เพาะเห็ดชนิดต่างๆ
เงินลงทุน
ครั้งแรกประมาณ 8,000 บาท ขึ้นไป (ก้อนเชื้อเห็ด ก้อนละ 3-10 บาท โรงเรือนประมาณ 4,000 บาท ขึ้นไป)
รายได้
8,000 บาท ขึ้นไป/เดือน (อาจมากหรือน้อยกว่านี้ขึ้นอยู่กับปริมาณเห็ดที่เก็บได้ และราคาตลาดของเห็ดแต่ละชนิด)
อุปกรณ์
ก้อนเชื้อเห็ด โรงเรือน เพาะเห็ด คลุมด้วยตาข่าย หรือมุงจากชั้นแขวนก้อน เชื้อเห็ดบัวรดน้ำ เกย์วัดความชื้น
แหล่งจำหน่ายก้อนเชื้อเห็ด
ร้านค้าหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์รวมสวนเห็ดบ้านอรัญญิก ฟาร์ม เพาะเห็ด ทั่วไป
ภาพจาก goo.gl/t8mdtF,goo.gl/gVMb11
วิธีดำเนินการ
ไปซื้อถุงเชื้อเห็ดจากแหล่งจำหน่าย ซึ่งถุงเชื้อเห็ดนั้น โดยทั่วไปเป็นถุงพลาสติกบรรจุเชื้อเห็ดมีรูปทรงคล้ายขวด โดยมีพลาสติกรูปทรงคอขวดใส่ปากถุงไว้เพื่อให้คล้ายคอขวด และมีจุกสำลีอุดปากถุง
เห็ดนางรม เห็ดนางฟ้า เห็ดขอนขาว เห็ดเป๋าฮื้อ เห็ดยานางิ เปิดถุงเห็ด โดยดึงจุกสำลีและพลาสติกที่ทำเป็นคอขวดออก ปาดปากถุง ส่วนเห็ดเป๋าฮื้อและยานางิไม่ต้องปาดปากถุง นำไปวางซ้อนกันบนชั้นแขวนในโรงเรือน โดยให้ถุงอยู่ในลักษณะแนวนอน รดน้ำรักษาความชื้น 70-90% วันละ 2 – 6 ครั้ง
โดยรดน้ำเป็นฝอยพ่นเหนือถุง อย่ารดน้ำเข้าปากถุง หลังจากนั้นจะเริ่มมีดอกเห็ดโผล่ออกมาทางปากถุง ประมาณ 7-10 วัน ก็เก็บเห็ดรุ่นแรกได้ ระยะห่างของรุ่น10-15 วัน ส่วนเห็ดเป๋าฮื้อและยานางิ ประมาณ 10-15 วัน เก็บเห็ดได้ ระยะห่างของรุ่น 30-40 วัน
เห็ดหูหนู เปิดถุงเห็ด โดยดึงสำลีและพลาสติกที่ทำเป็นคอขวดออก รัดปากถุงแล้วเอามีดกรีดข้างถุงเป็นแนวเฉียง 4 แนว ๆ ละ 3 บั้ง นำไปวางบนชั้นแขวน รดน้ำรักษาความชื้น 80-90% ประมาณ 10-15 วัน เก็บเห็ดได้ ระยะห่างของรุ่น 15-20 วัน
เห็ดหอม กรีดถุงเห็ดให้เหลือเฉพาะส่วนก้นถุง 1-2 นิ้ว รดน้ำรักษาความชื้น 70-80% ประมาณ 7-10 วัน จะเก็บผลผลิตรุ่นแรกได้ ระยะห่างของรุ่น 15-20 วัน
ภาพจาก goo.gl/AGTQ2q
ตลาดจำหน่าย
ตลาดสด ขายส่งให้พ่อค้าแม่ค้า ซุปเปอร์มาเก็ต โรงงานแช่แข็ง โรงงานบรรจุกระป๋อง
ข้อแนะนำ
- เงินลงทุนอาจมากหรือน้อยกว่านี้ ขึ้นอยู่กับขนาดของกิจการ ปริมาณก้อนเชื้อเห็ดและวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้
- การเลือกก้อนเชื้อเห็ด ควรเลือกที่มีเส้นใยเต็มถุง ไม่มีการปนเปื้อนของเชื้อรา และเป็นก้อนเชื้อที่ไม่อ่อนหรือแก่เกินไป
- การรดน้ำเห็ดทุกชนิดที่อยู่ในถุงเชื้อเห็ด ควรรดน้ำเหนือถุง อย่ารดน้ำเข้าปากถุงเพราะน้ำจะขังอยู่ในถุง ทำให้เชื้อเสียเร็ว
- โดยปกติ ก้อนเชื้อเห็ดจะหมดอายุการเก็บผลผลิตเมื่อครบ 3 เดือน
สถานที่ฝึกอบรม
- ศูนย์รวมสวนเห็ดบ้านอรัญญิก (ที่ปรึกษาเรื่องเห็ด ในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา) โทร. 441-0369, 441-0467
- สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โทร. 579-2294, 942-8460 ต่อ 219 – 222
ที่มา : กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน