ใครได้ใครเสีย! “ ช้อปช่วยชาติ ” โค้งสุดท้าย
เชื่อว่าหลายคนคงรู้แล้วว่า วันที่ 11 พฤศจิกายน ถึง 3 ธันวาคม 2560 มีความสำคัญอย่างไร เพราะคงตั้งหน้าตั้งตารอที่จะช้อปกระหน่ำให้หนำใจอยู่แล้ว แต่ถ้าใครยังไม่รู้
วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com จะนำข่าวมาเล่าให้คุณผู้อ่านได้ฟังกันอีกครั้ง รับรองเข้าใจอย่างลึกซื้อแน่นอน และพออ่านจบ อาจรู้ว่า ใครได้ประโยชน์ ใครเสียประโยชน์
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล “ ช้อปช่วยชาติ ” จะเกิดขึ้นในวันที่ 11 พ.ย.- 3 ธ.ค. 2560 โดยในปีนี้ หรือโค้วสุดท้ายของปีมีระยะเวลาในการใช้มาตรการรวมทั้งสิ้น 23 วัน สูงกว่า 2 ครั้งที่ผ่านมา โดยครั้งแรกจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-31 ธันวาคม 2558 รวม 7 วัน และครั้งที่ 2 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-31 ธันวาคม 2559 รวม18 วัน
มาตรการ “ ช้อปช่วยชาติ ” คืออะไร
มาตรการ “ ช้อปช่วยชาติ ” เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและการบริโภคภายในประเทศ โดยผู้บริโภคสามารถนำค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าและบริการ วงเงินไม่เกิน 15,000 บาท ยกเว้น สุรา ยาสูบ ที่ใช้จ่ายในช่วงวันที่ 11 พฤศจิกายน –3 ธันวาคม 2560 มาหักลดหย่อนภาษีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท
แต่ผู้บริโภคต้องเข้าใจก่อนว่า การซื้อสินค้าตามมาตรการดังกล่าว จะต้องเป็นการซื้อสินค้าเพื่อใช้ภายในประเทศ หรือบริการเพื่อใช้ภายในประเทศเท่านั้น และต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ไม่รวมถึงการซื้อสุรา เบียร์ ไวน์ ยาสูบ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เรือ น้ำมัน ก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ และไม่รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมซึ่งจะต้องมีหลักฐานเป็นใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร
โดยรัฐบาลมองว่า มาตรการดังกล่าว จะช่วยเพิ่มยอดขายสินค้าหรือการให้บริการแก่ผู้ประกอบการ ที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม โดยคาดว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจปีนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้นราว 0.05%
กรมสรรพากร คาดว่ามาตรการ “ช้อปช่วยชาติ” ในปี 2560 จะมีผู้ใช้สิทธิ์ลดหย่อนในปีนี้ คิดเป็นมูลค่าภาษีราว 22,500 ล้านบาท และคาดว่าจะส่งผลให้กรมสรรพากรเสียรายได้ภาษีราว 2,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีผู้ใช้สิทธิ์ลดหย่อนเป็นมูลค่าราว 15,000 ล้านบาท สูญเสียรายได้ภาษีราว 1,800 ล้านบาท
แต่มาตรการนี้รัฐบาลยังมองว่า จะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการบริโภคภายในประเทศในช่วงปลายปี 2560 ซึ่งจะทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น และส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม
แล้วใครได้ ใครเสีย จาก “ช้อปช่วยชาติ”
มาตรการ “ช้อปช่วยชาติ” แม้ว่าจะช่วยกระตุ้นการจับจ่ายของคนไทยในช่วงปลายปี และในแต่ละครั้งที่ออกมาตรการนี้มาใช้ ได้ช่วยให้มีเม็ดเงินออกมาหมุนเวียนเพิ่มขึ้นจากปกติถึงราว 3-4 เท่าตัว แต่ก็ทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้ไปมหาศาล
โดยข้อมูลจากกรมสรรพากร พบว่า หลังจากที่รัฐบาลนำมาตรการนี้มาใช้ติดต่อกัน 2 ปี (ปี 2558, 2559) พบว่า กรมสรรพากรสูญเสียรายได้ภาษีจากมาตรการช้อปช่วยชาติรวมแล้วประมาณ 10,000 ล้านบาท และยังคาดการณ์ต่อเนื่องอีกว่าสำหรับปีนี้รัฐบาลน่าจะสูญเสียรายได้ภาษีจากมาตรการดังกล่าวนี้อีกราว 2,000 ล้านบาท
หากมองตัวเลขการสูญเสียรายได้ภาษีดังกล่าว ได้ทำให้หลายฝ่ายมีคำถามว่า แล้วประโยชน์ที่เกิดขึ้นนั้น จะไปตกอยู่กับใครกันแน่! “ประชาชน” หรือ “กลุ่มทุนใหญ่” หรือว่ารัฐบาลเอื้อประโยชน์ให้กับใคร
เพราะว่า กลุ่มคนที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการดังกล่าว คือ กลุ่มคนที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทุกๆ ปี ซึ่งมีเพียงแค่ประมาณ 3 ล้านคนเท่านั้น อีกกว่า 60 ล้านคน ไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้ เพราะไม่ได้เสียภาษีเงินได้
ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าว ยังสอดคล้องกับผลวิจัยของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ระบุว่า จากการสำรวจพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 79.13% ระบุว่า ไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าว
สรุปก็คือ จากโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 2560 ฉบับปรับใหม่ หากมีเงินเดือนไม่ถึง 26,000 บาท หรือมีเงินได้สุทธิทั้งปีไม่เกิน 150,000 บาท ก็จะไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 2560 นั่นจึงทำให้การซื้อของลดหย่อนภาษีไม่เป็นประโยชน์กับคนกลุ่มนี้เลย เพราะคนนี้ไม่ได้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอยู่แล้ว
ดังนั้น ก่อนจะไปซื้อของลดหย่อนภาษี ต้องตรวจสอบรายได้ทั้งปีของตัวเองให้ดีก่อน แต่หากคำนวณภาษี 2560 ออกมาแล้วพบว่า เรายังต้องเสียภาษีอยู่ ก็สามารถใช้ประโยชน์จากโครงการช้อปช่วยชาติไปลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมได้เช่นกัน โดยผู้ที่จะได้ประโยชน์มากกว่าใคร ก็น่าจะเป็นกลุ่มผู้มีรายได้สูงที่ต้องเสียภาษีในอัตราที่สูง เพราะสามารถนำค่าใช้จ่ายที่ซื้อของมาลดหย่อนได้มากขึ้น
หากถามว่าต่อว่า ผู้มีเงินได้จะได้รับภาษีคืนเท่าไร?
ขึ้นอยู่กับฐานภาษีของตัวเอง เช่น ผู้ที่มีฐานภาษี 35% หากซื้อสินค้าไป 15,000 บาท เมื่อนำไปคำนวณค่าลดหย่อนตอนยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแล้ว จะได้ภาษีคืนถึง 5,250 บาทเลยทีเดียว เท่ากับว่าซื้อสินค้าแบบมีส่วนลดถึง 35% ซึ่งเป็นอัตราคืนภาษีสูงสุดของนโยบายนี้ ขณะที่ผู้ที่มีฐานภาษี 5% หากจ่ายซื้อสินค้าไป 15,000 บาท ก็จะได้ภาษีคืนเพียง 750 บาทเท่านั้น หรือได้ส่วนลดจากการซื้อสินค้าแค่ 5%
สรุปคนที่มีฐานภาษีสูงๆ จะได้ประโยชน์จากมาตรการช้อปช่วยชาติคุ้มค่าที่สุด ส่วนผู้ที่เสียภาษีในอัตราน้อยๆ เช่น คนที่มีเงินเดือน 30,000 บาท เสียภาษีเพียงแค่ 5% อาจต้องพิจารณาด้วยว่า สินค้าที่จะซื้อนั้นจำเป็นหรือไม่ เพราะหากต้องซื้อของมูลค่า 15,000 บาทเพื่อแลกกับส่วนลดเพียงแค่ 750 บาท อาจไม่คุ้มค่า และเป็นการก่อหนี้เพิ่มโดยใช่เหตุก็เป็นได้
แต่สำหรับกลุ่มทุน “ค้าปลีก” ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อต่างๆ ทุกคนก็ย่อมรู้ดีว่า เป็นของใคร ใครเป็นเจ้าของ มีอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศมากขนาดไหน ซึ่งกลุ่มทุนค้าปลีกเหล่านี้จะได้รับประโยชน์อย่างมหาศาลจากมาตรการช้อปช่วยชาติของรัฐบาล
ภาพจาก goo.gl/MtXWi8
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ระบุว่า สินค้าที่ผู้บริโภคนิยมซื้อเพื่อลดหย่อยภาษี ส่วนใหญ่เป็น ของใช้ส่วน อาหารเครื่องดื่ม เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ส่วนสถานที่นิยมซื้อสินค้าลดหย่อยภาษี จะเป็นห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์มาร์เก็ต
จะเห็นได้ว่า การนำมาตรการ “ช้อปช่วยชาติ” กลับมาใช้อีกครั้ง ในยามที่อารมณ์การจับจ่ายของผู้บริโภคยังไม่กลับมา เป็นมาตรการที่ภาคเอกชนต่างบอกว่า “มาถูกจังหวะ” เพราะแม้ว่าจะใกล้เข้าสู่ช่วงเทศกาลปีใหม่ หรือความจริงเป็นฤดูของการขายหรือการช้อปปิ้งสินค้าหลายๆ อย่าง แต่ก็ยังพบว่าค่อนข้างเงียบเหงาอยู่
มาตรการช้อปช่วยชาติ ในช่วงวันที่ 11 พ.ย.-3 ธ.ค.2560 จึงเป็นเวลาที่ดีในการช่วยให้แคมเปญปลายปีของผู้ประกอบการมียอดดีขึ้น และผู้บริโภคเองสามารถซื้อสินค้าได้ในราคาสบายกระเป๋ามากขึ้น แถมยังใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย