17 ชื่อ 17 ความหมายจากแบรนด์ดังที่คุณต้องไม่รู้แน่ๆ
เคยคิดกันเล่นๆหรือเปล่าว่าชื่อแบรนด์ที่เราคุ้นหูกันอยู่ทุกวันนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร ทำไมต้องเป็นชื่อแบบนั้น หลายคนมองว่าไม่ใช่เรื่องสำคัญคิดชื่ออะไรก็ได้ให้คนจำได้ให้คนรู้จัก เรียกง่ายก็พอ แต่ในความเป็นจริงเจ้าของธุรกิจเองก็ต้องการให้ชื่อแบรนด์เหล่านั้นสะท้อนความเป็นตัวตนด้วยเช่นกันดังนั้นการคิดชื่อแบรนด์จึงมักจะแฝงด้วยนัยยะสำคัญ
ซึ่ง www.ThaiSMEsCenter.com ได้รวมเอา17แบรนด์ชื่อดังมาขยายความว่าแต่ละแบรนด์นั้นมีความหมายน่าสนใจอย่างไรอาจไม่ใช่เรื่องสำคัญมากนักแต่เชื่อเถอะว่าคุณเองก็ยังไม่รู้เหมือนกันว่าเขามีความหมายแบบนี้ด้วย
1.IKEA
ชื่อของ IKEA แบรนด์ร้านเฟอร์นิเจอร์ระดับโลกจากสวีเดนที่ก่อตั้งโดย Ingvar Kamprad ได้นำเอาอักษรแรกของชื่อและนามสกุลของเขามารวมกับอักษรแรกของฟาร์ม Elmtaeyd และหมู่บ้าน Agunnaryd ที่เขาเติบโตมา กลายเป็น IKEA ที่หลายคนอยากรู้คำแปลแต่ไม่มีให้นอกจากความหมายลึกซึ้งที่คนก่อตั้งเท่านั้นจะเข้าใจได้ดี
2.Canon
ใครจะเชื่อว่า Canon ก็มีแนวคิดเรื่องโชคลางเหมือนกันโดยชื่อแรกคือ Kwanon หรือพระโพธิสัตว์ในภาษาญี่ปุ่น โดยหวังว่าพระองค์จะอำนวยให้ประสบความสำเร็จในการผลิตกล้อง แต่เพื่อความเป็นสากลในปี 1935 จึงเปลี่ยนมาเป็น Canon
3.LEGO
ไม่รู้ว่าตั้งใจหรือเปล่าแต่ LEGO มาจากรากศัพท์เดิมในภาษาเดนิช LEG GODT ที่แปลว่า การเล่นอันยอดเยี่ยม นอกจากนั้นหากศึกษาลึกลงไปอีกคำว่า LEGO ในภาษาละตินยังหมายถึงต่อเข้ากันได้
4.Sony
จุดกำเนิดของคำว่า Sony มาจากภาษาละติน Sonus แปลว่า เสียง ในช่วงปี 1950 มีคำแสลงว่า Sonny boy เกิดขึ้น หมายถึง Smart Presentable Young Men ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นแบรนด์ Sony อย่างสมบูรณ์แบบถึงทุกวันนี้
5.Haagen-Dazs
ชื่อที่ไม่ได้มีความหมายแต่อย่างใด เจ้าของแบรนด์เพียงต้องการตั้งชื่อให้ดูเป็นภาษาเดนิชเพื่อจะสื่อถึงเดนมาร์กเป็นที่รู้จักดีในเรื่องของผลิตภัณฑ์จากนม และเป็นประเทศที่มีภาพลักษณ์ดีในสหรัฐฯ
6.WD-40
น้ำมันเอนกประสงค์ยอดนิยมยี่ห้อนี้ ใช้อักษร WD = water displacement (ไล่น้ำ ไล่ความชื้น) ส่วนตัวเลข 40 มาจากการทดลองสูตรที่ล้มเหลว 39 ครั้ง ก่อนจะประสบความสำเร็จในการทดสอบครั้งที่ 40 จึงมีการตั้งชื่อแบรนด์ WD-40
7.Yahoo
เป็นคำย่อของ Yet Another Hierarchical Officious Oracle และ “ยาฮู” ยังเป็นชื่อตัวละครหนึ่งในวรรณกรรมเยาวชนเรื่อง “การเดินทางของกัลลิเวอร์” ของโจนาธาน สวิฟต์
8.Pepsi
ชื่อเดิมของน้ำอัดลมแบรนด์นี้คือ Brad’s Drink ตั้งตามชื่อ Caleb Bradham ผู้คิดค้นเครื่องดื่มนี้ ต่อมาปี 1898 เปลี่ยนแบรนด์เป็น Pepsi มาจาก dyspepsia ศัพท์ทางการแพทย์ หมายถึงภาวะอาหารไม่ย่อย การเปลี่ยนเป็น Pepsi เพื่อสื่อว่าเป็นเครื่องดื่มช่วยย่อย
9.Google
แผลงจาก googol เป็นศัพท์คณิตศาสตร์หมายถึงจำนวนมหาศาล คือเป็นจำนวนซึ่งมีค่าเท่ากับ 10 ยกกำลัง 100 หรือเลข 1 ที่มีเลขศูนย์ตามอีก 100 ตัว
10.Virgin
ก่อนจะมาเป็นแบรนด์ Virgin มีการระดมความคิดเพื่อตั้งชื่อ และก็มีสมาชิกคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้หญิงเสนอชื่อ Virgin ที่หมายถึงบริสุทธิ์ผุดผ่อง อันหมายถึงการเป็นธุรกิจใหม่ที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน
11.Blackberry
หลายแบรนด์อาจตั้งชื่อตามหลักภาษาละตินหรือมีรากศัพท์มาจากภาษาอื่นๆ แต่สำหรับ Blackberry แล้วตั้งชื่อแบรนด์ตัวเองตามลักษณะสินค้าคือปุ่มตัวอักษรหน้าจอที่มีลักษณะเรียงกันเหมือนผิวของผลแบล็คเบอร์รี่
12.Spotify
ใครจะเชื่อว่าบริการเช่าเพลงออนไลน์ยอดนิยมที่เกิดจากผู้ร่วมก่อตั้ง 2 คนได้ตะโกนคุยกันข้ามห้องเพื่อเช็คสถานะโดเมนเนมว่าชื่อไหนว่าง ปรากฏว่าอีกคนฟังผิด เลยใช้ Spotify มาตลอด
13.Oracle
เป็นชื่อรหัสโปรเจกต์ที่แลร์รี่ เอลลิสัน และบ็อบ โอทส์ ผู้ก่อตั้งบริษัทดำเนินการให้กับหน่วยข่าวกรอง CIA ของสหรัฐฯ โปรเจกต์นี้เกี่ยวเนื่องกับการทำฐานข้อมูลที่สามารถตอบคำถามได้ทุกอย่าง
14.Starbucks
ก่อนจะเป็นชื่อ Starbucks เคยเป็นชื่อ Starbo ก่อนจะเปลี่ยนเป็นชื่อตัวละครในหนังสือเรื่อง Moby Dick ส่วนโลโก้มาจากการค้นพบรูปแกะสลักโบราณสมัยศตวรรษที่15 นางเงือกไซเรนสองหาง (Norse Siren) เป็นเทพนิยายปรัมปรา ชวนให้นึกถึงการผจญภัยในทะเล
15.Reebok
Reebok สามารถสะกดได้อีกแบบคือ Rhebok เป็นศัพท์แอฟริกัน+ดัทช์หมายถึงสัตว์ประเภทละมั่ง โดยตั้งใจสื่อถึงการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วปราดเปรียวและสง่างาม อันเป็นเอกลักษณ์ของสินค้าเกี่ยวกับกีฬา
16.Skype
มาจากคำว่า Sky-peer-to-peer หมายถึงการติดต่อกับเพื่อนผ่านสัญญาณในอากาศ ต่อมาเปลี่ยนเป็น Skyper แต่ชื่อโดเมนเนมนี้มีคนใช้แล้ว จึงตัด R ออก เหลือเป็น Skype ในที่สุด
17.Amazon
เจฟ เบซอส ผู้ก่อตั้งอเมซอนต้องการชื่อบริษัทขึ้นต้นด้วยตัวอักษร A เมื่อไล่เรียงดู จึงตัดสินใจเลือกชื่อ Amazon เพราะต้องการให้บริษัทของเขายิ่งใหญ่ดังผืนป่าอเมซอน
จะเห็นได้ว่าหลักการตั้งชื่อให้แบรนด์สินค้าไม่นิยมคำที่ฟุ่มเฟือยหรือยาวจนเกินไป รวมถึงไม่เป็นคำที่เรียกยาก แบรนด์ระดับโลกเหล่านี้จึงมักมี2-3 พยางค์ เพื่อให้คนจำและสื่อสารบอกต่อได้ง่ายๆ หากเราคิดจะมีสินค้าของตัวเองและยังไม่มีชื่อแบรนด์เด็ดๆโดนๆ ก็ลองเอาแนวคิดเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ดูได้
สำหรับท่านใดที่ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจเรามีรวบรวมบทความมากมาย ติดตามได้ที่ goo.gl/Io5k2S
ขอบคุณข้อมูล goo.gl/ek2rDu