เผยสูตรเด็ดนำเข้า 4 Fingers แฟรนไชส์ไก่ทอด 1,000 ล้านจากสิงคโปร์
เชื่อว่าถ้าพูดถึง “ไก่ทอด” หลายคนคงนึกถึง เคเอฟซี เชสเตอร์ บอนชอน และอื่นๆ อีกมากมาย แต่รู้หรือไม่ว่าตอนนี้ในเมืองไทย มีไก่ทอดน้องใหม่ กำลังมาแรงสุดๆ นั่นคือ 4 Fingers Crispy Chicken แบรนด์ไก่ทอดกรอบ สไตล์เอเชี่ยน ส่งตรงจากประเทศสิงคโปร์ เปิดสาขาแฟรนไชส์แรกแล้วที่ชั้น G เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว
วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com จะเล่าให้ฟัง ถึงที่มาที่ไปของไก่ทอดกรอบน้องใหม่ 4 Fingers ที่ใครๆ ก็บอกว่ารสชาติอร่อย จัดจ้าน เมนูหลากหลาย รวมถึงขั้นตอนและวิธีการซื้อแฟรนไชส์จากต่างประเทศ
เข้ามาประกอบธุรกิจในเมืองไทย ผ่านการสัมภาษณ์ “คุณอรรถสาร กาญจนพิพัฒน์กุล” ประธานกรรมการบริหารบริษัท บิซมีลล์ จำกัด และหุ้นส่วน ผู้นำเข้าแบรนด์ไก่ทอด 4 FINGERS Crispy Chicken จากประเทศสิงคโปร์
จุดเริ่มต้นของไก่ทอด 4 Fingers ในเมืองไทย
จุดเริ่มต้นของการซื้อแฟรนไชส์ไก่ทอด 4 Fingers มาจากการคุณอรรถสารและหุ้นส่วนอีก 7 คน มองว่าผู้บริโภคชาวไทย โดยเฉพาะวัยรุ่นชอบรับประทานอาหารง่ายๆ ราคาจับต้องได้ ประกอบกับเป็นจังหวะเหมาะที่คุณอรรถสารและหุ้นส่วนเดินทางไปทำธุระที่ประเทศสิงคโปร์ และมีโอกาสได้ไปนั่งรับประทานไก่ทอด 4 Fingers ที่ประเทศสิงคโปร์
พอได้ลองชิมทำให้ทุกคนชอบในรสชาติจัดจ้าน ถูกปากคนไทย ที่สำคัญพวกเขาได้สังเกตว่าในร้านมีวัยรุ่นเดินเข้าออกตลอดเวลา คิดว่าต้องขายดีอย่างแน่นอน พอได้ศึกษาลึกๆ ถึงร้านไก่ทอด 4 Fingers พบว่าเปิดสาขาแรกในประเทศสิงคโปร์เมื่อปี 2009 และมีรายได้ต่อปีสูงถึง 1,000 ล้านบาท และมีทีท่าว่าจะสูงขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าจะเป็นประเทศเล็กๆ ก็ตาม
หลังจากนั้นคุณอรรถสารและหุ้นส่วนมองว่าเป็นโอกาสทางธุรกิจที่จะนำแบรนด์ไก่ทอด 4 Fingers เข้ามาเปิดสาขาในเมืองไทย เพราะไลฟ์สไตล์ของวัยรุ่นไทยคล้ายๆ กับวัยวัยรุ่นสิงคโปร์
เมื่อเป็นเช่นนี้ทำให้คุณอรรถสารและหุ้นส่วนตัดสินใจซื้อแฟรนไชส์มาเปิดในเมืองไทย ถือเป็นประเทศที่ 5 ของ 4 Fingers ในการเข้าไปเปิดสาขา ต่อจากสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย รวมถึงกำลังเข้าไปเปิดสาขาในประเทศญี่ปุ่น และอเมริกาเหนือในอนาคตอีกด้วย
สำหรับแผนการตลาดในเมืองไทย บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายที่จะขยายอีก 5 แห่งภายในระยะเวลา 2 ปี โดยใช้งบลงทุนไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อสาขา บนพื้นที่ 140-180 ตร.ม. โดยสาขา 2 จะเปิดช่วงปลายปี 2561 ถึงต้นปี 2562 ที่เซ็นทรัลปิ่นเกล้า ตั้งเป้าในส่วนของรายได้ต่อเดือนไว้ที่ 2 ล้านบาทต่อสาขา
คุณอรรถสาร บอกว่า การทำการตลาดต่อจากนี้ จะเน้นไปที่การสร้างการรับรู้ต่อแบรนด์ ไปยังช่องทางออนไลน์เป็นหลัก ทั้งเรื่องโปรโมชั่นและแบรนด์ดิ้งใน 3 ส่วน ทั้ง Art, Music และ Technology เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าให้มากที่สุด
