10 ทางเลือกหากคิดจะขยายธุรกิจ

การขยายกิจการ หรือธุรกิจ เป็นกลยุทธ์ที่สำคัญมาก หากต้องการสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจ ซึ่งการขยายกิจการอาจทำได้หลายรูปแบบ แต่การตัดสินใจว่าจะดำเนินการในลักษณะใดนั้น ย่อมขึ้นกับปัจจัยความพร้อม โอกาส ความเหมาะสมของแต่ละองค์กรธุรกิจ รวมถึงเป้าหมายของการสร้างการเติบโตให้กิจการหรือธุรกิจของแต่ละผู้ประกอบการ

วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com จะนำเสนอ 10 ทางเลือก หากผู้ประกอบการธุรกิจรายใด คิดอยากจะขยายกิจการหรือธุรกิจ เพื่อสร้างยอดขายและการเติบโต เพราะเมื่อถึงช่วงเวลาหนึ่ง ธุรกิจจำเป็นต้องเพิ่มสินค้าและบริการให้มากขึ้น

1.การเป็นเจ้าของคนเดียว

การขยายกิจการ

ข้อดี สบายใจ มีความเป็นอิสระในการตัดสินใจเองได้ทุกๆ เรื่อง ขับเคลื่อนธุรกิจได้รวดเร็ว ไม่ต้องรอความคิดคนอื่น รวยคนเดียว เวลาเจ๊ง ก็เจ๊งคนเดียว แต่ทำไมหลายๆ คนจึงไม่เลือกที่จะเป็นเจ้าของคนเดียว

ข้อเสีย มีข้อจำกัดเรื่องเงินทุน เพราะถ้าใครฝันที่จะมีร้าน 100 สาขา ก็ไม่สามารถเป็นไปได้ ถ้าไม่มีเงินทุน บางครั้งหากจำเป็นต้องขยายสาขา อาจต้องหาวิธีการอื่นมาช่วยสานฝันให้ธุรกิจเติบโตและเป็นจริงขึ้นมา

2.การร่วมลงทุน หรือ มีหุ้นส่วน

8

ข้อดี การร่วมลงทุน หรือมีหุ้นส่วน ในการลงขันกันจัดตั้งบริษัท ทำให้ระดมทุนได้ง่ายขึ้น ผู้ประกอบการอาจจะมีเงินก้อนโต ช่วยเพื่อผลักดันกิจการให้เป็นไปตามเป้าหมาย และการขยายกิจการได้สะดวกกว่า

ข้อเสีย มักเกิดความขัดแย้งของหุ้นส่วน แนวความคิดในการบริหารกิจการไม่ค่อยตรงกัน หรือเกิดความรู้สึกที่เปราะบาง แตกหักง่าย เช่น เกิดความคิดว่า ฉันคนทำมากได้น้อย หรือทำน้อยได้มาก หรือถ้ากิจการขาดทุนขึ้นมา ก็ซ้ำเติมกัน

3.ซื้อกิจการ หรือ ควบรวมกิจการ

b1

ข้อดี ไม่ต้องเสียเวลาเริ่มต้นธุรกิจใหม่ มีตลาดและฐานลูกค้าเดิมรองรับ สามารถต่อรองราคาในการลงทุนได้ โดยไม่ต้องเสียเงินทุนจำนวนมาก ซื้ออุปกรณ์ทำธุรกิจ เหมือนเริ่มต้นธุรกิจใหม่ ที่สำคัญมีสินค้าบริการที่หลากหลาย

ข้อเสีย มีความเสี่ยงสูง ที่สำคัญผู้ประกอบการจะต้องศึกษาผลประกอบการ แนวโน้มและโอกาสของธุรกิจนั้นๆ ยิ่งไปกว่านี้เมื่อซื้อกิจการไปแล้ว จะต้องระวังว่าในอนาคต เจ้าของธุรกิจเดิม จะมาเปิดแข่งขันในตลาดหรือไม่

