10 เทคนิค ขายของให้คนแวะซื้อ
เชื่อว่าหลายคนที่เป็นพ่อค้าแม่ค้า รวมถึงผู้ประกอบการร้านค้าต่างๆ ต้องเคยประสบกับปัญหาลูกค้าไม่เข้าร้าน เดินผ่านมาแล้วก็ผ่านไปเลย มิหนำซ้ำยังแวะเข้าไปซื้อสินค้าหรือบริการร้านค้าที่อยู่ติดกัน
หรือร้านค้าคู่แข่งที่อยู่ใกล้เคียงกัน แต่ผู้ประกอบการหลายๆ คนยังแก้ปัญหาไม่ตก ว่าจะหาวิธีการทำอย่างไร ที่จะให้ร้านค้าของตัวเองกลับมาเป็นที่นิยมของลูกค้าอีกครั้ง หรือเป็นร้านค้าที่ทำยอดขายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ
วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com ได้มีเทคนิคการขายของ รวมถึงการบริหารจัดการร้านค้าให้ลูกค้าแวะซื้อ โดยเฉพาะผู้ประกอบการร้านโชว์ห่วย หรือร้านขายของชำในชุมชนต่างๆ ที่อยากจะแข่งขันกับร้านสะดวกซื้อยุคใหม่ที่เปิดบริการ 24 ชั่วโมง ต้องไม่พลาดที่จะนำเอาเทคนิคเหล่านี้ไปปรับใช้ครับ
1. คุณภาพของสินค้าและการบริการ
ปัญหาอย่างแรกที่ลูกค้าไม่แวะซื้อสินค้าและบริการของเรา คือ เรื่องของคุณภาพสินค้าและการบริการภายในร้าน ร้านสะดวกซื้อยุคใหม่ให้ความสำคัญในเรื่องคุณภาพ สินค้า และการบริการที่หลากหลาย
จึงสามารถดึงดูดลูกค้าเข้าใช้บริการได้เป็นอย่างดี ดังนั้น ถ้าใครจะเปิดร้านค้าแข่งกับร้านสะดวกซื้อ จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการรักษา “คุณภาพของสินค้า และการบริการ” ให้ได้มาตรฐานเป็นพอ ช่วยให้โอกาสที่จะดำเนินธุรกิจอย่างอยู่รอดปลอดภัยก็มีสูงมากครับ
2. ติดป้ายราคาชัดเจน
สิ่งที่ทำให้คนส่วนใหญ่นิยมเข้าร้านสะดวกซื้อ หรือร้านค้าคู่แข่ง อาจเป็นเพราะเหตุผลส่วนหนึ่งมาจากการตั้งราคาขายที่ชัดเจน ทำให้ผู้ซื้อเกิดความมั่นใจ ตรงกันข้ามกับร้านโชห่วย รวมถึงร้านค้ารถเข็นทั่วไปที่ไม่ติดราคาขายให้ชัดเจน
โดยเฉพาะกับร้านค้าที่อยู่ใกล้แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ มักจะนิยมบวกกำไรเข้าไปมากกว่าปกติ ดังนั้น การตั้งราคาขายที่ชัดเจนอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้ลูกค้าประจำเกิดความมั่นใจในการเข้ามาซื้อสินค้า
3. ทำโปรโมชั่น
การเป็นร้านขายของชำขนาดเล็กที่ไม่มีสาขา ก็ใช่ว่าจะทำโปรโมชั่นส่งเสริมการขายไม่ได้ ตรงกันข้ามการเลือกทำโปรโมชั่นดีๆ ง่ายๆ
เช่น การสะสมแต้มเพื่อใช้เป็นส่วนลดในการซื้อของครั้งต่อไป หรือแลกรางวัลเล็กๆ น้อยๆ ก็สามารถที่จะเพิ่มแรงจูงใจในการที่จะให้ลูกค้ากลับมาซื้อของจนเป็นลูกค้าประจำได้
4. สร้างศูนย์รวมการทำธุรกรรม
เรียกได้เป็นการสร้างชุมชนหรือเครือข่ายธุรกิจ โดยการทำให้ร้านค้าของเรากลายเป็นแหล่งชุมชน ที่คนทั่วไปต้องมาทำธุรกรรม หรือใช้บริการต่างๆ ดังนั้น การแบ่งพื้นที่บางส่วนบริเวณหน้าร้าน
หรือข้างร้านมาให้เช่าทำธุรกิจเล็กๆ ไม่ว่าจะเป็นร้านขายอาหาร ตู้เติมเงินมือถือ ตู้เอทีเอ็ม เครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ รวมถึงบริการสารพัดชุมชน จะเป็นการสร้างรายได้จากธุรกิจอื่นๆ ที่ไม่ใช่การขายสินค้าในร้านอย่างเดียว ยังเป็นการเพิ่มปริมาณคนที่มายังร้านค้าของเราอีกด้วย
การสร้างชุมชนและการทำธุรกรรม ไม่ได้หมายถึงการขายสินค้าหรือบริการเพียงอย่างเดียว แต่ครอบคลุมไปถึงการทำให้หน้าร้านเป็นศูนย์รวมของชุมชนในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการจัดพื้นที่สำหรับใส่บาตรในตอนเช้า การมีโต๊ะหินอ่อนหน้าร้านให้คนมานั่งอ่านหนังสือพิมพ์ก็ถือเป็นการสร้างชุมชนและความสัมพันธ์กับลูกค้าเช่นกัน
5. ตกแต่งหน้าร้านสะอาด สวยงาม
หน้าร้าน คือหน้าตาของธุรกิจ การให้ความสำคัญกับหน้าร้าน เช่น ความสะอาด ความสว่างตอนกลางคืน ป้ายร้านที่โดดเด่น รวมถึงการมีสิ่งอำนวยความสะดวกเล็กๆ น้อยๆ
อาทิ ตู้เอทีเอ็ม ตู้จำหน่ายน้ำดื่ม ที่จอดรถ ฯลฯ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นในปัจจุบัน สำหรับคนที่คิดจะเปิดร้าน ทำเลหัวมุมจะทำให้ลูกค้ามีโอกาสเห็นร้านมากกว่าทำเลตรงกลาง หรือข้างใน
6. เลือกสินค้าให้ตอบโจทย์ลูกค้า
โดยทั่วไปเจ้าของร้านค้ามักจะเลือกสินค้ามาขายจากที่ตัวเองคิดว่าน่าจะขายได้ ถ้าเราลองสังเกตว่ารอบๆ ร้านมีกลุ่มคนหรือสถานที่สำคัญรอบๆ อยู่หรือไม่ ปกติแล้วร้านค้าทั่วไปจะสามารถรองรับครัวเรือนประมาณ 100-200 ครัวเรือน
แต่ถ้าบริเวณร้านค้ามีแหล่งชุมชน เช่น โรงเรียน โรงงาน โรงพยาบาล หรือหอพัก การคัดเลือกสินค้าที่กลุ่มคนเหล่านี้ต้องการมาวางขาย จะเป็นการเพิ่มโอกาสทางการขายได้อีกทางหนึ่ง
7. จัดวางสินค้า
ถือว่าสำคัญมากในเปิดร้านขายของ การจัดวางสินค้าเป็นจุดที่ทำให้ร้านสะดวกซื้อสมัยใหม่ สร้างความได้เปรียบร้านโชว์ห่วยอย่างมาก เนื่องจากมีบริษัทแม่ซัพพอร์ตในการออกแบบ และวางแผนผังร้านในหลายรูปแบบตามขนาดของร้าน
สำหรับร้านโชว์ห่วย จะต้องจัดวางสินค้าแบ่งเป็นหมวดหมู่ตามประเภทสินค้าที่ขายดี จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก เพราะจะทำให้ลูกค้าหาสินค้าได้ง่ายขึ้น จะช่วยให้มีโอกาสในการขายมากขึ้น ดังนั้น ร้านค้าทั่วไปที่ยังจัดวางสินค้าแบบลูกค้าเห็นได้ยาก คนซื้อหาสินค้าไม่เจอ หรือให้คนขายเดินไปหยิบสินค้าให้จะต้องรีบปรับแก้อย่างเร่งด่วน
