5 เรื่องน่ารู้ก่อนปลูกผักสลัดขาย

อาชีพเกษตรกร เคยเป็นอาชีพที่หลายคนมองข้าม ด้วยคิดว่าเป็นงานหนักและไม่คุ้มกับรายได้ที่ตามมา สมัยก่อนพ่อแม่ผู้ปกครองจึงตั้งใจส่งให้บุตรหลานได้เรียนสูงๆเพื่อทำงานที่ดีไม่ต้องมาเป็นเกษตรกรเหมือนคนรุ่นพ่อแม่

แต่ปัจจุบันแนวคิดนี้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงคนที่มีความรู้สูงระดับปริญญาตรี ปริญญาโทร หรือคนที่เคยทำงานประจำมีเงินเดือนสูง จำนวนไม่น้อยก็หันมาประกอบอาชีพเกษตกรรมเลือกการเพาะปลูกเป็นอาชีพหลัก

ผสมผสานกับการใช้แนวคิดของคนรุ่นใหม่ ทำตลาดแบบใหม่ ใช้เทคโนโลยีผสานการเพาะปลูกก็ทำให้อาชีพเกษตรกรรมกลายเป็นอีกหนึ่งการลงทุนที่ไม่ควรมองข้ามเป็นอย่างยิ่ง

และในช่วงที่ผ่านมากับกระแสคนรักสุขภาพมาแรงหลายคนก็คิดจะจับตลาดการปลูกผักสลัดที่เรารู้จักกันดีในชื่อของผักไฮโดรโปรนิกส์ ข้อดีของการปลูกผักแบบไฮโดรฯคือไม่ต้องใช้พื้นที่มากขอแค่มีความรู้และความเข้าใจในการเพาะปลูกก็เริ่มต้นอาชีพได้ไม่ยากนัก

แต่อย่างไรก็ตาม www.ThaiSMEsCenter.com มีเรื่องน่ารู้5ข้อเกี่ยวกับการปลูกผักไฮโดรมาฝากเอาไว้เป็นแนวทางสำคัญของใครที่อยากลงทุนในอาชีพนี้ได้เรียนรู้เป็นแนวทางเอาไว้

1.ต้องรู้จักคำว่าผักสลัดให้ดีก่อน

อาชีพเกษตรกร

ผักสลัดที่นิยมปลูกและรับประทานกันมากในปัจจุบันมีอยู่ 6 ชนิดด้วยกัน ได้แก่ กรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค คอส ฟิลเลย์ บัตเตอร์เฮด ปัตตาเวีย วิธีการที่นิยมใช้กัน คือ การปลูกแบบไฮโดรโปรนิกส์ ถ้าจะให้พูดเข้าใจกันง่ายๆ ก็คือ การปลูกพืชไร้ดิน โดยใช้น้ำที่ผสมสารอาหารและแร่ธาตุต่างๆ ที่จำเป็นต่อพืชหล่อเลี้ยงพืชให้เจริญเติบโต

ซึ่งข้อดีของการปลูกพืชแบบไฮโดรโปรนิกส์ คือ ใช้เวลาในการเตรียมพื้นที่ปลูกน้อย หากเป็นดินต้องมีการเตรียมดินและกำจัดวัชพืช นอกจากนี้ยังสามารถควบคุมการให้สารอาหารได้ดีและทั่วถึงกว่า ทำให้สามารถกำหนดขนาดของพืชให้เติบโตใกล้เคียงกันได้

นอกจากการปลูกแบบไฮโดรโปรนิกส์แล้ว ผักสลัดยังสามารถปลูกลงดินได้เช่นเดียวกับผักอื่นๆ หากมีพื้นที่เหมาะสม ทั้งดินและอากาศที่เอื้ออำนวย เย็นตลอดทั้งปี ก็สามารถเพาะปลูกได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการสร้างโรงเรือน ซึ่งมักเรียกสั้นๆ ว่า “ผักดิน”

2.รู้จักการกำหนดตลาดให้เข้ากับสถานที่ปลูก

oo10

ในการลงทุนปลูกผักสลัดไฮโดรโปรนิกส์ สิ่งที่ต้องลงทุนหลักๆ ได้แก่ ที่ดิน โรงเรือน แปลงปลูก อุปกรณ์การปลูกและเมล็ดพันธุ์ต่างๆเริ่มต้นต้องมาสำรวจก่อนว่า เรามีต้นทุนอะไรอยู่บ้าง เช่น พื้นที่ปลูกเป็นอย่างไร เหมาะสมต่อการปลูกลักษณะใด

ก่อนลงมือทำต้องมีการคำนวณคิดต้นทุนดีๆ ว่าต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง และจะขายในลักษณะใด ผลผลิตที่คาดว่าจะทำได้ สามารถตอบโจทย์หรือครอบคลุมต่อค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นหรือเปล่า มีกำไรเพียงพอให้สามารถทำธุรกิจได้หรือเปล่า

นอกจากนี้ต้องมาสำรวจก่อนว่าเรามีพื้นที่ปลูกอย่างไร เป็นที่ดินของตัวเองหรือพื้นที่เช่า หรือพื้นว่างของอาคาร เช่น บนดาดฟ้าตึก มีทำเลที่ตั้งอยู่ที่ใด ใกล้กับเมืองหรือต่างจังหวัด ซึ่งพื้นที่ปลูกจะเป็นหนึ่งในปัจจัยกำหนดวิธีการปลูกที่เหมาะสม

รวมถึงลักษณะการทำธุรกิจ เช่น หากมีพื้นที่เล็กๆ อยู่ในเมือง กลุ่มลูกค้าอาจเป็นลูกค้าปลีก หรือส่งร้านอาหาร พ่อค้าแม่ค้ารายเล็กๆ เป็นในลักษณะปลูกเองขายเองในละแวกใกล้เคียง หรือดัดแปลงเป็นสลัดส่งขาย หรือเปิดร้านอาหารเล็กๆ ก็ได้ จะทำให้ได้ราคาดีกว่าขายส่ง แต่หากมีพื้นที่กว้างอยู่ต่างจังหวัดหรือนอกเมืองไปไกลๆ อาจปลูกเพื่อขายในลักษณะขายส่งให้กับเจ้าประจำรายใหญ่ ซึ่งต้องการปริมาณผักที่มากและสม่ำเสมอ

3.รู้จักวิธีการปลูกและอุปกรณ์สำคัญที่ต้องใช้

oo11

เชื่อว่าคนที่คิดจะปลูกผักไฮโดรเป็นอาชีพนั้นต้องมีความรู้เบื้องต้นมาบ้างอาจจะไม่ต้อช่ำชองแต่เทคนิคเบื้องต้นน่าจะศึกษากันมาเป็นอย่างดีทั้งนี้สิ่งสำคัญที่ต้องเรียนรู้ในการปลูกผักไฮโดรโปรนิกส์มีสามส่วนคือ

อุปกรณ์ที่ใช้เพาะกล้า สามารถเลือกเป็นฟองน้ำ แกลบ หรือจะใช้เป็นเพอร์ไลท์ + เวอร์มิคูไลท์อย่างที่นิยมใช้ปลูกผักแบบไฮโดรโปรนิกส์ก็ได้ โดยเพอร์ไลท์จะเป็นก้อนเล็กๆ สีขาวไว้ช่วยยึดเกาะรากพืช ส่วนเวอร์มิคูไลท์จะเป็นก้อนแบนๆ มีสีน้ำตาลจะช่วยในเรื่องการอุ้มน้ำได้ดี เมล็ดพันธุ์ มีให้เลือก 2 ชนิด คือ แบบเคลือบดินและไม่เคลือบ เมล็ดเคลือบราคาแพงกว่าหลายเท่าตัว เนื่องจากเชื่อว่ามีเปอร์เซ็นต์การงอกที่ดีกว่า

ปุ๋ยหรือแร่ธาตุสำคัญ ที่ใช้สำหรับปลูกผักไฮโดรโปรนิกส์จะเรียกว่า ปุ๋ย A B แร่ธาตุในปุ๋ย A ประกอบด้วย แคลเซียมไนเตรท, เหล็ก ดีพี, เหล็ก โล ปุ๋ย B ประกอบด้วย โปแตสเซียมไนเตรท, แมกนีเซียมซัลเฟต, โมโนโปแตสเซียมฟอสเฟส ซึ่งแต่ละตัวจะมีฤทธิ์ความเป็นกรดด่างต่างกัน เวลาใช้จึงต้องแยกผสมน้ำทีละตัว โดยเว้นระยะเวลาให้ห่างกันเล็กน้อย ไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดตะกอน พืชไม่สามารถนำไปใช้ได้

4.รู้จักการหาตลาดในการจำหน่ายผักสลัด

oo14

ปัจจุบันมีหลายตลาดให้เลือก แต่ก่อนลงทุน ควรวางแผนตั้งแต่แรกแล้วว่าจะขายแบบใด ลูกค้า คือ ใคร เกี่ยวเนื่องไปถึงปริมาณการผลิตที่สามารถผลิตได้ด้วยตลาดขายส่ง เหมาะสำหรับผู้ประกอบการที่มีพื้นที่เพาะปลูกเยอะ ผลิตผักได้คราวละจำนวนมากๆ ราคาที่ได้อาจจะต่ำกว่าตลาดอื่นๆ แต่อาศัยขายเร็ว ขายหมดไว ทั้งนี้ตลาดส่วนใหญ่ของผักไฮโดรฯเช่น

ร้านอาหาร ส่วนใหญ่จะสั่งในปริมาณไม่มาก แต่สั่งบ่อย เพราะต้องการความสดใหม่ของสินค้า รวมถึงมีข้อจำกัดในพื้นที่จัดเก็บสินค้า จุดเด่นของตลาดประเภทนี้ คือ การจัดส่งที่ดี ตรงเวลา สร้างความสะดวกสบายให้กับลูกค้า

โมเดิร์นเทรด เป็นตลาดที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพของสินค้า แบรนด์ดิ้ง และแพ็กเกจจิ้ง สินค้าต้องได้มาตรฐาน อาจขายได้ราคาดี แต่ค่าใช้จ่ายก็ค่อนข้างสูงตามไปด้วย เช่น ค่า GP ที่คิดจากยอดขายกว่า 20 -30 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

