11 Key Success แฟรนไชส์ 7-Eleven
ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้ การค้าเป็นสนามที่มีการแข่งขันสูง โดยเฉพาะธุรกิจแฟรนไชส์ ถือเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ผู้ประกอบการรายย่อยจำนวนไม่น้อย ให้ความสนใจ และพร้อมกระโดดเข้าสู่สังเวียน
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจแฟรนไชส์เติบโตอย่างต่อเนื่อง เป็นเพราะมีการบริหารจัดการที่ดี และลงทุนไม่มากเท่ากับการประกอบธุรกิจขนาดใหญ่ ที่ต้องลงทั้งเงินมหาศาลและกำลังคนจำนวนมาก เสี่ยงต่อความผิดพลาดในการบริหารจัดการ
วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com จะพูดถึงธุรกิจแฟรนไชส์ 7-Eleven ถือเป็นกรณีศึกษาที่ดีให้กับธุรกิจแฟรนไชส์หลายๆ ยี่ห้อ เพราะแฟรนไชส์ร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ได้สร้างความแตกต่างด้านสินค้าและบริการ
พร้อมทั้งปรับตัวไปสู่ร้านอิ่มสะดวก เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่มเป็นรายสาขา สรรหาสินค้าและบริการที่ดีมีคุณภาพได้มาตรฐาน มาตอบสนองความต้องการหรือความคาดหวังของลูกค้า
แต่ถ้าจะพูดถึงความสำเร็จของ 7-Eleven ในเรื่องของการทำแฟรนไชส์ ต้องบอกว่าหลายๆ ธุรกิจ รวมถึงผู้ประกอบการที่คิดอยากทำแฟรนไชส์ สามารถเอาเป็นแนวทางและนำไปปรับใช้กับธุรกิจของตัวเองได้เป็นอย่างดีครับ
ภาพจาก goo.gl/CG6BIF
1.ธุรกิจมีประวัติมายาวนาน
7-Eleven มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจค้าปลีกจนเป็นที่ยอมรับ และมีประสบการณ์ในธุรกิจมายาวนาน โดยบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ได้รับสิทธิการใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวจาก 7-Eleven, Inc. สหรัฐอเมริกา และได้เปิดร้านสาขาแรกที่ซอยพัฒพงษ์เมื่อปี 2532 ณ วันนี้ 7-Eleven เปิดในประเทศไทยมาแล้วกว่า 30 ปี
ปัจจุบันมีสาขากว่า 10,268 สาขา และได้ตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2564 จะเพิ่มสาขาให้ได้ถึง 13,000 สาขา เพื่อรองรับกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภค ที่ต้องการความสะดวกในการจับจ่ายซื้อหาอาหารรวมถึงเครื่องใช้ในแต่ละวัน
2.สินค้าและบริการตอบโจทย์ตลาด
สินค้าที่ขายต้องเป็นที่ต้องการของตลาด และมีกว้างขวางทั่วประเทศ จะเห็นว่า 7-Eleven มีภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน ภาคใต้ ทั่วประเทศกว่า 70 จังหวัด แต่ความต้องการของสินค้าแต่ละภาคไม่เหมือนกัน
เช่น พื้นที่กรุงเทพฯ อยู่ติดกับโรงเรียน หรือชุมชน ออฟฟิศ กับใกล้แหล่งชุมชน ความต้องการสินค้าบางอย่างเหมือนกัน บางอย่างไม่เหมือนกัน ดังนั้น ถ้าธุรกิจจะทำแฟรนไชส์ ผู้ประกอบการต้องรู้ตลาดทั้งหมด ถึงจะขายหรือนำเสนอสินค้าได้
ภาพจาก facebook.com/cpall7
3.มีระบบบริหารงานแข็งแกร่ง
7-Eleven มีนโยบายและกลยุทธ์ด้านแฟรนไชส์อย่างชัดเจน และมีความเข้มแข็งในแบรนด์ของธุรกิจ มีระบบในการบริหารจัดการแฟรนไชส์ที่เป็นมาตรฐาน ตั้งแต่การคัดเลือกแฟรนไชส์ ไม่ใช่ว่าทุกคนสมัครแฟรนไชส์ซีแล้วจะสอบผ่าน ใครที่ไม่มีหัวการค้าขายเขาก็ไม่รับ ต้องมีความทุ่มเท มีเงินลงทุนด้วย โดย 7-Eleven จะมีการอบรมที่เข้มข้น เป็นมาตรฐาน
