แบไต๋! McDonald’s ก้าวสู่ธุรกิจแฟรนไชส์ฟาสต์ฟู้ดระดับโลก
เชื่อว่ามีน้อยคนที่ไม่รู้จักแฟรนไชส์ฟาสต์ฟู้ดชื่อดังของโลกอย่าง “แมคโดนัลด์” ปัจจุบันมีการขยายสาขาเกือบ 40,000 สาขา ใน 121 ประเทศทั่วโลก เรื่องราวความสำเร็จของแมคโดนัลด์ยังถูกนำไปสร้างภาพยนตร์มาแล้ว
วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com จะพาคุณย้อนกลับไปดูกลยุทธ์และวิธีการของ “แมคโดนัลด์” ในการก้าวสู่แฟรนไชส์ฟาสต์ฟู้ดระดับโลกกัน
Drive in ต้นกำเนิดรูปแบบร้าน McDonald
ภาพจาก bit.ly/2TkEwmO
เรื่องราวของร้านอาหารประเภท Fast Food ในอเมริกา จุดเริ่มต้นมากจากร้านอาหารประเภท Drive in เปิดเป็นร้านเล็กๆ ไม่มีพื้นที่สำหรับรับประทานในร้าน แต่มีพื้นที่ให้คนขับรถมาสั่งซื้ออาหาร แล้วพนักงานจะนำมาให้ที่รถ ลูกค้าต้องนำไปรับประทานที่บ้านเท่านั้น โดยร้านฟาสต์ฟู้ด Drive in แห่งแรกเปิดขึ้นในเมืองฮอลลีวู้ด รัฐแคลิฟอร์เนีย
ต้นกำเนิดร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดอยู่ในช่วงกลางยุค 30 โดยพี่น้องตระกูล Carpenter และ Sydney Hoedemaker จากรัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นผู้ริเริ่มรูปแบบของการบริการแบบสะดวกซื้อ มีพื้นที่ให้รถลูกค้าเข้ามาจอด สั่งอาหารแล้วจะมีพนักงานมาเสิร์ฟให้ถึงรถ ร้านอาหารที่เปิดในช่วงนั้นได้กลายเป็นที่รู้จักกันดีในอเมริกาและได้ขยายกิจการไปทั่วโลก
กระทั่งในปี 1940 Dick & Marice (ชื่อเล่น Mac) สองพี่น้องตระกูล McDonald ได้ย้ายเข้ามาจากนิวแฮมเชอร์เข้ามาอยู่ในแคลิฟอร์เนีย ทั้ง 2 เปิดร้านอาหารแบบ Drive in โดยใช้ชื่อว่า Dimer โดยอาหารในเมนูทุกอย่างจะมีราคาแค่ 10 เซนต์ (Dimer หมายถึงเหรียญ 10 เซนต์) Dimer เป็นการเริ่มต้นธุรกิจร้านอาหารของ 2 พี่น้อง McDonald ตั้งอยู่ที่ถนน E 14 เมือง San Bernadino ด้วยความรวดเร็วในการให้บริการร้านอาหารทำเป็นรูปแปดเหลี่ยม จอดรถได้ทั้ง 8 ด้าน
บริเวณทำอาหารเปิดโล่งที่ลูกค้าสามารถมองเห็นได้ชัดเจน และยังไม่มีร้านใดที่เปิดให้ลูกค้าได้เห็นวิธีการทำอาหารอย่างใกล้ชิด รวมทั้งการที่อาหารราคาถูกแค่ 10 เซนต์ จึงส่งผลให้ร้านอาหารของ 2 พี่น้องประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว
ปี 1943 สองพี่น้องเปิดร้านที่ 2 ขึ้นที่ Pasadena เป็นร้านรูปแบบเดิม มีพนักงานรับส่งอาหาร ใส่สเก็ตให้บริการ แต่ด้วยการแข่งขันรุนแรง จึงมีการเลียนแบบรูปแบบร้านค้าของเขา ทั้งสองจึงเริ่มที่จะคิดค้นวิธีการใหม่ๆ ขึ้นมา
ย้อนตำนาน…แมคโดนัลด์
ภาพจาก bit.ly/2TkEwmO
ตำนานความอร่อยจากร้านแมคโดนัลด์เริ่มขึ้นเมื่อปี 1940 โดยผู้บุกเบิกสองพี่น้องแมคโดนัลด์ “ดิ๊ก” (Richard James “Dick” McDonald) และ “แมค” (Maurice James “Mac” McDonald) ได้ร่วมกันทำร้านอาหาร “บาบีคิวแมคโดนัลด์” แบบไดร์ฟทรู (ขับรถเข้าไปซื้อ โดยไม่ต้องลงจากรถ) ที่ซานเบอร์นาดิโนเมืองเล็กๆ ในรัฐแคลิฟอร์เนีย
กระทั่งในปี 1948 หลังจากปิดปรับปรุงร้านเป็นเวลา 3 เดือน พวกเขาก็เปิดร้านขึ้นอีกครั้งในรูปโฉมใหม่ โดยลดเมนูอาหารลง ชูแฮมเบอเกอร์ให้เป็นเมนูหลัก และเน้นเป็นร้านอาหารในรูปแบบบริการตัวเอง ซึ่งนับเป็นต้นกำเนิดของร้านอาหารแบบฟาสต์ฟู้ดนับตั้งแต่นั้นมา ภายหลังทั้งสองได้ขายกิจการให้กับ เรย์ คร็อก
ในปี 1954 เพื่อนำธุรกิจไปพัฒนาอย่างจริงจังและขยายสาขาต่อ ส่งผลให้ร้านแมคโดนัลด์เป็นที่ชื่นชอบ และมีสาขาอยู่ทั่วสหรัฐอเมริกาอย่างรวดเร็ว ก่อนจะขยายกิจการไปทั่วโลก บริษัทแมคโดนัลด์ได้นับเอาการเปิดร้านแฟรนไชส์สาขาแรก เมื่อปี 1955 ซึ่งถือเป็นวันก่อตั้งบริษัทด้วย
หลังจากนั้นในปี 1986 แมคโดนัลด์มีจำนวนสาขามากกว่า 1,200 แห่ง มีพนักงานทั้งหมด 70,000 คน โดยร้านแมคโดนัลด์จำนวนกว่า 34% ดำเนินการโดยแฟรนไชส์ซี โดยเฉพาะในไอร์แลนด์มีแฟรนไชส์ซีถึง 73 แห่ง แมคโดนัลด์ขายดีนั้น เป็นเพราะเขาเน้นในเรื่องของคุณภาพ และความสะอาดของร้านสาขาทุกร้านอย่างมีมาตรฐานเดียวกันหมด
จากสถิติการจัดหมวดหมู่ร้านอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดที่อยู่ในตลาดโลก พบว่าแมคโดนัลด์มีสาขามากที่สุดถึง 35,000 สาขา และมีจำนวนพนักงานเกือบ 400,000 คน โดยเฉลี่ยแล้วในหนึ่งวัน มีจำนวนประชากรโลกบริโภคผลิตภัณฑ์ของร้านแมคโดนัลด์เกือบ 50 ล้านคน รายการอาหารหลักของแมคโดนัลด์ที่ขายทั่วไปคือ แฮมเบอร์เกอร์ ชีสเบอร์เกอร์ เฟนซ์ฟราย ไก่ทอด สลัด ชุดอาหารเช้า และของหวานอีกหลายชนิดอย่างเช่นไอศกรีม
สร้างต้นแบบแฟรนไชส์
ภาพจาก bit.ly/3iz0sVO
เรย์ คร็อก ได้นำระบบธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์มาใช้ และเป็นผู้ปฏิวัติความคิดในการทำธุรกิจรูปแบบนี้ เขาได้ทำให้แมคโดนัลด์กลายเป็นต้นแบบของรูปแบบธุรกิจแบบแฟรนไชส์ที่ “สมบูรณ์แบบ” อย่างแท้จริง ทั้งระบบการบริหารจัดการ การผลิตสินค้า การขายและการบริการลูกค้า จนธุรกิจอื่นๆ ต่างก็นำเอาแนวความคิดในการทำแฟรนไซส์แบบนี้ ไปใช้เป็นกลยุทธ์ในการขยายธุรกิจจนประสบความสำเร็จไปตามๆ กัน
เรย์ คร็อก ได้ขยายแฟรนไชส์หรือสาขาของร้านแมคโดนัลด์ออกไปเรื่อยๆ ภายในระยะเวลาเพียง 4 ปี ก็สามารถขยายกิจการได้ถึงร่วม 100 สาขา และมีการขยายสาขาออกไปยังต่างประเทศอีกด้วย ทั้งยังมีการโฆษณาตามแผ่นป้ายโฆษณาอีกด้วย เขาได้ใช้ทักษะในการเป็นนักจัดการและนักขายในการขยายสาขาแฟรนไชส์ออกไปทั่วอเมริกา
โดยยังได้ตั้งบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อที่ดินไว้ก่อนแล้ว ให้แฟรนไชส์ร้านแมคโดนัลด์ต่างๆ ที่ขยายออกไปนั้นเช่าที่ของตนอีกที เป็นการทำรายได้สามต่อในคราวเดียว คือทั้งขายแฟรนไชส์, ขายเครื่องปั่นมิลค์ เชค และให้เช่าที่ดิน และในปี ค.ศ. 1960 เรย์ คร็อก ได้เปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่ จาก “McDonald’s Systems, Inc.” เป็น “McDonald’s Corporation”
แต่ต่อมาเรย์ คร็อก ก็รู้สึกอึดอัดกับความตั้งใจของสองพี่น้องที่ต้องการจะเปิดสาขาร้านแมคโดนัลด์เพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้น เพราะพวกเขาไม่ต้องการที่จะขยายสาขาเพิ่มไปมากกว่านี้ ดังนั้นในปี 1961 เรย์ คร็อก จึงตัดสินใจซื้อสิทธิ์ในกิจการบริษัทแมคโดนัลด์จากสองพี่น้องแมคโดนัลด์ ด้วยเงินจำนวน 2.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเงินจำนวน 2.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นี้เป็นเงินที่เรย์ คร็อก ได้ยืมมาจากนักลงทุนจำนวนหลายคน และเขาถือว่าเงินจำนวนนี้มันมากเกินไป
ภาพจาก bit.ly/2RQCgmT
ซึ่งก็ได้ทำให้ความสัมพันธ์ของเขากับสองพี่น้องแมคโดนัลด์อยู่ในภาวะตึงเครียด ในข้อตกลงระหว่างเขากับสองพี่น้องแมคโดนัลด์นั้น นอกจากเงินที่ซื้อกิจการจำนวน 2.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แล้ว สองพี่น้องคู่นี้ยังจะได้เงินค่าสิทธิตอบเนื่องเป็นเงินตอบแทนเป็นอัตราจำนวน 1% ของยอดขายก่อนหักส่วนลด
แต่พอเวลาจะยุติข้อตกลงสองพี่น้องก็เกิดเปลี่ยนใจ และต้องการที่จะรักษาร้านแมคโดนัลด์ร้านแรกของพวกเขาไว้ ดังนั้นพวกเขาจึงได้บอกแก่เรย์ คร็อก ว่าพวกเขาได้ให้อสังหาริมทรัพย์ การบริหารงาน และสิทธิ์ต่างๆ ของร้านแมคโดนัลด์ร้านแรกดั้งเดิมของพวกเขาแก่ลูกจ้าง ที่ร่วมก่อตั้งกับพวกเขาแล้ว
ทำให้เรย์ คร็อก โกรธมากที่สองพี่น้อง ไม่ยอมมอบร้านสิทธิในร้านดั้งเดิมแก่เขา เขาจึงปิดข้อตกลงซื้อขายและปฏิเสธที่จะยอมรับการจ่ายค่าตอบแทน 1% ของยอดขาย ก่อนหักส่วนลด โดยให้เหตุผลว่ามันไม่ได้ถูกเขียนไว้ในข้อตกลง ด้วยเหตุนี้ สองพี่น้องตระกูลแมคโดนัลด์ ก็ยังเหลือร้านแมคโดนัลด์ร้านดั้งเดิมที่พวกเขาก่อตั้งกันมา แต่พวกเขาสูญเสียที่จะรักษาสิทธิ์แฟรนไชส์ของแมคโดนัลด์ไป
ดังนั้น จึงต้องเปลี่ยนชื่อร้านใหม่ว่าเป็น “The Big M” ต่อมาร้าน “The Big M” ของสองพี่น้องนี้ ก็ได้ปิดตัวไปอย่างถาวรในปี 1964 ซึ่งถ้าสองพี่น้องนี้ได้รักษาข้อตกลงแรกที่ทำกับเรย์ คร็อก ที่จะให้ค่าตอบแทนประจำปีของการเปิดสาขาแล้ว พวกเขาหรือทายาทของพวกเขา จะได้เงินตอบแทนเป็นจำนวนเกินกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปีในปัจจุบัน
สร้างมาตรฐานและความมั่นคงระบบแฟรนไชส์
ภาพจาก bit.ly/2TkEwmO
เมื่อแมคโดนัลด์มีสาขารวมแล้วกว่า 300 สาขาทั่วอเมริกา จึงได้มีการตั้งมหาวิทยาลัยแฮมเบอร์เกอร์ขึ้นมา ที่ Elk Grove Village ในมลรัฐ Illinois เพื่อสอนให้กับเจ้าของร้านแฟรนไชส์ ในการเปิดร้านแมคโดนัลด์ โดยเน้นไปที่มาตรฐานของสินค้า สถานที่ ราคา และโปรโมชั่น เจ้าของร้านแมคโดนัลด์ที่ซื้อแฟรนไชส์ไปจากเขาไป จะต้องมีคุณสมบัติเป็น “เซลส์แมน” มากกว่าที่จะเป็นนักบัญชีหรือแม้กระทั่งพ่อครัว
เจ้าของร้านแฟรนไชส์แมคโดนัลด์เหล่านี้ จะต้องถูกฝึกอย่างเข้มข้นจาก “Hamburger University” ของแมคโดนัลด์ ในมลรัฐอิลลินอยส์ ผู้ที่ฝึกจะได้รับ “ปริญญาตรีเอกแฮมเบอร์เกอร์วิทยาและโทสาขาเฟรนซ์ฟราย” และบริษัทยังมีคู่มือเล่มหนา ซึ่งระบุการดำเนินกิจการทุกๆ ด้านในการเปิดร้านแมคโดนัลด์ ตั้งแต่กรรมวิธีทำนมปั่น จนกระทั่งถึงการตอบสนองต่อชุมชน
ในราวปี 1963 ร้านแมคโดนัลด์ขายแฮมเบอร์เกอร์ไปแล้วมากกว่า 1 พันล้านชิ้น และร้านแมคโดนัลด์ได้เปิดสาขาไปแล้วถึง 500 สาขา เรย์ คร็อก ตัดสินใจนำบริษัทแมคโดนัลด์เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์เมื่อปี 1965 และในอีก 2 ปีต่อมา คือปี 1967 แม็คโดนัลด์ก็ได้เปิดสาขาต่างประเทศเป็นสาขาแรกที่เมืองริชมอนด์ ในรัฐบริติชโคลัมเบีย ของประเทศแคนาดา และจากนั้นก็ขยายสาขาของแมคโดนัลด์ไปในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก
โดดเด่นนวัตกรรม
ภาพจาก bit.ly/3zlR3XI
แมคโดนัลด์ได้มีการพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ด้วยการสร้างสรรค์ไอเดียไอเดียจากนวัตกรรมแปลกๆ ใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้กิจการของแมคโดนัลด์ เอาตัวรอดและประสบความสำเร็จมาอย่างยาวนาน จนกลายเป็นตำนานในธุรกิจอาหารจานด่วนหรือฟาสต์ฟู้ดไปเสียแล้ว
แมคโดนัลด์ มีผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นเข้าตาและอยู่ในความทรงจำ ก็คงหนีไม่พ้นสินค้ารุ่นคลาสสิกตลอดกาล อย่าง บิ้กแมค ที่เป็นขวัญใจชาวแยงกี้มาหลายทศวรรษ และผู้โปรดปรานอาหารจานด่วนประเภทเบอร์เกอร์ชิ้นยักษ์ ต้องรู้จักกันดี ซึ่งบิ้กแมคนี้คิดค้นมาตั้งแต่ปี 1967 และไม่เคยปรับเปลี่ยนรูปแบบหรือวัตถุดิบใดๆ เลยมาหลาย 10 ปี ถือเป็นเมนูผลิตภัณฑ์ร่วมสมัย คล้ายคลึงกับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสหมูสับที่คงความเป็นที่นิยมมาเนิ่นนาน
แมคโดนัลด์ จะมีสินค้าชูธงอย่างบิ้กแมคที่ไม่เคยปรับเปลี่ยนมานาน ก็มิใช่ว่าจะปราศจากการทำนวัตกรรมใหม่ เพราะกิจการได้มีการจัดตั้งหน่วยงานที่เรียกเป็นผู้พัฒนานวัตกรรมในอาหารจานด่วนของเขาอย่างเป็นทางการ ลงทุนด้านวิจัยพัฒนาปีหนึ่งๆ ไม่น้อย ประกอบด้วยทั้งเชฟมือหนึ่งเปี่ยมประสบการณ์ เครื่องมือทันสมัย ห้องแล็บที่สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบขึ้นมาเพื่อทำการทดสอบและรับผลการตอบรับได้อย่างทันทีทันใด
ภาพจาก bit.ly/3vmOy44
ปรัชญาของนวัตกรรมในผลิตภัณฑ์แมคโดนัลด์นั้น คือ ต้องไม่ยุ่งยากในการผลิต สามารถใช้ทักษะเบื้องต้นของบุคลากรในการประกอบอาหารได้ ใช้ส่วนผสมและวัตถุดิบในการทำอาหารที่มีอยู่ทั่วไป หาได้ไม่ยากเย็น ไม่มีข้อจำกัดทางฤดูกาล รวมถึงต้องเป็นสิ่งที่มวลชนหมู่มากชอบ และต้องการรับประทาน มิใช่เมนูอะไรที่แปลกจนเกินไป และราคาไม่แพง
โดยกลยุทธ์การพัฒนานวัตกรรมของแมคโดนัลด์ ไม่ได้เกิดบุคลากรภายในขององค์กรเท่านั้น แต่มาจากความร่วมมือและไอเดียสร้างสรรค์จากทั้งซัพพลายเออร์ ลูกค้า และคู่แข่งภายในและนอกอุตสาหกรรมด้วย ซึ่งถือเป็นการทำนวัตกรรมแบบเปิดอย่างแท้จริง
ภาพจาก bit.ly/3zsiKht
เรื่องราวความสำเร็จของ McDonald’s ยังถูกนำมาทำเป็นภาพยนตร์ THE FOUNDER อยากรวย ต้องเหนือเกม ที่ได้ฉายไปเมื่อต้นปี 2560 ที่ผ่านมา เป็นเรื่องราวของ เรย์ คร็อก เซลล์แมนที่กล้าได้กล้าเสี่ยง เสพติดความก้าวหน้าในชีวิต หลังจากหยิบผิดหยิบถูกในการลงทุนสั่งซื้อสินสินค้ามาขายอย่างยาวนาน
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจ แฟรนไชส์ และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise
ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/3corFV2
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter
ข้อมูลจาก https://bit.ly/3xa5EDN , https://bit.ly/2TkEwmO
อ้างอิงจาก https://bit.ly/3gyIIqT