ขั้นตอนการซื้อแฟรนไชส์ต่างชาติ 4 Fingers
เชื่อว่าใครที่เป็นนักลงทุน หรือผู้ที่อยากซื้อแฟรนไชส์จากต่างประเทศ อาจสงสัยว่าขั้นตอนการนำแบรนด์แฟรนไชส์จากต่างชาติเข้ามาเปิดสาขาในเมืองไทย ต้องทำอย่างไรบ้าง ใช้ระยะเวลานาน และมีความยุ่งยากมากน้อยแค่ไหน
คุณอรรถสาร บอกว่า หุ้นส่วนทุกคนมีการทำธุรกิจเกี่ยวกับอาหารอยู่แล้ว แต่เป็นแบรนด์ที่พวกเขาสร้างขึ้นเอง ทำให้รู้ว่ากระบวนการทำร้านอาหารต้องใช้งบประมาณค่อนข้างสูง ต้องสร้างแบรนด์เอง วางระบบเองทุกๆ อย่าง
คุณอรรถสารและหุ้นส่วนจึงคุยกันว่า อยากหาแบรนด์แฟรนไชส์ที่ติดตลาดแล้ว และประสบความสำเร็จแล้ว มีการวางระบบ การบริหารจัดการที่ดีอยู่แล้ว เรียกง่ายๆ ว่ามีสูตรสำเร็จตายตัว เข้ามาลองเปิดตลาดในไทย
ซึ่งการซื้อแฟรนไชส์ถือว่ามีความแปลกใหม่ในเมืองไทย มากกว่าการสร้างแบรนด์ขึ้นมาด้วยตัวเอง ที่สำคัญยังได้เรียนรู้และสร้างประสบการณ์ในการทำธุรกิจร้านอาหารแฟรนไชส์ เพื่อนำความรู้ไปต่อยอดให้กับธุรกิจใหม่ๆ ที่จะซื้อเพิ่มในอนาคต
เดินงานแฟร์ ค้นหาแบรนด์แฟรนไชส์ในดวงใจ
คุณอรรถสาร เล่าต่อว่า ก่อนที่จะซื้อแฟรนไชส์ไก่ทอด 4 Fingers ตนเองและหุ้นส่วนได้มีโอกาสไปเดินงานแฟรนไชส์ในประเทศญี่ปุ่น บังเอิญว่าได้มีคนสามารถแนะนำให้รู้จักกับ 4 Fingers ของสิงคโปร์ได้ ซึ่งจริงๆ แล้วคุณอรรถสารและหุ้นส่วนก็รู้จักกับแบรนด์แฟรนไชส์ 4 Fingers มาก่อนแล้ว
4 Fingers เปิดสาขาแรกเมืองไทยใช้เวลา 1 ปี 1 เดือน
หลังจากนั้นก็เริ่มติดต่อพูดคุยกันกับทางบริษัทแฟรนไชส์ 4 Fingers โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ปีกับ 1 เดือนเต็มๆ ในการนำเข้าแบรนด์ไก่ทอด 4 Fingers มาเปิดสาขาแรกในเมืองไทยได้
โดยสาขาแรกเซ็นทรัลลาดพร้าว ใช้งบประมาณในการลงทุนทั้งหมด 10 ล้านบาท มีการเซ็นสัญญา 2 เฟส ภายในเฟสแรก ต้องขยายให้ได้ 5 สาขา ใน 2 ปี บริษัทแม่จะช่วยในเรื่องของการทำงบเกี่ยวกับเงิน ส่วน Local Marketing ให้คุณอรรถสารและหุ้นส่วนบริหารจัดการเอง เพราะคุ้นเคยกับตลาดเมืองไทยเป็นอย่างดี และสามารถต่อสัญญาไปได้อีก 10 ปี
Business Plan หัวใจของการซื้อแฟรนไชส์
สำหรับกระบวนการซื้อแฟรนไชส์ต่างประเทศ จะมีความยุ่งยากในช่วงแรก เพราะต้องมีการติดต่อพูดคุยกับบริษัทเจ้าของแบรนด์ โดยคุณอรรถสารและหุ้นส่วนต้องมีการจัดทำเอกสารต่างๆ โดยเฉพาะ Business Plan ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญในการติดต่อซื้อแฟรนไชส์ เพราะเป็นการทำให้บริษัทเจ้าของแฟรนไชส์เห็นถึงความตั้งใจที่จะทำธุรกิจจริงๆ
ที่สำคัญ Business Plan จะช่วยให้บริษัทเจ้าของแฟรนไชส์ มองเห็นแนวโน้มตลาดในไทย รวมถึงภาพรวมของการดำเนินธุรกิจแต่ละช่วงเวลาจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร ทุกอย่างต้องทำให้บริษัทเจ้าของแบรนด์เห็นภาพธุรกิจที่ชัดเจน