โรงงานแปรรูป ที่ส่งให้กับร้านอาหารเชนต่างๆ เป็นช่องทางที่เหมาะสำหรับฟาร์มขนาดใหญ่ และมีระบบการปลูกที่เป็นระบบ ผักทุกต้นจะมีสเปคกำหนดว่าต้องปลูกได้ขนาดเท่าไหร่ เป็นตลาดที่น่าสนใจ ราคาปานกลาง แต่มีความต้องการใช้ที่แน่นอน ผู้ที่จะเข้าตลาดนี้ได้ต้องมีมาตรฐานในการผลิต เช่น GAP GMP

ขายปลีกหน้าฟาร์ม หรือตลาดสีเขียว เป็นการขายตรงถึงมือผู้บริโภค ได้ราคาดีกว่า เหมาะสำหรับฟาร์มขนาดเล็ก มีปริมาณการผลิตไม่มาก โดยสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับผักได้ เช่น การทำเป็นผักปลอดสารพิษ ไม่ใช่ยาฆ่าแมลง ผู้สนใจในช่องทางนี้ต้องเน้นการสร้างแบรนด์และทำการตลาดควบคู่กันไป

5.รู้จักการอัพเกรดสินค้าส่งจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้า

oo13

การจะเข้าโมเดิร์นเทรดหรือห้างใหญ่ๆ สิ่งสำคัญที่จำเป็นต้องมีมากๆ คือ ความสม่ำเสมอในการส่ง และมาตรฐานการผลิต การเริ่มต้นเข้าตลาดโมเดิร์นเทรดนี้เจ้าของฟาร์มก็ต้องติดดต่อกับทางห้าง ซึ่งก็ต้องมีการตรวจสอบสินค้า ดูสถานที่ปลูก ความสะอาด ความปลอดภัย ส่วนใหญ่คนที่ทำฟาร์มผักและต้องการส่งเข้าห้างจะต้องขอมาตรฐาน GAP ให้ได้ก่อนเป็นอันดับแรก

เมื่อผ่านกระบวนการเหล่านั้นก็จะเป็นการทำสัญญาที่เจ้าของฟาร์มต้องสามารถส่งออร์เดอร์ได้ตามที่ทางห้างกำหนดในราคาตามที่ตกลง ดังนั้นสิ่งสำคัญเมื่อกลายเป็นผักไฮโดรเข้าห้างสรรพสินค้าจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องบริหารจัดการผลิตให้ได้จำนวนที่ต้องการ

ที่สำคัญการเป็นผักไฮโดรขึ้นห้างก็ใช่ว่าเมื่อทุกอย่างผ่านพิจารณาแล้วจะจบในทันทีงานนี้ก็ต้องมีช่วงทดลองงานก่อน 3 เดือนว่าเราทำได้ตามที่ตกลงกันไว้หรือไม่ หากทำได้ก็จะกลายเป็นสัญญาถาวรและพร้อมที่จะขยายออร์เดอร์ให้เราสามารถส่งเข้าห้างสรรพสินค้าในแต่ละสาขาได้มากขึ้นด้วย

ในการคิดค่าตอบแทนนั้นก็มีให้เลือกหลายวิธีขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่างทั้งสองฝ่าย เช่น เสียค่า GP ซึ่งส่วนใหญ่จะคิดกันที่ 30 เปอร์เซ็นต์ จากยอดขาย และบางแห่งอาจเก็บค่าขึ้นเชลล์ด้วย แต่ระบบนี้ถ้าสินค้าเหลือต้องมีการเข้าไปเก็บสินค้าเอง อีกระบบ คือ ขายขาดให้ห้างไปเลยการเลือกระบบนี้ ถึงแม้จะได้กำไรน้อยกว่า แต่ก็ยุ่งยากน้อยกว่า ซึ่งห้างที่รู้ว่าสินค้าขายได้แน่นอน เขาจะชอบระบบนี้ เพราะทำกำไรได้มากกว่าเช่นกัน

ปัจจุบันอาชีพเกษตรกรไม่ว่าจะเป็นการปลูกผักไฮโดรหรือทำสวนพืชผลไม้อย่างอื่นถือว่าเป็นอาชีพที่คนส่วนใหญ่สนใจมาก และในยุคที่การสื่อสารล้ำหน้ามากขึ้น

ทำให้มีเทคโนโลยีมากมายเข้ามาช่วยในการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพมากขึ้นหากเราสนใจและใส่ใจในอาชีพด้านนี้มีข้อมูลมากมายที่เราสามารถเรียนรู้และเอาแนวคิดเหล่านั้นมาประยุกต์ใช้กับการเกษตรที่เราต้องการ งานนี้ก็สามารถเป็นนายตัวเองได้อย่างภาคภูมิใจเช่นกัน

สำหรับท่านใดที่ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจเรามีรวบรวมบทความมากมายไว้ให้ทุกท่านพิจารณากันตามความเหมาะสม ดูรายละเอียด goo.gl/Io5k2S

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด