5 ยุทธศาสตร์ของ DEPA ผลักดันเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 เต็มรูปแบบ
ได้ยินกันมาสักระยะหนึ่งแล้วกับเรื่อง ไทยแลนด์ 4.0 แต่ดูเหมือนว่าความคืบหน้าในเรื่องนี้จะต้องได้รับการปฏิรูปในอีกหลายภาคส่วน นั้นคือความท้าทายในการผลักดันที่มีผลต่อเรื่องของการลงทุนทั้งแบบSMEs และบรรดาStartup
ทั้งหลายที่ต้องผนวกเรื่องของเทคโนโลยีมาเป็นส่วนหนึ่งในการทำธุรกิจเพื่อให้สอดคล้องกับสังคมธุรกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ไปแล้วค่อนข้างมากถึงขนาดที่บางประเทศมีแผนยุทธศาสตร์กับการผลักดันไปสู่ยุค 5.0 กันเลยทีเดียว
นี่คือภารกิจครั้งสำคัญที่ www.ThaiSMEsCenter.com มองว่าในฐานะที่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ DEPA เป็นหน่วยงานหลักที่ดำเนินการสนับสนุน ส่งเสริม และผลักดันในเรื่องนี้ต้องมีการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน
ซึ่งในรูปแบบการทำงานเอง DEPA ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับ 5 ยุทธศาสตร์ที่ทำให้พอมองเห็นทิศทางการเปลี่ยนแปลงได้มากพอสมควรที่สำคัญคือทุกภาคส่วนจะร่วมมือกันผลักดันเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นได้อย่างจริงจังมากน้อยแค่ไหน โดยยุทธศาสตร์ 5 ประการในการเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุค 4.0 นั้นมีด้วยกันดังนี้
1.ส่งเสริมการใช้แพลตฟอร์ม CMS (Channel Management System)
DEPA มีเป้าหมายส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีพันธุ์ใหม่ ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและ OTOP สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อพัฒนาศักยภาพธุรกิจโดยใช้แพลตฟอร์ม CMS ซึ่งเป็นระบบศูนย์กลางการที่เชื่อมต่อตลาดอิเล็กทรอนิกส์ หรือ eCommerce
จึงช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถลงสินค้าขายบนโลกออนไลน์ได้อย่างสะดวก และสามารถบริหารจัดการข้อมูลของสินค้าโดยตรงจากระบบ CMS ที่ช่วยอำนวยความสะดวกและลดปัญหาในการจัดการสินค้า ทั้งในด้านการจดจำพาสเวิร์ด การตั้งราคาขาย และการอัพเดทสต๊อกได้อย่างสะดวก และแพลตฟอร์ม CMS ยังช่วยเชื่อมโยงโอกาสในการขายสินค้าไปสู่ลูกค้าทั้งในและต่างประเทศอีกด้วย
2.การส่งเสริมผู้ประกอบการจดแจ้งลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญา
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลได้สร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาให้กับกลุ่มประชาชน กลุ่มผู้ประกอบการ ตลอดจนผู้ที่อยู๋ในกลุ่มอุตสาหกรรม โดยได้ร่วมมือกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา
เพื่ออบรม สัมมนา ให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องรวมถึงความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการแปลงทรัพย์สินทางปัญญาให้เป็นทุน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศเพื่อเข้าสู่ยุค Thailand 4.0
3.การส่งเสริมผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุน
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สร้างความร่วมมือกับสถาบันการเงิน เช่น บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ดำเนินโครงการค้ำประกันสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการในวงเงิน 10,000 ล้านบาท
เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการพันธุ์ใหม่และ Digital Startupรวมถึงการสร้างความร่วมมือกับสถาบันการเงินทั้งภาครัฐและเอกชนในการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรมสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำ
4.การขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการซอฟต์แวร์และดิจิทัลคอนเทนต์
เป็นอีกหนึ่งมาตรการที่สำคัญในการส่งเสริม และพัฒนากลุ่มผู้ประกอบการ โดยการขึ้นทะเบียนเพื่อรับรองความมีตัวตน สร้างความน่าเชื่อถือ อีกทั้งสำนักงานยังสามารถอัพเดทข้อมูลของผู้ประกอบการเพื่อนำมาขยายผล วิเคราะห์ หาแนวทางการส่งเสริมแก่กลุ่มผู้ประกอบการในอนาคตได้อีกด้วย
5.การผลักดันส่งเสริมให้เกิดดิจิทัลสตาร์ทอัพ
โดยผ่านการสร้างนักคิดนักพัฒนาสินค้าและบริการดิจิทัล ส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และการดำเนินธุรกิจร่วมกันระหว่างผู้พัฒนาเทคโนโลยี ผู้ประกอบการในแต่ละอุตสาหกรรม และนักลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดการปฏิรูปการดำเนินธุรกิจแบบดั้มเดิม สู่การดำเนินธุรกิจในรูปแบบดิจิทัล
และภายใต้แนวทางดังกล่าว สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ได้จัดทำแผนการดำเนินงานระยะ 20 ปี ภายใต้เป้าหมายที่จะผลักดัน ส่งเสริม และสนับสนุน ให้เกิดผู้ประกอบการดิจิทัล จำนวน 500,000 ราย หรือเฉลี่ยปีละ 25,000 ราย
โดยแบ่งออกเป็น ส่งเสริมธุรกิจ Startup จำนวน 20,000 ราย , ส่งเสริมผู้ประกอบการด้าน Hardware 50,000 รายส่งเสริมประกอบการจากต่างประเทศจำนวน 80,000 ราย และ การปรับเปลี่ยนผู้ประกอบการดั้งเดิมให้เป็นผู้ประกอบการดิจิทัล จำนวน 350,000 ราย
ทั้งนี้ก็คงต้องมารอดูกันว่าภายใต้เศรษฐกิจที่ยังชะลอตัวและความไม่แน่นอนทางการเมืองของเมืองไทย การผลักดันให้เมืองไทยเป็นไทยแลนด์ 4.0 นั้นจะมีประสิทธิภาพได้มากน้อยแค่ไหน
และในขณะที่เรากำลังพยายามจะก้าวไปในเรื่องนี้ต่างประเทศเองก็เริ่มมีแม่บทเกี่ยวกับสังคมในยุค 5.0 ขึ้นมาถ้าเรายังไม่รีบปรับตัวให้ก้าวตามจะยิ่งกลายเป็นล้าหลังซึ่งในทางธุรกิจแล้วไม่เป็นผลดีในระยะยาวแม้แต่นิดเดียว
สำหรับท่านใดที่ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจเรามีรวบรวมบทความมากมายไว้ให้ทุกท่านพิจารณากันตามความเหมาะสม ดูรายละเอียด goo.gl/Io5k2S