8. สินค้าเฉพาะกลุ่ม
อาจจะหาสินค้าสำหรับเด็ก สินค้าสำหรับวัยรุ่น หรือสินค้าสำหรับคนทั่วไปที่ไม่มีขายในร้านคู่แข่ง เพราะกลุ่มคนเหล่านี้ถ้าไม่สินค้าที่พวกเขาต้องการ มักจะนิยมเข้าร้านสะดวกซื้อมากกว่า ส่วนหนึ่งมาจากมีของที่เขาต้องการ
ดังนั้น ร้านค้าของเราต้องปรับเปลี่ยน หันมาจับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ โดยจะต้องสังเกตว่ากลุ่มลูกค้าเหล่านี้ต้องการอะไร และสามารถหาซื้อได้ง่ายในร้านของเรา มีการจัดทำแพ็คเกจให้สะอาดและดูสวยงาม
9. หาพันมิตรธุรกิจ
การมีพันธมิตรที่หลากหลายของร้านค้า จะสามารถสร้างความได้เปรียบ และดึงดูดลูกค้าเข้ามาซื้อสินค้าได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นการเลือกเป็นพันธมิตรกับซัพพลายเออร์รายใหญ่ เพื่อสั่งซื้อสินค้ามาจำหน่ายในร้าน เพราะจะได้ส่วนลดโดยตรง
ทำให้สามารถตั้งราคาขายที่ไม่สูงมากจนเกินไปได้ รวมถึงพันธมิตรกับสถาบันการเงิน ไปรษณีย์ ให้การเติมเงิน หรือจุดรับส่งไปรษณีย์ รวมถึงร่วมมือกับภาครัฐในการดำเนินโครงการร้านค้าราคาถูก เพื่อดึงดูดลูกค้าได้อีกทางหนึ่ง
10. ตั้งอยู่บนทำเลที่ดี
การค้าขายหรือเปิดร้าน ถ้าตั้งอยู่ในทำที่ดี ถือว่ามีชัยไปกว่าครึ่ง เช่น ต้องเปิดร้านหรือขายในพื้นที่คนพลุกพล่าน หรือสัญจรผ่านไปมา หน้าโรงงาน ออฟฟิศ หรือตลาดนัดที่ไม่ไกลจากชุมชนมากนัก
ที่สำคัญอาจต้องดูในเรื่องของค่าเช่าด้วย ถ้าเช่าแพงก็ต้องดูอีกว่ากลุ่มลูกค้าของเราเป็นใคร และของที่นำมาขายเป็นอะไรด้วย ตอบโจทย์ได้หรือไม่
ทั้งหมดเป็น 10 เทคนิคในการขายของ รวมถึงการเปิดร้านให้ลูกค้าแวะซื้อ ใครที่รักการค้าขาย สามารถนำเอาเทคนิคข้างต้นไปปรับปรุงร้านค้าให้เข้ากับยุคสมัย
เชื่อว่าลูกค้าเดิมก็พร้อมที่จะให้ความสนับสนุนเหมือนเช่นเคย ขอเพียงรักษา “คุณภาพของสินค้าและการบริการ” ให้ได้มาตรฐานเป็นพอ โอกาสที่จะดำเนินธุรกิจอย่างอยู่รอดปลอดภัยจะมีสูงครับ
อ่านบทความอื่นๆ จากไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ www.thaifranchisecenter.com
เลือกทำเลค้าขาย เปิดร้าน goo.gl/78kZVF
SMEs Tips
- คุณภาพของสินค้าและการบริการ
- ติดป้ายราคาชัดเจน
- ทำโปรโมชั่น
- สร้างศูนย์รวมการทำธุรกรรม
- ตกแต่งหน้าร้านสะอาด สวยงาม
- เลือกสินค้าให้ตอบโจทย์ลูกค้า
- จัดวางสินค้า
- สินค้าเฉพาะกลุ่ม
- หาพันมิตรธุรกิจ
- ตั้งอยู่บนทำเลที่ดี