟรนไชส์
เมื่อเจ้าของแฟรนไชส์ รู้ว่าใครที่เหมาะสมที่จะมาเป็นแฟรนไชส์ซี ขั้นตอนต่อไปก็นัดให้ผู้ที่สนใจซื้อแฟรนไชส์เข้ามาประชุมในออฟฟิศ เพื่อชี้แจง ทำข้อตกลงในรายเอียดต่างๆ เกี่ยวกับการซื้อขายแฟรนไชส์ ไม่ว่าจะเป็น ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่างๆ กฎระเบียบข้อปฏิบัติ กฎหมายแฟรนไชส์ สัญญาแฟรนไชส์
เรียกได้ว่า ทุกอย่างที่ผู้ซื้อแฟรนไชส์จะต้องควรรู้ ก่อนที่จะตกลงซื้อขายและนำไปสู่การเซ็นสัญญาแฟรนไชส์ระหว่างกัน ที่สำคัญเจ้าของแฟรนไชส์ต้องแจ้งรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับระบบแฟรนไชส์ให้กับผู้ที่จะซื้อแฟรนไชส์ที่ทราบทุกอย่าง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาฟ้องร้องตามมา
4. การประชุมเพื่อปิดการขายแฟรนไชส์
ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในบริษัทฯ ต้องเข้าร่วมการประชุมเพื่อปิดการขายแฟรนไชส์ ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร ทีมการตลาด ทีมการขาย ทีมพัฒนาบุคลากร ทีมกฎหมาย รวมถึงที่ปรึกษาของธุรกิจแฟรนไชส์ ซึ่งทุกคนจะต้องหาทางร่วมด้วยกันว่า ผู้ที่จะมาเป็นแฟรนไชส์ซีของธุรกิจ มีความเหมาะสมมากน้อยน้อยแค่ไหน มีทำเล มีเงินทุนอย่างไรบ้าง
ขั้นตอนนี้อาจต้องมีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในการขายธุรกิจแฟรนไชส์ครั้งนี้ ใครไม่เห็นด้วยก็ต้องบอกเหตุผลว่า เขาไม่เหมาะสมเป็นแฟรนไชส์ซีอย่างไร ใครเห็นด้วยก็บอกว่าเขาเหมาะสมอย่างไร
ซึ่งสุดท้ายผู้ตัดสินใจก็ต้องอยู่กับเจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์จะเป็นคนตัดสินใจ ว่าจะรับคนเหล่านั้นมาเป็นแฟรนไชส์ซีหรือไม่ ถ้าตัดสินใจรับ ก็ปิดการขายได้เลย นัดเข้ามาเจรจา พูดคุยเพื่อที่จะเซ็นสัญญาซื้อขายธุรกิจแฟรนไชส์ได้ทันที
5. เว้นช่วง 10 วัน สำหรับตรวจสอบแฟรนไชส์ซีครั้งสุดท้าย
ถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการปิดการขายธุรกิจแฟรนไชส์ก็ว่าได้ เพราะก่อนที่จะเซ็นสัญญาแฟรนไชส์กับผู้ซื้อแฟรนไชส์รายนั้น อยู่ที่ช่วงระยะเวลา 10 วันหลังจากการเจรจาข้อตกในการทำธุรกิจแฟรนไชส์
ซึ่งภายใน 10 วันนี้ เจ้าของแฟรนไชส์สามารถที่จะยกเลิกไม่ขายแฟรนไชส์กับผู้ซื้อรายนั้นก็ได้ ถ้าตรวจสอบพบว่าเขาไม่มีคุณสมบัติเป็นแฟรนไชส์ซี ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ เพราะใช้ข้อมูลอันเป็นเท็จ ทำเลที่ตั้งไม่มีความเหมาะสมในการเปิดร้าน หรือดำเนินธุรกิจ
แต่ถ้าทุกอย่าง ภายใน 10 วัน ราบรื่น มีการตรวจสอบประวัติ ตรวจสอบรายละเอียดผู้ซื้อแฟรนไชส์ ไม่ขาดตกบกพร่อง มีความเหมาะสมทุกประการเป็นแฟรนไชส์ซี ก็ทำการเซ็นสัญญาซื้อขายแฟรนไชส์ได้ทันที
6. บริการหลังการขายแฟรนไชส์
หลังจากขั้นตอนเซ็นสัญญาซื้อขายแฟรนไชส์กันเรียบร้อยแล้ว เจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์ก็ควรที่จะพูดให้การต้อนรับผู้ซื้อแฟรนไชส์คนใหม่ หรือส่งเป็นหนังสือแสดงความยินดีในการเข้ามาร่วมเป็นแฟรนไชส์ซี เป็นส่วนหนึ่งการพัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์ให้เติบโตไปด้วยกัน
หลังจากนั้นประมาณ 1 เดือน เจ้าของแฟรนไชส์ก็อาจไปตรวจเยี่ยมสาขาของแฟรนไชส์ซี มีการประชุม พูดคุย หาหนทางในการพัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์ รวมถึงให้คำแนะนำต่างๆ ในการทำธุรกิจแก่แฟรนไชส์ซี
ได้เห็นแล้วว่า กระบวนการและขั้นตอนการปิดการขายธุรกิจแฟรนไชส์ ต้องใช้ความละเอียดรอบคอบ มีการประชุม ถกถียง และคัดค้านจากบุคคลหลายฝ่าย ก่อนที่จะทำการขายแฟรนไชส์ออกไป
เพราะถ้าตัดสินใจผิดในการขายแฟรนไชส์ ก็เหมือนกับเป็นการสร้างบาดแผลให้กับระบบแฟรนไชส์ ดังนั้น ก่อนการขายแฟรนไชส์ต้องคิด และตัดสินใจอย่างรอบคอบ
คุณผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจแฟรนไชส์และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise
อ่านบทความอื่นๆ จากไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ www.thaifranchisecenter.com/document
เลือกซื้อแฟรนไชส์ไทยขายดี เปิดร้าน www.thaifranchisecenter.com/directory/index.php
Franchise Tips
- การนำเสนอขายธุรกิจแฟรนไชส์
- การติดต่อผู้ซื้อแฟรนไชส์ครั้งแรก
- การนัดถกประเด็นรายละเอียดแฟรนไชส์
- การประชุมเพื่อปิดการขายแฟรนไชส์
- เว้นช่วง 10 วัน สำหรับตรวจสอบแฟรนไชส์ซีครั้งสุดท้าย
- บริการหลังการขายแฟรนไชส์
อ้างอิงจาก https://bit.ly/35Sp4Bj
ท่านใดสนใจอยากให้ร่างสัญญาแฟรนไชส์โดยถูกต้องตามหลักกฎหมายแจ้งความประสงค์ได้ที่
โทร : 02-1019187, Line : @thaifranchise