ย้อนอดีต 5 แฟรนไชส์ทิพย์ ที่คุณไม่อยากเจอ

เชื่อว่าหลายคนคงได้ติดตามข่าวจากสื่อต่างๆ กรณีผู้เสียหายจากการลงทุนในธุรกิจที่หลายๆ คนคิดว่าเป็นแฟรนไชส์ เข้าแจ้งความเอาผิดเจ้าของแบรนด์แฟรนไชส์ ฐานหลอกลวง ฉ้อโกง สร้างความเสียหายหลายพันล้านบาท ซึ่งหากใครที่กำลังสนใจลงทุนธุรกิจแฟรนไชส์ ควรศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับระบบแฟรนไชส์ที่แท้จริงและถูกต้อง ไม่เช่นนั้นอาจโดนหลอก

วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com จะนำเสนอให้ทราบว่าแฟรนไชส์ที่ไม่ถูกต้อง หรือ แฟรนไชส์ทิพย์ ที่หลายๆ คนได้รับความเสียหายจากการลงทุนในอดีตที่ผ่านมามีอะไรบ้าง เพื่อกรณีศึกษาก่อนตัดสินใจลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์

1.”ดารุมะ ซูชิ” ขายแฟรนไชส์ทิพย์-คูปองทิพย์

แฟรนไชส์ทิพย์

ภาพจาก https://bit.ly/3v3DlrX

ช่วงเดือน มิ.ย. 65 นับว่าเป็นปรากฏการณ์ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับวงการธุรกิจร้านอาหารอย่างหนัก กรณีร้านบุฟเฟ่ต์ “ดารุมะ ซูชิ” เปิดขาย Voucher ราคาถูกเพียง 199 บาท จนคนแห่เข้ามาจองซื้อจำนวนนับแสนใบ ก่อนที่เจ้าของแบรนด์จะปิดร้านหนีหายไปอย่างไร้ร่องลอย ไม่เพียงเท่านี้ยังหลอกให้ผู้สนใจเข้ามาลงทุนซื้อเปิดร้านในรูปแบบแฟรนไชส์ที่ไม่ถูกต้อง

ผู้ลงทุนแฟรนไชส์เพียงมีสถานที่ มีเงินลงทุน 2-2.5 ล้านบาท ไม่รวมตกแต่งร้าน ไม่ต้องลงมือบริหารเอง เจ้าของแบรนด์จัดหาพนักงานให้ สั่งซื้อ-จัดส่งวัตถุดิบ บริหารจัดการให้ ผู้ลงทุนนั่งรอรับเงินส่วนแบ่ง 10% จากยอดขาย 1 ล้านบาท ที่ได้แต่ละเดือนเท่านั้น ซึ่งระบบแฟรนไชส์ที่แท้จริง ผู้ลงทุนต้องบริหารธุรกิจเอง และจ่ายค่าสิทธิให้แก่เจ้าของแบรนด์ด้วย

กรณีดังกล่าว พบว่ามีผู้ที่ได้ผลกระทบไม่ต่ำกว่าพันราย สร้างความเสียไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท อีกทั้งผลกระทบยังรุกลามไปยังภาพลักษณ์ของธุรกิจร้านอาหารบุฟเฟ่ต์ และธุรกิจดำเนินธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์

ปัจจุบันแม้ว่าตำรวจสอบสวนกลางจะจับกุม “นายเมธา ชลิงสุข” เจ้าของร้านดารุมะ ซูชิ ที่หลอกขายบุฟเฟต์แซลมอนทิพย์ได้แล้ว โดยตั้งข้อหา 2 ข้อหา แต่ยังไม่รู้ว่านายเมธาจะคืนเงินดังกล่าวให้แก่ผู้เสียหายหรือไม่

กรณีดารุมะ ซูชิ ถือเป็นบทเรียนราคาแพงให้กับนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่อยากมีกิจการเป็นของตัวเอง แต่ขาดการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับระบบแฟรนไชส์ที่ถูกต้อง เพราะแฟรนไชส์ที่แท้จริง ไม่ใช่แค่ใส่เงินและรอรับปันผล ต้องบริหารธุรกิจเองด้วย

2.WASHCOIN ปิดกิจการหนี สร้างความเสียหาย 100 ล้านบาท

แฟรนไชส์

ภาพจาก https://bit.ly/3cnSjma

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2565 ผู้ใช้ Facebook ท่านหนึ่งชื่อ Prapada Prapan ได้โพสต์ในกลุ่ม “ชมรมร้านซักผ้า สะดวกซัก 24 ช.ม.” โดยมีข้อความระบุว่า สวัสดีค่ะ สนใจทำธุรกิจร้านสะดวกซักวางมัดจำกับ บริษัท Washcoin ไปค่ะ ตอนนี้ยังไม่ได้เริ่มงาน ติดต่อไม่ได้ทั้งเซลล์ ทั้งเบอร์ออฟฟิศ ปิด fb เพจ ด้วย แบบนี้น่าจะโดนโกงไหมคะ หรือท่านใดทำกับเจ้านี้อยู่ หรือรู้ข่าวคราว ช่วยรวบกวนแจ้งหน่อยค่ะ ว่าจะติดต่อยังไงดี ลงท้ายด้วยอิโมจิร้องไห้

จากนั้นได้มีคนลงทุนแฟรนไชส์ Washcoin ที่เจอปัญหาในลักษณะแบบเดียวกัน เข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวนมากกว่า 60 รายการ และมีผู้ใช้ Facebook ท่านหนึ่งใช้ชื่อ Ruangphimai Pu ได้โพสต์หนังสือหรือจดหมายจากทางบริษัท โมบาย ทู แมชชีนฯ ที่ได้เขียนเพื่อแจ้งให้กับแฟรนไชส์ซีในเครือข่ายกว่า 100 รายได้ทราบ

โดยเนื้อหาใจความระบุถึงปัญหาขาดสภาพคล่องจากโควิด-19 อีกทั้งสถาบันการเงินไม่อนุมัติการปล่อยสินเชื่อ นอกจากนี้เนื้อหาของหนังสือดังกล่าว ยังระบุถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในแต่ละระบบของบริษัท ซึ่งทุกระบบของบริษัทจะหยุดทำงานอย่างถาวรไม่เกินวันที่ 25 มกราคม 2565 ส่วนช่องทางการติดต่อเหลือเพียงช่องทางเดียว คือ info@washcoin.net

ทีมงานไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ ได้เข้าไปยังเว็บไชต์ https://www.washcoin.net/contacts/ เพื่อโทรไปยังหมายเลขโทรศัพท์ 02-275-5625 บริษัท โมบาย ทู แมชชีน คอร์ปอเรชั่น จำกัด ตั้งอยู่ที่ 564/15 ซอยสหการประมูล ถนนประชาอุทิศ แขวงวังทองหลาง เขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร 10310 info@washcoin.net ปรากฏว่าไม่สามารถติดต่อได้เช่นเดียวกันกับผู้ซื้อแฟรนไชส์หลายๆ คน อีกทั้งช่องทาง Facebook ก็ได้มีการปิดไปแล้วเช่นเดียวกัน

3.OK 20 หลอกลงทุน ไม่ส่งสินค้า เสียหายกว่า 10 ล้านบาท

2

ภาพจาก https://bit.ly/3ohZxuM

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2565 ผู้เสียหายเดินทางเข้าแจ้งความร้องทุกข์กับกองปราบปราม เพื่อให้ดำเนินคดีกับ “เบนซ์ โอเค 20” หรือ นายนพพล บุญโชคยิ่ง วัย 27 ปี ทำธุรกิจแฟรนไชส์ขายสินค้าในราคา 20 บาท หลังหลอกให้ร่วมลงทุนแต่กลับไม่ส่งสินค้ามาให้ บางรายไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่ตกลงกันไว้ มูลค่าความเสียหายกว่า 10 ล้านบาท

ผู้เสียหายหลายราย ระบุว่า ถูกนายเบนซ์หลอกลวงทำธุรกิจเปิดร้านขายของ 20 บาท พอจ่ายเงินไปแล้วแต่ไม่มีการส่งของมาให้ เมื่อสอบถามมักจะได้รับคำตอบว่าเกิดปัญหาการส่งสินค้าจากต่างประเทศ และระบุว่า “ผมไม่ได้โกงนะครับ ผมส่งของล่าช้า” ทั้งที่ตนทำธุรกิจ เสียเงินไปแล้วกว่า 430,000 บาท แต่กลับทำไม่ตรงตามสัญญา

ในเพจ OK 20 ระบุว่าเป็นร้านจำหน่ายสินค้าทุกอย่าง 20 บาท ลงทุนเปิดร้านใหม่เริ่มต้นเพียง 9,999 บาท เท่านั้น ขายง่าย กำไรดี คืนทุนเร็ว ขยายสาขามากกว่า 1,000 สาขา ทั่วประเทศใน 1 ปี ในตอนนั้นได้มีการการันตรีจากเสียงตอบรับของลูกค้ากว่า 1,000 คน สินค้ามากกว่า 5,000 รายการ พร้อมจำหน่ายขายไม่ได้ยินดีคืนเงิน (ตามเงื่อนไขบริษัท)

4.เอส เอฟ กรุ๊ป หลอกลงทุน จ่ายปันผล

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2561 ตำรวจกองบังคับการปราบปราม ได้จับกุม นาย ชาญณรงค์ โพธิ์งาม อายุ 29 ปี ผู้ต้องหาคดีร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และ ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ตามหมายจับศาลอาญา

หลังมีผู้เสียหายจำนวนมากในเขตจังหวัดสงขลา และ ยะลา เข้าแจ้งความถูกนายชาญณรงค์ ชักชวนให้ร่วมลงทุนกับบริษัท เอสเอฟ กรุ๊ป ซึ่งทำธุรกิจแฟรนไชส์เคาน์เตอร์ เซอร์วิส โดยผู้ต้องหาอ้างตัวเป็นกรรมการบริษัทดังกล่าวและชักชวนประชาชนสมัครเป็นสมาชิก จะต้องเสียเงินรายละ 9 หมื่นบาท แต่จะได้รับเงินปันผลเดือนละ 5,000 บาท

หากสมาชิกแนะนำบุคคลอื่นสมัครสมาชิกต่อจะได้ค่าแนะนำ 25,000 บาทต่อคน หาก 2 คนขึ้นไปจะได้เพิ่มรายละ 7,500 บาท พร้อมไปเที่ยวต่างประเทศฟรี นอกจากนี้ นาย ชาญณรงค์ ยังอ้างว่าได้รับรางวัลคนไทยตัวอย่าง และออกรายการอายุน้อยร้อยล้านจนมีคนหลงเชื่อจำนวนมาก โดยในระยะแรกผู้ลงทุนจะได้รับเงินปันผลเพียงส่วน พอต่อมาไม่ได้รับเลย คาดว่ามีผู้เสียทั่วประเทศและมีมูลค่าความเสียหายกว่า 100 ล้านบาท

5.ก๋วยเตี๋ยวบางกอก หลอกลงทุน จ่ายเงินปันผล

1

ภาพจาก https://bit.ly/3cwdXox

กรณี “ก๋วยเตี๋ยวบางกอก” อาจเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ เพราะผู้ลงทุนจะได้รับเงินปันผลจากการขายก๋วยเตี๋ยว เจ้าของแบรนด์แฟรนไชส์หอบเงินปิดกิจการหนี ติดต่อไม่ได้ เหมือนกรณีของ “ดารุมะ ซูชิ”

หากย้อนกลับไปเมื่อช่วงปลายปี 2550 บรรดาสมาชิกแฟรนไชส์บริษัท สยามฟูดซ์ เฟรนไชส์ จำกัด ประมาณ 100 คน เข้าร้องทุกข์ต่อ นายสุนัย มโนมัยอุดม อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายภิญโญ ทองชัย รองอธิบดีดีเอสไอ พ.อ.ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ ผบ.สำนักคดีอาญาพิเศษ ดีเอสไอ

เพื่อให้ดำเนินคดีกับบริษัท สยามฟูดซ์ ตั้งอยู่เลขที่ 1463 ทาวน์อินทาวน์ ซอยลาดพร้าว 94 ถนนลาดพร้าว แขวงและเขตวังทองหลาง กทม.ฐานฉ้อโกงประชาชน ภายหลังผู้ลงทุนแฟรนไชส์ก๋วยเตี๋ยวรถเข็น ติดต่อขอรับเงินปันผลจากการขายก๋วยเตี๋ยว แต่ปรากฏว่าไม่สามารถติดต่อผู้บริหารได้ และบริษัทปิดตัว

กรณีบริษัท ฟู๊ดแฟรนไชส์ หรือ ก๋วยเตี๋ยวบางกอก เป็นลักษณะของการเชิญชวนให้ลงทุน ใครที่ไม่มีเงินก้อนในการลงทุนก็สามารถผ่อนชำระได้ และหากไม่มีเวลาขายก๋วยเตี๋ยว ก็สามารถนำเงินมาลงทุนอย่างเดียว เมื่อถึงเวลาก็จะได้รับเงินปันผลหรือผลตอบแทน โดยนำกำไรจากการขายทุกที่มาเฉลี่ยแบ่งให้สมาชิก

ผู้เสียหายที่เข้าแจ้งความในตอนนั้นได้ตรวจสอบพบว่าบริษัทได้เปิดขายก๋วยเตี๋ยวจริง รสชาติอร่อยดีด้วย ธุรกิจน่าเป็นด้วยดี จึงทำให้หลายๆ คนตัดสินใจร่วมลงทุน ส่วนรูปแบบการลงทุนสมาชิกต้องจ่ายเงิน 45,000 บาท ซื้อหุ้นรถเข็น 1 คัน จะได้รับผลตอบแทน 10,000 บาท / เดือน เป็นเวลา 10 เดือน รวม 100,000 บาท เท่ากับว่า ลงทุน 45,000 บาท จะได้กำไร 55,000 บาท ทำให้มีคนหลงเชื่อสร้างความเสียหายต่อประชาชนคิดเป็นเงินจำนวนหลายร้อยล้านบาท

นั่นคือ แฟรนไชส์ทิพย์ ที่เกิดขึ้นมาในช่วงเวลาที่ผ่านมา ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับผู้ลงทุนหลายพันล้านบาท ซึ่งหลายๆ กรณีมองว่าผู้ลงทุนที่ได้รับความเสียหายยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับระบบแฟรนไชส์ที่แท้จริง หวังรวยอย่างเดียว โดยไม่รู้ว่าระบบแฟรนไชส์ที่แท้จริง ผู้ลงทุนซื้อแฟรนไชส์จะต้องบริหารจัดการธุรกิจนั้นๆ เองทุกอย่าง ไม่ใช่นำเงินลงทุนรับเงินปันผล


ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจ แฟรนไชส์ และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise

0

ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/335phDi
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter

อ้างอิงจาก https://bit.ly/3B4hxAr

คุณมนตรี ศรีวงษ์ (อ๊อฟ)

นักเขียน ผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงข่าวสาร การค้า การลงทุน มีความสนใจเรื่องของธุรกิจเอสเอ็มอี และแฟรนไช