19 พันธะที่ต้องมีในสัญญาแฟรนไชส์
สัญญาแฟรนไชส์ ถือเป็นสัญญาที่กฎหมายมิได้กำหนดรูปแบบไว้ แต่ควรทำเป็นลายลักษณ์อักษร โดยมีข้อกำหนดต่างๆ ในสัญญา เช่น พื้นที่ จะอนุญาตให้ผู้ซื้อแฟรนไชส์ดำเนินการในเขตพื้นที่ใดได้บ้าง ค่าธรรมเนียม สิทธิและหน้าที่ การให้การสนับสนุนแฟรนส์ไชส์ซี ระยะเวลาสัญญา สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องระบุในสัญญาแฟรนไชส์ให้ครบถ้วนที่สุด
แม้ว่าเจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์หลายรายจะรู้ดีว่า หน้าที่การทำสัญญาแฟรนไชส์เป็นงานของนักกฎหมาย ทนายความเป็นคนร่าง แต่ผู้ประกอบการธุรกิจแฟรนไชส์ ก็ต้องมีความรู้ในเรื่องสัญญาแฟรนไชส์อยู่บ้าง เพื่อเป็นผู้ให้แนวทางกับทนายความ ว่าต้องการให้สัญญาแฟรนไชส์บังคับใช้ในเรื่องอะไรบ้าง
วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com มีแนวทางการเขียนสัญญาแฟรนไชส์แบบคร่าวๆ โดยอ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ Entrepreneur.com เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้กับผู้ประกอบการธุรกิจแฟรนไชส์ และจะได้รู้ว่าในสัญญาแฟรนไชส์ ต้องมีเงื่อนไขใดๆ รวมถึงสิ่งที่จะต้องระบุไว้ในสัญญา เพื่อให้เกิดความเข้าใจระหว่างเจ้าของแฟรนไชส์กับผู้ซื้อแฟรนไชส์
1.เครื่องหมายการค้าและข้อกำหนดในการใช้งาน
เป็นการระบุรายการของเครื่องหมายการค้าและทรัพย์สินทางปัญญาอื่นๆ ทั้งหมดในสัญญาธุรกิจแฟรนไชส์ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในกรรมสิทธิ์ และข้อกำหนดสำคัญระหว่างแฟรนไชส์ซอร์ กับ แฟรนไชส์ซี
2.การให้สิทธิ์แฟรนไชส์ระยะเวลาของสัญญา ค่าธรรมเนียม และการโอนสิทธิ์
เป็นการระบุถึงรายละเอียดของรูปแบบร้านแฟรนไชส์ สถานที่ตั้ง ขอบเขตของการใช้ประโยชน์จากเครื่องหมายการค้า และทรัพย์สินทางปัญญา ระยะเวลาของสัญญา การต่อสัญญาแฟรนไชส์ ค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์ และอื่นๆ
3.หน้าที่ของแฟรนไชส์ซอร์
เป็นการระบุถึงสิ่งที่แฟรนไชส์ซอร์ต้องปฏิบัติ และดำเนินการ ก่อนและหลังเปิดแฟรนไชส์ เพื่อให้แฟรนไชส์ซีสามารถประกอบการร้านแฟรนไชส์ได้ตามสัญญา เช่น การให้การสนับสนุนด้านต่างๆ แก่แฟรนไชส์ซี
4.หน้าที่ของแฟรนไชส์ซี
เป็นการระบุถึงสิ่งที่แฟรนไชส์ซีต้องปฏิบัติและยึดถือ เพื่อให้สามารถประกอบการร้านแฟรนไชส์ได้ตามสัญญา เช่น แฟรนไชส์ซีต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของแฟรนไชส์ซอร์ เช่น ซื้อสินค้า วัตถุดิบจากแฟรนไชส์ซอร์ อนุญาตใช้เครื่องหมายการค้า
5.มาตรฐานและเงื่อนไขทางเทคนิค
เป็นการระบุถึงกระบวนการต่างๆ ทั้งในด้านการผลิต การจัดจำหน่าย การให้บริการ การฝึกอบรม การเงินการบัญชีและการบริหารร้านแฟรนไชส์ การควบคุมคุณภาพแฟรนช์ ที่ทั้งสองฝ่ายต้องทำข้อตกลงร่วมกัน
6.ค่าตอบแทนการใช้สิทธิ์
ค่าตอบแทนการใช้สิทธิ์เป็นเงินที่แฟรนไชส์ซีจ่ายให้กับแฟรนไชส์ซอร์ เพื่อแลกกับการที่ได้โอกาสในการใช้สิทธิ์ประกอบการร้านแฟรนไชส์ โดยเงินดังกล่าวอาจเรียกเก็บตามสัดส่วนของยอดขายในแต่ละเดือน หรือตามแต่จะตกลงกัน
7.การโฆษณาและการส่งเสริมการขาย