หลังจากเจรจาลงตัว ก็มาถึงการทำงานจริง ทางบริษัทแบรนด์แม่จะมีระบบระเบียบที่เคร่งครัด เพื่อให้ร้านเป็นไปตามมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นการตกแต่งร้านที่บริษัทแม่เป็นผู้ออกแบบทั้งหมด วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ต้องทำให้เหมือนหรือคล้ายคลึงกับต้นฉบับมากที่สุด ระหว่างที่ตกแต่งร้าน ก็ต้องสื่อสารกับบริษัทแม่ตลอดเวลา
อบรมอย่างเข้มงวด ก่อนเปิดร้าน 4 Fingers
ส่วนเรื่องสูตรอาหาร โดยเฉพาะไก่ทอด เมื่อนำเข้ามาเมืองไทยแล้ว ไม่จำเป็นต้องนำเข้าทุกอย่าง 100% แต่พยายามหาวัตถุดิบที่อยู่ในเมืองไทย ที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกันมากที่สุด แล้วนำมาทดสอบรสชาติให้เหมือนกับในสิงคโปร์ เช่น ไก่ หาในเมืองไทยได้ แต่บางตัว เช่น แป้ง ซอส ต้องใช้ของบริษัทแม่ เพราะมันคือหัวใจสำคัญและมาตรฐานของแฟรนไชส์
นอกจากนี้ บริษัทแม่จะให้การดูแลเรื่องการอบรมพนักงานด้วย โดยสาแฟรนไชส์ต้องส่งคนไปสิงคโปร์เพื่อเรียนรู้งานทุกๆ อย่างโดยละเอียด ทั้งการปรุง การทอด ทุกๆ กระบวนการ ต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่เขากำหนด
โดยพนักงานระดับผู้จัดการจะได้รับการฝึกอบรมที่บริษัทแม่ประเทศสิงคโปร์ 1 เดือน ส่วนพนักงานทั่วไปอบรม 3 สัปดาห์ในเมืองไทย ขณะที่คุณอรรถสารและหุ้นส่วน ต้องทำเป็นเหมือนพนักงานทุกอย่าง ต้องทอดไก่เป็น ทำเป็นทุกอย่างภายในร้าน ใช้เวลาอบรมประมาณ 8 สัปดาห์ ในการเป็นแฟรนไชส์ซี ทั้งในสิงคโปร์และเมืองไทย
ทำไมต้องเป็นแฟรนไชส์ 4 Fingers
เมื่อถามถึงเหตุผลที่บริษัทเจ้าของแบรนด์ 4 Fingers เลือกให้เป็นแฟรนไชส์ซีในเมืองไทย คุณอรรถสาร บอกว่า เขาและหุ้นส่วนเป็นผู้ถูกเลือก น่าจะเป็นเพราะคาแรคเตอร์ที่ตรงกัน แบรนด์ 4 Fingers เป็นสไตล์วัยรุ่นเหมือนกัน คาแรคเตอร์เป็นคนวัยทำงานที่มีเวลาจำกัด ต้องรีบเร่ง แต่ผสมผสานความเป็น Street Art เข้าไปด้วย ตรงกับคาแรคเตอร์ของพวกเขา
ที่สำคัญเรื่องของทำเลที่ตั้งนั้น แบรนด์ไก่ทอด 4 Fingers เป็นไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ ต้องอยู่ในทำเลที่คนพลุกพล่าน คนเดินผ่านไปมาแล้วเห็น จึงแวะเข้าไปใช้บริการ ซึ่งตรงกับเซ็นทรัลลาดพร้าวที่ตอบโจทย์ในเรื่องนี้เป็นอย่างดี
สำหรับนักลงทุนท่านใด ที่กำลังมองหาธุรกิจแฟรนไชส์ในต่างประเทศเข้ามาเปิดสาขาในเมืองไทย หรือคนที่มีเงินทุนแล้วอยากลองซื้อแฟรนไชส์จากต่างประเทศ ก่อนอื่นทีมงานไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ขอบอกก่อนว่า ไม่ยากและไม่ง่าย
แต่ต้องถามตัวเองให้ได้ก่อนว่า ชอบธุรกิจประเภทไหน มีความตั้งใจทำธุรกิจจริงๆ หรือไม่ แล้วคุณอาจจะได้เป็นเจ้าของร้านแฟรนไชส์จากต่างประเทศในดวงใจ เหมือนเช่นคุณอรรถสารและหุ้นส่วนครับ
ติดตามความอร่อยไก่ทอด 4 Fingers : www.facebook.com/4FingersTH
อ่านบทความอื่นๆ จากไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ www.thaifranchisecenter.com
เลือกซื้อแฟรนไชส์อาหารเปิดร้าน goo.gl/KWvu8k
อ่านจดหมายข่าวอื่นๆ goo.gl/78UxGN
อ้างอิงจาก https://bit.ly/2KMolux