10 แบรนด์ ดูเหมือนขายแฟรนไชส์ แต่แท้จริงไม่ขายแฟรนไชส์

ปี 2566 ผู้เชี่ยวชาญมองว่าธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทยจะมีแนวโน้มเติบโตอย่างมาก หลังจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย รัฐบาลเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว รวมถึงจะมีการเลือกตั้งรัฐบาลใหม่

จากปัจจัยเหล่านี้จึงทำให้หลายๆ คนที่อยากมีอาชีพ อยากมีกิจการเป็นของตัวเอง หันมาเริ่มต้นธุรกิจด้วยการซื้อแฟรนไชส์ เพราะเป็นทางลัดในการทำธุรกิจ ไม่ต้องเสียเวลาในการสร้างแบรนด์ อีกทั้งได้รับการสอนจากเจ้าของแบรนด์

แต่รู้หรือไม่ว่า ธุรกิจแบรนด์ไหนขายแฟรนไชส์ หรือไม่ขายแฟรนไชส์ วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com จะนำเสนอธุรกิจที่ดูเหมือนว่าจะขายแฟรนไชส์ แต่จริงๆ แล้ว ไม่ขายแฟรนไชส์ ให้กับนักลงทุนรายย่อยในไทย

1. KFC

ไม่ขายแฟรนไชส์

หลายคนอาจมีคำถามว่า KFC เป็นแฟรนไชส์แต่ทำไมไม่ขายแฟรนไชส์ ซึ่งจริงๆ แล้ว KFC เป็นุรกิจแฟรนไชส์แต่ไม่ได้ขายแฟรนไชส์ให้กับนักลงทุนรายย่อยทั่วไปเหมือนธุรกิจแฟรนไชส์อื่นๆ แต่ขายแฟรนไชส์ให้กับกลุ่มทุนรายใหญ่ไปหมดแล้ว 3 กลุ่มทุนในเมืองไทย สำหรับ KFC ในประเทศไทยปัจจุบันมีมากกว่า 953 สาขา

ภายใต้การบริหารงานของ 3 บริษัท ผู้ได้รับสิทธิ์แฟรสไชส์ ได้แก่ บริษัท เดอะ คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย จำกัด หรือ QSA ,บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือ CRG และบริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด หรือ RD โดยบริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด เป็นเจ้าของแบรนด์ (แฟรนไชส์ซอร์) ดูแลพัฒนาแบรนด์และแฟรนไชส์ซีอย่างเดียวเต็มตัว

2. ฮะจิบัง ราเมน

ไม่ขายแฟรนไชส์

“ฮะจิบัง ราเมน” เป็นร้านราเมนต้นตำรับจากประเทศญี่ปุ่นที่มีจำนวนสาขาราคาๆ 150 แห่งทั่วประเทศไทย อยู่ภายใต้การบริหารบริษัท ไทยฮะจิบัง จำกัด ด้วยรสชาติอาหารที่กลมกล่อม รับประทานง่าย และราคาที่ไม่สูงมากนัก ทำให้ร้านฮะจิบัง ราเมนได้รับความนิยมจากผู้ที่ชื่นชอบอาหารญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก เมนูอาหารของทางร้านมีให้เลือกมากมาย

โดยเฉพาะเมนูราเมนที่มีน้ำซุปหลากหลายสูตรตามแบบฉบับของราเมนจากญี่ปุ่น โดยความโดดเด่นของฮะจิบัง ราเมน มีคามาโบโกะ (ผลิตภัณฑ์อาหารทะเลญี่ปุ่น) ที่มีลวดลายแตกต่างจากที่อื่นๆ คือเป็นลายหมายเลข 8 ทำให้เป็นที่จดจำของลูกค้า

3. สุกี้ตี๋น้อย

ไม่ขายแฟรนไชส์

ภาพจาก www.facebook.com/sukiteenoithailand/

อีกหนึ่งธุรกิจร้านอาหารที่ไม่ได้ขายแฟรนไชส์ ปัจจุบันมีร้านราวๆ 41 สาขา ภายใต้การบริหารของ “คุณนัทธมน พิศาลกิจวานิช” ผู้ก่อตั้งบริษัท บี เอ็น เอ็น เรสเตอรองท์ กรุ๊ป จำกัด ซึ่งเดิมครอบครัวของเธอดำเนินธุรกิจร้านอาหารเรือนปั้นหยา สำหรับสุกี้ตี๋น้อยได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วอาจเป็นเพราะราคาสบายกระเป๋า 219 บาท เปิดให้บริการ 12.00-05.00 น. ลูกค้าสามารถเลือกทานได้ทุกเมนู ตั้งแต่เนื้อวัวไปจนถึงซีฟู้ด นั่งได้สูงสุด 1.45 ชั่วโมง จึงทำให้สุกี้ตี๋น้อยคุ้มค่ากว่าที่อื่นๆ

นอกจากนี้ ร้านสุกี้ตี๋น้อยยังมีการออกโปรโมชั่นอยู่ตลอดเวลา จึงกลายเป็นร้านบุฟเฟต์ที่สามารถจับกลุ่มลูกค้าปกติและลูกค้าที่ทำงานตอนกลางคืน รวมถึงลูกค้ากลุ่มที่ไม่ต้องกังวลต่อการรีบเพื่อกลัวว่าร้านจะปิดก่อนอีกด้วย ด้วยความที่เป็นธุรกิจที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้ในปัจจุบันสุกี้ตี๋น้อยได้มีกลุ่มทุนใหญ่อย่าง JMART เข้ามาถือหุ้นสัดส่วน 30% คิดเป็นเงินลงทุน 1,200 ล้านบาท นั่นทำให้กิจการสุกี้ตี๋น้อยมีมูลค่ารวม 4,000 ล้านบาท

4. ชาตรามือ

ไม่ขายแฟรนไชส์

มีคำถามบ่อยว่า “ชาตรามือ” ขายแฟรนไชส์หรือไม่ ซึ่งคำตอบทีได้ก็คือ ชาตรามือไม่ขายแฟรนไชส์ แต่สามารถใช้ผลิตภัณฑ์ของชาตรามือวางตกแต่งหน้าร้านได้ โดยให้ใช้ชื่อและโลโก้ในนามเจ้าของร้านได้ “ชาตรามือ” เป็นผลิตภัณฑ์ชาไทย ของบริษัท สยาม เอฟ บี โปรดักส์ จำกัด

สินค้าภายใต้แบรนด์ชาตรามือมีทั้ง ชาแดง ชาเขียว ชาอู่หลง ชากุหลาบ ฯลฯ และยังเปิดร้านจำหน่ายในชื่อร้าน ชาตรามือ ซึ่งชาตรามือไม่ได้ขายแฟรนไชส์ในไทย แต่ขายแฟรนไชส์ต่างประเทศ ได้แก่ พม่า, มาเลเซีย, เกาหลีใต้, ฮ่องกง, จีน, กัมพูชา และบรูไน รวม 33 สาขา ขณะที่ในไทยมีราวๆ 105 สาขาทั่วประเทศ

5. KOI Thé

ไม่ขายแฟรนไชส์

อีกหนึ่งแบรนด์ร้านเครื่องดื่มที่คนสนใจซื้อแฟรนไชส์จำนวนมาก แต่ไม่ได้ขายแฟรนไชส์ KOI Thé (โคอิเตะ) ร้านชาระดับพรีเมี่ยมจากประเทศไต้หวัน โดยการชงแบบ customize แก้วต่อแก้ว พิถีพิถันในทุกขั้นตอนตั้งแต่การเลือกใบชา การเก็บ การทำ และการควบคุมคุณภาพในทุกๆ ขั้นตอน

มีเมนู Signature อย่าง “Black Tea Macchiato” ที่ใช้วิธีแบบยกดื่ม ผสมผสานรสชาติของ Brewed Tea กับ Fresh Cream หวาน มัน และ “Golden Bubble Milk Tea” ที่มีความพิเศษด้วย “ไข่มุกสีทอง” สดใส มีขนาดเล็กและเหนียวนุ่มเป็นเอกลักษณ์ ปัจจุบันมีมากกว่า 57 สาขาทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

6. The Alley

ไม่ขายแฟรนไชส์

แบรนด์ชานมไข่มุกพรีเมี่ยมจากไต้หวัน ไม่ขายแฟรนไชส์ เปิดตัวในเมืองไทยเมื่อปี 2561 ปัจจุบันมีจำนวน 23 สาขา ขยายสาขาอย่างรวดเร็วทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัดตามหัวเมืองที่มีกำลังซื้อสูง สินค้ามีความหลากหลาย ทั้งไอศกรีม Soft Serve เบเกอรี่ต่างๆ พร้อมครัวซองต์ พร้อมเสิร์ฟร้อนๆ ที่ The Alley Cafe’ และ เครื่องดื่มร้อนมากกว่า 20 เมนู

