3 ไอเดียเปลี่ยน ขยะ ให้กลายเป็นเงิน
ตัวเลขจากกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ระบุว่าใน 6 เดือนแรกของปี 2560 นั้นประเทศไทยมีขยะมูลฝอยเกิดขึ้นกว่า 27.39 ล้านตัน แน่นอนว่าปัญหา ขยะ มูลฝอยเหล่านี้มีให้เห็นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะช่วงฤดูฝนที่ผ่านมาที่เกิดการอุดตันของท่อระบายน้ำหรือ ขยะ ที่ติดตามประตูระบายน้ำต่างๆ
ในขณะที่ประเทศอย่างสวีเดนที่สามารถจัดการปัญหาขยะในประเทศได้อย่างเด็ดขาดถึงขนาดต้องซื้อขยะจากต่างประเทศปีละกว่า 700 ตันเพื่อเอามารีไซเคิลสร้างเป็นพลังงานไฟฟ้าและความร้อนส่งให้กับบ้านเรือนของคนในประเทศ
มุมมองของ www.ThaiSMEsCenter.com นั้นเห็นว่าขยะอาจมองเหมือนสิ่งที่ไร้ค่าและการจัดการในบ้านเราก็ยังไม่มีประสิทธิภาพแต่ในขณะเดียวกันหากมีไอเดียดีๆการเปลี่ยนขยะให้เป็นรายได้ก็ถือเป็นการลงทุนที่น่าสนใจเพราะวัตถุดิบที่จะนำมาใช้นั้นมีเยอะเหลือเกิน ลองไปดูไอเดียการเปลี่ยนขยะให้เป็นเงิน เผื่อว่าจะปิ๊งและคิดอะไรดีๆ ขึ้นมาได้
1.“กรีน คอลเล็ค” (Green collect) ธุรกิจสร้างเงินจากขยะในเมลเบิร์น
Green collect เป็นธุรกิจในเมลเบิร์น ออสเตรเลีย รูปแบบคือ รับจ้างขนขยะอุปกรณ์สำนักงานจากบริษัทต่างๆ โดยจะนำมาปรับปรุงให้กลายเป็นสิ่งของที่มีประโยชน์ และนำกลับมาขายให้แก่บริษัทเดิมที่ทิ้งสิ่งของนั้นไป ซึ่งเท่ากับได้เงินถึงสองต่อ ธุรกิจนี้ผู้ก่อตั้งคือ แซลลี่ ควินน์
ปัจจุบัน กรีน คอลเล็ค มีพนักงานประจำประมาณ 30 ราย และมีรายได้ต่อปีประมาณ 8 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 28 ล้านบาท โดยใช้เงินทุนหมุนเวียนของบริษัทประมาณ 85%
ส่วนที่เหลือเป็นการสนับสนุนจากองค์กรต่างๆ และหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งสินค้าจากขยะที่ปรับปรุงใหม่ของ Green collect ช่วง 18 เดือนที่ผ่านมานั้นมีแฟ้มเอกสารถึง 75,000 แฟ้ม ปุ่มคีย์บอร์ด, อุปกรณ์เครื่องเขียน ปากกา ไฮไลท์ ที่ถูกทิ้ง ของเหล่านี้เมื่อถูกปรับปรุงใหม่นอกจากขายต่อให้บริษัทแล้วยังมีไปวางขายตามหน้าร้านต่างๆในเมลเบิร์นอีกด้วย
ข้อมูลและรูปภาพจาก goo.gl/g2C3jP
2.เปลี่ยนกะลามะพร้าว เป็นรายได้
ภาพจาก goo.gl/Bhrsev
อาจจะเป็นเรื่องใกล้ตัวคนไทยกับของเหลือใช้จากธรรมชาติที่มีหลายอย่างที่สามารถเอามาปรับปรุงพัฒนาให้กลายเป็นสินค้าที่น่าสนใจ เช่นเดียวกับที่ บีโกล(Bicol) ในฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติแต่มีขยะเหลือใช้คือกะลามะพร้าว จำนวนมาก
เพราะอาหารท้องถิ่นส่วนใหญ่ล้วนมีกะทิเป็นส่วนผสม ไอเดียที่น่าสนใจคือการเอากะลามะพร้าวเหล่านั้นมาสร้างสรรค์งานศิลปะด้วยการวาดภาพที่สะท้อนวัฒนธรรมของคนฟิลิปปินส์กลายเป็นสินค้าที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจและสร้างรายได้มากกว่าที่คิด
ในเมืองไทยเองก็ดูจะมีแนวคิดของการเปลี่ยนกะลาให้เป็นรายได้เช่นกลุ่มหัตถกรรมกะลามะพร้าวบ้านคอกวัวที่มีการส่งออกสินค้าที่ทำจากกะลามะพร้าวสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 3 ล้านบาทต่อปี จากการก่อตั้งกลุ่มที่มีสมาชิกแค่ 10 คนในปี 2526 จนปัจจุบันกลายเป็นกลุ่มใหญ่ที่มีสมาชิกกว่า 74 คน
3.เปลี่ยนความร้อนจากการเผาขยะมาใช้ประโยชน์ จาก Toyama Kankyo Seibi (ญี่ปุ่น)
เมืองโทยามะในญี่ปุ่นมีอากาศหนาวเย็นเป็นส่วนใหญ่ บริษัทจัดการขยะชื่อ Toyama Kankyo Seibi จำกัด จึงมีแนวคิดที่จะรวบรวมเอาขยะจากในเมืองที่มีกว่าปีละ 300,000 ตัน และขยะที่ต้องเผาทิ้งก็จะเกิดปัญหามลพิษและไม่มีประโยชน์
ดังนั้นทางบริษัทจึงพัฒนาเอาความร้อนที่ได้นี้มาใช้ในตู้เรือนกระจกสำหรับการปลูกพืชเศรษฐกิจต่างๆ เพราะในฤดูหนาวอากาศที่หนาวเย็นทำให้พืชผลในพื้นที่ไม่มีผลผลิตการสร้างตู้กระจกและใช้ความร้อนจากการเผาขยะในการสร้างความอบอุ่นนี้
ทางบริษัทมีเป้าหมายในการผลิตมะเขือเทศให้ได้ปีละ 500 ตัน รวมถึงดอกไม้อย่างไลเทนซัสอีกปีละ 1,400,000 ดอก โดยที่มะเขือเทศส่วนใหญ่จะถูกส่งไปจำหน่ายตามร้านค้าทั่วญี่ปุ่นและถูกส่งออกมาขายในประเทศไทยด้วย รายได้รวมจากการจำหน่ายมะเขือเทศและดอกไม้อยู่ที่ปีละประมาณ 6,000,0000 ดอลลาร์สหรัฐ
ข้อมูลและรูปภาพจาก goo.gl/khCFMp , goo.gl/YgmWVR
เรื่องของขยะเป็นปัญหาระดับประเทศที่ยังต้องการแนวทางในการพัฒนาอีกมาก การจะลดขยะให้ได้สิ่งแรกต้องมาจากการสร้างวินัยของประชากร ซึ่งก็คงต้องเป็นเรื่องของการทำในระยะยาว ถ้าเริ่มต้นตอนนี้เชื่อว่ากว่าจะเห็นผลได้ก็คงไม่ต่ำกว่า 10 ปีแน่
สำหรับท่านใดที่ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจเรามีรวบรวมบทความมากมายไว้ให้ทุกท่านพิจารณากันตามความเหมาะสม ดูรายละเอียด goo.gl/Io5k2S