4.ขายตรง

ข้อดี รู้หรือไม่ว่าธุรกิจขายตรง เป็นธุรกิจที่ใหญ่กว่าแฟรนไชส์มาก หลายคนรวยเร็ว รวยไม่รู้เรื่อง รวยมาแบบงงๆ ถ้าผู้ประกอบการอยากจะขายสินค้าให้ได้ปริมาณมากๆ การเลือกขยายธุรกิจในรูปแบบขายตรง ก็อาจทำให้สมหวังได้

ข้อเสีย เพื่อนฝูง หรือ สังคมอาจรังเกียจ แตกหักความเป็นเพื่อนก็ได้ ไม่อยากคบหากับนักขายตรง ที่สำคัญความน่าเชื่อถือในธุรกิจขายตรง อาจไม่สูงมากนัก ดังนั้น ผู้ประกอบการอาจต้องสร้างธุรกิจให้มีความน่าเชื่อถือ

5.ขายไลเซนส์

2

ข้อดี เป็นรูปแบบการให้สิทธิ์แบบไลเซนส์ให้แก่คนอื่นที่ต้องการประกอบธุรกิจในแต่ละพื้นที่ แต่ละประเทศ กล่าวคือ มีการเก็บค่าตอบแทน คิดเป็นเปอร์เซ็นต์จากยอดผลิตสินค้า แต่ผู้ประกอบการจะควบคุมคุณภาพบางอย่างเท่านั้น

ข้อเสีย การให้ไลเซนส์ ทำให้เจ้าของแบรนด์ต้องลงทุนสร้างแบรนด์ให้ดังก่อน จึงจะมีสิทธิ์ได้รับผลประโยชน์ตรงนั้น หรือ มีแฟนคลับกลุ่มที่ใหญ่พอ ที่จะทำให้สินค้าที่ติดแบรนด์นั้นๆ ขายดี

6.ตัวแทนจำหน่าย

6

ข้อดี ไม่ยุ่งยากในการดำเนินธุรกิจ ไม่ต้องดูแลรับผิดชอบตัวแทนจำหน่าย การขายสินค้าไม่ได้มีเงื่อนไขผูกพันกันมาก

ข้อเสีย อาจต้องการควบคุม ดูแลตัวแทนจำหน่ายมากขึ้น เพราะตัวแทนจำหน่ายมักจะขายสินค้าได้หลายยี่ห้อ บางครั้งไม่เอาใจใส่สินค้า หรือดูแลสินค้าให้ดีดี หรือนำสินค้าคู่แข่งมาโชว์ให้เด่นกว่า

7.ดีลเลอร์

7

ข้อดี คู่ค้ามักขายสินค้าเฉพาะของบริษัทแม่ ไม่ค่อยมีสินค้าของคนอื่นมาปะปน มีการดูแลผูกพันกันใกล้ชิด เพื่อช่วยกันสู่เป้าหมายการสร้างยอดขายร่วมกัน

ข้อเสีย ผู้ประกอบการมีภาระต้องให้การดูแลช่วยเหลือคู่ค้าที่เป็นดีลเลอร์ในหลายๆ ด้าน อาทิ เรื่องทุน และการใช้บุคลากร โดยบริษัทแม่ไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ กลับมา อาจมีเพียงเป้ายอดขายที่ตั้งไว้ชัดเจน ที่จะต้องไปให้ถึง

8.ขายส่ง

5

ข้อดี การขายส่งสินค้า ถ้าสินค้าของผู้ประกอบการโดนใจลูกค้า ถือว่ามีโชคมาก สินค้าบางอย่างขายส่งได้ยาวๆ กินไปชั่วลูกชั่วหลาน เช่น น้ำปลา ซอส ถั่วโก๋แก่ สินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป

ข้อเสีย ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะสร้างสินค้าที่โดนใจลูกค้าจำนวนมาก และสามารถกระจายสินค้าไปได้ทั่วอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะการได้จับคู่กับผู้ค้าปลีกรายใหญ่ ที่มีอำนาจการขายมากมาย ที่สำคัญการผลิตเพื่อการขายส่ง จำเป็นต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก อีกทั้งมีความเสี่ยงสูง หากไม่ประสบความสำเร็จขึ้นมา

9.ขายแฟรนไชส์

4

ข้อดี เปิดโอกาสให้กิจการเล็กๆ เติบโตได้อย่างรวดเร็ว ผู้ประกอบการไม่เสียเงินลงทุนในการขยายธุรกิจเอง สามารถขยายสาขาได้อย่างรวดเร็ว มีรายได้เพิ่มจากค่าแฟรนไชส์ ส่วนแบ่งเปอร์เซ็นต์จากยอดขายในแต่ละเดือนของแฟรนไชส์ซี

ข้อเสีย ต้องรู้เรื่องแฟรนไชส์อย่างลึกซึ้ง ขายแฟรนไชส์ไปแล้วต้องให้การสนับสนุนแฟรนไชส์ซีอย่างต่อเนื่อง ต้องสร้างทีมงานสนับสนุนแฟรนไชส์ ต้องระมัดระวังในการคัดเลือกผู้ซื้อแฟรนไชส์เป็นอย่างดี และธุรกิจอาจเสียชื่อเสียงได้ หากผู้ซื้อแฟรนไชส์ทำตัวไม่ดี ไม่ปฏิบัติกฎระเบียบของแฟรนไชส์ซอร์

10.จัดตั้งธุรกิจใหม่

b4

ข้อดี มีเครือข่ายธุรกิจเพิ่มมากขึ้น เป็นรูปแบบของการขยายกิจการไปสู่ธุรกิจใหม่ ที่ยังมีความสัมพันธ์กับธุรกิจเดิม ยกตัวอย่างเครือซีพีเห็นได้ชัดเจน และอื่นๆ เช่น กลุ่มธุรกิจที่ผลิตอาหาร ก้าวไปสู่ธุรกิจประกันชีวิต ธุรกิจเครื่องดื่มชากาแฟ สร้างธุรกิจสนามกีฬา และธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้ขยายกิจการไปสู่ธุรกิจสนามแข่งรถ เป็นต้น

ข้อเสีย ต้องเสียงบประมาณการลงทุนเพิ่มขึ้น และไม่รู้ว่าธุรกิจใหม่ที่จะสร้างขึ้นจะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ามากน้อยแค่ไหน เรียกได้ว่าต้องทำการวิเคราะห์ตลาดใหม่ ที่สำคัญต้องหาวิธีสร้างความได้เปรียบเหนือกว่าคู่แข่งขัน

จะเห็นได้ว่า การขยายกิจการไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด ย่อมขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละองค์กร ไม่ว่าจะเป็นการขยายในลักษณะใด ผู้ประกอบการจะต้องทำการวิเคราะห์ ทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกอย่างรอบคอบ เพื่อให้ได้มาซึ่งความได้เปรียบในการแข่งขัน และประโยชน์สูงสุดของการลงทุน พร้อมทั้งความสำเร็จและการเติบโตทางธุรกิจที่ยั่งยืน

อ่านบทความอื่นๆ จากไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์  www.thaifranchisecenter.com
เลือกซื้อแฟรนไชส์ไทยขายดี เริ่มต้นธุรกิจ goo.gl/H6hM4x


SMEs Tips

  1. การเป็นเจ้าของคนเดียว
  2. การร่วมลงทุน หรือ มีหุ้นส่วน
  3. ซื้อกิจการ หรือ ควบรวมกิจการ
  4. ขายตรง
  5. ขายไลเซนส์
  6. ตัวแทนจำหน่าย
  7. ดีลเลอร์
  8. ขายส่ง
  9. ขายแฟรนไชส์
  10. จัดตั้งธุรกิจใหม่

คุณมนตรี ศรีวงษ์ (อ๊อฟ)

นักเขียน ผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงข่าวสาร การค้า การลงทุน มีความสนใจเรื่องของธุรกิจเอสเอ็มอี และแฟรนไช