10 วิธีสุดประหยัดสร้างธุรกิจจากงานฝีมือ ให้โด่งดังคนรู้จักทั่วไป
ในประเทศไทยถือว่าเรื่อง งานฝีมือ นั้นไม่เป็นสองรองใครในโลกแต่ที่ผ่านมาดูเหมือนว่าจะถูกกลืนหายและไม่อาจเปิดตัวให้คนรู้จักทั้งที่ความจริงเรื่องเหล่านี้ทำเป็นธุรกิจที่เติบโตได้ง่ายมาก สิ่งสำคัญคือคนไม่รู้จักและเจ้าของผลงานเองก็มองว่าหากจะทำให้คนรู้จักสินค้าก็ต้องทุ่มงบประมาณโฆษณาซึ่งบางครั้งเป็นตัวเลขที่สูงเกินไปสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจ
www.ThaiSMEsCenter.com มีแนวคิดน่าสนใจของ Rosalind Resnick ผู้เป็นที่ปรึกษาให้กับนักลงทุนอสังหาริมทรัพย์พร้อมกับทำงานให้กับองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรในสหรัฐอเมริกา ได้ให้แง่คิดน่าสนใจว่าต้นทุนของงานฝีมือคือจิตวิญญาณในการสร้างสรรค์ การตลาดที่ดีและประหยัดคือทำให้คนเข้าใจในคุณภาพงานซึ่งจะทำให้สามารถขายชิ้นงานในราคาที่ดีกว่าการลงทุนมหาศาลเพื่อให้คนรู้จักสินค้าแต่ขาดความเข้าใจในเรื่องคุณค่าชิ้นงานเหล่านั้น
โดย Rosalind ยกตัวอย่างของผู้ที่ทำธุรกิจในด้านนี้ คือ Terry Speer ที่เริ่มต้นด้วยการเป็นนักเรียนศิลปะในยุค 60 และด้วยความสนใจนั้น Terry พัฒนาฝีมือตัวเองขึ้นมาเรื่อยๆ และเริ่มต้นการทำให้คนรู้จักผลงานของเขาที่เป็นภาพพิมพ์และภาพวาดด้วยการจัดแสดงแบบง่ายให้คนในท้องถิ่นได้รู้จักและความนิยมก็เริ่มโด่งดังจากจุดนั้นจนสถาบันศิลปะให้ความสนใจและเสนอให้ Terry ก้าวขึ้นมาเป็นอาจารย์สอนศิลปะด้านนี้อย่างเต็มตัว
ภาพจาก goo.gl/CvWXDM
และไม่ใช่เพียงแค่นั้นการต่อยอดของ Terry ก็ถือว่าน่าสนใจยิ่งนักกับอีกบทบาทหนึ่งในการทำธุรกิจที่ชื่อว่า homebased คือการทำประติมากรรมแบบผมผสาน ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะทำให้คนรู้จักสิ่งที่เขาเลือกเอามาทำการตลาดคือการนำผลงานออกแสดงตามเทศกาลต่างๆ เช่นในงาน Coconut Grove ที่เป็นงานแสดงศิลปะในไมอามี่ ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตและกลายเป็นที่สนใจของคนจำนวนมาก
แม้การเดินทางจากนิวยอร์คไปไมอามี่จะไม่ใช่เรื่องง่ายมีต้นทุนในการเดินทางและนำสินค้าไปจัดแสดงไม่ต่ำกว่า 3,000 เหรียญสหรัฐ แต่ผลตอบแทนก็แสนจะคุ้มค่ากับตัวเลขผู้เข้าร่วมงานกว่า 150,000 คน ที่ทำให้เขาสร้างรายได้จากการแสดงสินค้าช่วงเวลา 3 วันสูงถึง 4 ล้านเหรียญ
และไม่เพียงแค่นั้นคนส่วนใหญ่ที่ไม่เคยเห็นผลงานก็เข้าใจในผลงานมากขึ้นส่งผลดีต่อการทำตลาดไม่ว่าจะในโลกออนไลน์หรือออฟไลน์ที่เพียงพูดถึงชื่อของ Terry Speer ขึ้นมาทุกคนก็รู้ถึงความหมายของงานศิลปะในสไตล์ของเขาได้เป็นอย่างดี และต่อไปนี้คือ
10 แนวทางสำหรับการพัฒนางานฝีมือให้กลายเป็นธุรกิจดังแบบไม่ต้องลงทุนมาก
ภาพจาก goo.gl/7y7fLM
1.เดินสายโชว์ผลงาน
ความงามของศิลปะอยู่ที่การความเข้าใจซึ่งทุกคนมีไม่เหมือนกัน คนทำงานศิลปะต้องสะท้อนความเป็นตัวเองออกมาซึ่งสักวันหนึ่งจะต้องมีคนที่มองเห็นคุณค่าของงานนั้นแน่นอนว่าเราต้องรู้จักการออกแสดงผลงานตามกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นการเปิดโอกาสให้สินค้าเราเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปมากขึ้น
2.ลงทุนกับงานแสดงสินค้าคุ้มค่าที่สุด
ตัวอย่างของ Terry เด่นชัดเรื่องนี้มาก การออกบูธตามงานแสดงสินค้าส่วนใหญ่มักมีต้นทุนไม่สูงมากนักเช่นงานที่ Coconut Grove มีค่าใช้จ่ายประมาณ 200-300 เหรียญ/บูธ เมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายในการเดินทางต่างๆก็ยังถือว่าคุ้มค่าที่จะทำให้สินค้าเราเปิดตัวได้แต่ทั้งนี้ใช่ว่าเราจะเลือกออกงานทุกงานที่มีก็ต้องมาคำนวณเรื่องค่าใช้จ่ายโดยรวมให้ดีก่อน
3.เปิดตัวจากงานเล็กๆสะสมประสบการณ์ไปเรื่อยๆ
การทำธุรกิจด้านนี้และการเปิดตัวไปตามงานใหญ่ๆในคราวเดียวนั้นเป็นกลยุทธ์ที่ไม่ดีนัก หากเป็นไปได้ให้เริ่มจากงานแสดงสินค้าเล็กๆ เป็นจุดเริ่มต้นเพื่อเช็คกระแสคนนิยมและสะสมประสบการณ์เพื่อนำความคิดของลูกค้ามาต่อยอดการผลิตผลงานที่ดีขึ้นด้วย
ภาพจาก goo.gl/QqTmBP
4.ราคาจำหน่ายต้องทำให้สมเหตุสมผล
ผลงานเราจะฮอตฮิตได้คือต้องมีลูกค้ามาซื้อหนึ่งในวิธีสำคัญคือการตั้งราคาที่สมเหตุผลคำนวณต้นทุนจากวัสดุอุปกรณ์บวกค่าฝีมือร่วมด้วยแล้วต้องพยายามให้อยู่ในเกณฑ์ที่ลูกค้าเข้าถึง โดย Terry ตั้งราคาชิ้นงานตัวเองตั้งแต่ 150-900 เหรียญ เป็นเรตที่คนสนใจสามารถซื้อได้ ดีกว่าการตั้งเรตราคาสูงมากต่อให้อยากได้แค่ไหนก็มีเงินไม่ถึงอยู่ดี
5.เพิ่มเทคโนโลยีในการชำระค่าสินค้าที่สะดวกต่อลูกค้า
ในต่างประเทศส่วนใหญ่คนจะใช้บัตรเครดิตมากกว่าการถือเงินสด ด้วยเหตุนี้การทำธุรกิจให้ลูกค้าเข้าถึงสินค้าและบริการได้ดีก็ต้องมีเครื่องรูดบัตรหรือช่องทางการชำระที่มาจากบัตรเครดิตเพื่ออำนวยความสะดวกสบายให้กับคนที่สนใจแม้จะเป็นธุรกิจด้านงานศิลปะแต่สิ่งนี้ก็มีความสำคัญและจำเป็นเช่นกัน
6.ควรมีทีมงานร่วมออกงานแสดงสินค้าเสมอ
การมีผู้ช่วยในการออกงานแสดงสินค้าก็จะทำให้เราเบาแรงในการจัดตั้งร้าน การช่วยดูแลร้านที่สามารถสลับสับเปลี่ยนกันได้โดยที่เวลาลูกค้ามาถึงหน้าบูธของเราก็จะมีคนอยู่ประจำตลอดเวลา จึงไม่พลาดโอกาสในการนำเสนอชิ้นงานที่อาจกลายมาเป็นยอดการขายได้
