10 บทเรียนจากการระบาดของโควิด-19 ในเอเชีย
การระบาด ของไวรัสโควิด-19 นอกจากจะสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจไปทั่วโลก ยังส่งผลกระทบต่อจิตใจของผู้คนในแต่ละประเทศ ทั้งเกิดความกลัว วิตกจริต ตื่นตระหนก เกิดการรังเกียจคนติดเชื้อ
รวมถึงมาตรการของแต่ละประเทศในการสู้กับโควิด-19 หลายๆ ประเทศทำได้ดี โดยเฉพาะจีน ไต้หวัน ส่วนอีกหลายๆ ประเทศหละหลวม จนถึงขั้นวิกฤตสุดๆ
วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com มีข้อมูลว่าเราได้เรียนรู้อะไรบ้าง หรือบทเรียนที่เราได้รับจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเอเชีย ซึ่งสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นของประเทศสหรัฐฯ เป็นผู้รวบรวมข้อมูลสถานการณ์ ถอดเป็นบทเรียนในครั้งนี้
1.รัฐบาลควรจะโปร่งใสต่อสาธารณชน
ภาพจาก bit.ly/34eM2RP
ความโปร่งใสของรัฐบาลและนโยบายที่ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลต่างๆได้นั้นจะเป็นสิ่งที่ให้ความรู้กับประชาชนถึงความเสี่ยงและมาตรการป้องกันที่จำเป็น และยังจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะเลี่ยงความตื่นตระหนกหรือผลกระทบจากข่าวปลอมต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศสิงคโปร์ มีการรายงานสรุปเกี่ยวกับสถานการณ์โคโรนาไวรัสแบบวันต่อวันไปยังประชาชน
โดยแจ้งข้อมูลที่จำเป็นอาทิเช่น มีกรณีผู้ติดเชื้อรายใหม่กี่คน มีผู้ป่วยที่ออกจากโรงพยาบาลกี่คน และจะมีกลุ่มผู้มีความเสี่ยงติดโรคเพิ่มขึ้นมาหรือไม่ ขณะที่ฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ รัฐบาลต่างพยายามที่จะเดินหน้าให้ข้อมูลข่าวสารในรูปแบบเชิงรุกว่าขณะนี้รัฐบาลกำลังทำอะไรอยู่ และประชาชนควรจะทำอะไร โดยอาศัยช่องทางสื่อทั้งทางใบปลิว โฆษณา โทรทัศน์ และสื่ออื่นๆ
โดยในญี่ปุ่นนั้นอัตราผู้ป่วยด้วยไข้หวัดทั่วไปลดลงเป็นอย่างมาก เพราะมีการรายงานบนหน้าสื่อท้องถิ่น เพื่อเฝ้าระวังไวรัสโควิด-19 และด้วยคำเตือนจากหน่วยงานด้านสาธารณสุข ทั้งนี้การขาดการชี้แจงข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้จะเพิ่มความเสี่ยงสำหรับการปล่อยข่าวลือที่ไร้ข้อเท็จจริงเป็นอย่างมาก
2.การสร้างระยะห่างของประชาชนให้เหมาะสม
ภาพจาก bit.ly/2UAsmEv
การระบาดของไวรัสนั้นเกิดขึ้นเมื่อมีการสัมผัสทางกายภาพของบุคคลใกล้ชิดกัน ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลจะออกมาตรการป้องกันได้ ก็คือ การให้ประชาชนนั้นกำหนดระยะห่างในการทำกิจกรรมระหว่างกันให้เหมาะสม
โดยมาตรการดังกล่าวนั้นก็คือเมื่อคุณจะออกไปทำกิจกรรมใดกับผู้อื่น ก็จะต้องมีการกำหนดระยะที่ปลอดภัยและเหมาะสม เพื่อจะหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่จะต้องเข้าไปใกล้ชิดกับคนอื่น
ซึ่งหลายประเทศในเอเชียนั้นได้งดการเรียนการสอน กิจกรรมที่มีการรวมตัวของมวลชนจำนวนมากในที่สาธารณะ อาทิ เทศกาลไหว้พระจันทร์ ปิดสถานที่บางแห่งเช่น สระว่ายน้ำสาธารณะ และแนะนำให้ประชาชนทำงานที่บ้าน ในประเทศจีนตอนนี้มีมากกว่า 780 ล้านคน ที่อยู่ภายใต้ข้อห้ามเดินทางไปท่องเที่ยว ซึ่งเป็นความพยายามที่จะป้องกันไม่ให้โรคนี้ติดต่อไปสู่ผู้อื่น
3.การรับมือสถานการณ์ล่วงหน้า
ภาพจาก bit.ly/2w5VSsk
หน่วยงานภาครัฐสามารถที่จะออกมาตรการป้องกันการระบาดครั้งใหญ่ได้ก่อนที่จะมีข่าวไวรัสมาถึงประเทศตัวเอง อาทิ ในช่วงเดือน ม.ค. ที่เริ่มปรากฏเป็นข่าวว่าเชื้อไวรัสได้เริ่มระบาดทั่วทวีปเอเชีย หลายประเทศได้มีการตั้งศูนย์กักกันโรค สั่งเวชภัณฑ์เป็นจำนวนมาก และจัดตั้งหน่วยงานร่วมกับภาครัฐและประชาชนเพื่อจะป้องกันสถานการ
ไต้หวันมีการตั้งศูนย์ตอบสนองต่อสถานการณ์โรคระบาดฉุกเฉินในช่วงปลายเดือน ม.ค. ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับการที่พบผู้ป่วยรายแรกในไต้หวัน และมาตรการนอกเหนือจากนี้ก็เป็นการเตรียมสถานที่ อาทิ เตียงคนไข้ 1,000 เตียง การฝึกฝนควบคุมโรคในโรงพยาบาล และการเตรียมอุปกรณ์การแพทย์ล่วงหน้าเพื่อรับมือกรณีที่มีข่าวลือว่าอุปกรณ์การแพทย์ขาดแคลน
ส่วนในประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศแรกที่ไวรัสได้แพร่ระบาดไปนอกประเทศจีนนั้น ได้มีการเตรียมตัวในการจัดตั้งจุดตรวจอุณหภูมิทั่วทุกจุด เช่น ในพื้นที่ที่เป็นชุมทางรถประจำทาง ภายในไม่กี่วันหลังจากที่พบผู้ป่วยคนแรก ซึ่งสหรัฐอเมริกาและอังกฤษก็ได้ใช้มาตรการเหล่านี้เช่นกัน
4.ตรวจสอบตั้งแต่เนิ่นๆ
ภาพจาก bit.ly/2yv9QVL
รัฐบาลในแต่ละประเทศนั้นสามารถจะกระตุ้นให้มีการตรวจสอบไวรัสได้ตั้งแต่เนิ่นๆโดยเฉพาะในพื้นที่ที่ห่างไกลเพื่อที่จะระบุว่าไวรัสนั้นระบาดมาถึงหรือยังได้อย่างรวดเร็ว เกาหลีใต้เป็นตัวอย่างหนึ่งของการกระตุ้นให้มีการตรวจไวรัสในหมู่ประชาชนโดยรวดเร็ว เพื่อรายงานอาการที่อาจจะเสี่ยงต่อการติดไวรัสโคโรน่า
โดยกระทรวงสาธารณสุขของเกาหลีใต้ได้มีการส่งข้อความไปยังแอปพลิเคชันในสมาร์ทโฟนของประชาชนเพื่อจะให้ขอให้ประชาชนนั้นตรวจสอบอาการของตัวเองว่ามีความเสี่ยงหรือไม่ และให้แจ้งต่อหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่โดยเร็ว
ในเมืองโกยางของเกาหลีใต้ได้มีการตั้งจุดตรวจรถยนต์เพื่อตรวจสอบคนขับรถที่จะขับรถเข้าที่จอดรถยนต์โดยเฉพาะ เจ้าหน้าที่ใส่ชุดป้องกันอย่างรัดกุม ซึ่งมาตรการเหล่านี้ใช้เวลาไม่กี่นาที ช่วยให้ทางการสามารถกักตัวผู้ป่วยและประชาชนที่สัมผัสกับผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงที ก่อนที่จะไปแพร่เชื้อให้กับชุมชนที่ยังไม่ติดเชื้อ
5.เสริมสร้างการปฏิบัติตามหลักสุขอนามัย
ภาพจาก pixabay.com
การล้างมือบ่อยๆด้วยสบู่และน้ำอย่างน้อย 20 วินาที การปิดปากและจมูกเมื่อไอและจาม การหลีกเลี่ยงการสัมผัสบริเวณตาหรือริมฝีปากด้วยมือและการเฝ้าระวังการสัมผัสบริเวณใบหน้านั้นเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันไม่ให้ติดเชื้อโรคได้ โดยในหลายประเทศในเอเชียได้พยายามที่จะสร้างกระบวนการสื่อสารเพื่อให้สาธารณชนได้รับรู้ว่าจะทำให้เกิดสุขอนามัยที่ดีเพื่อป้องกันโรคได้อย่างไรบ้าง
เช่น ในฮ่องกง ผู้คนต้องใส่ถุงมือทุกครั้งเมื่อออกไปข้างนอก และต้องใช้แอลกอฮอล์เพื่อฆ่าเชื้อในกรณีเมื่อมีการสัมผัส และหลักปฏิบัติที่สำคัญอีกอย่างก็การคลุมปุ่มกดลิฟต์ด้วยแผ่นพลาสติก ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการฆ่าเชื้อในทุกชั่วโมง
ส่วนในสถานที่เช่นในโรงเรียนที่ยังเปิดการเรียนการสอนอยู่ ก็มีการจัดกิจกรรมให้ล้างมือทุกวัน โดยนักเรียนจะต้องเข้าแถวกันล้างมือก่อนที่จะรับประทานอาหารกลางวัน และก่อนเลิกเรียน ซึ่งมาตรการที่ว่ามานั้นสามารถทำให้ผู้คนเกิดความตระหนักรู้และป้องกันการติดต่อจากไวรัสได้
6.สนับสนุนให้ลูกจ้างมีการทำงานที่ยืดหยุ่น
ภาพจาก pixabay.com
ผู้คนหลายล้านคนทั่วเอเชียนั้นได้เริ่มทำงานที่บ้าน หรือมีการปรับเปลี่ยนชั่วโมงการทำงานให้ยืดหยุ่นมากขึ้นในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา บางบริษัทได้สั่งให้พนักงานที่มีความสำคัญน้อยทำงานที่บ้าน บางบริษัทก็ปรับเปลี่ยนให้พนักงานทำงานรูปแบบการแท็กทีมมาทำงานที่ทำงานสลับกับที่บ้าน
ซึ่งมาตรการเหล่านี้แม้จะมีความยากในการปฏิบัติ ในกรณีที่พนักงานที่ทำงานที่บ้านอาจจะต้องดูแลบุตรหลานที่ไม่ได้ไปโรงเรียนด้วย หรือพนักงานบางแห่งอาจจะทำงานในบริษัทที่ขายงานด้านการบริการก็อาจจะไม่สะดวกที่จะทำงานที่บ้าน
แต่ก็มีการเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อแก้ไขปัญหานี้ และทำให้พนักงานทั้งบริษัทสามารถทำงานที่บ้านได้สะดวกขึ้น อาทิ การใช้โปรแกรมวีดิโอ คอนเฟอเรนซ์ โปรแกรมส่งข้อความด่วน หรือการใช้ระบบคลาวด์คอมพิวเตอร์เพื่อเก็บข้อมูลเป็นต้น
7.อย่าซื้อของเพื่อกักตุนเพราะความตื่นตระหนก
ภาพจาก bit.ly/344409c
ในช่วงเดือน ก.พ.ที่ผานมา ที่ฮ่องกงนั้นถือได้ว่าเป็นเดือนแห่งการซื้อของกักตุนเพราะความตื่นตระหนกของประชาชน จนเป็นเหตุทำให้ร้านค้าหลายแห่งนั้นไม่มีสินค้าที่จะขาย
สาเหตุมาจากความกลัวของประชาชนว่าจะมีการปิดชายแดนจนทำให้ขาดแคลนสินค้าที่จำเป็นอาทิ กระดาษชำระ ถึงแม้ว่ารัฐบาลท้องถิ่นพยายามจะย้ำเตือนว่าจะไม่มีเหตุการณ์อย่างนั้น และได้พยายามที่จะสต็อกสินค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งก็ยังคงขายสินค้าเหล่านี้จนหมดและไม่มีขาย เนื่องจากลูกค้าบางรายซื้อกระดาษชำระไปกักตุนไว้มากกว่า 1 สัปดาห์
และไม่ใช่แค่กระดาษชำระเท่านั้นที่ถูกกักตุน แต่ยังรวมไปถึงหน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ล้างมือ อุปกรณ์ชำระต่างๆ และข้าวสารอาหารแห้งด้วย ซึ่งการซื้อของเพื่อกักตุนนี้จะส่งผลเป็นลูกโซ่ทำให้เกิดความโกลาหลและความกลัวตามมา และอาจนำไปสู่อาชญากรรม เช่นในฮ่องกงมีการจับกุมคนเป็นจำนวนมากด้วยข้อหาว่าขโมยกระดาษชำระ 600 ม้วน ที่ถูกส่งไปขายนอกซุปเปอร์มาเก็ต
8.อย่ากลัวสัตว์เลี้ยง
ภาพจาก bit.ly/2wM441u
จากผลการทดสอบในสุนัขที่พบว่าเป็นบวกสำหรับไวรัสโคโรนาในฮ่องกงเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานั้นสร้างความกลัวโดยผิดๆว่า ผู้เลี้ยงสัตว์จะติดเชื้อจากสัตว์เลี้ยง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญได้ยืนยันแล้วว่ากรณีแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นแน่นอน
เนื่องจากไวรัสโคโรน่านั้นสามารถมีชีวิตอยู่ได้บนพื้นผิวหรือสิ่งของต่างๆ หมายความว่า ผิวหนังสุนัขและแมวนั้นอาจจะมีไวรัสอยู่แม้ว่าจะไม่ได้ติดไวรัส และโอกาสที่ไวรัสโคโรน่าจะแพร่จากสุนัขไปยังคนนั้นมีเทียบเท่ากับการจับลูกบิดประตูที่มีเชื้ออยู่แล้ว
ดังนั้น ทางที่จะป้องกันการติดเชื้อจากไวรัสโคโรน่าเมื่อสัมผัสกับสัตว์ได้ดีที่สุด ก็คือ การทำตามหลักสุขอนามัย โดยล้างมือทุกครั้งเมื่อจับสัตว์เลี้ยง และใช้กระดาษฆ่าเชื้อโรคเช็ดทำความสะอาดสัตว์ทุกครั้งเมื่อออกไปข้างนอก
9.อย่ารังเกียจผู้ติดเชื้อ
ภาพจาก pixabay.com
ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลังจากการระบาดของไวรัส จะมีความวิตกจริต ความกลัว และการเหยียดผู้ติดเชื้อตามมา โดยผู้เชี่ยวชาญได้เตือนแล้วว่าการรักษาระยะห่าง การกักกันผู้ติดโรคนั้นเป็นเรื่องที่จำเป็น แต่ไม่ควรไปถึงขั้นการเหยียดเชื้อชาติ และศักดิ์ศรีของผู้ป่วย
ซึ่งกรณีดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นแล้วในประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย ซึ่งมีการเหยียดเชื้อชาติคนที่มาจากเอเชียตะวันออก ซึ่งกรณีดังกล่าวนั้นไม่เป็นประโยชน์อันใดเลย
10.อย่าตื่นตระหนก
ภาพจาก bit.ly/2US7EPz
ในขณะที่ภาครัฐและภาคประชาชนควรจะเตรียมพร้อมรับมือกับการระบาดของไวรัส แต่ก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกันที่จะต้องไม่ตื่นตระหนก เพราะถ้ายึดตามข้อมูลปัจจุบัน จะพบว่าไวรัสมีอัตราทำให้เสียชีวิตได้แค่ 2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งยังต่ำกว่าโรคซาร์สที่มีอัตราเสียชีวิตอยู่ที่ 9.6 เปอร์เซ็นต์ และโรคเมอร์สที่มีอัตราเสียชีวิตอยู่ที่ 35 เปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่เสี่ยง อาทิ ผู้ที่ชรามาก หรือผู้ที่ยังอายุน้อยอยู่ซึ่งมีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ก็จะมีโอกาสที่ไวรัสโคโรน่าจะทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนขึ้นมาอีก อาทิ อาการป่วยอย่างรุนแรงทั้งโรคปอดบวม โรคหลอดลมอักเสบ ซึ่งผู้ที่มีอาการดังกล่าวที่ร้ายแรงกว่าไข้หวัดธรรมดาควรต้องไปพบแพทย์
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจแฟรนไชส์และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise
ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ goo.gl/Io5k2S
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter
อ้างอิงข้อมูล
https://bit.ly/3dQ3xfg
อ่านบทความเพิ่มเติม https://bit.ly/3e3jz5D