7. บี-ควิก

ไม่ขายแฟรนไชส์

ภาพจาก facebook.com/BQUIK/

บี-ควิก เป็นผู้เชี่ยวชาญในการให้บริการ ยาง ซ่อมบำรุงระบบเบรก แบตเตอรี่ โช้คอัพ ช่วงล่าง ระบบแอร์รถยนต์ เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง และซ่อมรอยแตกกระจกรถยนต์ จึงเป็นทางเลือกใหม่ของผู้ใช้รถยนต์ ด้วยการบริการที่ครบวงจรจากช่างผู้ชำนาญงานที่ผ่านการอบรมเฉพาะด้าน พร้อมให้คำแนะนาอย่างจริงใจ พร้อมอุปกรณ์ ที่ทันสมัย และมีสินค้าครบครันในราคามาตรฐานเดียวกันทุกสาขา

โดย บี-ควิก คัดเลือกเฉพาะสินค้าที่มีคุณภาพ จากโรงงานผู้ผลิตชั้นนำ บี-ควิก จึงกล้ารับประกันสินค้าที่ได้รับบริการติดตั้ง ด้วยการเปลี่ยนใหม่หรือคืนเงิน คุณจึงมั่นใจได้ว่าที่ บี-ควิก คุณจะได้รับการบริการและคาแนะนำที่ดีที่สุดเสมอ เพื่อความมั่นใจและปลอดภัยในการขับขี่ ในทางเดียวกัน เพื่อช่วยยืดอายุการใช้งานของรถคุณ สำหรับ บี-ควิก เป็นศูนย์บริการที่บริหารงานเองทั้งหมด ไม่ได้เปิดระบบแฟรนไชส์ แต่ใครมีพื้นที่ให้เช่าสามารถนำเสนอเข้าไปยังบริษัทได้

8. บอนชอน

ร้านไก่ทอด BonChon เกิดขึ้นเมื่อปี 2545 ที่เมืองปูซานประเทศเกาหลีใต้ โดยชายที่ชื่อว่า จินดุ๊กเซ ในเวลาต่อมา จินดุ๊กเซ อยากบริหารธุรกิจให้มีการเติบโตรวดเร็ว จึงวางแผนขยายธุรกิจแบบแฟรนไชส์ แต่ตลาดไก่ทอดในเกาหลีไม่เฟื่องฟูนัก จึงเล็งไปที่ต่างประเทศ โดยเปิดสาขาที่อเมริกา ได้รับความนิยมจากลูกค้ารวดเร็ว มีคนเข้าคิวเป็นชั่วโมง จนข่าวแพร่กระจายทำให้กระแส BonChon โด่งดังรวดเร็ว โดยในตอนนั้น BonChon มีการขยายสาขาอย่างรวดเร็วถึง 88 สาขาในสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบัน BonChon มีมากกว่า 300 สาขาใน 10 ประเทศทั่วโลก ประเทศที่มีร้านเยอะที่สุด คือ ฟิลิปปินส์ มี 189 สาขา

ในประเทศไทยปัจจุบันมี 102 สาขา โดยร้านไก่ทอด BonChon ถูกนำเข้ามาโดยบริษัท มาชิสโสะ จำกัด จดทะเบียน 18 มิ.ย.2553 มีผู้ก่อตั้ง 2 คน คือ คุณธัญญา ศรีพัฒนาสกุล และ คุณพรพิมล วงศ์ศิริกุล ต่อมาในปี 2554 ได้เปิดร้านไก่ทอดสาขาแรกในไทยที่ทองหล่อ จนกระทั่งถึงปี 2561 บริษัท มาชิสโสะ จำกัด ได้เลิกกิจการ ต่อมาได้มีบริษัท ชิคเก้น ไทม์ จํากัด เข้ามาเป็นเจ้าของ BonChon จนกระทั่งล่าสุดวันที่ 18 พ.ย.2562 บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) ได้จัดตั้งบริษัท ไมเนอร์ ฟู้ด โฮลดิ้ง จํากัด ซื้อกิจการ BonChon ในสัดส่วน 100% มูลค่าลงทุน 2,000 ล้านบาท