เป็นการระบุเงื่อนไขและรูปแบบของการทําโฆษณาและการส่งเสริมการขาย รวมถึงการระบุจำนวนเงินค่าใช้จ่ายเพื่อการโฆษณาและการส่งเสริมการขาย ที่แฟรนไชส์ซอร์จะเรียกเก็บจากแฟรนไชส์ซี
8.การประกันภัย
เป็นการระบุถึงรูปแบบการทําประกันภัยที่แฟรนไชส์ซีพึงดําเนินการเพื่อเป็นการคุ้มครองรายได้ ค่าใช้จ่าย และผลของความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการประกอบการร้านแฟรนไชส์
9.บัญชีงบการเงิน รายงาน และการตรวจสอบ
เป็นการระบุเกี่ยวกับรูปแบบทางการบัญชีและการเงิน ที่แฟรนไชส์ซีต้องดำเนินการ รวมถึงการเปิดโอกาสให้แฟรนไชส์ซอร์สามารถเข้าตรวจสอบทางการบัญชีและการเงินได้
10.การผิดสัญญา การเลิกสัญญา และข้อกำหนดภายหลังการสิ้นสุดสัญญา
เป็นการระบุถึงเงื่อนไขและกรณีต่างๆ ที่จะนำไปสู่การผิดสัญญา การเลิกสัญญา และผลที่จะเกิดขึ้นจากการผิดสัญญาและการเลิกสัญญา
11.การไม่เปิดเผยความลับ
การขายแฟรนไชส์ จำเป็นจะต้องถ่ายทอดวิชาเฉพาะธุรกิจนั้นๆ ให้ผู้ซื้อ เช่น ร้านอาหารอาจจะมีเคล็ดลับเรื่องสูตรอาหารหรือกลยุทธ์พิเศษในเรื่องของการทำการตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเปิดเผยคู่มือในการทำธุรกิจ ที่มีรายละเอียดทุกอย่างที่เจ้าของแฟรนไชส์ได้ศึกษาขึ้นมา ด้วยประสบการณ์เป็นเวลานาน
เมื่อได้ถ่ายทอดให้แก่ผู้ซื้อแฟรนไชส์ไปแล้ว อาจจะมีโอกาสที่จะถูกนำไปเปิดเผยได้ ดังนั้น ในสัญญาควรมีการกำหนดในเรื่องนี้ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ซื้อแฟรนไชส์ ที่จะต้องรักษาความลับแม้กระทั่งเลิกสัญญาต่อกันไปแล้ว
12.การจัดการข้อพิพาท
เป็นการระบุถึงเงื่อนไขและการดำเนินการ ในกรณีที่เกิดข้อพิพาทระหว่างแฟรนไชส์ซอร์และแฟรนไชส์ซี หากเกิดปัญหาขึ้น เช่น หากมีข้อพิพาทเกิดขึ้นเกี่ยวกับสัญญาแฟรนไชส์ฉบับนี้ คู่สัญญาทั้งสองจะต้องตกลงระหว่างกัน ให้ทำการฟ้องร้องและดำเนินคดี ที่ศาลแพ่ง กรุงเทพมหานคร หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญา
13.การอบรม
เป็นส่วนที่เจ้าของแฟรนไชส์ต้องเปิดเผยให้กับผู้ซื้อแฟรนไชส์ได้รับรู้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการฝึกอบรมรูปแบบไหน อบรมสถานที่ใด รวมถึงสิ่งที่ผู้ซื้อแฟรนไชส์ต้องเตรียมตัวในการฝึกอบรม หรืองานสัมมนา
14. การแต่งตั้ง
คือการกำหนดอาณาเขตที่คุณจะให้แก่แฟรนไชส์ซี ที่ในสัญญา ก็จะมีระบุว่าคุณจะอนุญาตให้ผู้ซื้อแฟรนไชส์ได้รับสิทธิการดำเนินธุรกิจสิทธิใช้ทรัพย์สินทางปัญญา หรือการขายสินค้า ในอาณาเขตใด ภายใต้เงื่อนไขอย่างไรซึ่งคุณต้องคิดก่อน และกำหนดเอาไว้ในสัญญา
15.ข้อกำหนดเรื่องการเลือกสถานที่
โดยส่วนใหญ่แล้วธุรกิจแฟรนไชส์ บริษัทแม่มักมีส่วนในการช่วยเลือกสถานที่ ดังนั้นในสัญญาอาจจะมีการกำหนดไว้ในเรื่องนี้ว่า บริษัทแม่จะมีส่วนในการช่วยเลือกสถานที่หรือไม่อย่างไร
เนื่องจากผู้ขายแฟรนไชส์ที่ดี ส่วนมากจะต้องไม่ทำให้ธุรกิจที่ตั้งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นของบริษัทแม่เอง หรือของบริษัทแฟรนไชส์ซีล้มเหลว จึงมักมีความประสงค์ในการมีส่วนในการเลือกสถานที่ตั้งเพื่อเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจดำเนินกิจการไปได้
16.การโฆษณาส่งเสริมการขาย
การโฆษณาเพื่อส่งเสริมการขายเป็นอันดับหนึ่งที่สำคัญที่มักจะสับสนกันที่ควรจะมีการพูดถึงในสัญญาโดยระบุว่าใครเป็นผู้ที่มีหน้าที่ในการส่งเสริมการขาย และการโฆษณาใครเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย จะมีค่าใช้จ่ายส่วนรวมในการโฆษณาหรือไม่อย่างไรหรือมีค่าใช้จ่ายในการโฆษณาท้องที่ของร้านแฟรนไชซี่หรือไม่เป็นการระบุให้เข้าใจตรงกัน
17.ระเบียบในการดำเนินธุรกิจ
ในธุรกิจแฟรนไชส์จะต้องมีการกำหนดระเบียบในการดำเนินธุรกิจ เพื่อรักษามาตรฐานของร้าน ดังนั้น ในสัญญาแฟรนไชส์อาจจะมีการระบุคือ ระเบียบที่สำคัญที่ต้องปฏิบัติเอาไว้ โดยเฉพาะในเรื่องของการให้ตรวจสอบการดำเนินงานร้าน เพื่อประเมินผลการดำเนินงานของร้าน เป็นต้น
18.การโอนสัญญา
หากมีการทำธุรกิจแฟรนไชส์ไปแล้วเกิดไม่อยากทำขึ้นมา ผู้ที่ซื้อแฟรนไชส์จะมีสิทธิ์โอนต่อให้คนอื่นได้หรือไม่ ประเด็นนี้ผู้ขายแฟรนไชส์ควรคิดเอาไว้ก่อน แล้วระบุกฎเกณฑ์เรื่องนี้ไว้ในสัญญา และการโอนจะโอนได้ในเรื่องอะไรบ้าง
19.เอกสารแนบท้าย
ในการทำสัญญาอาจมีข้อสัญญาหลายเรื่อง เป็นการอนุญาตให้ใช้สิทธิเครื่องหมายการค้าหรือเอกสารรายละเอียดอื่นๆ ที่แนบท้าย ซึ่งอาจจะระบุอ้างอิงถึงเอกสารแนบท้าย และระบุว่าส่วนใดอยู่ภายใต้สัญญาฉบับนี้ด้วย
เรื่องของการค้าสัญญาระหว่างกัน ควรจะมีความเป็นธรรม ที่ให้โอกาสอีกฝ่ายหนึ่งได้อ่านทบทวนโดยละเอียดและได้ต่อรองในข้อตกลงต่างๆ กันก่อน ซึ่งการทำสัญญา ถ้าผู้ขายแฟรนไชส์จะสร้างระเบียบต่างๆ ขึ้นมา โดยที่ดูเป็นการเอาเปรียบอีกฝ่ายหนึ่ง ก็อาจจะไม่สามารถบังคับใช้ได้เลย เพราะอาจจะอยู่ในลักษณะของสัญญาที่ไม่เป็นธรรม
แม้ว่าผู้ประกอบการแฟรนไชส์จะรู้หลักการเขียนสัญญาแฟรนไชส์ แต่จริงๆ แล้ว การจัดทำสัญญาธุรกิจแฟรนไชส์ในแต่ละกรณี ควรได้รับคำปรึกษาและคำแนะนำจากนักกฎหมายที่มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งเป็นวิธีการดีที่สุด ในการป้องกันความเสียหายและข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นตามมาภายหลัง อย่าลืม! ต้องมีทนาย นักกฎหมาย ก่อนลงมือเขียนสัญญาฯ
ท่านใดสนใจอยากให้ร่างสัญญาแฟรนไชส์โดยถูกต้องตามหลักกฎหมายแจ้งความประสงค์ได้ที่
โทร : 02-1019187, Line : @thaifranchise
ใครที่มีสนใจอยากลงทุนธุรกิจแฟรนไชส์ อยากซื้อธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว สามารถคลิกเข้าไปข้อมูลการลงทุนธุรกิจแฟรนไชส์ต่างๆ หลากหลายแบรนด์ ได้ที่ goo.gl/H3S0hg
Franchise Tips
- เครื่องหมายการค้าและข้อกำหนดในการใช้งาน
- การให้สิทธิ์แฟรนไชส์ระยะเวลาของสัญญา ค่าธรรมเนียม และการโอนสิทธิ์
- หน้าที่ของแฟรนไชส์ซอร์
- หน้าที่ของแฟรนไชส์ซี
- มาตรฐานและเงื่อนไขทางเทคนิค
- ค่าตอบแทนการใช้สิทธิ์
- การโฆษณาและการส่งเสริมการขาย
- การประกันภัย
- บัญชีงบการเงิน รายงาน และการตรวจสอบ
- การผิดสัญญา การเลิกสัญญา และข้อกำหนดภายหลังการสิ้นสุดสัญญา
- การไม่เปิดเผยความลับ
- การจัดการข้อพิพาท
- การอบรม
- การแต่งตั้ง
- ข้อกำหนดเรื่องการเลือกสถานที่
- การโฆษณาส่งเสริมการขาย
- ระเบียบในการดำเนินธุรกิจ
- การโอนสัญญา
- เอกสารแนบท้าย
อ้างอิงข้อมูลจาก https://bit.ly/37KFyxA