5 เทคนิคพลิกรายได้ ธุรกิจท่องเที่ยว! ปรับตัวสู้ “โควิด-19”

ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัส “โควิด-19” ดูจะหนักหนาสาหัสและมีผลกระทบกับธุรกิจจำนวนมาก โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่ถือว่าเป็นรายได้หลักของประเทศ งานนี้ได้รับผลเต็มๆ ถึงขนาดที่ผู้ประกอบการบางรายออกมาประกาศปิดกิจการเนื่องจากทุนหายกำไรหด

ซึ่ง www.ThaiSMEsCenter.com ประเมินว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้จะกินเวลาต่อเนื่องยาวนาน แม้อาจจะควบคุมการแพร่ระบาดได้ แต่ก็เป็นเรื่องของความเชื่อมั่นที่ต้องสร้างความมั่นใจ ให้เกิดขึ้นแก่ลูกค้า ซึ่งดูแล้วน่าจะต้องใช้เวลาฟื้นตัวพอสมควรทีเดียว

ประเมินสถานการณ์ “โควิด-19” ที่มีผลต่อธุรกิจท่องเที่ยว

pm1
ภาพจาก bit.ly/2TCNhoQ

ปัจจัยด้านลบที่ส่งผลต่อการท่องเที่ยว เรื่องของ “โควิด-19” ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้น ในอดีตผู้ประกอบต่างเคยเจอปัญหานี้ไม่ว่าจะเป็นการแพร่ระบาดของโรคซาร์ส , เมอร์ส หรือแม้แต่ “ทัวร์ศูนย์เหรียญ” เหล่านี้ก็เป็นปัญหาที่ผู้ประกอบการประสบพบเจอมาแล้ว

ซึ่งครั้งนี้นับเป็นวิกฤติอีกครั้งที่ Economic Intelligence Center (EIC) ประเมินว่า การระบาดของโรค COVID-19 จะส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยในปี 2020 ลดลงเหลือเพียงราว 37 ล้านคน หรือลดลง 7.1 เปอร์เซ็นต์ (YOY) ขณะที่ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ยังส่งผลกระทบต่อเนื่องถึง ภาคส่งออก การผลิต รวมถึงการบริโภคภายในประเทศ จน EIC ปรับลดคาดการณ์ GDP ปีนี้ จาก 2.7 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 1.8 เปอร์เซ็นต์

pm2
ภาพจาก bit.ly/38uPB6A

สอดคล้องกับข้อมูลที่สมาพันธ์มัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทย ออกมาเผยว่าการระบาดไม่หยุดของไวรัสโควิด-19 (Covid-19) อาจทำให้มัคคุเทศก์ทั่วประเทศตกงานไม่ต่ำกว่า 30,000 คน ขณะที่ก่อนหน้านี้ กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาได้ประเมินถึงเหตุการณ์การระบาดของ โควิด 19 หากสามารถยุติได้ภายในเดือนมีนาคม 2563 ภาคการท่องเที่ยวของไทยจะสามารถฟื้นตัวได้ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งจะทำให้ไทยเสียโอกาสในการสร้างรายได้ไป 5 เดือน คิดเป็นมูลค่า 300,000 ล้านบาท

ส่วนการตั้งเป้าหมายของธุรกิจท่องเที่ยวไทยในปี 2563 ก่อนจะมีการแพร่ระบาดของไวรัสดังกล่าวไว้ว่า จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด 41.8 ล้านคน สร้างรายได้รวม 3.16 ล้านล้านบาท แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น การไปถึงเป้าหมายที่วางไว้คงไม่เรื่องง่ายแล้ว

5 เทคนิค “เปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส” สำหรับธุรกิจท่องเที่ยว

pm3
ภาพจาก bit.ly/3ayntkq

เมื่อปัญหามันเกิดมาแล้ว จะมัวตีอกชกลมตีโพยตีพายก็คงไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ดีนัก ในบรรดาผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านช่วงเวลายากลำบากมาหลายครั้ง การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ครั้งนี้ก็ต้องพยายามเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส ซึ่ง 5 เทคนิคต่อไปนี้คือทำแนะนำจากผู้คร่ำหวอดในธุรกิจท่องเที่ยว

1. ธุรกิจท่องเที่ยวต้องจับมือเป็นพันธมิตรกัน

ในช่วงเวลาที่ยากลำบากทางออกที่น่าสนใจคือการจับมือเป็นพันธมิตรกัน เพื่อช่วยเหลือกันและกันของธุรกิจท่องเที่ยว อย่างเช่นภาคโรงแรมที่อาจจะมีการจัดกิจกรรมหรือแคมเปญร่วมกัน ยกตัวอย่างเช่นคนไปพักที่เชียงใหม่และเมื่อเช็คเอาท์ เขาอยากเดินทางไปต่อที่พัทยา เราก็มีโรงแรมที่ร่วมมือในพัทยาลดราคาค่าที่พักพิเศษให้ สิ่งเหล่านี้ก็จะมีผลต่อการตัดสินใจของลูกค้าเป็นการเกื้อกูลที่ไม่ใช่จะมาแข่งขันกันเองอีกต่อไป

2. ใช้เวลานี้ “รีโนเวท” ที่พักใหม่

pm4
ภาพจาก bit.ly/2VNenMy

จากการที่นักท่องเที่ยวจีนขาดหายไปจำนวนมาก รวมถึงนักท่องเที่ยวจากต่างชาติอื่นๆ แม้แต่นักท่องเที่ยวคนไทยก็ยังมีจำนวนลดน้อยลง บางโรงแรมในช่วงพีคๆ เคยรับลูกค้าต่างชาติได้ถึง80% แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดจำนวนมาก

ในเมื่อมีปัญหาดังนี้ใช้เวลาให้คุ้มค่าด้วยการ รีโนเวท โรงแรมที่พัก รีสอร์ท ให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม โดยอาจจะให้สิทธิ์พนักงานได้ลาพักในช่วงรีโนเวทนี้ ซึ่งอาจจะไม่ได้ทำให้เรามีรายได้งอกเงยในช่วงเวลาดังกล่าว แต่เป็นการลงทุนเพื่อกลับมาอย่างยิ่งใหญ่หลังสถานการณ์ได้คลี่คลาย เราก็จะกลายเป็นผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่มีโรงแรมที่พักสวยงามแปลกตา ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ดียิ่งกว่าเดิม

3. เพิ่มเติมบริการใหม่ๆ ให้ลูกค้า

เมื่อยอดจองที่พัก งานสัมมนา การจองห้องงานเลี้ยง งานแต่ง มีสัดส่วนลดลงอย่างน่าใจหาย ส่งผลเรื่องรายได้ของธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมชัดเจน สิ่งสำคัญคือผู้ประกอบการต้องหาลูกเล่นใหม่ ไอเดียใหม่ เป็นช่องทางรายได้ที่หลากหลายไม่ได้ยึดติดกับรายได้จากการเข้าพักเพียงอย่างเดียว

ไอเดียใหม่ๆ นี้ก็ควรจะสอดคล้องกับวิถีชีวิตและความต้องการของคนยุคใหม่ เช่น การเจาะกลุ่มตลาดที่เคยอยู่นอกเหนือสายตาอย่างชาวยุโรปตะวันออก เช่น ลัตเวีย โปแลนด์ หรือการทำคอร์สสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุและยังจับกลุ่มคนรักสุขภาพให้เข้ามาใช้บริการ ซึ่งเทรนด์นี้ถือเป็นกระแสฮิตที่กำลังเติบโตและน่าจะสร้างรายได้ชดเชยในภาวะวิกฤตินี้ได้มากขึ้น

4. สร้างมุมมองใหม่ของที่พัก “ให้แตกต่างกว่าเดิม”

pm5
ภาพจาก bit.ly/3cz7Yus

ในสถานการณ์ปกติโรงแรมที่พักต่างๆ ก็จะแข่งขันกันในเรื่องบริการ ที่คุ้มค่าคุ้มราคา แต่ตอนนี้หากจะให้มาแข่งกันลดราคาเพื่อดึงลูกค้า อาจจะได้ในเชิงปริมาณแต่สุดท้ายผู้ประกอบการก็ยังเจ็บตัวอยู่ดี ทางที่ดีที่สุดคือสร้างมุมมองใหม่ให้นักท่องเที่ยวที่ไม่ได้ยกเลิกจองที่พัก ได้หันมาสนใจและอยากจองที่พักกับโรงแรมหรือรีสอร์ทมากขึ้น

ซึ่งมุมมองใหม่นี้ต้องให้ลูกค้ารู้สึกถึงความแตกต่างว่าจะหาจากที่ไหนไม่ได้ เช่น อาจเลือกเปิดชั้นดาดฟ้าเป็น จุดชมวิว แหล่งปาร์ตี้ เพื่อให้ลูกค้าได้ชมบรรยากาศโดยรอบของโรงแรม ยิ่งหากโรงแรมอยู่ในทำเลสวยงามอย่างภูเขา หรือว่าทะเล จะยิ่งช่วยกระตุ้นความประทับใจให้ลูกค้าได้มากขึ้น

5. ลดต้นทุน ยืดค่าใช้จ่ายออกไป

สิ่งที่พอจะทำได้ด้วยตัวเองตอนนี้คือลดต้นทุนตัวเองให้เหลือน้อยที่สุด อะไรที่ยังไม่สำคัญไม่จำเป็นอย่าเพิ่งนำเงินออกมาจ่าย หรือแม้แต่โปรโมชั่น แคมเปญ หรือการจัดงานใดๆ ถ้าประเมินแล้วว่าเสี่ยงไม่คุ้มก็ควรชะลอไปก่อน ที่สำคัญช่วงเวลาแบบนี้ต้องหาโอกาสคุยกับภาคการเงินอย่างธนาคารหรือหน่วยงานราชการ ว่าเขามีมาตรการในการเยียวยา หรือมีแผนกระตุ้นอย่างไร โดยอาจจะมีงบประมาณบางส่วนที่จัดลงมาเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ แม้จะไม่ใช่ในรูปของเงินทุนแต่เป็นวิธีการหรือมาตรการอะไรก็ตามแต่ อย่างน้อยก็ยังพอมีประโยชน์และให้เราเอาไปต่อลมหายใจใช้ได้ในช่วงเวลาวิกฤติแบบนี้

เหนือสิ่งอื่นใด การสร้างความเชื่อมั่น ให้กับลูกค้าดูจะสำคัญมาก โดยเฉพาะเรื่องความสะอาดและมาตรการในการดูแลลูกค้าทุกคน ทางโรงแรมที่พัก จำเป็นต้องมีการทำความสะอาดตลอดเวลา มีจุดสำหรับวางเจลล้างมือ หรือมีมาตรการที่ชัดเจนว่าพร้อมดูแลลูกค้าทุกคนที่มาเข้าพักเป็นอย่างดี อย่างน้อยก็เพื่อสร้างความอุ่นใจได้มากขึ้น

ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจแฟรนไชส์และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน

ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise

0

ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ www.thaifranchisecenter.com/document

รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter

ขอบคุณข้อมูล
https://bit.ly/2TuX0ih , https://bit.ly/39ufbdj , https://bit.ly/32YLi2y

 

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/2IusM8D

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด