10 ข้อจำขึ้นใจ ก่อนคิดมีร้านอาหารที่ สิงคโปร์
แม้ขนาดพื้นที่ของ สิงคโปร์ จะเมื่อเทียบกับกรุงเทพฯนั้นเล็กกว่ากันครึ่งต่อครึ่ง (พื้นที่สิงคโปร์ 719 ตร.กม. ขณะที่กรุงเทพฯพื้นที่ 1,569 ตร.กม.) แต่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจมากพอที่จะดึงดูดนักธุรกิจคนไทยให้เข้าไปแสวงหาช่องทางการลงทุนโดยเฉพาะกับบรรดาร้านอาหารไทยที่ปัจจุบันมีร้านอาหารไทยใน สิงคโปร์ ทั้งตามถนนสำคัญๆ ในเมืองใหญ่ๆ
รวมถึงร้านอาหารตามฟู้ดคอร์ทในห้างสรรพสินค้านับรวมแล้วมากกว่า 150 ร้านค้า ในอีกด้านหนึ่งแม้จะดูสวยงามและน่าลงทุนแต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะเข้าไปทำร้านอาหารแล้วประสบความสำเร็จได้ www.ThaiSMEsCenter.com มี 10 ข้อที่เราต้องจำให้ขึ้นใจหากคิดจะไปเปิดร้านอาหารใน สิงคโปร์ จะได้ไม่ต้องเจ็บตัวแบบฟรีๆ
ขั้นตอนการเปิดร้านอาหารไทยในสิงคโปร์
1.ผู้ประสงค์จะลงทุนต้องยื่นเอกสารขออนุมัติดำเนินธุรกิจ และจดทะเบียนชื่อกิจการต่อ ACRA (Accounting and Corporate Regulatory Authority) โดยผู้ประสงค์จะจัดตั้งบริษัทสามารถมอบอำนาจให้สำนักงานทนายความในสิงคโปร์ เป็นตัวแทนในการจดทะเบียนบริษัท
2.เมื่อได้รับอนุมัติจดทะเบียนชื่อกิจการตามข้อ 1 แล้ว ต้องยื่นขอจดทะเบียนบริษัทต่อ ACRA ภายใน 2 เดือน
3.หลัง ACRA พิจารณาแบบคำขอจดทะเบียนบริษัทเรียบร้อยแล้ว จะส่งแบบฟอร์มการยื่นขอจดทะเบียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการสิ่งแวดล้อม (Ministry of Environment) เพื่อขออนุญาตประกอบกิจการร้านอาหาร และกระทรวงแรงงาน (Ministry of Manpower) เพื่อขออนุญาตนำพ่อครัว/แม่ครัวเข้ามาทำงานในสิงคโปร์
4.หลังจากได้รับอนุญาตจากหน่วยงานนั้นๆ เรียบร้อยแล้ว บริษัทจึงสามารถเปิดดำเนินกิจการได้
อย่างไรก็ตามลำพังแค่การรู้กฏเกณฑ์ในการเปิดร้านอาจไม่ช่วยอะไรมากนักสิ่งที่ควรเรียนรู้ให้ลึกซึ้งยิ่งกว่าคือสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของสิงคโปร์ที่มีผลอย่างมากความสำเร็จของกิจการร้านอาหารไทย
1.ต้องมีพาร์ทเนอร์ธุรกิจ
แม้ว่าสิงคโปร์จะเปิดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนกันได้อย่างเสรี และมีร้านอาหารไทยเปิดอยู่เป็นจำนวนมาก แต่สิงคโปร์ก็เป็นประเทศที่มีค่าครองชีพที่สูงและค่าเช่าสถานที่แพง ซึ่งส่งผลให้เจ้าของธุรกิจต้องตั้งราคาอาหารที่สูงตามไปด้วย
ดังนั้นผู้ลงทุนจึงต้องมีเงินทุนมากพอ หรือหากไม่เป็นเช่นนั้นก็ควรมีการทำธุรกิจร่วมทุนกับคนท้องถิ่น ซึ่งก็จะช่วยให้สามารถประคับประคองธุรกิจได้ง่ายขึ้น
2.แรงงานมีน้อย
คนสิงคโปร์นั้นมีจำนวนไม่มากและส่วนใหญ่เป็นระดับที่ความรู้ความสามารถ การศึกษาดี การจะมาเป็นลูกจ้างในร้านอาหารนั้นยากมาก การจะมีธุรกิจร้านอาหารที่สิงคโปร์เราต้องคำนวณเรื่องนี้ให้ดี และหากคิดจะจ้างแรงงานต่างชาติอื่นๆก็ต้องดูที่กฏหมายของสิงคโปร์เป็นหลักด้วย
3.ใบอนุญาติต้องถูกต้อง
มีกรณีศึกษามากมายที่ร้านอาหารบางแห่งมีดำเนินธุรกิจขัดแย้งกับการขออนุญาต หากคิดจะเปิดร้านอาหารในสิงคโปร์ควรศึกษาข้อมูลนี้จากEnterpriseOne เว็บไซต์ของรัฐบาลเพื่อดูว่าธุรกิจที่กำลังจะดำเนินนั้นเข้าข่ายต้องขอใบอนุญาตประเภทใด
ที่สำคัญ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับแผนกอาหารจะต้องเข้าอบรมและต้องสอบให้ผ่านคอร์สสุขอนามัยด้านอาหาร (Food Hygiene Course) ก่อนไปลงทะเบียนกับสำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
3.สายป่านต้องดีเงินลงทุนต้องเยอะ
ทุกคนรู้ดีว่าสิงคโปร์ได้ชื่อว่าทุกตารางนิ้วมีราคาแพงมาก ซึ่งร้านอาหารไทยในสิงคโปร์มักต้องจ่ายล่วงหน้าในการเช่าพื้นที่อย่างน้อย 3-6 เดือนไม่รวมค่าตกแต่งร้านที่ต้องสร้างบรรยากาศให้ลูกค้าสนใจด้วย ตัวเลขของร้านค้าแบบคีออสเล็กๆยังประมาณ 80,000-600,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ ยิ่งเป็นร้านอาหารราคาลงทุนก็ยิ่งสูงเราต้องคำนวณเรื่องนี้ให้ดีด้วย
4.เรียนรู้มาตรการส่งเสริมของรัฐบาลสิงคโปร์
ตัวช่วยสำคัญของผู้ประกอบการคือการเรียนรู้มาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาลสิงคโปร์ที่มีอยู่หลายโครงการเช่น PIC (Productivity and Innovation Credit) ที่อยู่ในรูปการให้เงินสนับสนุน หรือ SPRING Singapore ที่ให้เงินอุดหนุนแก่ธุรกิจมากถึง 70 % แต่ทั้งนี้ธุรกิจนั้นก็ต้องตรงตามกฏเกณฑ์ที่ทางหน่วยงานเขากำหนดไว้ด้วย
5.การตลาดต้องดีเยี่ยม
ลำพังมีเพียงเงินทุนคงอยู่ไม่รอด สิ่งสำคัญคือการทดสอบตลาดว่าสิ่งไหนเป็นสินค้า หรืออาหารที่คนสิงคโปร์มีความต้องการ หากเป็นไปได้อาจมีการจ้างนักการตลาดมืออาชีพในการเป็นที่ปรึกษาจะทำให้ธุรกิจร้านอาหารนั้นเป็นไปแนวทางที่ถูกที่ควรมากขึ้น
6.ทำเลต้องทำเงิน
ด้วยค่าเช่าพื้นที่ที่แพงผู้ลงทุนร้านอาหารบางรายอาจเลือกประหยัดด้วยการเช่าพื้นที่ในลำดับรองๆ ลงไป ซึ่งก็ต้องมาประเมินดูว่าการลดต้นทุนแบบนี้จะคุ้มค่าแค่ไหน ทำเลหลักจ่ายแพงแต่คนเยอะยอดขายมาก กับทำเลรองคนน้อยกว่าขายได้น้อยกว่า ในระยะสั้นอาจเป็นเรื่องที่ดีแต่ในระยะยาวอาจไม่ดีอย่างที่คิดก็ได้
7.มีเชฟสำรอง
เชฟคือหัวใจหลักของร้านอาหารหากผู้ประกอบการไม่สามารถเป็นเชฟด้วยตัวเองก็ต้องมีการจ้าง ซึ่งทางที่ดีควรฝึกให้ลูกมือทำงานทดแทนเชฟหลักได้ในกรณีที่เชฟเกิดเจ็บป่วยไม่สบายหรือลาออก
8.อาหารและบริการต้องดีควบคู่กัน
เมนูยอดฮิตที่คนสิงคโปร์นิยมกินอาหารไทยได้แก่ข้าวผัดประเภทต่างๆ ต้มยำ ผัดกระเพรา เป็นต้น แม้อาหารจะดีแต่ร้านอาหารจะแข่งที่รสชาติอย่างเดียวไม่ได้ บริการต้องให้คนสิงคโปร์รู้สึกคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายออกไป การบริการเป็นเทคนิคการดึงดูดลูกค้าที่ดีไม่ใช่แค่ส่วนประกอบแต่คือส่วนสำคัญที่ร้านอาหารไทยต้องมีหากคิดจะไปให้รอด
9.สรรหาวัตถุดิบทดแทนเพื่อลดต้นทุน
คนสิงคโปร์นิยมในอาหารรสจัดจ้านของไทยแต่การนำเข้าเครื่องปรุงโดยตรงจากประเทศไทยอาจทำให้มีต้นทุนที่สูงขึ้นหนึ่งในวิธีบริหารต้นทุนคือเลือกใช้วัตถุดิบในพื้นที่ที่สามารถทดแทนกันได้ แน่นอนว่าเชฟผู้ประกอบอาหารจะต้องมีความรู้ในส่วนนี้อย่างดีว่าใช้อะไรทดแทนแล้วจะไม่ทำให้คุณภาพอาหารลดลง
10.อย่าคิดลุยแบบไม่มีประสบการณ์
บางคนคิดสั้นๆว่าการทำร้านอาหารไม่ใช่เรื่องยาก เอาง่ายๆแค่ในประเทศหากไม่มีประสบการณ์ยังรอดยาก แต่นี่คือการเปิดร้านในต่างประเทศที่ปัจจัยรอบด้านแตกต่างสิ้นเชิงหากไร้ประสบการณ์ด้วยแล้วไม่แนะนำให้เสี่ยง หรือหากต้องการเดินหน้าลุยจริงๆ ก็ควรจ้างที่ปรึกษาด้านธุรกิจอาหารมาเป็นไกด์ไลน์นำทางอย่าคิดลุยเดี่ยวแบบบ้าบิ่นเพราะโอกาสจะผิดหวังมีสูงมาก
หากเราดูจากความสำเร็จของร้านอาหารที่เปิดในสิงคโปร์หลายแห่งเป็นไปอย่างสวยงามแต่ก็มีอีกไม่น้อยที่ไปไม่รอดกับความคิดนี้ สิ่งสำคัญคือการวางแผนทุกอย่างให้รัดกุม คิดทุกอย่างให้รอบด้าน มีที่ปรึกษาที่สามารถเชื่อใจได้ ตลาดร้านอาหารไทยในสิงคโปร์ยังเปิดกว้างแต่ก็สงวนสิทธิ์เอาไว้สำหรับคนที่วางแผนการลงทุนมาเป็นอย่างดีแล้วเท่านั้น
สำหรับท่านใดที่ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจเรามีรวบรวมบทความมากมาย ติดตามได้ที่ goo.gl/Io5k2S
ข้อมูลจาก goo.gl/crwdXq