มีบริการหาสถานที่ให้ ตกแต่งร้านให้พร้อมที่จะขาย ลงทุนสินค้าก็มีให้ ให้คู่มือในการทำงาน ถ้าพนักงานขโมยของ 7-Eleven สามารถเช็คได้ มีการทำแผนการตลาดให้ มีซุปเปอร์ไวเซอร์มาเช็ค มีระบบซิสเต็มให้เพื่อให้เขาแข็งแรง เพราะถ้าแฟรนไชส์ซีไม่แข็งแรง ทางซีพีออลล์ก็จะอยู่ไม่ได้เช่นกัน มีกิจกรรมให้คำปรึกษา ที่เรียกแฟรนไชส์ซีว่า สโตร์พาร์ทเนอร์
4.มีกำไรแล้วค่อยขายแฟรนไชส์
7-Eleven ประเทศไทยเริ่มขายแฟรนไชส์เมื่อประมาณปี 2534 ในตอนนั้น 7-Eleven มีกำไร จึงกล้าขายแฟรนไชส์ แต่ในช่วงเริ่มต้นใหม่ๆ บริษัทฯ ขาดทุน
จนถึงจุดที่เริ่มมีกำไร ก็เริ่มขายแฟรนไชส์ และแฟรนไชส์ซีต้องมีกำไรด้วย มีกำไรทั้งคู่ ขายแล้วต้องแบ่งปันให้แฟรนไชส์ซอร์ เพราะถ้าบริษัทแม่ขาดทุน ก็ไม่มีใครกล้าซื้อแฟรนไชส์ 7-Eleven แน่นอน
ภาพจาก facebook.com/cpall7
5.พัฒนาธุรกิจต่อเนื่อง
7-Eleven มีความเข็มแข็งตรงที่ การพัฒนาไม่หยุดนิ่ง เพราะลูกค้าที่มีการเปลี่ยนแปลง สภาพเศรษฐกิจ และสังคมก็เกิดการเปลี่ยนแปลง ขณะที่ผู้ประกอบการต้องมีการปรับตัว เพราะมีการแข่งขันตลอดเวลา
บริษัทจึงต้องพัฒนาระบบการทำงาน และเรียนรู้ ทั้งระดับร้าน และออฟฟิศ มีการเอาคอมพิวเตอร์เข้ามาจัดการ โดยอยู่บนหลักที่สำคัญ คือ ทำธุรกิจแล้วต้องมีกำไร ยอดขายเพิ่มขึ้น และการปรับปรุงจะไม่มีที่สิ้นสุด
6.มีความสัมพันธ์ที่ดีกับแฟรนไชส์ซี
ถือเป็นส่วนสำคัญ เพราะ 7-Eleven มองแฟรนไชส์ซีเป็นพาร์ทเนอร์ เป็นคู่ค้ากัน จำเป็นต้องให้เกียรติแฟรนไชส์ซี และร่วมกันพัฒนาธุรกิจกับแฟรนไชส์ซี ดังนั้น 7-Eleven จึงมีซุปเปอร์ไวเซอร์ไปติดตามร้าน และเช็คมาตรฐานอย่างสม่ำเสมอ
7.สนองการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค
7-Eleven ได้มีการศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคและตลาดอยู่ตลอดเวลา เพื่อจะได้เสนอสินค้าและบริการให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคได้
โดยสินค้าและบริการต้องครอบคลุมทุกการใช้งานของผู้บริโภคทุกเพศ ทุกวัย หรือแม้กระทั่งนำเสนอสินค้าที่เพียงพอต่อการใช้ของผู้คนในแต่ละครอบครัว ซึ่งหัวใจของการสนองตอบผู้บริโภค คือ ต้องยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ไม่อยู่นิ่ง มีการศึกษาความต้องการที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาของผู้บริโภค
ภาพจาก facebook.com/cpall7
8.ทำเลที่ตั้งปัจจัยความสำเร็จ 7-Eleven
สังเกตได้ว่า 7-Eleven แต่ละสาขา จะตั้งอยู่ริมถนน ตรอกซอกซอย หัวมุมตึก ติดชุมชน ออฟฟิศ หน้าโรงเรียน หรือแม้แต่ในปั้มน้ำมัน เพราะ 7-Eleven มองว่าคนที่จะเข้ามาใช้บริการสาขานั้นๆ
ก็ต้องเป็นคนในพื้นที่นั้นๆ ปัจจุบันกว่า 10,268 สาขาของ 7-Eleven ล้วนแต่ตั้งอยู่ย่านชุมชนทั้งนั้น ลูกค้าส่วนใหญ่ก็เป็นคนอยู่แถวนั้นด้วย
9.โลจิสติกส์ ซัพพลายเชน แข็งแกร่ง
