10 วิธีอยากมีร้าน แต่งบไปไม่ถึง
ถ้ามีโอกาสเราคงอยากมีร้านอาหารหรือธุรกิจของตัวเองสักอย่างเพื่อไว้เป็นตัวช่วยในการสร้างรายได้หรือไว้รองรับในกรณีที่ไม่มีงานทำ แต่คำว่าโอกาสก็สัมพันธ์กับ “เงินทุน” ด้วยเช่นกัน หลายคนเริ่มต้นไม่ได้เพราะว่างบไม่ถึง เงินไม่มี ไอเดียดีแต่ว่าไม่มีเงินอะไรประมาณนั้น
www.ThaiSMEsCenter.com มี 10 วิธีสร้างธุรกิจให้ตัวเองแบบงบไม่ถึง ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อมีเงินน้อยความยากก็ต้องมากขึ้นกว่าจะเริ่มต้นธุรกิจได้ แต่หากมีฝันตั้งใจทำจริงๆ แล้วเหนื่อยแค่ไหนก็ต้องลองสู้กันดูสักตั้ง
1.ขอยืมเงินจากคนรู้จัก
ภาพจาก freepik.com
เป็นเรื่องที่ง่ายที่สุดและคนอยากมีร้านหรือธุรกิจตัวเองก็คิดถึงเรื่องนี้ก่อนอันดับแรก ข้อดีของการยืมเงินคนรู้จักคือเราอาจไม่ต้องเสียดอกเบี้ยเหมือนกับเงินกู้จากธนาคาร รวมถึงการยืมเงินจากคนรู้จักก็ยังพูดคุยผ่อนปรนการชำระหนี้ได้บ้างหากเกิดกรณีธุรกิจยังไม่มีกำไรและเราไม่มีเงินสดมากพอ
แต่อย่างไรก็ตามการยืมเงินจากคนรู้จักนี้แนะนำว่าต้องเป็นคนที่สนิทกับเราจริงๆ และพร้อมช่วยเหลือเราแบบที่เขาเองก็ไม่เดือดร้อน ซึ่งหากเรามีคนรู้จัก มีเพื่อนดี มีญาติที่ฐานะร่ำรวย ก็อาจใช้วิธีนี้ได้ง่ายขึ้น
2.ระดมทุนสาธารณะ (Crowdfunding)
ภาพจาก freepik.com
เป็นวิธีการที่บรรดานักธุรกิจ SMEs หรือเหล่าStartup นิยมใช้กันในตอนเริ่มทำธุรกิจสำคัญที่ต้องมีไอเดียในการเริ่มต้นที่ดึงดูดใจนักลงทุนได้เพราะ Crowd Funding จะเป็ นการระดมเงินจากมวลชนที่สนใจและต้องการสนับสนุนให้แนวคิดนั้นให้กลายเป็นจริง
โดยสามารถทำผ่านเว็บไซต์เพื่อการระดมทุนสาธารณะอย่าง Kickstarter , Indiegogo , Gofundme เป็นต้น ตัวอย่างของคนที่ใช้วิธีนี้แล้วประสบความสำเร็จเช่น Max Lobovsky ที่ใช้ไอเดีย เครื่องพิมพ์สามมิติ Form 1ไประดมทุนในเว็บไซต์ Kickstarter
และได้รับเงินสนับสนุน 2.9 ล้านเหรียญสหรัฐ จากผู้สนับสนุน 2,068 คน ภายใน 30 วัน การระดมทุนดังกล่าวทำให้บริษัท Formlabs ที่เขาก่อตั้งเข้าสู่ตลาดเครื่องพิมพ์สามมิติได้เหมือนกับบริษัทที่มีชื่อเสียงอย่างบริษัท 3D Systems และบริษัท MakerBot
3.ขอสินเชื่อเพื่อธุรกิจ (SME loan)
เป็นอีกทางเลือกยอดฮิตที่ใช้กันแต่สำหรับมือใหม่ในการทำธุรกิจหรือเพิ่งจะเริ่มทำธุรกิจครั้งแรกอาจเป็นเรื่องยากที่ธนาคารจะปล่อยกู้ให้ ส่วนใหญ่ธนาคารจะขอดูผลประกอบการและการเดินบัญชีอย่างต่ำ 2-3 ปี และต้องการหลักทรัพย์ในการค้ำประกัน
โดยวงเงินในการขอสินเชื่อก็จะขึ้นอยู่กับสินทรัพย์ที่นำไปค้ำ สำหรับธุรกิจบริการ หรือธุรกิจสตาร์ทอัพเทคโนโลยีที่ไม่มีเครื่องจักรหรือที่ดินเป็นของตนเอง อาจจะขอสินเชื่อประเภทนี้ยาก
ทำให้ต้องหันไปพึ่งสินเชื่อส่วนบุคคลหรือใช้บัตรเครดิตที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 15-28% ต่อปี แต่ปัจจุบันทางภาครัฐมีนโยบายในการส่งเสริมSMEs มากขึ้นทำให้ธนาคารหลายแห่งมีการปล่อยกู้ได้ง่ายขึ้น ซึ่งก็เป็นโอกาสของคนอยากมีร้านมีธุรกิจแต่งบไม่ถึงด้วย
4. Angel Investor
ภาพจาก freepik.com
คล้ายกับ Crowdfunding แต่ Angel Investor จะโฟกัสไปที่นักลงทุนอิสระที่มีเงินทุนและประสบการณ์ มองหาธุรกิจที่จะช่วยให้เงินลงทุนของตนเองนั้นงอกเงยได้ ส่วนใหญ่นักลงทุน Angel ลงทุนเพราะเชื่อในไอเดียและทีมงาน Angel Investor
จะให้เงินก้อนหนึ่งเพื่อเป็นการเริ่มต้น หรือที่เรียกว่า Seed Funding แต่ในความเป็นจริง การตามหา Angel Investor เป็นเรื่องไม่ง่าย และถึงหาเจอ ก็อาจจะมีความเห็นไม่ตรงกับเราในเรื่องของทิศทางการดำเนินงาน เรียกว่ามีความเสี่ยงสูงและโอกาสเกิดขึ้นก็น้อยมาก
5. Venture Capital (VC)
ภาพจาก goo.gl/muYCmo
อีกหนึ่งรูปแบบการหาเงินทุนในยามที่งบไม่ถึงคือการใช้วิธี Venture Capital (VC) ซึ่ง VC คือ กลุ่มองค์กรที่รวบรวมเงินจากกลุ่มคนหรือบริษัทที่ต้องการลงทุนและทำหน้าที่บริหารเงินกองทุนนั้น โดยการลงทุนในธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง โดยระยะเวลาการลงทุนจะอยู่ที่ 3-5 ปี และมักให้เงินลงทุนที่สูงกว่า Angel Investor
แต่ก็จะแลกกับสัดส่วนของหุ้นหรือเงินปันผลที่มากขึ้นด้วย รวมถึงการมีอำนาจในการตัดสินใจต่างๆ ด้วย แต่วิธีนี้อาจเหมาะสมกับธุรกิจที่เปิดตัวไปแล้วและขาดสภาพคล่องสำหรับคนที่อยากเปิดร้านใหม่หรือเริ่มทำธุรกิจใหม่ครั้งแรกวิธีนี้นับว่าใช้ได้ยากมากทีเดียว
6.ใช้เงินสนับสนุนจากมาตรการส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ
ด้วยการส่งเสริมของภาครัฐทำให้ปัจจุบันมีธนาคารหลายแห่งพร้อมปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งหากเราอยากมีธุรกิจของตัวเองแต่เงินไม่พอก็ให้นำเสนอแผนธุรกิจต่อหน้าคณะกรรมการพิจารณา
ซึ่งหลักเกณฑ์ที่พิจารณาว่าจะปล่อยให้กู้หรือไม่นั้นก็อยู่ที่แนวทางการบริหารจัดการ ความน่าสนใจของธุรกิจ แต่หากจะให้ง่ายขึ้นลองเลือกธุรกิจแฟรนไชส์ที่เข้าร่วมโครงการกับธนาคารเหล่านี้ซึ่งจะปล่อยเงินกู้ให้เราได้ง่ายขึ้น
7.หาหุ้นส่วนมาร่วมลงทุน
ภาพจาก freepik.com
คล้ายกับการยืมเงินจากคนรู้จักแต่การหาหุ้นส่วนนี้เราอาจไม่ต้องรู้จักหรือเป็นญาติสนิทหรือเพื่อนสนิทก็ได้แต่ขอให้เขาเป็นนักธุรกิจที่สนใจการลงทุน ซึ่งเราก็ต้องนำเสนอแผนธุรกิจของเราเช่นกันว่ามีความน่าสนใจมากน้อยแค่ไหน
และจะทำกำไรให้เขาได้อย่างไรหากร่วมลงทุน ในกรณีนี้อาจใช้วิธีลงทุนตามจำนวนหุ้นหรือหากมีกันแค่สองคนก็อาจจะตกลงกันว่าจะมีการให้กำไรต่อเดือนหรือต่อปีเป็นจำนวนเท่าไหร่ วิธีนี้เป็นวิธีที่ร้านอาหารหรือธุรกิจส่วนใหญ่มักใช้กันด้วย
