19 มาตรการ รัฐบาลงัดสู้โควิด-19 พร้อมวิธีลงทะเบียนรับเงิน 5,000
หลังจากที่รัฐบาลเตรียมประกาศใช้ พรก.ฉุกเฉินที่จะเริ่มในวันที่ 26 มีนาคม 2563 แม้จะยังไม่ทราบเนื้อหาสาระและข้อกำหนดที่จะบังคับใช้ ซึ่งคาดว่าน่าจะมีรายละเอียดเพิ่มเติมในช่วง 1-2 วันนี้
ซึ่ง พรก.ฉุกเฉินดังกล่าวก็ถือเป็นอีกหนึ่งมาตรการที่รัฐบาลพยายามงัดเอามาใช้รับมือ แม้จะมีหลายเสียงบ่นตามมาว่า “ช้าเกินไป” หรือ ทำไมไม่ใช้ “เคอร์ฟิว” ยกตัวอย่างในประเทศอินเดียที่ตอนนี้ประกาศใช้ “เคอร์ฟิว” ล็อคดาวน์ทั้งประเทศเป็นที่เรียบร้อย
แต่ในมุมมองของ www.ThaiSMEsCenter.com คิดว่ามีมาตรการออกมาก็ยังดีกว่าไม่พยายามทำอะไรเลยสังคมไทยกับต่างชาติอาจแตกต่างกัน ความละเอียดอ่อนในสังคมก็ต่างกัน
ดังนั้นในเมื่อบ้านเรายังไม่มีความเด็ดขาดเหมือนในต่างประเทศ แต่อย่างน้อยก็มีหลายมาตรการที่รัฐบาลงัดออกมาสู้โควิด-19 พร้อมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดนี้ ซึ่งเราได้รวบรวมมาทั้งหมด 19 มาตรการมีอะไรบ้าง ลองไปดู
19 มาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด19
ภาพจาก เฟซบุ๊ก Live NBT2HD
ศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคโควิด 19 ได้ออกมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการซึ่งได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัสโควิด 19 โดยเน้นการเพิ่มสภาพคล่องและการลดภาระผู้ประกอบการ โดยแบ่งเป็นมาตรการ 2 ระยะ ดังต่อไปนี้
มาตรการระยะที่ 1 (ประกาศใช้เมื่อวันที่ 10 มีนาคม) จำนวน 12 มาตรการ คือ
ภาพจาก เฟซบุ๊ก Live NBT2HD
เน้นการเพิ่มสภาพคล่อง (7 มาตรการ)
- มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 150,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2% สองปีสินเชื่อไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อราย
- มาตรการพักต้น ลดดอกเบี้ย และขยายระยะเวลาชำระหนี้แก่ลูกหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐบาล เช่น ธนาคารออมสิน, ธนาคารอาคารสงเคราะห์, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร, ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม
- มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้จากธนาคารแห่งประเทศไทย ช่วยผ่อนคลายและปรับหลักเกณฑ์โครงสร้างหนี้
- สินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงานของประกันสังคม วงเงินสินเชื่อ 30,000 ล้านบาท โดยให้ดอกเบี้ยเริ่มต้น 3% ต่อปี ระยะเวลา 3 ปี ให้สถานประกอบการที่ขึ้นทะเบียนประกันสังคม
- มาตรการคืนสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการในประเภท ลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายจาก 3% เหลือ 1.5% เริ่มเดือนเมษายนถึงกันยายน 2563
- เร่งคืนภาษีมูลราคาเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการส่งออก
- เพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณปี 2563 โดยกรมบัญชีกลางได้ผ่อนปรนหลักเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้าง ปรับขั้นตอนและระยะเวลาการดำเนินการ
หลักการลดภาระ (5 มาตรการ)
- หักเพิ่มภาษีดอกเบี้ยจ่าย จาก 1 เท่า เป็น 1.5 เท่า (Soft loan 150,000 ล้านบาท)
- บรรเทาภาระการจ่ายค่าน้ำ-ค่าไฟ และคืนค่าประกันการใช้ไฟ
- ลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมของนายจ้างและลูกจ้างมาตรา 33 จาก 5% เหลือ 4% มาตรา 39 จาก 9% เหลือ 7%
- ไม่ปลดแรงงาน หักรายจ่ายค่าจ้างงานได้ 3 เท่า
- บรรเทาภาระค่าธรรมเนียม ค่าเช่า ค่าตอบแทนการให้บริการของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ เรื่องการจ่ายค่าเช่าที่ราชพัสดุ สำหรับผู้เช่าประเภทผู้ประกอบการในธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง
มาตรการระยะที่ 2 สำหรับช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจาก โควิด 19 จำนวน 8 มาตรการ
ภาพจาก เฟซบุ๊ก Live NBT2HD
- สนับสนุนเงิน คนละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน (เมษายน-มิถุนายน 2563) : ให้เงินเยียวยาแรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระที่ไม่อยู่ระบบประกันสังคม จากการปิดที่เสี่ยงต่อการระบาดชั่วคราว จำนวน 3 ล้านคน สำหรับผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคม : เพิ่มสิทธิกรณีว่างงาน 50 เปอร์เซ็นต์ ของค่าจ้าง โดยกรณีนายจ้างไม่ให้ทำงาน รับเงินไม่เกิน 180 วัน และกรณีรัฐสั่งหยุด รับเงินไม่เกิน 90 วัน โดยธนาคารกรุงไทย จะเป็นผู้รับลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการ
- สินเชื่อฉุกเฉิน 10,000 บาทต่อราย : วงเงินรวม 40,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 0.1 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน ไม่ต้องมีหลักประกัน โดยธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 40,000 ล้านบาท (ธนาคารออมสิน 20,000 ล้านบาท และ ธ.ก.ส. 20,000 ล้านบาท) ระยะเวลากู้ ไม่เกิน 2 ปี 6 เดือน ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563
- สินเชื่อพิเศษ 50,000 บาทต่อราย : โดยธนาคารออมสินสนับสนุนสินเชื่อ วงเงิน 20,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 0.35 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน มีหลักประกัน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปี รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563
- สำนักงานธนานุเคราะห์ รับจำนำดอกเบี้ยต่ำ : เพื่อช่วยเหลือประชาชนฐานรากที่ได้รับผลกระทบ โดยธนาคารออมสินสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำวงเงินรวม 2,000 ล้านบาท ให้แก่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในนามของสำนักงานธนานุเคราะห์ (สธค.) คิดดอกเบี้ยจากประชาชนในอัตราไม่เกิน 0.125 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน ระยะเวลา 2 ปี
- ยืดการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา : เลื่อนกำหนดเวลาการยื่นแบบและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาออกไป จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2563 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 สิงหาคม 2563
- หักลดหย่อนเบี้ยประกันสุขภาพเพิ่มขึ้น : เพิ่มวงเงินลดหย่อนค่าเบี้ยประกันสุขภาพ จาก 15,000 บาท เป็น 25,000 บาท เมื่อรวมกับการหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันชีวิตและเงินฝากประเภทสงเคราะห์ชีวิตแล้ว ต้องไม่เกิน 100,000 บาท ทั้งนี้ ตั้งแต่ปีภาษี 2563 เป็นต้นไป
- ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับค่าเสี่ยงภัยให้บุคลากรทางการแพทย์
- ฝึกอบรมมีเงินใช้ : ฝึกอบรม เพิ่มทักษะอาชีพหรือจัดกิจกรรมเพื่อสังคม รวมถึงนักศึกษาที่ยังหางานไม่ได้, ขยายฝึกอบรมผ่านภาคีเครือข่าย เช่น มูลนิธิโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือกองทุนหมู่บ้าน
ขั้นตอนในการลงทะเบียนรับเงินช่วยเหลือคนละ 5,000 บาท (ระยะเวลา 3 เดือน)
ภาพจาก เฟซบุ๊ก Live NBT2HD
- เข้าลงทะเบียนผ่านช่องทางออนไลน์ เว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com คาดว่าเว็บไซต์จะแล้วเสร็จในวันที่ 28 มีนาคม นี้ หรือติดตามประกาศจากทางการในลำดับต่อไป
- เตรียมหลักฐานสำหรับลงทะเบียน ได้แก่ หมายเลขบัตรประชาชน, ข้อมูลบริษัทนายจ้าง, ข้อมูลปัญหาความเดือดร้อน และข้อมูลบัญชีพร้อมเพย์ หรือบัญชีธนาคาร
- เงินเยียวยาจะถูกโอนเข้าบัญชีธนาคาร ภายใน 5 วัน หลังการลงทะเบียนเสร็จสมบูรณ์
ทั้งนี้การลงทะเบียนดังกล่าว จำกัดสิทธิ์เพียง 3 ล้านรายเท่านั้น โดยผู้ที่สามารถลงทะเบียนได้ ต้องเป็นลูกจ้างชั่วคราว, อาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม แต่ในส่วนของผู้ที่อยู่ในประกันสังคม จะสามารถเพิ่มสิทธิกรณีว่างงาน 50 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้าง โดยกรณีนายจ้างไม่ให้ทำงาน รับเงินไม่เกิน 180 วัน และกรณีรัฐสั่งหยุด รับเงินไม่เกิน 90 วัน โดยธนาคารกรุงไทย จะเป็นผู้รับลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการ
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจแฟรนไชส์และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise
ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/2xeeHKi
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter
ขอบคุณข้อมูล https://bit.ly/2WGOLSc , https://bit.ly/3brnLtM , https://bit.ly/2UeXXLV , https://bit.ly/2Ue9OtE
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/2UATEJP