เรื่องสำคัญในการบริหารแฟรนไชส์ คือ การส่งสินค้าให้ร้านทันเวลา โดย 7-Eleven มีระบบสนับสนุนที่พร้อมตลอดเวลา เห็นได้ว่าวันนี้ 7-Eleven เกือบทุกจังหวัดทั่วประเทศ และในแต่ละสาขาก็มีสินค้าไม่แตกต่างกัน
เมื่อสินค้าชนิดไหนหมดก็มีการเติมเต็มอยู่ตลอดเวลา นั่นแสดงให้เห็นว่า 7-Eleven มีระบบการขนส่งและสนับสนุนการค้าขายสินค้าที่แข็งแกร่ง อีกทั้ง 7-Eleven ยังมีระบบส่งของ มีสินค้าเข้า DC (Distribution center) ศูนย์กระจายสินค้า เชื่อมโยงสู่ผู้ขายปลีกได้ทันเวลา
ภาพจาก facebook.com/cpall7
10.ทีมสนับสนุนแฟรนไชส์ซีคุณภาพ
ทีมงานแฟรนไชส์ 7-Eleven ทำงานเป็นทีม เพื่อสนับสนุนร้านแฟรนไชส์ซี ในการสรรหาสินค้าให้ตรงตามความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา พัฒนาระบบการจัดการ
เช่น ระบบไอที ทำให้รู้ข้อมูลรู้ความต้องการของลูกค้า และส่งของไปทัน เพื่อทำให้ลูกค้าที่มาใช้บริการมีสินค้าตามที่ต้องการ อบรมคนให้พร้อม มีการสนับสนุนจากออฟฟิศ
จะสังเกตว่า การเติบโต 7-Eleven ไม่มีหยุด เพราะมีระบบงาน มีสินค้าที่ลูกค้าอยากได้ มีการอบรม มีระบบการจัดการกระจายไปทั่วประเทศ มีความพร้อมในการสร้างทีมงาน เพื่อให้การสนับสนุนแก่แฟรนไชส์ซี
11.การอบรมเข้มข้น
ความพร้อมทั้งหมดของ 7-Eleven ก็คือ การอบรม และการพัฒนาเรื่องของคน โดยมีศูนย์กระจายการอบรมไปทั่วประเทศ มีหลักสูตร มีระบบ มีวิธีฝึกอบรม ตั้งแต่พนักงาน หัวหน้าผลัด ผู้ช่วย ผู้จัดการร้านแฟรนไชส์ บริษัททำการอบรมจากการนำความจริงมาใช้ ไม่ได้อบรมลอยๆ ทั้งเรียนไป ทำงานไปในเรื่องค้าปลีก
คนที่เรียนจบ ปวช.แล้วทำงาน 7-Eleven สามารถเป็นผู้ช่วยได้ มีเงินเดือน แต่ถ้าทำไปอีกสักพักเลื่อนเป็นผู้จัดการร้าน ที่สำคัญ 7-Eleven ยังมีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ เปิดสอนในระดับปริญญาตรี และโทอีกด้วย
ทั้งหมดเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ 7-Eleven ร้านสะดวกซื้ออันดับ 1 ของเมืองไทย ประสบความสำเร็จในระบบแฟรนไชส์ ถือเป็นธุรกิจแฟรนไชส์ต้นแบบ ที่ผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ สามารถเอาไปเป็นแบบอย่างได้
ถ้าหาสนใจอยากทำธุรกิจตัวเองให้เป็นแฟรนไชส์ แต่สิ่งสำคัญธุรกิจที่จะทำแฟรนไชส์ได้ดี สินค้าต้องตอบโจทย์ตลาดและผู้บริโภค มีทำเลที่ดี และมีความพร้อมในด้านการสนับสนุนแฟรนไชส์ซีอย่างมีคุณภาพ
อ่านบทความอื่นๆ จากไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ www.thaifranchisecenter.com
เลือกซื้อแฟรนไชส์ไทยขายดี เริ่มต้นธุรกิจ goo.gl/xqr6Kg
Franchise Tips
- ธุรกิจมีประวัติมายาวนาน
- สินค้าและบริการตอบโจทย์ตลาด
- มีระบบบริหารงานแข็งแกร่ง
- มีกำไรแล้วค่อยขายแฟรนไชส์
- พัฒนาธุรกิจต่อเนื่อง
- มีความสัมพันธ์ที่ดีกับแฟรนไชส์ซี
- สนองการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค
- ทำเลที่ตั้งปัจจัยความสำเร็จ 7-Eleven
- โลจิสติกส์ ซัพพลายเชน แข็งแกร่ง
- ทีมสนับสนุนแฟรนไชส์ซีคุณภาพ
- การอบรมเข้มข้น
อ้างอิงจาก https://bit.ly/2JrI5TL