10 เรื่องจริงที่คุณไม่รู้! เทศกาลปีใหม่
การแพร่ระบาดโควิด 19 ทำให้ทั่วโลกต้องเว้นระยะห่างจากการจัดงานปีใหม่ และในปีนี้ที่สถานการณ์คลี่คลายหลายประเทศมีแผนที่จะกลับจัดงานเคาน์ดาวกันอีกครั้ง ซึ่งจะว่าไป เทศกาลปีใหม่ คือช่วงเวลาแห่งความสุข แต่ละประเทศก็มีธรรมเนียมและวัฒนธรรมที่แตกต่าง
ทำให้การเฉลิมฉลองในแต่ละประเทศมีสีสันแตกต่างกันไป www.ThaiSMEsCenter.com เชื่อว่าปีใหม่คือเทศกาลที่หลายคนรอคอย รวมถึงยังมีเรื่องจริงน่าสนใจเกี่ยวกับ 10 เรื่องจริง เทศกาลนี้ที่เราควรรู้ไว้
1.วันปีใหม่มีมานานกว่า 4 พันปีก่อน
ตามประวัติศาสตร์ระบุว่าการฉลองปีใหม่เริ่มตั้งแต่สมัย จูเลียส ซีซาร์ ที่เป็นจักรพรรดิของโรม ได้นำความคิดของนักดาราศาสตร์ชาวอียิปต์ชื่อ “โยซิเยนิส” มาปรับปรุงการกำหนดช่วงระยะเวลาใหม่ให้หนึ่งปีมี 365 วัน หรือ 12 เดือนและกำหนดให้วันที่ 1 มกราคมเป็นวันปีใหม่ โดยชื่อเดือน January ก็มีที่มาจากชื่อของเทพเจ้าอย่าง Janas
2.วันปีใหม่ของไทยปรับเปลี่ยนมาแล้ว 4 ครั้ง
วันขึ้นปีใหม่ในประเทศไทยได้ถูกปรับเปลี่ยนมาแล้วทั้งหมด 4 ครั้ง ตามปฏิทินการเปลี่ยนแปลงนักษัตร และเดือนตามจันทรคติ ได้แก่
- วันขึ้น 1 ค่ำ เดือนอ้ายซึ่งตรงกับเดือนมกราคม
- วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ตามคติพราหมณ์ซึ่งตรงกับเดือนเมษายน
- วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2432
- มาจนถึงครั้งล่าสุดที่เปลี่ยนคือ วันที่1 มกราคม พ.ศ. 2484
3.ใช้ 1 มกราคมเป็นวันปีใหม่ตั้งแต่ปี 2484
สำหรับการพิจารณาเปลี่ยน “วันขึ้นปีใหม่” เกิดขึ้นโดยคณะรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาเรื่องนี้ขึ้นมา ซึ่งมี “หลวงวิจิตรวาทการ” เป็นประธานกรรมการ หลังจากหารือกันแล้วเสร็จ ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จากเดิม 1 เมษายน ให้เป็นวันที่ 1 มกราคมแทน โดยกำหนดให้วันที่ 1 มกราคม 2484 เป็นวันขึ้นปีใหม่สากลครั้งแรกในประเทศไทย
4.สาธารณรัฐคิริบาส เป็นประเทศแรกที่ได้ฉลองปีใหม่
เกาะคิริติมาตี (Kiritimati Islands) หมู่เกาะเล็กๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิก ตั้งอยู่ระหว่างประเทศออสเตรเลียกับรัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา เกาะนี้เป็นดินแดนของสาธารณรัฐคิริบาส หรือ สาธารณรัฐคิริบาตี (Kiribati) อยู่ทางตะวันออกที่สุดของโลก เกาะคิริติมาตีนั้นจะฉลองปีใหม่ก่อนประเทศไทย 7 ชั่วโมง โดยถ้านับตามเวลาประเทศไทย ชาวหมู่เกาะคิริติมาตีจะเคานต์ดาวน์ตอน 17.00 น. ตามเวลาประเทศไทย ถือว่าเป็นสถานที่ที่เวลาล่วงเวลาเข้าสู่ปีใหม่เป็นที่แรกของโลก
5.หมู่เกาะซามัวคือดินแดนสุดท้ายที่ได้ฉลองปีใหม่
รัฐอิสระซามัว (Independent State of Samoa) เป็นประเทศสุดท้ายที่ได้ฉลองปีใหม่ โดยกว่าที่ชาวซามัวจะได้ฉลองปีใหม่ ก็เป็นเวลา 6 โมงเย็นของวันที่ 1 มกราคม(ตามเวลาประเทศไทย) หรือห่างกันประมาณ18 ชั่วโมง และ ห่างจากสาธารณรัฐคิริบาสที่ได้ฉลองปีใหม่เป็นประเทศแรกถึง 25 ชั่วโมง โดยซามัวเป็นประเทศที่ประกอบด้วยหมู่เกาะอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ และแม้ว่าจะอยู่ไม่ห่างจากคิริบาสมากนักแต่เนื่องจากมีเส้นแบ่งซีกโลกตะวันตกและตะวันออกคั่นกลาง ทำให้ทั้งสองประเทศมีเวลาห่างกันกว่า 1 วัน
6.การฉลองปีใหม่แบบแหวกแนวรอบโลก
ที่เอกวาดอร์จะมีการเผาหุ่นไล่กาที่ยัดไส้ด้วยกระดาษ ตอนเที่ยงคืนของวันที่ 31เพราะเชื่อว่าจะเป็นการปัดเป่าโชคร้ายและสิ่งไม่ดีที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังเผารูปถ่ายของสิ่งที่ ‘เป็นตัวแทน’ ของปีที่ผ่านมาด้วย หรือที่ญี่ปุ่น ในวัดของศาสนาพุทธ นิกายเทนได จะมีการตีระฆัง 108 ครั้งเพราะเชื่อว่าการตีระฆังเป็นการขับไล่บาปของมนุษย์ทั้งหมด และที่แปลกมากคือในประเทศอย่างเม็กซิโก โบลิเวีย และบราซิล มีความเชื่อว่าโชคของปีหน้าจะดีหรือร้ายนั้น ขึ้นอยู่กับ กางเกงใน ใครที่อยากเจอมีความรักดีๆ ก็ต้องใส่กางเกงใน สีแดง ส่วนคนที่อยากดวงขึ้นเรื่องเงินๆ ทองๆ ควรใส่สีเหลือง เป็นต้น
7.คนอเมริกันนิยมทำ New Year’s Resolution
New Year’s Resolution คือการทำสิ่งดีๆ ในเดือนแรกของปี โดยสิ่งที่นิยมทำ เช่น การลดน้ำหนัก , ใช้เงินน้อยลง , เก็บเงินออมให้มากขึ้น , ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพมากขึ้น , เลิกสูบบุหรี่ เป็นต้น ซึ่งก็มีคนอเมริกันจำนวนหนึ่งที่ทำสำเร็จแต่ก็มีไม่น้อยกว่า 25 % ที่ล้มเหลวไปตั้งแต่ 2 สัปดาห์แรกของเดือนมกราคม
8.อาหารสำหรับฉลองปีใหม่ในแต่ละประเทศ
ขึ้นชื่อว่าเป็นเทศกาลแห่งความสุข อาหารก็เป็นสิ่งสำคัญ หลายเมนูในหลายประเทศก็ล้วนเป็นอาหารที่มีความหมายดี เพื่อสื่อถึงความสุขและความสำเร็จตลอดปี เช่นญี่ปุ่นวันที่ 31 ธันวาคมของทุกปีมักจะเป็นวันที่ครอบครัวชาวญี่ปุ่นทุกบ้านร่วมกันกิน ‘โทชิโคชิ โซบะ’ หรือ ‘โซบะปีใหม่’ ส่วนในสเปนะกินองุ่น 12 ลูกเพื่อเรียกความโชคดี โดยเริ่มกินลูกแรกเมื่อนาฬิกาตีครั้งที่หนึ่งล่เรียงไปจนครบ 12 ลูก หรือในประเทศจีนจะรับประทานปลาทั้งตัวเพราะคำว่า “ปลา” ในภาษาจีนออกเสียงคล้ายคำที่มีความหมายว่า “อุดมสมบูรณ์” โดยจะนำมานึ่ง ผัด แกง ทอด อะไรก็ได้ แต่ต้องทั้งตัวเท่านั้นและห้ามหั่น เป็นต้น
9.คนอเมริกันจ่ายเงินค่า “ของขวัญ” ปีใหม่มากที่สุด
คนอเมริกันจะหมดเงินไปกับ “ของขวัญ” มากกว่าค่าใช้จ่ายในการตกแต่งต้นคริสต์มาส โดยใช้งบสำหรับของขวัญอยู่ที่ 57 – 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ นับว่าเป็นมูลค่าของขวัญที่สูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นโดยสินค้ายอดนิยมที่มักจะเลือกซื้อให้กันในวันคริสต์มาส ได้แก่ ช็อกโกแลต, เงินสด, หนังสือ และ ไอโฟน เป็นต้น
10.ที่มาของ “ต้นคริสมาสต์”
ในต่างประเทศ การประดับประดาต้นคริสต์มาส เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม หรือก่อนหน้านั้น เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่เทศกาลแห่งความสุข ร้านค้าต่างๆ ตกแต่งหน้าร้านด้วยต้นคริสต์มาส เพื่อต้อนรับลูกค้า พร้อมกับป้ายที่แขวนรับเทศกาลปีใหม่ไปพร้อมๆ กัน นับแต่อดีต ชาวคริสต์นิยมใช้ต้นสนเป็นต้นคริสต์มาส เพราะมีความหมายเกี่ยวข้องกับต้นไม้บนสวรรค์ที่เอวากับอาดัมไปเด็ดผลไม้มากิน จนเป็นต้นกำเนิดของมนุษย์ อย่างไรก็ดี ต้นสนเป็นต้นไม้ที่พบมากในประเทศที่นับถือศาสนาคริสต์ แต่ปัจจุบันเพื่อความสะดวกก็ใช้เป็นต้นไม้พลาสติกเพื่อเก็บไว้ใช้ในปีถัดไปได้
เทศกาลปีใหม่ นอกจากเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขในมุมของคนทำธุรกิจก็คือช่วงเวลาที่จะดึงลูกค้าเพื่อสร้างรายได้มากขึ้น โดยช่วงนี้หลายโปรโมชันถูกหยิบขึ้นมาเป็นกลยุทธ์ด้านการตลาด ยิ่งปีนี้หลายพื้นที่สามารถจัดงานและมีการเดินทางได้แบบไม่มีข้อจำกัด ก็ทำให้คาดว่าปี 2566 จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วย
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจ แฟรนไชส์ และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise
ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/335phDi
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter
ขอบคุณข้อมูล https://bit.ly/3VAAIZB , https://bit.ly/3UlgNNb , https://bit.ly/3UicthI , https://bit.ly/3FdbOtu , https://bit.ly/3FdJHKR , https://bit.ly/3gKdS2V , https://bit.ly/3iqStwd , https://bit.ly/3EM5AiR , https://bit.ly/3AUXzal , https://bit.ly/3ueI6y9
อ้างอิงจาก https://bit.ly/3H8WgIG