9. ซีเจ เอ็กซ์เพรส

ภาพจาก facebook.com/CJMORETH

อีกหนึ่งร้านสะดวกซื้อที่หลายคนคิดว่าขายแฟรนไชส์สำหรับ CJ Supermarket หรือ CJ Express ปัจจุบันขยายสาขาไปแล้วมากกว่า 700 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งหลายๆ คนมองว่ากำลังกลายเป็นคู่แข่งสำคัญ และเป็นเงาตามตัวร้าน 7-Eleven ชนิดที่ว่าร้าน 7-Eleven ไปเปิดให้บริการอยู่ที่ไหน ก็จะมีร้าน CJ Supermarket ก็จะเปิดให้บริการอยู่ที่นั่นด้วย

CJ Supermarket ธุรกิจร้านสะดวกซื้อ เริ่มแรกจะปักหลักสร้างฐานอยู่แถบภาคกลางและตะวันตก จำหน่ายสินค้าอุปโภคและบริโภคในราคาประหยัดภายใต้การบริหารงานของ บริษัท พีเอสดี รักษ์ไทย จำกัด ผู้ประกอบการค้าปลีก-ค้าส่งรายใหญ่ในจังหวัดราชบุรี อยู่ภายใต้การบริหารของ “วิทย์ ศศลักษณานนท์” โดยได้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 4 มกราคม ปี 2548

ต่อมาได้มาเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น บริษัท ซี.เจ.เอ็กซ์เพรส กรุ๊ป จำกัด เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2556 หลังจาก “เสถียร เศรษฐสิทธิ์” ประธานกรรมการบริหารเครื่องดื่ม “คาราบาวแดง” และพันธมิตร เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่กว่า 80% โดยร้านสะดวกซื้อ CJ Express มีจุดกำเนิดและมีความแข็งแกร่งอยู่ที่จังหวัดราชบุรี สมุทรสาคร มีความชำนาญในพื้นที่รอบนอกกรุงเทพฯ จึงไม่คิดที่จะต่อกรกับร้านสะดวกซื้อยักษ์ใหญ่โดยตรง กลยุทธ์ของ CJ Express ที่กำลังใช้อยู่ก็คือ “ป่าล้อมเมือง”

10. Sukiya (สุคิยะ)

ร้านสุกิยะเป็นร้านอาหารแฟรนไชส์จากญี่ปุ่น ที่มีเมนูโด่งดังคือข้าวหน้าเนื้อ ที่มีสาขามากกว่า 1,900 สาขาทั่วโลก ร้านสุกิยะเปิดครั้งแรกในเมืองโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น ทั้งราเมน ข้าวราดเนื้อ แต่ถ้าใครที่ไม่กินเนื้อนี่ก็มีหมู ไก่ ปลาไว้รองรับด้วย

สุคิยะได้เริ่มเข้ามาทำตลาดในไทยตั้งแต่ปี 2554 ในช่วงนี้ถือว่าเป็นช่วงที่ร้านอาหารญี่ปุ่นกำลังบูม หลายคนรู้จักร้านสุคิยะจากประเทศญี่ปุ่นก็มีส่วนในการใช้บริการที่ประเทศไทย เพราะที่ญี่ปุ่นทางสุคิยะได้เคลมว่าตนเองเป็นร้านข้าวหน้าเนื้ออันดับหนึ่งโดยมีสาขาทั้งหมด 1,920 สาขา อยู่ภายใต้การบริหารของบริษัท เซนโช (ไทยแลนด์) จำกัด

นั่นคือ 10 แบรนด์ธุรกิจ ที่ดูเหมือนว่าจะขายแฟรนไชส์ในประเทศไทย แต่แท้จริงไม่ขายแฟรนไชส์ ซึ่งถ้าหากจะขายส่วนใหญ่จะเป็นนักลงทุนรายใหญ่ๆ หรือมาสเตอร์แฟรนไชส์ในไทยบริหารกิจการ ไม่ขายแฟรนไชส์ให้นักลงทุนรายย่อยทั่วๆ ไป

ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจ แฟรนไชส์ และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise

0

ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจติดตามได้ที่ https://bit.ly/335phDi
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter

 

อ้างอิงจาก https://bit.ly/3wwVzSV

คุณมนตรี ศรีวงษ์ (อ๊อฟ)

นักเขียน ผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงข่าวสาร การค้า การลงทุน มีความสนใจเรื่องของธุรกิจเอสเอ็มอี และแฟรนไช