10 เทคนิคเปิดร้านข้าวแกงบุฟเฟ่ต์ แบบไหนไม่ให้เจ๊ง
บอกก่อนเลยว่าไม่ใช่ทุกคนที่ลงทุนเปิดร้านข้าวแกงบุฟเฟ่ต์แล้วจะประสบความสำเร็จ! ตรงกันข้ามถ้าวิธีบริหารจัดการไม่ดีเสี่ยงเจ๊งขาดทุนป่นปี้ได้อย่างรวดเร็ว
ตัวอย่างความสำเร็จของร้านข้าวแกงบุฟเฟ่ต์ที่ประสบความสำเร็จบางรายเปิดมากว่า 10 ปี ลงทุนต่อวันประมาณ 20,000 บาท เป็นค่าวัตถุดิบในการทำอาหารหลายอย่าง แต่บอกว่าหักลบกลบหนี้แล้วมีกำไรไม่ต่ำกว่า 2,000-3,000 บาท เห็นตัวเลขนี้แล้วก็อย่าเพิ่งคิดทำตามเพราะกว่าจะมาถึงจุดนี้ต้องมีประสบการณ์ในการทำธุรกิจดีพอตัวเลยทีเดียว
www.ThaiSMEsCenter.com มองว่าการเปิดร้านข้าวแกงบุฟเฟ่ต์แม้จะเป็นอะไรที่ทำได้ไม่ง่ายแต่ก็ใช่จะว่าจะเป็นไปไม่ได้ ของเพียงมีหลักในการปฏิบัติที่ยึดถือให้เป็นแบบอย่าง การลงทุนในธุรกิจนี้ก็ยังมีอนาคตสดใสได้เสมอลองมาดู 10 เทคนิคสำหรับการลงทุนเปิดร้านข้าวแกงบุฟเฟ่ต์แบบไม่เจ๊ง ว่าควรมีอะไรบ้าง
ภาพจาก goo.gl/images/Z7WV2k
1.เริ่มจากลงทุนน้อยไปหามาก
ยิ่งเป็นมือใหม่ยิ่งต้องลงทุนให้น้อยไว้ก่อน เบื้องต้นแนะนำว่าสัก 5,000-10,000 ก็พอ แน่นอนว่าร้านเปิดใหม่ลูกค้ายังไม่รู้จัก ไม่เชื่อมั่นในรสชาติ
รวมถึงตัวเราเองก็ยังไม่ประสีประสาเรื่องการบริหารจัดการต่างๆ ดังนั้นจึงต้องค่อยเป็นค่อยไปเรียนรู้ไปทีละเล็กละน้อย ปรับจูนในส่วนที่ควรแก้ไข จนเริ่มมีความชำนาญค่อยขยับขยายกิจการให้ใหญ่ขึ้น มีกับข้าวให้เลือกมากขึ้น
2.ไม่ต้องจ้างคนงาน ไม่ต้องแต่งร้านเยอะ
ถ้าเราไม่ได้มีเงินถุงเงินถังมากนัก อยากทำธุรกิจข้าวแกงบุฟเฟ่ต์ให้สำเร็จก็ต้องลงแรงมากเป็นพิเศษ อะไรที่ทำเองได้ก็แนะนำว่าทำเองดีกว่าจ้าง เพราะเป็นการลดต้นทุน อาจจะเหนื่อยในการจ่ายกับข้าว ทำกับข้าว เปิดร้าน ขายของ เก็บจาน ล้างจาน ซึ่งหากเรามีคนในครอบครัวควรใช้แรงงานพ่อแม่ลูกช่วยกันทำดีกว่า
รวมถึงร้านข้าวแกงบุฟเฟ่ต์แบบริมทางไม่จำเป็นต้องแต่งร้านให้เยอะแยะมากมาย ไม่ต้องติดแอร์เอาใจลูกค้า แค่จัดการให้ภายในร้านมีที่นั่งสะดวกสบาย อากาศปลอดโปร่ง สะอาดสะอ้าน เท่านี้ก็ดึงดูดลูกค้าที่ส่วนใหญ่เขาต้องการมาทานอาหารในราคาไม่แพงแต่อิ่มไม่อั้นมากกว่า
ภาพจาก goo.gl/images/ZSkFq9
3.นอนน้อยแต่ทำงานมาก
การเปิดร้านอาหารขอให้ทำใจกับการพักผ่อนที่จะน้อยกว่าการทำธุรกิจอื่นโดยเฉพาะร้านอาหารแบบบุฟเฟ่ต์ที่ต้องมีเมนูให้เลือกมากมาย การไปจ่ายตลาดก็ต้องเริ่มตั้งแต่ ตี 1 ตี 2 กลับมาต้องรีบทำกับข้าว
ตามที่วางแผนเอาไว้ก่อนที่จะต้องเตรียมตัวเปิดร้านประมาณ ตี 5 หรือ 6 โมง เปิดร้านเสร็จช่วงบ่ายที่คนเริ่มน้อยก็ต้องมาทำความสะอาดร้าน เก็บร้าน หลังจากนั้นอาจได้พักผ่อน ถือว่าการทำร้านอาหารข้าวแกงบุฟเฟ่ต์เป็นธุรกิจที่เหมาะกับคนขยันและตั้งใจจริงเท่านั้น
4.มีเมนูหลักผสมกับเมนูใหม่ที่หลากหลาย
คำว่าข้าวแกงบุฟเฟ่ต์ก็ต้องมีเมนูให้เลือกมากเป็นพิเศษในที่นี้เราควรกำหนดเมนูหลักที่มีประจำ เพิ่มเติมด้วยเมนูพิเศษที่อาจมีไม่เหมือนกันในแต่ละวันเพื่อให้ลูกค้าได้มีตัวเลือกที่ไม่จำเจ
เมนูข้าวแกงบุฟเฟ่ต์ ที่ควรมี เช่น กระเพรา, แกงเขียวหวาน,แกงเผ็ด, ลาบหมู, ผัดบวบ, ไข่พะโล้, ผัดผักบุ้ง, ต้มจับฉ่าย, ไข่ต้ม, ผัดพริกแกง, พะแนงหมู, ชะอมชุบไข่ และผัดถั่วงอกเต้าหู้ เป็นต้น
ภาพจาก goo.gl/images/QTVFYA
5.วัตถุดิบต้องมีคุณภาพรสชาติต้องอร่อยเหมือนกันทุกวัน
ลูกค้าที่มากินร้านข้าวแกงบุฟเฟ่ต์ส่วนใหญ่ต้องการปริมาณเน้นอิ่มเป็นหลัก แต่ก็ใช่ว่าเราจะละเลยเรื่องรสชาติ ตรงกันข้ามต้องให้ความสำคัญพอสมควรโดยเฉพาะวัตถุดิบ
ควรเน้นเป็นวันต่อวัน และไม่ว่าจะเป็นพริกแกง กะทิคั้นสด กะปิ วัตถุดิบเหล่านี้ ควรมีร้านประจำที่มีคุณภาพเพื่อให้มาตรฐานของรสชาตินั้นเท่าเทียมกันในทุกวัน เสน่ห์ของร้านข้าวแกงบุฟเฟ่ต์นอกจากอิ่มอร่อยในราคาเดียว แต่ถ้ารสชาติไม่ดีลูกค้าก็ไม่นิยมเหมือนกัน
6.ใช้ชีวิตแบบไม่ฟุ่มเฟือย
ข้อนี้ก็สำคัญเพราะลำพังการทำร้านข้าวแกงบุฟเฟ่ต์กำไรอาจจะไม่ได้มากมายนัก ต้องอาศัยการเก็บเล็กผสมน้อยค่อยๆ ต่อยอดจากธุรกิจเล็กๆให้ใหญ่โตขึ้น สิ่งสำคัญคือเราต้องรู้จักการใช้เงินที่หามาได้อย่างยากลำบาก ไม่จับจ่ายฟุ่มเฟือย รู้จักกินรู้จักเก็บ
บางร้านที่เขาประสบความสำเร็จอย่างดีเพราะเขาไม่เที่ยวเตร่ ไม่เป็นหนี้บัตรเครดิตร กินข้าวก็คือข้าวที่ตัวเองทำขาย ไม่ต้องไปซื้อกินข้างนอก จุดเล็กๆ เหล่านี้จะทำให้สามารถรวบรวมเงินเป็นก้อนใหญ่ให้มีโอกาสขยายธุรกิจให้เติบโตมากขึ้นได้
ภาพจาก goo.gl/images/enoEsG
7.กำหนดราคาต่อหัวให้เหมาะสม
อาหารแบบบุฟเฟ่ต์ที่คนเลือกตักเองได้ ปกติคนก็จะเลือกตักส่วนดีๆในแกงไปหมดก่อน ช่วงท้ายๆจึงเหลือแต่น้ำแกงกับวิญญานไก่ เท่ากับว่าเป็นการบังคับทางอ้อมให้เราต้องทิ้งเมนูนี้เพราะ วางไว้ก็ดูน่าเกลียดอีก นั่นหมายความว่า อาหาร 1 ถาด ทานจริงได้แค่ 50-60% เท่านั้น
ร้านอาหารไหนที่มีของเหลือทิ้งเยอะขนาดนี้ เจ๊งสถานเดียวไม่ใช่เจ๊งเพราะขายไม่ได้ แต่เจ๊งเพราะของเหลือทิ้ง ทำให้ต้นทุนบาน การคิดราคาต้นทุนต่อหัวต้องเอาข้อมูลเหล่านี้มารวมด้วย ดังนั้นราคาข้าวแกงบุฟเฟ่ต์หากคิดจะกดราคาตัวเองให้ต่ำเพื่อดึงคนเข้าร้านมากๆ ก็ต้องพิจาณาแล้วว่ามันคุ้มค่าแค่ไหนจะทำให้เราเสี่ยงเจ๊งได้แบบไม่รู้ตัวหรือเปล่า
8.บริหารจัดการบัญชีอย่างมีระบบ
คนลงทุนร้านข้าวแกงบุฟเฟ่ต์ส่วนใหญ่มักไม่ได้คำนึงถึงเรื่องนี้ส่วนใหญ่ก็ซื้อวัตถุดิบมาและทำอาหารไปตามความเคยชิน เพื่อป้องกันต้นทุนที่บานลายควรมีการจัดทำระบบบัญชีอย่างเป็นระบบรู้ว่า อาหาร 1 ถาด เราต้องรู้ว่า ใช้หมูกี่ขีด ผักกี่ขีด
1 ถาด ตักทานได้กี่จาน การบันทึกข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้เราลดต้นทุนได้ในระดับหนึ่ง เพราะร้านข้าวแกงบุฟเฟ่ต์กำไรจะมาจากการบริหารหลังบ้าน บริหารครัว บริหารต้นทุนอาหาร เป็นหลัก
ภาพจาก goo.gl/images/Yg6MPw
9.เพิ่มบริการรับจัดเลี้ยงนอกสถานที่
บางคนบอกว่าแค่ขายหน้าร้านก็เหนื่อยมากแล้วจะเอาเวลาที่ไหนไปรับจัดเลี้ยงได้อีก แต่การรับจัดเลี้ยงนอกสถานที่ก็ถือเป็นการเพิ่มรายได้ให้ธุรกิจที่น่าสนใจ เพียงแต่เราต้องมีระบบภายในร้านที่แข็งแรงก่อน ส่วนใหญ่มักจะเป็นร้านที่มีอายุกิจการมากๆ มีทีมงานมากพอที่จะแบ่งคนไปรับงานภายนอก
สำหรับใครที่เพิ่งเปิดร้านใหม่ๆ ขอแนะนำว่าให้สร้างชื่อเสียงกับร้านของเราไปก่อนยังไม่ต้องเพิ่มบริการนี้ แต่ถ้าวันไหนที่มั่นใจว่าร้านเราอยู่ตัวมีคนช่วยทำงานมากพอ ค่อยต่อยอดมาเพิ่มบริการนี้ในภายหลังได้
10.ไม่จำเป็นต้องมีโปรโมชั่นใดๆ
การทำโปรโมชั่นในแง่การตลาดคือทำให้คนสนใจและอยากเข้ามาซื้อสินค้าและบริการแต่ข้าวแกงบุฟเฟ่ต์นั้นแตกต่าง เพราะสิ่งดึงดูดที่จะดึงคนเข้าร้านคือ “เขารู้สึกคุ้มค่าในปริมาณอาหารและราคาที่จ่ายไป”
ซึ่งต้นทุนโดยปกติของร้านก็มากพอสมควรอยู่แล้ว การทำโปรโมชั่นใดๆ เช่น กินฟรี ลดราคา เท่ากับเป็นการทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น สิ่งที่ควรเน้นคือรสชาติของแต่ละเมนูที่ต้องอร่อยเท่าเทียมกันทุกวัน และการเล่าแบบปากต่อปากจะเป็นต่อช่วยในการทำให้ลูกค้าเราเพิ่มมากขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องมีโปรโมชั่นใดๆ ทั้งสิ้น
ภาพจาก goo.gl/images/P7rfra
ร้านข้าวแกงสไตล์บุฟเฟ่ต์ปัจจุบันมักตั้งราคาตั้งแต่อิ่มอร่อย 39 49 59 ซึ่งราคาใดๆ ก็ตามแต่ต้องคำนึงเสมอว่าราคาต่อหัวต้องสมเหตุสมผลและคุ้มกับต้นทุนได้จริง ต้องไม่รวมเผื่อต้นทุนบานปลายพวกอาหารเหลือที่เราเอากลับมาขายใหม่ไม่ได้ต้องทิ้งสถานเดียว เรื่องวิธีบริหารจัดการจึงสำคัญมาก
ตัวอย่างบางร้านคนเยอะมาก น่าจะขายดีแต่สุดท้ายก็ยังเจ๊งนั่นเพราะเหตุผลข้างต้นที่ราคาต่อหัวไม่สอดคล้องกับต้นทุนที่มี ขายได้มาก แต่ก็ไม่ได้กำไร ถือเป็นภาวะเสี่ยงที่ต้องระวังให้ดีในธุรกิจนี้
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจแฟรนไชส์และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise
ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ goo.gl/Mxvy5o