7.มีเอกสารช่องทางการติดต่อให้กับลูกค้า
การทำตลาดแบบพ่วงคือเมื่อเราขายสินค้าได้ก็ให้แนบสิ่งสำคัญที่เป็นช่องทางการติดต่อเช่นนามบัตร โบรชัวร์ หรือถ้าเป็นไปได้เรามีเมนูผลงานเป็นแผ่นคล้ายใบปลิวก็ให้นำเสนอติดไปกับสินค้านั้นๆด้วยเพื่อว่าในอนาคตลูกค้าอาจจะสนใจและสั่งซื้อสินค้าแบบอื่นของเราได้ด้วย
ภาพจาก goo.gl/0ccyIQ
8.ใช้ความคิดเห็นของลูกค้ามาพัฒนางานให้ดีต่อเนื่อง
การเข้าถึงความต้องการของลูกค้าเป็นสิ่งจำเป็นซึ่งเราไม่จำเป็นต้องไปออกสำรวจหรือลงทุนทำแบบสอบถาม ดูจากกระแสและความต้องการจากงานแสดงสินค้าต่างๆ ก็สามารถรวบรวมและนำมาพัฒนาชิ้นงานที่เหมาะสมกับความต้องการต่อไปได้อย่างดีโดยที่ไม่มีต้นทุนเพิ่มเติมด้วย
9.เก็บข้อมูลลูกค้าให้ได้มากที่สุด
Terry กล่าวว่าทุกคนที่เข้ามาในบูธแสดงสินค้าซื้อหรือไม่ซื้อไม่สำคัญแต่สิ่งที่เราควรทำคือเก็บข้อมูลคนเหล่านั้นด้วยการจดบันทึกในตารางเยี่ยมชม โดยข้อมูลสำคัญอย่างเช่น ชื่อ เบอร์โทร ตำแหน่งงาน ที่อยู่ จะช่วยให้เราสามารถทำตลาดได้ง่ายขึ้นทั้งการส่งบัตรอวยพรตามเทศกาลต่างๆเป็นการซื้อใจลูกค้าที่เราไม่ต้องลงทุนแต่ได้ผลดีในระยะยาวที่คุ้มค่า
10.รู้จักวิเคราะห์ความคุ้มค่าของการร่วมงานแสดงสินค้า
การทำธุรกิจและดำเนินแผนการตลาดด้วยการร่วมงานแสดงสินค้าคือช่องทางลงทุนน้อยที่ได้ผลมากก็จริงแต่ใช่ว่าในทุกปีเราจะต้องกลับมาที่งานเดิมเดียวกันนี้ สิ่งสำคัญคือคำนวณดูสิ่งที่ได้จากการร่วมงานในแต่ละปีต้นทุนเรื่องรายจ่ายกับรายได้ที่ตามมาหากขัดแย้งกันมากสุ่มเสี่ยงเกินไปก็ลองเลือกงานอื่นดูบ้างจะได้หลากหลายในการเข้าถึงลูกค้ามากขึ้นด้วย
ข้อมูลเหล่านี้พอจะประมวลได้ว่าการเริ่มต้นธุรกิจที่เป็นงานฝีมือนั้นในสายตาของ Rosalind Resnick ให้น้ำหนักกับการร่วมงานแสดงสินค้าที่มีต้นทุนถูกที่สุดแต่ได้ผลในการเข้าถึงลูกค้าที่สุดเช่นกัน
จากนั้นคือการเตรียมความพร้อมในการร่วมงานแสดงสินค้าแต่ละครั้งให้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่อย่าลืมว่าปัจจุบันยังมีอีกช่องทางคือโลกออนไลน์ที่ต้นทุนก็ถูกและได้ผลดีไม่แพ้กันอยู่ที่ผู้ประกอบการจะเลือกใช้ได้ถูกต้องเหมาะสมแค่ไหน
SMEs Tips (สร้างธุรกิจจากงานฝีมือให้โด่งดังแบบลงทุนน้อย)
- เข้าร่วมงานแสดงสินค้าต่างๆ เป็นหลัก
- เตรียมช่องทางติดต่อให้ลูกค้าเช่นนามบัตร โบชัวร์
- นำความคิดเห็นลูกค้ามาพัฒนาสินค้าที่ดีให้ต่อเนื่อง