แนวโน้มแฟรนไชส์ ปี 64
แม้ธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 มาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 แต่แฟรนไชส์ยังเป็นธุรกิจที่ได้รับความสนใจอย่างมากจากกลุ่มนักลงทุนหน้าใหม่ที่อยากมีอาชีพ อยากมีรายได้เสริม หลังจากงานประจำเริ่มได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด ทั้งถูกลดเวลาการทำงาน ลดเงินเดือน และถูกเลิกจ้าง
แนวโน้มแฟรนไชส์ในประเทศไทยในปี 2564 จะมีทิศทางเป็นอย่างไร วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com มีข้อมูลมานำเสนอให้เจ้าของธุรกิจที่คิดจะทำแฟรนไชส์ รวมถึงผู้ที่อยากซื้อแฟรนไชส์ไปดำเนินธุรกิจได้ทราบ
สถานการณ์ และแนวโน้มธุรกิจแฟรนไชส์ ปี 2564
จากการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านแฟรนไชส์ชั้นนำของเมืองไทยหลายคน ให้ข้อมูลออกมาในแนวทางเดียวกันว่า แนวโน้มธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทยปี 2564 มีทั้งธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีการเติบโตอย่างมาก และธุรกิจแฟรนไชส์ที่เติบโตแย่ลง หรือเติบโตลดลง แต่ถ้าแบรนด์แฟรนไชส์ไหนสามารถปรับตัวเข้ากับวิกฤติโควิด-19 ได้ดี ก็จะมีโอกาสเติบโตสูงมาก เนื่องจากคนที่ถูกเลิกจ้างงาน รวมถึงคนที่อยากมีรายได้เสริมจากงานประจำให้ความสนใจลงทุนแฟรนไชส์ เพราะเป็นทางลัดในการดำเนินธุรกิจ และหากเลือกแบรนด์แฟรนไชส์ที่ดี ก็มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จสูงมาก
สำหรับมูลค่าตลาดของธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทยปี 2564 คาดว่ามีแนวโน้มเติบโตประมาณ 300,000 ล้านบาท เนื่องจากผู้ประกอบการแฟรนไชส์มีการปรับตัว และมีประสบการณ์จากวิกฤติโควิดระลอกแรก แต่ต้องขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะสามารถควบคุมการระบาดโควิดระลอกใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน อีกทั้งรัฐบาลยังต้องให้การส่งเสริมและสนับสนุนแฟรนไชส์ไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยสร้างอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ สร้างความมั่นคงให้กับเศรษฐกิจไทย
โดยคาดว่าจะมีจำนวนร้านสาขาแฟรนไชส์ซีใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 5,000 สาขาทั่วประเทศไทย ส่วนใหญ่จะเป็นแฟรนไชส์ขนาดเล็ก ลงทุนต่ำ หรือเป็นแฟรนไชส์ “แฟรนไชส์สร้างอาชีพ” รูปแบบการลงทุนใช้เงินลงทุนไม่เกิน 50,000 บาท อาทิ ธุรกิจประเภทอาหาร เครื่องดื่ม ขนมทานเล่น เปิดร้านในทำเลขายทั่วไปใกล้แหล่งชุมชน และตลาดนัด
นอกจากนี้ ยังมีแฟรนไชส์รูปแบบการลงทุน 500,000 ถึง 3,000,000 บาท ยังได้รับความนิยมลงทุน เพราะเป็นแฟรนไชส์ที่บริษัทแม่ให้การสนับสนุนเรื่องการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง จึงมีโอกาสประสบความสำเร็จสูง สร้างความมั่นคงได้
ประเภทแฟรนไชส์มาแรง ได้รับความนิยม มีโอกาสเติบโต ปี 2564
สำหรับธุรกิจแฟรนไชส์ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค รวมถึงนักลงทุนในช่วงเกิดการระบาดโควิด-19 จะเน้นไปในเรื่องของความสะดวก เข้าถึงง่าย ลดการสัมผัส สะอาดสุขอนามัย ใช้งานด้วยระบบดิจิตอล ออนไลน์ และคุ้มค่าการลงทุน ได้แก่
1.แฟรนไชส์ร้านสะดวกซัก ยังมีโอกาสเติบโตได้อีก แม้จะมีการแข่งขันสูง แต่จะอยู่ในทำเลที่แตกต่างไปจากเดิมที่อยู่ตามหอพัก รวมไปถึงธุรกิจเครื่องหยอดเหรียญต่างๆ เนื่องจากเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ที่คนลงทุนไม่ต้องออกจากงานก็ได้
2.แฟรนไชส์ร้านสะดวกส่ง รับ-ส่งสินค้า บริการแพ็กของ ให้เช่าเก็บสินค้า รวมไปถึงธุรกิจโลจิสติกส์ต่างๆ ที่ได้รับความนิยมมาตั้งแต่ปี 2563 ยิ่งโควิด-19 ระบาดระลอกใหม่ก็จะยิ่งเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากคนอยู่บ้าน ซื้อขายออนไลน์มากขึ้น