8.ขอเครดิต/Pre-Sale
หากไม่รู้จะหาแหล่งเงินทุนมาเพิ่มเติมได้อย่างไรอีกหนึ่งวิธีในการเริ่มต้นได้คือการติดต่อกับโรงงานหรือทางผู้ผลิตวัตถุดิบต่างๆ ในการขอเครดิตรนำวัตถุดิบมาใช้ก่อนและค่อยจ่ายเงินเมื่อขายสินค้าได้
วิธีนี้ก็น่าสนใจเพียงแต่หากเป็นผู้ประกอบการใหม่ที่ยังไม่คุ้นเคยกันดีกับโรงงานมักจะไม่ได้เครดิตนี้ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความโชคดีด้วย หรือจะลองเลือกใช้วิธี Pre-Sale คือรับออร์เดอร์ลูกค้ามาก่อนแล้วค่อยสั่งวัตถุดิบมาผลิตวิธีนี้ก็จะไม่ทำให้เราต้องสต็อกวัตถุดิบไว้มากและประหยัดต้นทุนได้ในระดับหนึ่ง
9.ปรับขนาดธุรกิจให้เหมาะสมกับเงินทุนที่มี
แต่หากเราคิดว่าไม่อยากกู้สินเชื่อ ไม่อยากระดมทุน ไม่อยากเป็นหนี้ใคร ขอแนะนำว่าให้ใช้เงินเท่าที่ตัวเองมีในการเริ่มต้น เพียงแต่อาจต้องปรับขนาดธุรกิจหรือร้านค้าของตัวเองลงมาให้เหมาะสม
เช่นจากที่ตั้งใจว่าจะเปิดเป็นร้านอาหารติดแอร์ บรรยากาศสุดชิล ก็อาจจะมาเริ่มจากร้านรถเข็นหรือร้านริมทางเล็กๆ ให้เหมาะสมกับเงินทุนที่ตัวเองมีในเบื้องต้น
10.เก็บเงิน/สะสมประสบการณ์เพิ่มเติม
ภาพจาก freepik.com
สุดท้ายถ้ามองดูงบที่ตัวเองมีแม้จะปรับลดขนาดธุรกิจมาก็ยังไม่พอและคิดว่าสภาพคล่องในระยะยาวอาจมีปัญหาแนะนำว่าให้เก็บเงินดังกล่าวไว้ และลองไปหาประสบการณ์ในธุรกิจที่ตัวเองสนใจลองทำเป็นลูกน้อง
เขาไปพลางๆก่อน ในระหว่างนั้นก็พยายามสะสมเงินทุนให้มีมากขึ้น พร้อมสะสมประสบการณ์ที่ได้ทำงานจริงๆ เมื่อถึงวันหนึ่งที่เรามั่นใจว่าเงินพร้อม ความรู้พร้อม ก็เดินหน้าเปิดร้านค้าหรือเริ่มทำธุรกิจที่ตั้งใจไว้ได้ทันที
หากเราไม่ได้มีเงินทุนสำหรับการเริ่มต้นแต่มีความคิดที่อยากมีธุรกิจของตัวเองสิ่งสำคัญคือวางแผนให้รอบคอบก่อนจะเริ่มต้น การตัดสินใจเดินหน้าแบบไม่มีแผนรองรับอาจดูเหมือนคนใจสู้ กล้าได้กล้าเสีย
แต่ต้องนึกไว้เสมอว่าการลงทุนคือความเสี่ยงถ้ามีปัญหาก็ต้องมีทางแก้ไข ไม่เช่นนั้นธุรกิจที่ตั้งใจอาจพังไม่เป็นท่ารวมถึงเงินที่มีก็อาจหมดไปแบบไม่มีอะไรตอบแทนกลับมาด้วย
SMEs Tips
- ขอยืมเงินจากคนรู้จัก
- ระดมทุนสาธารณะ (Crowdfunding)
- ขอสินเชื่อเพื่อธุรกิจ (SME loan)
- Angel Investor
- Venture Capital (VC)
- ใช้เงินสนับสนุนจากมาตรการส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ
- หาหุ้นส่วนมาร่วมลงทุน
- ขอเครดิต/Pre-Sale
- ปรับขนาดธุรกิจให้เหมาะสมกับเงินทุนที่มี
- เก็บเงิน/สะสมประสบการณ์เพิ่มเติม
สำหรับท่านใดที่ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจเรามีรวบรวมบทความมากมาย ติดตามได้ที่ goo.gl/Io5k2S