3.แฟรนไชส์ร้านสะดวกทาน ประเภทร้านอาหารไทยตามสั่ง เน้นความสะอาด ความคุ้มค่า ใช้พื้นที่ที่ไม่ใหญ่มาก เปิดขายนอกห้าง ให้บริการเดลิเวอรี่ ทานง่าย ทานสะดวก อร่อยคุ้มค่า แต่ต้องเมนูที่สร้างสรรค์ แตกต่างจากคู่แข่งในตลาด โดยเฉพาะ Street Food ก็มีโอกาสเติบโตหากมีคอนเซ็ปต์ที่ชัดเจน ลูกค้าไม่ต้องไปเดินซื้ออาหารตามห้าง สามารถเปิดร้านขายตามแหล่งชุมชน หรือตลาด จะได้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ง่าย โดยทำเลเปิดร้านแฟรนไชส์จะขยับออกนอกห้างมากขึ้น
4.แฟรนไชส์ธุรกิจร้านขนมปัง เครื่องดื่ม แบบซื้อกลับไปทานที่บ้าน ซึ่งคาดว่าน่าจะเห็นมากขึ้นในปี 2564 โดยผู้ประกอบการจะต้องฉีกกฎรูปแบบขนมปัง และแพ็กเกจจิ้ง เพื่อสร้างคามแตกต่าง และดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค
5.แฟรนไชส์ธุรกิจงานบริการ ค้าปลีก การศึกษา ซึ่งหากเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจเป็นออนไลน์จะได้รับความนิยม
โอกาสของแฟรนไชส์ไทย ก้าวออกไปตลาดต่างประเทศ ปี 2564
การระบาดโควิด-19 ทำให้การเดินทางไปต่างประเทศยากลำบาก รวมถึงนักท่องเที่ยวไม่สามารถเข้าประเทศไทยได้ เชื่อว่านักท่องเที่ยวยังนึกถึงสินค้าและบริการของไทย จะทำให้แฟรนไชส์ที่เปิดสาขาในต่างประเทศแล้ว มีโอกาสขยายสาขาได้เพิ่มขึ้น ส่วนแบรนด์แฟรนไชส์ที่จะขยายสาขาในต่างประเทศหลังจากนี้ ต้องสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่งและเป็นที่รู้จักมากขึ้นในสื่อต่างประเทศ และควรมีที่ปรึกษาแฟรนไชส์ มีเครือข่ายธุรกิจในต่างประเทศด้วย
แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับธุรกิจแฟรนไชส์ไทยที่จะออกไปเปิดตลาดต่างประเทศ ก็คือ ไม่สามารถเดินทางออกไปเจรจาซื้อขายแฟรนไชส์ในต่างประเทศได้ ต้องเจรจาผ่านทางออนไลน์ ทำให้ต้องใช้เวลานานกว่าปกติ อีกทั้งยังมีปัญหาในเรื่องการทดสอบสินค้า และประเมินความเป็นไปได้ของธุรกิจในแต่ละประเทศ
แต่ก็ต้องมีการเตรียมความพร้อมด้านอื่นๆ เอาไว้ เช่น กฎระเบียบในการนำเข้า-ส่งออก กฎหมายแฟรนไชส์ กฎเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา การจ้างงาน ต้นทุนการขนส่ง Logistic และความเสี่ยงในด้านอัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้น
สำหรับประเทศเป้าหมายในการขยายแฟรนไชส์ของไทยในปี 2564 อาทิ 10 ประเทศอาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งประเทศไทยได้ร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนเรียบร้อยแล้ว
แนวทางการปรับตัวของธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทย ปี 2564
การปรับตัวของผู้ประกอบการแฟรนไชส์ในปี 2564 ต้องปรับเปลี่ยน Business Model อย่าหวังให้ลูกค้าเดินมาซื้อหน้าร้านอย่างเดียว ต้องมีเดลิเวอรี่ หรือออนไลน์เข้ามาช่วย รวมถึงการนำสินค้าขายในแพลตฟอร์มอื่นๆ ให้มีความหลากหลาย และปรับขนาดของธุรกิจแฟรนไชส์ให้เล็กลง (ร้านเล็กลง) ตั้งงบลงทุนต่ำ เนื่องจากคนที่จะซื้อแฟรนไชส์มีงบน้อย
นอกจากนี้ แฟรนไชส์ซอร์ต้องมีแผนอย่างน้อยๆ ประมาณ 1 ปี เพื่อบริหารจัดการงานระบบให้ราบรื่น เพื่อจะได้เตรียมความพร้อมในการรับมือ สร้างทีมงานที่มีประสิทธิภาพ พร้อมให้การสนับสนุนแฟรนไชส์ซีให้ประสบความสำเร็จ
แม้ว่าจะมีการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ในช่วงปี 2564 แต่เชื่อว่าผู้ประกอบการแฟรนไชส์ไทยทุกท่านจะมีภูมิต้านทานที่แข็งแกร่งมากกว่าเดิม เนื่องจากมีประสบการณ์มาตั้งแต่ระลอกแรกแล้ว แต่ต้องรู้จักรู้จักปรับตัวให้เข้ากับวิกฤติ มองหาโอกาสใหม่ๆ ช่องทางการขายใหม่ๆ เชื่อว่าธุรกิจแฟรนไชส์ไทยจะก้าวข้ามวิกฤตโควิด-19 ระลอกใหม่ไปได้อีกครั้ง
ข้อมูลโดย
คุณเศรษฐพงศ์ ผดุงพิสุทธิ์ CFE, กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีโนซิส จำกัด
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจ แฟรนไชส์ และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise
ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/3corFV2
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter
อ้างอิงจาก https://bit.ly/2QaJqRG